ดร.วัชรพงษ์ หงส์จํารัสศิลป์ มองโลกแบบนักชีววิทยาทางทะเล อดีตคนไทยในหนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ดร.วัชรพงษ์ หงส์จํารัสศิลป์ มองโลกแบบนักชีววิทยาทางทะเล อดีตคนไทยในหนึ่งในสถาบันวิจัยทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

คุณคิดว่า นักชีววิทยาทางทะเล มีหน้าที่อะไร?

หนึ่ง ติดตาม ศึกษา และวิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในทะเล

สอง ศึกษาความสัมพันธ์ด้านนิเวศวิทยาทางเศรษฐกิจ

สาม สอนหนังสือ ให้แรงบันดาลด้านชีววิทยาแก่ผู้สนใจ

สี่ ถูกทุกข้อ

ไม่ว่าคุณจะให้น้ำหนักของคำตอบไปที่ข้อใดมากที่สุด แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว นิยามของ “นักชีววิทยาทางทะเล” คงเป็นอาชีพที่ซึ่งจินตนาการได้ยากไปสักนิด ต่างจาก แพทย์ ตำรวจ ครู นักธุรกิจ และอีก ฯลฯ ซึ่งแค่พอเอ่ยชื่อมาปุ๊บ ก็จะนึกภาพได้ไม่ยากนัก

National Geographic ภาษาไทย คุ้นเคยกันดีกับนักชีววิทยาทางทะเล (MARINE BIOLOGIST) ท่านหนึ่ง ที่ชื่อ ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ เขาคืออาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังเป็น Biologist and National Geographic Explorer ที่เคยได้ทุนวิจัย และเดินสายให้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์งานวิจัยว่าด้วยพฤติกรรมสัตว์ต่างๆ เช่น การถอดรหัสกุ้งเดินขบวนใน จ.อุบลราชธานี การสื่อสารกันของปลาในทะเล ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นสารคดีในหลากหลายประเทศ

“งานวิจัยหรือการค้นพบทางชีววิทยา ท้ายที่สุดแล้วมันจะมีประโยชน์กับมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

“ยกตัวอย่างเช่น ข้อบังคับหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ล้วนมาจากการติดตามพฤติกรรมของสัตว์ เช่น กฎหมายห้ามจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ ก็มาจากการติดตาม ทำวิจัย นำสัตว์น้ำแต่ละประเภทมาศึกษารังไข่และพฤติกรรมการสืบพันธุ์ เพื่อให้ข้อบังคับมันดีต่อระบบนิเวศภาพรวมที่สุด หรืออย่างเรื่องกุ้งเดินพาเหรด แม้จะได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีใครศึกษาว่า เหตุใดสัตว์น้ำจึงเดินขึ้นจากน้ำ หรือแม้กระทั่งไม่เคยมีการระบุชนิดของมันได้ เมื่อศึกษาพฤติกรรมการอพยพของมัน นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของการท่องเที่ยว และมากกว่านั้นมันยังไปถูกนำไปใส่ในบทเรียนเพื่ออธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์”

ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ Biologist and National Geographic Explorer เมื่อครั้งบรรยายในต่างประเทศ

ชีววิทยาคือการเข้าใจธรรมชาติ

เราทักทายกันในสายวันหนึ่งช่วงปลายปี 2566 ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬา ดร.วัชรพงษ์ (อ.วิน)  เดินนำหน้าเพื่อชี้ชวนให้ดูสิ่งต่างๆภายในภาควิชา ห้องทดลอง บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการศึกษา หนังสือชีววิทยาพร้อมลายเซ็นของนักวิชาการคนดัง และอีกสารพัดสิ่ง ที่เขาเล่าให้ผู้มาเยือนฟังด้วยความตื่นเต้น จนทำให้ผู้สนทนาคิดเป็นอื่นใดไม่ได้เลยนอกจากคำว่า “รัก” และ “หลงใหล” กับสิ่งที่ทำ

อ.วิน เลือกเรียนชีววิทยา ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นไปศึกษาต่อปริญญาโท ในสาขาชีววิทยาทางทะเล ที่ Scripps Institution of Oceanography, University of California, San Diego สหรัฐอเมริกา ตามด้วยปริญญาเอกสาขาชีววิทยา ณ University of California, Los Angeles

การศึกษาและความสนใจทั้งหมด มาจากความชอบเรียนวิชาชีววิทยา  โดยที่เขานิยามว่า สาขาวิชานี้เปรียบเสมือนการตอบคำถามสิ่งที่อยู่รอบตัว เชื่อมโยงว่าสิ่งมีชีวิตนี้มีธรรมชาติอย่างไร และทำหน้าที่ใดในวัฏจักรสิ่งมีชีวิตอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้

“ผมชอบเรียนชีวะ เพราะมันเหมือนกับเราอ่านหนังสือการ์ตูน เมื่อเทียบกับวิชาอื่นๆ ในสายวิทย์-คณิต อย่างฟิสิกส์ เคมี หนังสือชีววิทยา มันมีภาพเยอะที่สุด อ่านสนุก แต่ละภาพก็จะมี Story ต่างๆ เรารู้ตัวว่าชอบอ่านวิชานี้ พออ่านสนุกทำให้การเรียนในห้องมันโอเค จากนั้นก็มีโอกาสไปเข้าค่ายชีววิทยาโอลิมปิก เข้าแข่งขันในรายการต่างๆ คือผมไม่ได้ชนะ หรือได้รางวัลอะไรนะ แต่พอติดเข้ารอบไป มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ที่เก่งๆ ได้เจอคนหลากหลายมากยิ่งขึ้น”

“ลองสมมติว่า ถ้าคุณมีน้อง หรือมีลูก แล้วเขาถามเราว่า ทำไมสัตว์สองตัวนี้สีไม่เหมือนกัน?ลาวาฬท้องกี่เดือน?ทำไมปลาแซลมอนถึงอร่อย? เราจะตอบเขาได้อย่างไร? ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะคิดว่าคำถามเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ แต่จริงๆแล้ว คำตอบของคำถามเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้ตอบข้อสงสัยของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการต่อยอดจินตนาการเรื่องอื่นๆได้อีกมากมาย

ในทุกๆปีผมเชื่อว่าเด็กๆรอบโลกหลายล้านคนก็จะถามคำถามเดียวกัน คำถามง่ายๆเกี่ยวกับธรรมชาติที่ผู้ใหญ่อย่างเราก็ตอบไม่ได้ ถ้าเราไม่เคยศึกษาชีววิทยาของพวกมัน สำหรับผมชีววิทยามันคือความสวยงาม มันเป็น Fundamental Knowledge (ความรู้พื้นฐาน) ไปสู่ความรู้เฉพาะทางอื่นๆ เช่น จะเรียนแพทย์ก็ต้องมีพื้นฐานชีววิทยา สาขานี้เป็นอะไรที่อยู่รอบตัว เมื่อรู้ว่าชอบ การเรียนในแต่ละวันก็จะเปลี่ยนไป คือไม่ใช่แค่นั่งในห้องเรียน หรือแค่อ่านหนังสือแล้วแต่มันคือทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว การดูลูกน้ำที่บ้านกลายร่างเป็นยุง การดูต้นไม้ข้างทางระหว่างไปเที่ยว หรือ การกินอาหารทะเลกับครอบครัว ทุกที่ผมจะมีอะไรให้ดูได้หมด”

ในฐานะ นักชีววิทยาทางทะเล (MARINE BIOLOGIST) ดร.วัชรพงษ์ บอกว่า คือความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ถูกจัดหมวดไว้ให้เพียงเท่านั้น แต่เขาไม่ได้มองชีววิทยาในแต่ละด้านด้วยความรู้สึกแตกต่างกัน เพราะการเลือกมองสิ่งมีชีวิตคือมองในภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่ภาพกว้างถึงเฉพาะทาง ตั้งแต่บนภูเขา กลางแม่น้ำ ลงไปถึงในทะเล เพื่อให้เห็นการทำงานว่าเชื่อมโยงเป็นระบบอย่างไร

“ผมชอบที่จะมองภาพกว้าง ศึกษาตั้งแต่บนบก ทางทะเล แม่น้ำ ผมเคยไปหมด ไม่ได้สำคัญว่าจะอยู่ตรงไหน แต่ความเฉพาะทางเรื่องสิ่งมีชีวิตทางทะเลก็เพราะเราสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติมมากกว่า ความว๊าว ของการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับผมคือการพิสูจน์ให้ได้ว่า คุณรู้สิ่งนั้นได้อย่างไร เช่น คุณรู้ไหมว่าบรรพบุรุษของวาฬสีน้ำเงิน (Blue whale) เคยอยู่บนบกมาก่อน ซึ่งการจะพิสูจน์ได้มันต้องมีหลายกระบวนการทั้งการขุดฟอสซิล การศึกษาสารพันธุกรรม หรือแม้แต่ศึกษาภูมิศาสตร์ในอดีตและปัจจุบัน ชีววิทยาทางทะเล มันก็เป็นชีววิทยาสาขาหนึ่งที่เราไปเน้นศึกษาสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทะเล ผมมองแบบนี้ เพราะผมมองว่าการจะเข้าใจจริงจะต้องมองภาพกว้างให้ออก”

หน้าร้อนวันนั้นกับนักชีววิทยาทางทะเลที่มีอยู่จริง

นี่คือเรื่องเล่าที่ ดร.วัชรพงษ์ พูดทุกครั้งถึงความภูมิใจในการเป็นนักชีววิทยา

ระหว่างเรียนปริญญาโท เขา ได้ทำงานที่ Scripps Institution of Oceanography (SIO) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านสมุทรศาสตร์ และเป็นหนึ่งในสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

“ตอนอยู่ที่เมืองไทย พอเราพูดถึงนักชีววิทยา เรามักได้ยินแต่อาจารย์ หรือนักวิชาการ แต่วันนั้นมันทำให้ผมรู้ว่าอาชีพนี้มีความหมาย”

“จำได้ว่าเย็นวันหนึ่งช่วงซัมเมอร์ เวลาประมาณ 5 โมงเย็นผมก็ดูปลาในแล็บเงียบๆ คนเดียว วันนั้นมันเงียบมากครับ เพราะไหนจะซัมเมอร์ที่คนไม่ค่อยจะมาทำงานกัน ไหนจะช่วงเวลาที่คนอื่นกลับบ้านไปหมดแล้ว ปรากฏว่ามีคนโทรมา ผมก็รับสายไปตามปกติ  ‘สวัสดีครับ ห้องเก็บตัวอย่างสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเล ณ สคริปป์ ครับ’ แล้วปลายสายเป็นเสียงผู้ชายแนะนำตัวเองว่าเป็นเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนชายหาด แล้วบอกว่าตอนนี้ชายหาดที่บริเวณใกล้กับสถาบันวิจัยมีสัตว์ประหลาดนอนเกยตื้นอยู่ สนใจมาเก็บตัวอย่างไหม ผมก็ตอบรับไป เราก็นัดแนะสถานที่เพื่อให้เขาพาผมนั่งรถหน่วยกู้ภัยวิ่งขนานชายฝั่งไปยังที่เกิดเหตุ”

“ระหว่างที่รถกำลังแล่นไปตรงจุดเกิดเหตุ ผมเห็นว่าวันนั้นมีคนมาตากแดดเยอะมาก ผมมองจากไกลๆ เห็นคนกลุ่มหนึ่ง กำลังยืนรุมอะไรบางอย่างอยู่ แล้วเจ้าหน้าที่ก็เดินนำหน้า   แล้วคนแถวนั้นก็เปิดทางให้ผม (หัวเราะ) และระหว่างที่ตรวจสอบมีคนถามผมตลอดเป็นระยะ ว่านี้คือปลาอะไร? มีพิษไหม? ตายหรือยัง? ฯลฯ ผมได้แต่ทยอยตอบทีละคำถาม  (ในใจก็รู้สึกเท่มากที่ตอบคำถามเหล่านั้นได้)”

“ปลายักษ์นั้นไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่ไหนหรอกครับ แต่มันคือปลาในตระกูล Anglerfish  ผมก็เอามันกลับเข้าห้องแล๊บไป แต่เสียงที่ผมได้ยินต่อจากนี้ต่างหากที่ทำให้หัวใจผมฟูขึ้นมา”

“ลองคิดภาพตามนะครับ มีคนมามุงดูเยอะ แล้วจุดสนใจคือเจ้าปลาตัวนั้นแล้วก็ผม จู่ๆก็มีเสียงของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า Mom, who is this guy?  ก่อนที่แม่ของเด็กคนนั้นตอบว่า He is a Marine biologist เด็กผู้หญิงอุทาน Wow, He is super cool !

ซึ่งระหว่างที่ผมได้ยิน ใจผมก็ยิ้มอยู่ วันนั้นผมภูมิใจมาก ไม่ใช่เพราะว่าผมได้มาทำงานในต่างประเทศหรือได้ใบปริญญามาเป็นเครื่องยืนยันว่าเราเป็นนักชีววิทยาทางทะเล แต่เพราะผมได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาตอบคำถามให้กับคนสังคมได้ต่างหาก

ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ เมื่อครั้งทำงานใน  Scripps Institution of Oceanography (SIO)
(ภาพจาก ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์)
รถคันที่พาไปจุดเกิดเหตุ (ภาพจาก ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์)
ซากปลาประหลาดที่พบบนชายหาด ในหน้าร้อนวันนั้น (ภาพจาก ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์)

คุณค่าของอาชีพนักชีววิทยา

ดร.วัชรพงษ์ บอกว่า ทุกวันนี้มีความสุขมากกับการได้เป็นนักชีววิทยา และในฐานะนักวิชาการในมุมหนึ่งก็ชอบการสอน

“เสน่ห์ของชีววิทยาทางทะเลคือการค้นพบและศึกษาตั้งแต่ผมชอบชีวะ ผมก็มีความสุขในการเรียนนะ อยากจะรู้ อยากจะศึกษา อยากจะรู้การค้นพบใหม่ๆ อย่างเรื่องแมลงในทะเลคุณรู้ไหม แมลงมีเป็นล้าน Species แต่มีแค่ 5 Species เองนะที่ไปอยู่ในทะเลได้ แค่นี้ก็อยากรู้แล้วครับว่ามันไปได้ไง มันไปอยู่กลางทะเลได้อย่างไร หรือเมื่อมันต้องโดดแดดตลอดทั้งวันทั้งคืน ทำไมมันไม่เป็นมะเร็ง หรือถ้าเป็น มันมีกลไกในการรักษาตัวเองอย่างไร นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สงสัย ซี่งภายหลังพบว่าแมลงพวกนี้มันมีสารเคลือบผิวพิเศษบางอย่างอยู่บนตัวของมัน”

มันบินไปนานแค่ไหน หรือเมื่อมันต้องโดดแดดตลอดทั้งวันทั้งคืน ทำไมมันไม่เป็นมะเร็ง นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สงสัย ซี่งภายหลังพบว่าแมลงพวกนี้มันมีสารเคลือบผิว”

ภาพแมลงสายพันธุ์หนึ่งที่ถูกค้นพบในทะเล พร้อมกับลายเซ็นต์เจ้าของงานวิจัยที่ถูกเก็บไว้ราวกับของสะสม

งานชีววิทยา ทำให้ ดร.วัชรพงษ์ ไปไกลกว่าแค่ในตำราหรือห้องเรียน เขา บอกว่า การทำวิจัยหนึ่งเรื่องสร้างโอกาสให้เขาค้นพบกับคนอีกหลายอุตสาหกรรม แบบที่ครั้งหนึ่งเคยมีดีไซนเนอร์ที่โทรมาบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากงานวิจัยสัตว์ทะเลของเขา หรือเรื่องกุ้งเดินขบวน จะถูกดีไซน์ไปอยู่ในหนังสือของเด็กในอเมริกา ถูกเขียนเป็นข่าวลงในหนังสือพิมพ์ในตำบลหนึ่งที่ประเทศจีน ซึ่งมีนักเรียนราว 5 แสนคน!! และกลายไปเป็นข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศไต้หวัน

“ผมจำความภูมิใจตอนอยู่ที่ชายหาด ตอนไปเก็บกู้ซากปลาตัวนั้นได้ ในประเทศไทย ผมคิดว่าบ้านเรามีความหลากหลายสูง ผมอยากทำให้คนทั่วโลกรู้จักสิ่งมีชีวิตในไทยมากขึ้น และในที่สุดมันจะได้สร้างประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืน”

“ทุกคนสามารถเป็นนักชีววิทยาได้ เพราะทักษะของอาชีพนี้มาจากเรียน ฝึกฝน และศึกษาเพิ่มเติม  แต่ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเองก่อนว่าชอบจริงหรือไม่ ผมมีความเชื่อและได้พิสูจน์แล้วใน 10 ปีที่ผ่านมาว่าวิชาชีพนี้มีอยู่จริงและคุณค่าของคุณอาจจะอยู่ที่ไหนในโลกสักที่ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นประเทศไทย”

ภาพ: สหรัฐ ลิ้มเจริญ

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเพิ่มเติม : คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ที่นี่เรียนอะไรบ้าง?

คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรตศาสตร์

Recommend