LEARN Corporation EdTech สัญชาติไทย ที่เชื่อในพลังแห่งยกระดับการศึกษาของประเทศ

LEARN Corporation EdTech การรวมตัวของคน ความรู้ และนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และดึงศักยภาพผู้เรียน

LEARN Corporation – สถานการณ์จำเป็นในช่วงโควิดทำให้คนไทยมองเห็นความสำคัญของนวัตกรรมทางการศึกษามากขึ้น จากที่เคยเรียนในโรงเรียนกลายเป็นถูกบังคับให้ต้องเรียนอยู่กับหน้าจอ ตามมาด้วยคำถามมากมายจากบริบททางการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ หากแต่นี่คืออีกปัจจัยเร่งที่ทำให้เทคโนโลยีทางการศึกษาเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้นและมีคุณภาพมากอีก

LEARN Corporation เป็นองค์กร EdTech หรือเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่เริ่มต้นเมื่อสิบกว่าปีก่อนจากการเรียนการสอนนอกหลักสูตรในโรงเรียน (Outschool) หรือการกวดวิชา ก่อนจะต่อยอดจุดแข็งและองค์ความรู้ทางด้านการสื่อสารการศึกษาผ่านทางเครื่องมือนวัตกรรมจนเติบโตขึ้นเป็นลำดับมาจนถึงปัจจุบัน

“เด็กยุคนี้จะขวนขวายในการเลือกสิ่งที่เขาต้องการเรียนจริงๆ เมื่อก่อนเด็กเดินมาสิบคน อาจจะเข้าคณะคล้ายๆ กัน กลัวเหงา ก็ต้องไปเรียนด้วยกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เด็กเดินมาสิบคน อาจจะมีสิบอาชีพที่เขาอยากเป็นเลย นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป การเรียนในปัจจุบันก็เพื่อจะมีทักษะจริงๆ ที่สามารถเอาไปใช้งานจริงได้ มันจะไม่ใช่เรื่องของความรู้อย่างเดียวอีกแล้ว แต่เป็นเทรนด์ของอนาคตที่เราก็พยายามจะขยับตาม” คุณสาธร อุพันวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชี้ชวนให้เห็นภาพง่ายๆ ของการศึกษาและความต้องการเรียนรู้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ถ้าเราจะมองในแก่นของ EdTech จะประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ คน ความรู้ และเทคโนโลยี เราต้องใช้สามสิ่งนี้หมุนเป็นวงล้อเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้”

คุณภาพของการศึกษาแบบออนไลน์

“ทำอย่างไรให้เด็กเรียนแล้วสนุก เข้าใจแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้” นี่คือความสำคัญของการออกแบบการเรียนรู้

สามองค์ประกอบที่ต้องทำงานไปด้วยกันเพื่อให้การเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์เป็นไปได้อย่างดี เริ่มต้นจากครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ความเข้าใจในบทเรียน และที่สำคัญคือสามารถสื่อสารและถ่ายทอดผ่านการออกแบบการเรียนรู้ที่ทำให้เข้าถึงนักเรียนได้ง่ายขึ้น แล้วเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือที่นำพาและจัดการข้อมูลเหล่านี้ให้ไปถึงนักเรียนได้อย่างง่ายดายขึ้น

“สมมติเราทำการเรียนการสอนออนไลน์ เด็กสามารถย้อนกลับไปดูสิ่งที่สงสัยได้ เร่งสปีดหรือลดสปีดให้ช้าลงกรณีบทเรียนไปเร็วเกินไป รวมทั้งการเก็บข้อมูลรายบุคคลว่า เด็กคนนี้เรียนไปถึงไหนแล้ว ต้องพัฒนาอะไรต่อ หรือการเลือกคอนเทนต์เฉพาะสำหรับความสนใจและความสามารถของตัวบุคคล” นี่คือบทบาทของเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนการสอน ซึ่งผลประโยชน์สูงสุดจะย้อนกลับมาที่ตัวผู้เรียนเอง “แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากคน เพราะฉะนั้นบุคลากรที่ทำเรื่องนี้จะต้องเป็นบุคลากรที่ดีและมีความสามารถ”

จากอดีตที่ผู้คนเคยมองว่าการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์เป็นช่องทางเรียนเสริมจากบทเรียนในห้องเรียน สถานการณ์และนวัตกรรมนำพาให้เทคโนโลยีด้านการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ค้นหาศักยภาพและเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาในอดีตให้เกิดประสิทธิภาพขึ้น

“เทคโนโลยีทำให้ครูจำนวน 10-20 คน สามารถเข้าถึงเด็กจำนวนเป็นแสนคนได้ เบื้องหลังเรามีทีมวิชาการที่ทำคอนเทนต์และวิธีการเรียนการสอน หลักสูตรต่างๆ ซึ่งตรงนี้เป็นแกนหลักของการศึกษาในมุมของเราด้วย เช่นเดียวกันถ้าสมมติเราเอาตรงนี้เข้าไปสู่การช่วยเด็กที่ขาดโอกาส ก็สามารถทำได้ในแบบเดียวกัน แล้วเราก็พิสูจน์ให้เห็นจากนักเรียนประมาณหนึ่งแสนคนทั่วประเทศแล้ว นื่คือมิติหนึ่งในมุมของเทคโนโลยีการศึกษาที่เดินคู่ขนานไปกับห้องเรียน”

จากส่วนเสริมการเรียนรู้ มาสู่แกนหลักของการเรียนการสอน

อีกด้านหนึ่ง LEARN หยิบเอาจุดแข็งทุกด้านของเทคโนโลยีการศึกษามาช่วยการเรียนการสอนเรียนในโรงเรียนสาธิตพัฒนา “จากเมื่อก่อนมัธยมปลายจะมีแค่สายวิทย์สายศิลป์ แต่ปัจจุบันความต้องการของนักเรียนหรือผู้ปกครองมีหลากหลาย บางคนอยากทำอาชีพแปลกๆ ซึ่งก็ล้อมาจากความต้องการของตลาด เราสามารถจัดกระบวนการที่เรียกว่า Personalized Learning (การเรียนรู้เฉพาะบุคคล) ได้”

“ในโรงเรียนเรามีสิ่งที่เรียกว่า Lecture Skyhall คือเด็กสามารถที่จะเรียนในคอนเทนต์ที่อยากเรียน แผนการเรียนเราอาจจะมีเป็นสิบยี่สิบแผนเลย ไม่ใช่สองแผนอีกแล้ว ที่เด็กสามารถที่จะเรียนให้เข้ากับเค้า และคอนเทนต์ก็สามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่แต่ละบุคคลต้องการได้ ร่วมกับการจัดบรรยากาศการเรียนที่ทำให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย สามารถที่จะใช้สเปซต่างๆ ในการทำให้ผ่อนคลายแต่ได้ผลลัพธ์ในการเรียนที่ดีได้ด้วย สิ่งนี้คือ Learning Design Technology คือการดีไซน์ผสมผสานทั้งมุมของเทคโนโลยีการเรียนรู้ บรรยากาศ และตัวผู้เรียนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราค่อนข้างเน้นมาก”

ในมุมของผู้ใหญ่เองในยุคที่การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดชีวิต เทคโนโลยีทางการศึกษาเองมีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาความต้องการของผู้เรียนที่แตกต่างกันทั้งในเรื่ององค์ความรู้และเวลา “เพราะเราไม่ได้มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของเด็ก จริงๆ แล้วถ้าจะมองว่าเทรนด์ของการศึกษาในอนาคตมันจะมาอย่างไร เรามองว่ามันจะมาจากภาพใหญ่ก่อน พอโลกเปลี่ยนเร็ว เทคโนโลยีก็เปลี่ยนเร็ว เราต้องเอา EdTech เข้ามาช่วยทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น จึงเกิดเป็น Skooldio ขึ้นมา”

เทรนด์การศึกษาในเรื่อง Lifelong Learning หรือการศึกษาตลอดชีวิตไม่ได้อยู่เพียงแต่ในชีวิตของผู้ใหญ่เท่านั้น คุณสาธรชวนเรามองย้อนกลับมายังนักเรียนอีกครั้งว่า ปัจจุบันการค้นหาสิ่งที่ตัวเองสนใจคือสิ่งที่นักเรียนไทยมองหา และนี่เองที่ EdTech ช่วยได้กับผู้คนครอบคลุมทุกวัย

EdTech กับอนาคตการอุดรอยรั่วของภาคการศึกษาไทย

“ถ้ากลับไปเรื่องคุณภาพการศึกษากับความเหลื่อมล้ำ มันเหมือนเป็นปัญหาที่มาควบคู่กัน” คุณสาธรเล่าให้เราเห็นภาพของ EdTech กับความท้าทายที่ทำงานกับการศึกษาไทย

“เราเชื่อว่า สิ่งที่จะนำพาประเทศไปได้ก็คือเรื่องเทคโนโลยี อย่างไรแล้วมันก็คืออนาคตของผู้คน และเป็นคุณภาพคนในประเทศ เพราะฉะนั้นความสำคัญมันไม่ได้ลดทอนลงแน่นอน แล้วการที่มีพ่อแม่มีลูกน้อยคน ความสำคัญของเรื่องในการส่งเสริมการเรียนรู้ก็จะยิ่งมากขึ้น ดังนั้นมิติเรื่องความสำคัญของเทคโนโลยีทางการศึกษาก็จะยังคงมีมากเหมือนเดิม”

LEARN Education จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและสะสมสรรพกำลังที่มีทั้งหมดทั้งคน องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นงานที่ LEARN ทำมาโดยตลอด มาสร้างสรรค์เป็น National Platform หรือแพลตฟอร์มของประเทศ สำหรับให้บริการทางด้านการศึกษากับโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อสร้างมาตรฐานทางการเรียนรู้ที่เท่าเทียม

“มีสองเรื่องที่เราอยากเชียร์ให้ภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมมือกัน ข้อแรกคือการมีช่องอินเตอร์เน็ตทางการศึกษาฟรี ซึ่งเรามองว่า มันต้องมีโครงข่ายหลักที่รองรับก่อน เพราะช่องการศึกษาควรจะเป็นพื้นที่ที่ไม่คิดค่าบริการ แล้วให้เด็กที่ขาดโอกาสเข้าไป ซึ่งส่วนตัวมองว่าการขับเคลื่อนนโยบายตรงนี้เป็นไปได้ ทั้งทางเทคนิคและการรับส่งข้อมูลก็ทำได้ง่ายมาก”

“ขอแค่มีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับกับอุปกรณ์ก็ตอบโจทย์การเรียนการสอนได้แล้ว เรามองว่าคนละครึ่งแท็บเล็ตเป็นเรื่องที่ควรผลักดัน ถ้าแต่ละคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทางการเรียนรู้โดยมีหน่วยงานภาครัฐช่วยสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกในการจัดสรร ก็จะเป็นการเดินคู่ขนานระหว่างเทคโนโลยีการเรียนรู้กับโครงสร้างการศึกษาของโรงเรียนในระบบ เป็นการเติมเต็มกันผ่านทางการสร้างกลไกให้แนวคิดสามารถเกิดขึ้นได้จริง”

คุณสาธรเน้นย้ำว่า การเดินคู่ขนานและการเสริมแรงกันระหว่างระบบเดิมกับแนวการศึกษาสมัยใหม่เป็นการเกื้อหนุนที่ผลประโยชน์ตกมาสู่ผู้เรียนอย่างแท้จริง

“เราควรผลักดันให้เด็กที่ไม่มีโอกาส ได้มีโอกาส และทุกคนต้องมีโอกาสเท่ากัน แล้วการแข่งขันเรื่องการทำคอนเทนต์ หรือครูเก่งๆ ในประเทศก็จะตามมาเอง เราไม่ได้ห่วงเรื่องคอนเทนต์ เพราะผมเชื่อมาตลอดว่าคนไทยเก่งและมีความสามารถ เราต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เราจึงจะสามารถผลักดันประเทศได้”

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ ณัฏฐพล เพลิดโฉม


อ่านเพิ่มเติม คลังหน่วยกิตแห่งชาติ สู่อนาคตไทยผ่านการศึกษาตลอดชีวิต

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.