ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับการเผยแพร่ในระดับสากล ถึงความสัมพันธ์ของเชื้อโควิด-19 ที่มีต่อพันธุกรรมของมนุษย์นีแอนเดอธัลและเดนิโซวาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อสายมนุษย์โบราณ ใครก็ตามที่มีดีเอ็นเอ จีโนม บางส่วนเหมือนกับมนุษย์โบราณเหล่านี้ จะมีอาการของโควิดที่รุนแรงกว่าคนอื่น นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมบางประเทศถึงมีการติดโควิด-19 ที่ง่ายกว่าที่อื่น หรือมีอาการของโรคที่รุนแรงมากกว่า
จากองค์ความรู้ด้าน จีโนม ของมนุษย์มาสู่งานวิจัยที่ช่วยชีวิตผู้คนในยุคปัจจุบันได้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า นอกจากเราจะเข้าใจองค์ความรู้พื้นฐานว่า ‘เรามาจากไหน’ แล้ว การเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มีไปสู่ศาสตร์อื่นๆ ก็นับเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ที่เหล่านักพันธุศาสตร์ประชากรจะต้องทำงานกันต่อไป
เราคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพล คำปวนสาย อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยจากนานาชาติที่ร่วมศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบันและมนุษย์โบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องบทบาทของจีโนม (ดีเอ็นเอทั้งหมดของแต่ละคน) ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน องค์ความรู้แห่งอนาคตที่เริ่มต้นแล้ว ณ ปัจจุบันนี้
อ่านเพิ่มเติม
นัก พันธุศาสตร์ประชากร คือใคร ทำอะไร และทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร
ในงานด้านพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ยิ่งเก็บตัวอย่างได้มากขึ้น ก็ยิ่งเห็นภาพของโครงสร้างที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ โดยวิทยาการของการศึกษาดีเอ็นเอ เป็นการใช้ข้อมูลทางชีวสารสนเทศมาคาดเดาเรื่องราวหรือวิวัฒนาการต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
“โลกของเราเปิดรับทางด้านความหลากหลายมากขึ้น และทุกคนต่างมีความภาคภูมิใจต่อการเป็นชาติพันธุ์ของตัวเอง เขากล้าที่จะตอบเราได้ว่าเขาเป็นชาติพันธุ์ไทลื้อนะ เป็นไทยอง เลอเวือะที่แม่ฮ่องสอน และชาวบ้านคือองค์ความรู้ที่มีชีวิตที่สามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเขาเองให้กับผู้คนได้”
นอกจากการสังเกตเห็นลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านลักษณะภายนอกที่ปรากฏแล้ว ยังมีปัจจัยหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการคัดสรรทางธรรมชาติ ทั้งเรื่องภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม จะทำให้สืบค้นต่อได้ว่าวิวัฒนาการของแต่ละชาติพันธุ์มีการปรับตัวให้เข้ากับความเป็นอยู่ได้อย่างไร
“ประเทศไทยมีความหลากหลายเชิงภูมิศาสตร์เยอะมาก ตั้งแต่ภูเขาสูง ที่ราบ ริมชายฝั่ง เกาะแก่งต่างๆ ซึ่งสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มันก็จะส่งผลต่อการคัดเลือกทางธรรมชาติที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มชน อันนี้คือสิ่งที่เรากำลังสนใจอยู่ เราอยากจะค้นหาว่าการคัดเลือกทางธรรมชาติเหล่านี้มันยังคงเหลือร่องรอยในดีเอ็นเอของพวกเราอยู่หรือเปล่า มันอาจจะสามารถตอบได้ว่าดีเอ็นเอแบบนี้ทำให้คนเราวิวัฒนาการขึ้นมาแล้วตอบสนองต่อลักษณะบางอย่าง”
“สำหรับบ้านเราที่น่าสนใจมากคือ การคัดเลือกทางธรรมชาติที่เกี่ยวกับป่าดิบชื้น ซึ่งมีโรคมาลาเรียเป็นโรคพื้นถิ่นของพวกเราเลย เราเชื่อว่าในตัวคนที่มีวิวัฒนาการในพื้นที่ของประเทศไทย จะมีลักษณะพันธุกรรมบางอย่างที่ตอบสนองต่อการคัดเลือกเกี่ยวกับมาลาเรีย เราอาจจะมียีนต้านทานมาลาเรียก็ได้ใครจะรู้ อันนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังตามหา เป็นงานหนึ่งของการศึกษาพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา”
ในช่วงไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา วิทยาการทางด้านการแพทย์มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะคำว่าการแพทย์แม่นยำที่กลายเป็นเทรนด์หรือแนวทางรักษาโรคแบบทางเลือกในปัจจุบัน ซึ่งก็คือการแพทย์แม่นยำเป็นการใช้ข้อมูลเชิงดีเอ็นเอมาปรับการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรคให้ตรงจุด และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน
หรือแปลความง่ายๆ ก็คือ ถ้าเรารู้ว่าบนดีเอ็นเอของผู้ป่วยมีลักษณะหรือความผันแปรบางอย่างที่ทำให้เขาอาจจะไม่ตอบสนองต่อยานี้หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษานี้ เราก็จะเปลี่ยนวิธีการไปสู่การรักษาที่ดีกว่า ดังนั้น ความแตกต่างของบุคคล และความหลากหลายของประชากรจึงกลายเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญทันที จึงเข้ามาสู่คำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมองค์ความรู้เชิงพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยามันกลายมาเป็นสิ่งสำคัญในตอนนี้
เพราะนี่คือความรู้พื้นฐานที่จะเอาไปต่อยอดกับทางด้านการแพทย์แม่นยำได้
“งานที่ต้องทำต่อคือศึกษาตัวอย่างให้มากขึ้นทั้งคนปัจจุบันและมนุษย์โบราณ โดยเฉพาะมนุษย์โบราณนี่ข้อมูลยังมีน้อย จากเดิมที่ตัวอย่างจากขุดค้นทางโบราณคดีถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ คงต้องนำมาศึกษาให้มากขึ้น เพราะแท้จริงแล้วโครงกระดูกโบราณเหล่านี้เป็นเหมือนกับกล่องดำที่บรรจุดีเอ็นเอโบราณที่อาจไขคำตอบให้กับมนุษย์ยุคปัจจุบันผ่านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์”
“ส่วนงานที่ต้องส่งต่อคือ การนำองค์ความรู้เหล่านี้ส่งต่อให้กับการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก่อนที่การแพทย์แม่นยำจะเกิดขึ้นได้ ต้องเข้าใจความรู้พื้นฐานกลุ่มประชากรของเราก่อน เรามีความหลากหลายของผู้คนที่พัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นพันปี เพราะฉะนั้นความแตกต่างเหล่านี้ต้องถูกยอมรับว่ามันมีอยู่จริง”
“องค์ความรู้เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจประชากรในประเทศไทยของเราเอง ว่าเราเป็นใครมาจากไหน มันจึงควรเป็นองค์ความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์ไทยจะต้องทำเองในประเทศของเรา เพราะนี่คือประชากรที่เรากำลังจะรักษาหรือให้ยากับเขา องค์ความรู้เหล่านี้ต้องเกิดในประเทศไทย มันเลยทำให้เรื่องนี้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เลยกลายเป็นว่า ความรู้พันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยามันไม่ใช่การแค่รู้ว่าคนไทยมาจากไหนอีกต่อไปแล้ว”
“วิทยาศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่แข็งแกร่งแต่มักจะขาดซึ่งความอ่อนโยน แต่ความอ่อนโยนเหล่านี้เราสัมผัสได้จากองค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ การได้มีชีวิตอยู่กับผู้คนในหมู่บ้าน ไปคุยกับชาวบ้านทำให้มีความสุขว่า เรามีความแตกต่างกัน แต่ทุกคนยอมรับในความแตกต่างนี้ เรามีความภาคภูมิใจในความแตกต่างกันตรงนั้น แล้วเราก็พยายามที่จะพัฒนาไปด้วยกัน”
พันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยาจึงเป็นองค์ความรู้ที่แสดงให้เห็นว่า ศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ไม่ใช่เหรียญคนละด้านกัน ทั้งสองศาสตร์จำเป็นจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน
“เพราะเมื่อก่อนเราตอบคำถามแค่ในเชิงประวัติศาสตร์ก็คงไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่พอมีการประยุกต์ใช้ที่มีภาพพจน์มากขึ้น เลยทำให้เริ่มมีคนมาสนใจองค์ความรู้ทางด้านนี้มากขึ้น ซึ่งเราก็จะพัฒนางานด้านนี้ต่อไป”
อาจารย์จตุพลทิ้งท้ายถึงความสุขในการทำงานสายนี้ “คำว่า สะพาน เป็นคำที่น่ารักมาก คือเราทำตัวเหมือนเราเป็นสะพานเชื่อมต่อองค์ความรู้สองด้านเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ทางวิทย์หรือจะเป็นศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์ แล้วเรามายืนอยู่ตรงกลางระหว่างสองจุดนี้ ก็มีความสุขที่ทำให้ทั้งสองศาสตร์มาอยู่ด้วยกัน แล้วบูรณาการได้อย่างแท้จริง”
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี