ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาไร้กรอบ กับความเข้าใจระบบนิเวศในไทยผ่านปลาน้ำจืด

บันทึกความคิด ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักธรรมชาติวิทยาเจ้าของรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes กับการเดินทางศึกษาธรรมชาติผ่านปลาน้ำจืด

ถ้าใครอยากรู้จักสายพันธุ์ปลาที่อยู่ในประเทศไทย หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Siamensis น่าจะเป็นหนังสือที่ตอบคำถามได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง นั่นเพราะ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เขียน ถูกขนานนามว่าเป็น “ด็อกเตอร์ปลา” จากความเชี่ยวชาญเรื่องปลาน้ำจืด และกับหนังสือเล่มนี้ เขาใช้เวลารวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายในหนังสือดังกล่าวนี้มากกว่า 20 ปี ก่อนจะสรุปชนิดพันธุ์ปลาในประเทศกว่า 800 สายพันธุ์ บันทึกรูปถ่ายปลากว่า 1,000 รูป

มากกว่านั้น ในแวดวงธรรมชาติวิทยา ดร.นณณ์ คือชื่อที่ใครๆคุ้นหู เขาเป็นนักวิชาการอิสระ เป็นกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย นักวิชาการในคณะอนุกรรมการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ และเมื่อปี 2560 เขาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes

“ผมชอบสัตว์ ชอบปลาตั้งแต่เด็ก ตามคุณพ่อไปตกปลา ไปท่องเที่ยวธรรมชาติ และมีสัตว์เลี้ยงมาตลอดตั้งแต่เด็ก ตอนสมัยเรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศ ผมทำงานพิเศษในแลปคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย มีเวลาว่างก็ได้เล่นอินเทอร์เน็ตไปด้วย ตอนนั้นผมคิดถึงปลาชนิดหนึ่งที่เมืองไทยมีน้อยมากชื่อปลาคิลลี่ฟิช (Killifish) แต่ที่ประเทศอเมริกาเค้ามีสมาคมใหญ่ ก็เลยลองเลี้ยงปลาคิลลี่ ไปๆมาๆเลยเพาะพันธุ์ขาย ถือเป็นปลาครูที่ทำให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมและการเลี้ยงปลาเยอะขึ้นมากๆ”

“ในมุมมองส่วนตัว ที่ทำให้คนพอรู้จัก น่าจะเป็นตอนตั้งสยามเอนซิส www.siamensis.org มากกว่านะ เพราะมันเป็นสังคมออนไลน์ที่ให้คนแชร์ความรู้เรื่องสัตว์ ระบบนิเวศในประเทศ ก่อนหน้านี้เวลาอยากคุยกับคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ผมก็มักไปเล่น Pantip ที่เหมือนสังคมออนไลน์ที่คนชอบอะไรเหมือนกันมาเจอกัน แต่ด้วยความที่ Pantip มันเก็บเป็นบทความไม่ได้ เวลามีคนถามว่าอันนี้เป็นปลาอะไร เราก็เคยตอบซะยาว แต่พอผ่านมาอีกสองอาทิตย์ก็มีคนถามใหม่ เราก็ไม่อยากนั่งตอบใหม่ เลยอยากจะทำเว็ปที่เก็บบทความได้ ทำให้เป็นชุมชนของคนที่ชอบสัตว์ ชอบปลา มันเลยกลายเป็นที่มาของการก่อตั้งเว็บสยามเอนซิสขึ้นมา”

“หลักคิดอย่างหนึ่งของสยามเอนซิส คือ ‘ถ้าไม่รู้จัก ก็ไม่รักกัน’ ซึ่งผมเอามาจากคำพูดของนักอนุรักษ์คนหนึ่ง ผมเชื่อว่าคนเราจะอนุรักษ์ได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้จักมันก่อน รู้ว่ามันคืออะไร มีประโยชน์อะไรกับระบบนิเวศ ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในแวดวงธรรมชาติวิทยา ตั้งแต่ เวลาใครจะถามอะไรก็จะมีคำตอบ โดยเฉพาะเรื่องปลาน้ำจืดที่ผมมีความถนัดการมีเว็ปไซต์ในช่วงนั้นก็เพื่อจะได้ดูแลเนื้อหาตัวเองได้ แล้วค่อย ๆ พัฒนาเว็บบอร์ดมาจนเวอร์ชันปัจจุบัน ใครเก่งเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ก็เข้ามาช่วยกันเขียนบทความ ตอบคำถาม เกิดสังคมการเรียนรู้ระหว่างคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน เวลาไปออกทริปด้วยกัน คนหนึ่งสอนเรื่องดูปลา อีกคนก็สอนดูนก ดูแมลง ตอนนี้เว็บหลักเก่ามากแล้วครับ ส่วนใหญ่เล่นกันอยู่ที่ fb ของกลุ่มมากกว่า”

นักเรียนธรรมชาติวิทยาไร้กรอบ

บ่ายสิ้นเดือนมกราคม เรานัดกับ ดร.นณณ์ ที่ออฟฟิศย่านสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ฉากหลังของห้องทำงานในตำแหน่งผู้บริหารโรงงานน้ำตาลเต็มไปด้วยแฟ้มเอกสารมากมาย เช่นเดียวกับบรรดาหนังสือสารานุกรมว่าด้วยสัตว์และพืชที่วางอยู่เป็นฉากหลัง

เรามักได้ยินภูมิหลังของคนทำงานด้านนิเวศวิทยาหรือวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่การเลือกเรียนในคณะที่เกี่ยวข้องที่ค่อยๆสร้างความสนใจจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ แต่ ดร.นณณ์ มีที่มาซึ่งค่อนข้างตรงข้าม  เขาเรียนมาทางด้านบริหารธุรกิจ และช่วยดูแลกิจการของครอบครัว ทั้งโรงงานน้ำตาล อู่ต่อเรือ ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ ฯลฯ โดยที่องค์ความรู้ด้านอนุรักษ์และธรรมชาติวิทยามาจากการสะสมนอกห้องเรียน

“ผมเหมือนมีสองชีวิต งานอนุรักษ์ งานธรรมชาติวิทยาเป็นเรื่องที่ชอบ ทำให้ชีวิตมีความสุข แต่งานที่ทำเงินเป็นอีกอย่าง แต่ผมก็ไม่ได้มีความทุกข์กับอย่างหลังนะ ผมโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่สามารถทำได้หลายอย่าง พ่อผมชอบตกปลา ชอบเที่ยวอยู่แล้ว ผมถือเป็นเด็กที่มีความสุขกับการเที่ยวธรรมชาติ ตอนเด็กเวลาขอคุณแม่ซื้อหนัง ก็จะซื้อสารานุกรม หนังสือนก หนังสือปลาตอนนั้นเรารู้แล้วว่าความชอบเราอยู่ที่ไหน”

ถึงจะชอบ หลงใหลในสัตว์ต่างๆ แต่ก็ไม่เคยคิดจะเรียนคณะที่เป็นสายวิทยาศาสตร์ หรือสิ่งแวดล้อม คือผมเป็นลูกชายของครอบครัวคนจีนที่มีธุรกิจ ก็เรียนบริหารธุรกิจตั้งแต่ ป.ตรี และ ป.โท แต่พอเรียนจบเราทำงานในระดับหนึ่ง เราก็ได้โอกาสทำงานสิ่งแวดล้อมไปด้วย อาศัยครูพักลักจำไปเรื่อยๆ จนทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง แต่งงานมีลูกแล้ว ก็คิดเล่นๆว่า ถ้าเราทำงานได้โอเคแล้ว รับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ถ้าเราไปลงเรียนเป็นเรื่องเป็นราวจะเป็นอย่างไร จึงไปสมัครเรียนปริญญาเอก ที่คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตร เพราะเขาไม่ได้มีกติกาว่าต้องเรียนจบสายวิทย์ฯ ไปสัมภาษณ์ผ่านก็ได้เข้าเรียน”

ไหนจะการงานในแต่ละวัน ชีวิตส่วนตัวที่ไม่ค่อยมีเวลา จัดสรรในการเรียนอย่างไร?  ดร.นณณ์ อธิบายว่า ในช่วงเรียนมีอุปสรรคแน่ๆ ต้องแบ่งเวลาทบทวน อ่านหนังสือ ทำงานส่ง แต่ในความลำบากนั้นมันก็ไม่ได้มีความทุกข์ กลับเป็นสนุกด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการได้เพื่อนร่วมห้องเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์ อาจารย์ ทำให้เราต้องขวนขวายหาความรู้ที่เรายังไม่รู้

“แต่เราก็มีความชอบ และความรู้ที่เราสั่งสมมานาน เราคิดว่าเรามีไอเดีย มีหัวข้อที่อยากนำเสนอ อ่านหนังสือเยอะในแบบของเราอยู่แล้ว ทำให้ผ่านมาได้ ก็ใช้เวลาเรียน 6 ปีก็จบ”

“เราเรียกแนวทางว่าเป็นความรู้แบบไม่ได้จำกัดรูปแบบ คือไม่ได้จำกัดที่แค่เรียนห้องเรียน แต่องค์ความรู้มันมาสั่งสมตั้งแต่เวลาที่เราไปดูปลา ไปคุยกับเฮียคนขายปลาที่ตลาดนัดจตุจักร แผงขายปลานี่เราไปทุกอาทิตย์ เราอ่านหนังสือเยอะ มีหนังสือภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก แม้ว่าจะอ่านไม่ออก แต่ก็ดูรูปและซึมซับไปเรื่อยๆ บางเล่มที่คุณแม่ซื้อให้ตั้งแต่ยังเด็กๆอ่านไม่ออก จนโตขึ้นมาได้อ่านจริงๆ ก็น้ำตาไหลเลย เหล่านี้ผมมองว่ามันเป็นความรู้แบบค่อยๆหยอดกระปุกที่สั่งสมเรื่อยมา”

มองระบบนิเวศผ่านปลาน้ำจืด

ย้อนไปในวันที่เป็นแฟนประจำโซนสัตว์เลี้ยง ที่ตลาดนัดจตุจักร ดร.นณณ์ เล่าว่า เขาเคยเห็นคุณลุงร้านขายสัตว์เลี้ยงมีหนังสือสารานุกรมคู่กาย โดยที่หนังสือนั้นเต็มไปด้วยการขีดเขียน ซึ่งเป็นความหมายภาษาไทยที่ถูกแปลจากภาษาอังกฤษด้วย Dictionary ชนิดคำต่อคำ

“ในวันนั้น คนไทยมีหนังสือความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสัตว์เลี้ยงให้อ่านน้อย สมัยก่อน ถ้าใครอยากดูหนังสือปลา หนังสือนก มันไม่มีหนังสือภาษาไทยเลย ผมจำภาพได้ว่าลุงคนนั้นเปิดหนังสือนก แล้วในหนังสือนั้นมีการขีดเขียนกำกับไว้เต็มไปหมด คือแกต้องเปิดแปลทุกคำเลย โอโห้ มันต้องถือว่าแกพยายามมากเลยนะ ผมประทับใจในความพยายามและคิดว่าถ้าวันหนึ่งเราพอมีความรู้ เราจะเขียนหนังสือภาษาไทยให้คนไทยอ่าน”

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้ม ของการผลิตบทความต่างๆ ที่แชร์ความรู้ว่าด้วยสัตว์ โดยเฉพาะหนังสือสารานุกรมว่าด้วยปลาน้ำจืดที่กล่าวถึงก่อนหน้า ซึ่งมีเบื้องหลังกระบวนการผลิตที่คล้ายๆกับ  Community ซึ่งมีหลายคนที่ช่วยบอกแหล่งที่มา แหล่งพบเจอปลา จนเนื้อหาครบด้วยในระดับหนึ่ง”

“ใครเจออะไรแปลกๆ ก็จะติดต่อหาผม ชวนมาถ่ายรูป ชวนมาเก็บข้อมูล ความฝันของผมคือสร้างพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติออนไลน์ เป็นสารานุกรมที่ใครจะมาค้นคว้าหรือใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาระบบนิเวศด้วย ทุกวันนี้เวลาใครเจอผมก็จะถามเรื่องปลา เพราะเขาอยากได้รับคำตอบ ซึ่งความที่ผมพูด แล้วดูไม่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ผมสื่อสารกับคนได้ง่ายขึ้น จริงอยู่เวลาอยู่ในแวดวงวิชาการก็ต้องปรับเปลี่ยนบ้างตามบริบท แต่ในขณะเดียวกันความไม่เป็นทางการก็จะทำให้ผมสื่อสารกับคนทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น”

ภาพปลา 𝐶ℎ𝑎𝑛𝑛𝑎 𝑟𝑢𝑏𝑜𝑟𝑎 ที่ถูกบันทึกโดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ในหนังสือปลาน้ำจืดไทย by Siamensis ลักษณะเด่นคือขอบครีบแดงและมีจุดสีดำเล็กๆกระจายทั่วตัว

“ถ้าถามว่างานอนุรักษ์คืออะไร แต่ละคนก็คงมีคำตอบที่ต่างกัน สำหรับผม ผมคิดว่าตัวเองมีการผสมผสานในหลายๆศาสตร์ ทั้งเรื่องเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ทางธรรมชาติที่ผมไปเห็นด้วยตาตัวเอง มันกลายเป็นการผสมผสานที่แปลก อย่างรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment-

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ผมเข้าใจมันทั้งในส่วนที่เป็นสิ่งแวดล้อม และเป็นเศรษฐศาสตร์ เข้าใจในแก่นของความต้องการที่ผู้คนแต่ละฝ่ายให้ความสำคัญ ซึ่งความเชื่อมโยงนี้คนที่ศึกษามาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะเข้าใจได้ยาก”

ฝูงปลาจาดตาฟ้า-Poropuntius-bantamensis ภาพโดย ดร. นณณ์ ผานิตวงศ์

“ที่ผมชอบที่สุดน่าจะเป็นสัตว์น้ำจืด ด้านหนึ่งทุกวันนี้ระบบนิเวศน้ำจืดมันถูกรุกล้ำ โดยที่คนอาจไม่ทันสังเกตผมให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ การให้ความรู้เพื่อให้คนใช้ประโยชน์จากมัน เช่น เวลาเรา เห็นแม่น้ำ ก็ต้องไม่มองแค่ว่าเป็นทางไหลของทะเล แต่ให้เห็นว่านี่คือบ้านของสิ่งมีชีวิต แล้วเชื่อมโยงไปถึงชีวิตที่มีแม่น้ำ หรือถ้าเราไปเห็นปลาน้ำจืดในตลาด เราก็น่าจะเดาได้ว่านี่คือภูมิประเทศในภาคไหน เพราะปลาท้องถิ่นในแต่ละแห่งก็จะมีธรรมชาติของมัน ความสนใจในปลาน้ำจืดจึงเชื่อมโยงไปถึงระบบนิเวศภาพใหญ่ได้”

“ทุกวันนี้ผมเรียนรู้ธรรมชาติที่หลากหลาย ศึกษาพันธุ์ปลาใหม่ๆ พยายามพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างไอเดีย สร้างแรงบันดาลใจหากใครจะอยากศึกษาเรื่องสิ่งมีชีวิตโดยไม่จำกัดรูปแบบ”

เป็นห้องเรียนธรรมชาติวิทยาที่ไร้กรอบ

ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเพิ่มเติม : ดร.วัชรพงษ์ หงส์จํารัสศิลป์ มองโลกแบบนักชีววิทยาทางทะเล อดีตคนไทยในหนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.