นับจากนั้น เหล่าซากสัตว์มหัศจรรย์จากอดีตเหล่านี้ได้ทับถมไต้ชั้นดินชั้นหินจนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ฟอสซิล” หลับใหลไปอยู่อย่างนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไป “มนุษย์” ได้มารับช่วงการครองโลกใบนี้ต่อ และเป็นผู้ค้นพบเผยเรื่องราวความหัศจรรย์ของพวกมัน
เมื่อปี พ.ศ. 2519 ประเทศไทยได้ค้นพบโครงกระดูกขนาดใหญ่ของไดโนเสาร์เป็นครั้งแรก ในเขตอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยทั้งเวลา และสถานที่ดังกล่าวนี้ถือเป็นการเริ่มต้นยุคการสำรวจไดโนเสาร์ของประเทศไทย เช่นเดียวกับศาสตร์ของ “บรรพชีวินวิทยา” ที่ศึกษาสิ่งมีชีวิตในอดีตโดยอาศัยข้อมูลจากซากดึกดำบรรพ์ที่หลงเหลืออยู่ นอกเหนือไปจากไดโนเสาร์ ก็ได้เริ่มปักหมุดในแวดวงการศึกษาไทยไปด้วย
“ภูเวียง” ที่ต่อมาได้มีการพัฒนาพื้นที่เป็น “อุทยานแห่งชาติภูเวียง” กลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ภายใต้การนำของ ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินวิทยา และเป็นผู้บุกเบิกด้านการวิจัยไดโนเสาร์ของประเทศไทย เป็นผู้สำรวจพื้นที่และทำงานขุดค้นในพื้นที่แห่งนี้
เมื่อองค์ความรู้การสำรวจไดโนเสาร์พัฒนาจนพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ๆ ในประเทศไทยหลายสายพันธุ์ ราว พ.ศ. 2535 – 2536 ดร. วราวุธ และทีมขุดศึกษาฟอสซิลไดโนเสาร์ในตอนนั้นได้ตัดสินใจหยุดการขุดสำรวจซากไดโนเสาร์ในเขตพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียงไปก่อน แล้วเดินทางไปขุดหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์แห่งอื่นๆ ในประเทศไทย
หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาหลุมขุดค้นไดโนเสาร์ในอุทยานแห่งชาติภูเวียงให้กลายเป็นสถานที่เรียนรู้ด้านซากดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชั้นนำประเทศ จนเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี ได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ๆ จากอีกหลายแหล่งขุดค้นในประเทศไทย รวม 13 สายพันธุ์อย่างเป็นทางการ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2567 ดร.วราวุธ สุธีธร ได้กลับมาที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง เพื่อเริ่มต้นโครงการขุดค้นไดโนเสาร์ในที่แห่งนี้ขึ้นใหม่ในรอบ 30 ปีอีกครั้ง ร่วมกับ ดร.สุรเวช สุธีธร ทายาทผู้เดินตามรอยเส้นทางบรรพชีวินวิทยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยไดโนเสาร์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยามหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ผศ.ดร.อดุลย์ สมาธิ อาจารย์ประจำหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วยทีมงานนักวิชาการ – นักศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ก่อนที่พวกเขาจะออกไปสกัดซากไดโนเสาร์ล้านปีที่รอการค้นพบในภูเวียงครั้งใหม่นี้ National Geographic Thailand ได้มานั่งล้อมวงพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทั้งสามท่านนี้ถึงองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่พวกเขาได้มาในฐานะ “นักล่าซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์” เพื่ออุทิศแก่วงศ์วิชาการด้านบรรพชีวินในประเทศไทย ที่ทำให้เราสัมผัสได้ว่า เมื่อพวกเขาเลือกเส้นทางตามล่าฟอสซิลไดโนเสาร์ล้านปีนี้แล้ว กว่าความรู้จะเริ่มผลิดอกออกผล อาจจะต้องรอไปนับ (หลาย) สิบปี หรือแม้กระทั่งชั่วชีวิต
ผม (อ. วราวุธ) เคยมาทำงานขุดไดโนเสาร์ที่ภูเวียงเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ราวปี พ.ศ. 2519 – 2536 แล้วก็ไปที่ภูคุ้มข้าว (ปัจจุบันเป็นแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์) จนเกษียณและมีลูกศิษย์มารับช่วงต่อ โดยก่อนหน้าที่เราเลิกขุดหาฟอสซิลที่ภูเวียง เราพบว่ามีซากดึกดำบรรพ์หลายชิ้นที่น่าสนใจซึ่งยังไม่ได้ศึกษาหาคำอธิบายได้อย่างชัดเจนที่ควรเอาไปศึกษาต่อ ในตอนหลัง พอเราเริ่มเจอฟอสซิลจากที่อื่นบ้างมันก็เป็นตัวเสริมข้อมูลชิ้นส่วนที่เราเคยค้นพบจากที่นี่ แล้วฟอสซิลที่อยู่ที่นี่ค่อนข้างมีขนาดใหญ่มาก เป็นจุดเด่นอันหนึ่งที่น่าจะทำต่อ
จนคุณสุธรรม วงษ์จันทร์ (หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียงคนปัจจุบัน) ตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ขุดหาตัวอย่างฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ภูเวียงต่อ หัวหน้าอุทยานเขาก็ไปหาทุน ทำโครงการ เราเลยได้มาทำที่นี่ต่อ ซึ่งอันที่จริงในภูเวียงยังมีเรื่องน่าสนใจอีกมาก เราขุดเจอฟอสซิลหลายตัวอย่างที่นี่จนค้นพบว่าที่ภูเวียงมีความหลากหลายของไดโนเสาร์กินเนื้อ ต่อมา อาจารย์อดุลย์ (ผศ.ดร.อดุลย์ สมาธิ) มาเจอตัวอย่างเดิมจากที่ภูเวียงนี้ แม้มีจะไม่มากเท่าไหร่ แต่เขาก็นำไปศึกษาต่อจนสามารถศึกษาจนได้เป็นงานวิจัยของไดโนเสาร์ตระกูลใหม่จากตัวอย่างที่ขุดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราควรกลับมาดูอีกครั้งหนึ่ง
ต้องเล่าก่อนว่า ไดโนเสาร์เกิดแผ่นดินในประเทศไทยในทุกวันนี้ช่วงมหายุคมีโซโซอิค (251-65 ล้านปีที่แล้ว) ไดโนเสาร์เป็นสัตว์บก ถ้าแผ่นดินของเรามีไดโนเสาร์ที่สมัยไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่ เราก็จะเจอฟอสซิลของไดโนเสาร์ในช่วงนั้น
พื้นที่ส่วนที่มีไดโนเสาร์มากที่สุดในประเทศไทยคือ “ชั้นหินโคราช” ที่ครอบคลุมภาคอีสานทั้งภาคในปัจจุบัน ชั้นหินโคราชเป็นชั้นหินที่สะสมตัวบนแผ่นดินตั้งแต่ช่วง 220 ล้านปีที่แล้วในช่วงมหายุคมีโซโซอิก และด้วยความที่ไดโนเสาร์เป็นสัตว์บกที่มีชีวิตอยู่ในช่วงนั้น เราเลยเจอฟอสซิลของพวกมันในช่วงนั้นด้วย
ชั้นหินโคราชส่วนหนึ่งที่ทอดยาวไปถึงพิษณุโลกขึ้นไปทางเหนือ บางส่วนแพร่กระจายไปยัง จ. น่าน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ซึ่งก็มีโอกาสเจอฟอสซิลไดโนเสาร์ในจังหวัดเหล่านั้นได้เหมือนกัน โดยในบ้านเรา ตะกอนยุคนี้มีทั้งอีสานและภาคใต้ แต่ในตอนนั้นแผ่นดินภาคใต้เรายังอยู่ใต้ทะเลเราเลยไม่ค่อยเจอฟอสซิลไดโนเสาร์ในภาคใต้ เคยเจอที่ จ. กระบี่แค่ตัวเดียวเท่านั้น
ต่อมาในช่วงท้าย ชั้นหินโคราชก็มีน้ำทะเลเข้ามา ทำให้ภาคอีสานตอนบนเป็นทะเลสาบน้ำเค็ม เกลือตกตะกอนหนาหลายร้อยเมตร ชั้นหินโคราชเลยทำหน้าที่เปรียบเสมือนการดองไดโนเสาร์เอาไว้หลายร้อยล้านปี แผ่นดินเลยมีชั้นเกลือ ช่วงเวลานี้เกิดตั้งแต่ร้อยล้านปี ไปจนถึง 65 ล้านปีที่แล้วไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป ทำให้แผ่นดินอีสานมีไดโนเสาร์มีอายุจนถึงช่วงร้อยล้านปีที่แล้ว จากนั้นอีสานแผ่นดินก็ยกตัวขึ้นมา พัฒนาเป็นแผ่นดินอีสานในปัจจุบัน ทำให้ถ้ามีภูเขาอยู่ตรงไหนในอีสานมีโอกาสเจอหมดเลย
มันอยู่ที่ความแข็งของฟอสซิล และความแข็งของกระดูก ต้องดูว่ากระดูกแข็งดีไหม ถ้ากระดูกไม่แข็ง ร่วน แตก เราก็ทำอะไรจะไม่ได้เลย ถ้ากระดูกฟอสซิลมันแตก เราอาจจะต้องมีวิธีที่ต้องป้องกันก่อน เช่นอาจจะต้องใส่กาวเข้าไปรักษามันอยู่คงรูป แต่ส่วนใหญ่มันจะแข็ง มิฉะนั้นมันจะไม่คงอยู่จนถึงปัจจุบัน
พอได้กระดูกของไดโนเสาร์มา เราก็สกัดแยกส่วนที่เป็นหินอ่อน ออกมาให้ได้ ใช้ครื่องมือเหมือนหมอฟัน แล้วต่อมาก็มีอุปกรณ์เฉพาะ ทำให้การสกัดฟอสซิลเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างปัจจุบันเราก็มีเครื่องมือหลาย ๆ อย่างที่ดีขึ้น แต่ถ้าหินแข็ง ก็อาจจะสกัดออกยากหน่อย
กระดูกไดโนเสาร์เหมือนกระดูกสัตว์ทั่ว ๆ ไป ไดโนเสาร์เป็นสัตว์กระดูกสันหลัง ซึ่งโครงร่างของสัตว์มีกระดูกสันหลังในโลกนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรจะมีลักษณะคล้ายกันก็คือ มีหัว มีคอ มีกระดูกสันหลัง มีหาง มีแขน มีขา มีนิ้ว แล้วกระดูกพวกนี้มันก็จะมีรูปแบบของมัน ไม่ว่าในสัตว์พวกไหนก็ตาม กระดูกแต่ละส่วนมันมีลักษณะเด่น ถ้าเราศึกษา เราจะรู้เลยว่าเป็นชิ้นส่วนไหน จากสายพันธุ์อะไร และถ้าเราเรียนลึกไปมาก ๆ เราก็จะเจาะลึกลงไปจนแบ่งพวกมันได้ ซึ่งโดยทั่วไปเราก็จะพอบอกได้ว่าฟอสซิลกระดูกนี่เป็นตัวไหน เพราะฟอสซิลมันแตกต่างจากหินปกติ เพราะมันเป็นกระดูกที่ถูกแร่ธาตุเข้าไปแทนที่ เข้าไปฝังตัว เข้าไปตกผลึก ตกตะกอน และเปลี่ยนสภาพโดยมีแร่ซิลิกาเข้าไปแทนที่ แต่ก็ยังคงลักษณะของโครงกระดูกเอาไว้ นี่คือสิ่งที่เราใช้เป็นตัวแยกระหว่างหินธรรมดากับฟอสซิล
พอเราจะเริ่มขุดหาฟอสซิล สิ่งเราทำอย่างแรกก็คือสำรวจหาไซต์ (พื้นที่ขุดสำรวจ) ใหม่ หาไซต์ที่เราไม่เคยไป แล้วก็ขุดทดสอบ ถ้ามีปริมาณฟอสซิลซัก 1 ใน 10 ของพื้นที่ขุดก็ถือว่าคุ้มแล้ว แล้วเราก็เริ่มจากจุดนั้น แล้วเราก็ขุด ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หรือใช้วิธีไปเยี่ยมไซต์ทุกปี มีหลายครั้ง หลายที่ที่เราขุดพบว่ากระดูกฟอสซิลมันกระจายไปไกลมาก เราเลยต้องไปเยือนไซต์ทุกปี เพื่อดูว่าธรรมชาติจะช่วยเราว่าจะช่วยเปิดจุดขุดเพิ่มให้เราในบริเวณไซต์นั้นด้วยไหม
เรามีจุดที่ไปเยี่ยมปีหนึ่งๆ อาจจะมีสัก 10 – 20 จุด เราไล่ไปดูเรื่อยๆ พอมีจุดที่เราไปเจอบ่อยๆ เราก็ไปดูว่าส่วนฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ที่โผล่มาพอมีที่ชิ้นที่ใช้ได้บ้างไหม เราก็ไปขุดต่อ 2-3 วัน ถ้าไม่เจออะไรเลย เราก็ไปที่อื่นๆ
ถ้าเราขุด 2-3 วัน แล้วจะเจอชิ้นส่วนกระดูกที่มันต่อเนื่อง จนนำพาไปสู่จุดอื่นๆ สิ่งนั้นคือกระดูกไดโนเสาร์ที่ฝังอยู่ อันเป็นกระดูกที่มีความสมบูรณ์มาก พอเราเจอกระดูกลักษณะนั้นเราก็จะเปิดหลุมขุดให้กว้างขึ้น จากนั้นเราก็ดูความต่อเนื่องของกระดูกว่าจะมีเฉพาะตัวเดียว หรือมีหลายๆ ตัวที่อยู่ด้วยกัน แต่บางครั้งก็มีเหมือนกันว่าพอเราเจอกระดูกไดโนเสาร์สัก 2-3 ชิ้น แล้วก็ขุดให้กว้างขึ้นแต่ถ้าไม่เจออะไรเพิ่ม เราก็ต้องหยุดขุดตรงนั้นไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราเจอบ่อยๆ
พอเจอกระดูกไดโนเสาร์เยอะมากพอในไซต์ขุดหนึ่งแล้ว เราก็ต้องทำการแยก 2 อย่าง นั่นคือ แยกเป็นกลุ่มชนิด และแยกเป็นตัวๆ ตามลักษณะที่เจอ บางตัว บางกอง ก็มีแยกชนิด และเป็นตัวๆ จากกันชัดเจน บางตัวหรือบางกองก็หลุดไปปนกันไป เราก็ต้องแยกว่าชิ้นไหนของตัวไหน ซึ่งบางชิ้นก็บอกได้ชัดเจนว่าสายพันธุ์ไหน อย่างที่ภูคุ้มข้าว ก็มี 7 ตัว จาก 3 ชนิด
เวลาขุดในไซต์หนึ่งๆ เราก็ต้องคำนึงว่า ในไซต์นี้จะเป็นตัวเดียวกันทั้งหมด หรือเป็นของหลายๆ ตัวถ้าหลายตัวรวมกัน จะเป็นสายพันธุ์เดียวกันหรือเปล่า บางครั้งเราก็เจอฟันของพวกกินเนื้อ ก็ทราบว่าจะมีโครงขึ้นมาแล้วนะ แต่ถ้าเจอฟันที่อยู่ในกองกินเนื้อ เราก็จะต้องสันนิษฐานว่า มันมาจากไดโนเสาร์กินเนื้อมากินแล้วทำฟันหักตกไว้หรือเปล่า หรือว่าเป็นตัวกินเนื้อที่มาตายปนกันอยู่กันแน่ อย่างนี้มันก็เป็นไปได้เหมือนกัน อย่างหลุมหมายเลขหนึ่งที่ภูเวียง เราขุดมาก็เจอเป็นซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืชกลุ่มหนึ่ง) ที่เป็นกระดูก แต่เราขุดไปก็เจอฟันกินไดโนเสาร์กินเนื้อหลายซี่ พอไปไล่เช็คจากงานวิจัยที่เคยมีการศึกษาไว้ ก็พบว่าไดโนเสาร์กินเนื้อฟันงอกใหม่ได้ตลอดเหมือนฉลาม ถ้าพวกมันกัดไปโดนกระดูกแล้วฟันหักอยู่ในกองก็เป็นไปได้เหมือนกัน ซึ่งเราก็ต้องมาคิดต่อว่า ฟันที่เราเจอในฟอสซิลมันเป็นของพวกกินเนื้อที่มากินซากทิ้งฟันเอาไว้ เป็นฟันของไดโนเสาร์กินเนื้อจริงๆ กันแน่
อีกกรณีหนึ่งที่เป็นไปได้เหมือนกันคือ ในไซต์ขุดเราเจอฟอสซิลส่วนขา แล้วเราเจอฟอสซิลนิ้วเท้า ซึ่งมันไม่ตรงกัน ทีนี้ เราจะบอกได้หรือไม่ว่าเป็นชิ้นส่วนพวกนี้มาจากตัวเดียวกันหรือคนละตัว เราก็ต้องหาข้อมูล บางครั้ง ก็ต้องอาศัยจังหวะงานวิจัยจากต่างประเทศด้วยว่าจะขุดเจอตัวที่ลักษณะคล้ายกันกับที่เราเจอเข้ามาพอดีหรือเปล่า ก็จะช่วยให้ไอเดียเราได้ว่ากระดูกฟอสซิลที่เราเจอเป็นอย่างไรกันแน่ ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากหลายๆ ที่ จากทั่วโลกไปพร้อมๆ กัน
เราขุดจะในไซต์โดยไม่เคลื่อนย้ายกระดูก เพื่อดูวิธีการที่วางตัวของมันว่าวางตัวอย่างไร แล้วก็ถ่ายรูป ทำ Plan Map (แผนที่กระดูก) เบื้องต้น ในปัจจุบันมันก็จะมีถ่ายรูปภาพ 3 มิติ เราก็ได้รูปถ่ายที่ชัดเจนมากขึ้น
จากนั้นเราก็เอาชิ้นส่วนฟอสซิลเข้าไปในแล็บ มันก็จะมีเครื่องมือสกัดหินออกมาให้เหลือแต่กระดูกเพื่อให้กระดูกเสียหายน้อยที่สุด ใช้ทั้งน้ำยา ทั้งกาวตอก เป็นต้น ถ้าฟอสซิลแตกก็ต้องซ่อม สุดท้ายก็ระบุว่าฟอสซิลนี้มันเป็นชิ้นส่วนไหน เป็นของสายพันธุ์ไหน ฟอสซิลทุกชิ้นมีความหมาย แต่กว่าเราจะรู้ถึงความหมาย ความสำคัญของมันก็ต้องใช้เวลา อย่างภูน้อยเอ็นซิส (สายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่พบเจอใหม่ล่าสุดของประเทศไทย สายพันธุ์ที่ 13) นี่ก็เจอตั้งแต่ปี 2013 แต่กว่าจะยืนยันได้ ก็ปี 2023 ใช้เวลา 10 ปี มันขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนว่ามีความยากง่ายในการจำแนกสายพันธุ์แค่นั้น ถ้าชิ้นส่วนที่เจอนั้นไม่ใหญ่กว่าจะสกัดชิ้น กรอชิ้นส่วนออกมาศึกษาได้ ก็ใช้เวลาหลายปีทีเดียว แล้วก็ต้องหาคนมาทำวิจัยต่อด้วย
ถ้าตามแผนก็ 3 ปีต่อจากนี้ ซึ่งแล้วแต่ทุนที่ได้มา และขึ้นอยู่กับผลงานของเราว่าจะเจออะไรบ้าง อย่างเราขุดไปอาทิตย์นึง ก็กลายเป็นว่าเริ่มเจออะไรใหม่เรื่อยๆ เช่น ชิ้นส่วนจากที่เคยเห็นเป็นเศษๆ ก่อนหน้านี้ กลายเป็นว่ามันเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งโผล่ขึ้นมา กลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด เพราะมันก็มีหลายชิ้น และมีชิ้นนึงที่ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่าเป็นส่วนสะโพก กลับกลายเป็นว่าไม่ใช่ กลายเป็นว่าสิ่งที่เคยเชื่อมา 20 ปีนั้นไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว มันมีอะไรที่เหนือความคาดหมายค่อนข้างเยอะ ดังนั้นตอนนี้เราก็พยายามเปิดไซต์ให้ได้มากที่สุด แล้วก็รอดูว่าจะมีเซอร์ไพร์สอะไรรอเราอยู่
จริงๆ ถ้าในเป็นอดีต เรื่องการเมืองก็มีส่วนบ้างนะ (หัวเราะ) หรือถ้าเราเจอชิ้นส่วนที่จำเป็นในการจำแนกชนิด เจอในที่ใหม่ขึ้นมา ก็จะต้องระดมคนไปตรงนั้นก่อน อย่างในกรณีของแหล่งขุดค้นที่ภูคุ้มข้าว จ. กาฬสินธุ์ ตอนไปขุดช่วงแรกๆ ก็คิดว่า 1 เดือนเสร็จ กลายเป็นว่าไปอยู่ 1 เดือน ยิ่งขุดยิ่งเจอ กลายเป็นทำงานไม่หยุดไป 1 ปีเต็มๆ ทำให้ตอนนั้นเราไม่ได้กลับไปขุดต่อที่ภูเวียงเลย ซึ่งถ้าพูดในเชิงวิชาการ มันก็คือการเจอแหล่งที่สำคัญกว่า และเราประเมินแล้วว่าต้องรีบไปขุดอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นอาจถูกฝน หรือถ้าปล่อยทิ้งไว้ชิ้นส่วนก็จะเสียหาย ที่แต่ภูเวียงอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ มีคนคุ้มกัน ก็ปลอดภัยกว่า
นอกจากหลุม 3 ที่ภูเวียง ซึ่งเรากำลังขุดอยู่ ก็ยังมีในบริเวณรอบๆ อีกเยอะที่กำลังขุดกัน ทุกครั้งที่เราไปเดินก็ยังเจอฟอสซิลอยู่เรื่อยๆ โดยในแต่ละหลุม เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเจอเมื่อไหร่ ตรงจุดไหนของหลุม โค้งไหนของหลุมที่จะเจอ อย่างที่ภูน้อย (แหล่งไดโนเสาร์ภูน้อย จ. กาฬสินธุ์) ก็เคยสำรวจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่เราไปเดินอีกฟากของภูเขา ก็เลยไม่เจอ แต่พอเราลองไปเดินอีกฟาก กลับเจอกระดูกเป็นหมื่นชิ้น เพียงแต่เปลี่ยนฟากเดินเท่านั้นเอง ห่างกันนิดเดียว ไม่กี่ร้อยเมตร บางทีก็ต้องทั้งอาศัยจังหวะและโชค อย่างที่ภูเวียงนี้ เพิ่งกลับมาขุดไปได้แปปเดียวก็เจอปริศนาอีกมาก
มันจะมีโจทย์ใหม่ ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา อย่างเช่นเวลาเราไปขุดแล้วเจอกระดูกแปลกๆ แล้วไม่รู้ว่าคืออะไร เราต้องไปหาคำตอบมาให้ได้ การขุดฟอสซิลไดโนเสาร์เป็นงานที่ใช้วิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับจินตนาการ คงเป็นคล้าย ๆ กับงานศิลปะนะ มีส่วนที่ต้องมีการอ้างอิงเพื่อให้มีคำอธิบายได้ มันเป็นงานที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา
อย่างหลุม 3 ที่กำลังขุดค้นอยู่นี้ เราเคยเจอชิ้นส่วนกระดูกมาแล้วตั้ง 30 ปีก่อนหน้านี้ แต่ว่าพอเรากลับมาดูอีกที กระดูกสันหลังที่มันโผล่ขึ้นมานี้ มันไม่ใช่ภูเวียงโนโซรัสแล้ว มันเลยจะลบภาพที่เราเคยมีมาทั้งหมดเลยว่าแต่ก่อนคิดว่าสัตว์กินพืชทั้งหมดในที่นี้ก็คือภูเวียงโนโซรัส มันฝังหัวพวกเรามา 30 ปี แต่พอมาตอนนี้มันเริ่มไม่ใช่แล้ว แล้วพอไปตรวจสอบดู เราก็ต้องไปนั่งรื้อข้อมูลใหม่ว่ามันมีตัวอื่นมาผสมอยู่ในหลุมด้วยไหม เราเริ่มมีข้อมูลโผล่ขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ อย่าง 2-3 วันมานี้ ชิ้นที่ อ.วราวุธ กรออยู่ กลายเป็นกระดูกอีกชิ้นนึงจากที่เราเคยเข้าใจ แบบนี้เป็นต้น ก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นให้เราเจอทุกวันครับ
เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ ศุภกร ศรีสกุล
นักศึกษาฝึกงาน กัญญารัตน์ นามแย้ม
อ่านเรื่องราวการขุดค้นไดโนเสาร์เพิ่มเติมจาก Facebook: บ้านและสวน Explorer Club ที่นี่