ทะเลทรายอาตากามาทางตอนเหนือของชิลีทอดตัวจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปจดเทือกเขาแอนดีส ครอบคลุมพื้นที่กันดารกว้างใหญ่เต็มไปด้วยยอดเขาและแคนยอนหินผาสีส้มแดง ความที่เป็นทะเลทรายแห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ที่นี่จึงเป็นจุดหมายต้องไปเยือนของบรรดานักท่องเที่ยวผู้หลงใหลการดูดาว แต่อาตากามายังมีความโดดเด่นไม่น่าพิสมัยอีกอย่างในฐานะที่เป็นกองขยะเสื้อผ้าทิ้งแล้วซึ่งเติบโตรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อันเนื่องจากการผลิตจำนวนมากอย่างรวดเร็วของเสื้อผ้าราคาถูกที่เรียกว่า ฟาสต์แฟชั่น (fast fashion) หรือ “แฟชั่นจานด่วน” ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดขยะมากมายเหลือประมาณ ถึงขนาดที่องค์การสหประชาชาติเรียกว่า “ภาวะฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อมและสังคม”
ตัวเลขย่อมฟ้องทุกอย่าง ระหว่างปี 2000 ถึง 2014 การผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และผู้บริโภคเริ่มซื้อเสื้อผ้ามากขึ้นถึงร้อยละ 60 และสวมใส่ในช่วงเวลาสั้นกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง ประมาณการว่าราวสามในห้าของเสื้อผ้าทั้งหมดลงเอยในบ่อขยะหรือเตาเผาขยะภายในปีเดียวหลังการผลิต นั่นแปลว่าทุกหนึ่งวินาทีมีเสื้อผ้าใช้แล้วหนึ่งคันรถบรรทุกถูกทิ้งหรือเผา สถานที่กำจัดขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้หรือแอฟริกา ซึ่งประเทศต่างๆที่รับเสื้อผ้าทิ้งแล้วเหล่านั้นไม่สามารถรับมือกับปริมาณมหาศาลนั้นได้ บ่อขยะแห่งหนึ่งในย่านชานเมืองหลวงอักกราของกานาซึ่งว่ากันว่า ร้อยละ 60 ของขยะที่นั่นเป็นเสื้อผ้ากองพะเนินสูงถึง 20 เมตร กลายเป็นที่กระฉ่อนในระดับนานาชาติในฐานะสัญลักษณ์ของวิกฤตินี้
ฉากหรือภูมิทัศน์หนึ่งทางตอนเหนือของชิลีได้รับการขนานนามในคลิปวิดีโอออนไลน์ว่า “แพขยะแฟชั่นใหญ่” (great fashion garbage patch) อันเป็นภาพคู่ขนานภาคพื้นดินของแพขยะยักษ์แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) ซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่า กองเสื้อผ้าทิ้งแล้วติดป้ายยี่ห้อจากทุกมุมโลกที่ท่วมสูงเป็นภูเขาเลากาทอดไกลสุดลูกตาในย่านชานเมืองอัลโตฮอสปิซิโอที่ซึ่งประชากร 120,000 คนใช้ชีวิตอยู่อย่างอัตคัดขัดสน
เมื่อภาพกองขยะเสื้อผ้าเหล่านี้แพร่กระจายทางอินเทอร์เน็ต ชาวชิลีจำนวนมากแสดงความแปลกใจ “ผมตกใจมากครับ เมื่อคิดถึงว่า เรากำลังกลายเป็นที่ทิ้งขยะสิ่งทอให้พวกประเทศพัฒนาแล้ว” แฟรงกลิน เซเปดา ผู้อำนวยการบริษัทแห่งหนึ่งที่มุ่งปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) กล่าว แต่เรื่องราวว่าด้วยชาติอเมริกาใต้แห่งนี้กลายเป็นที่รองรับเครื่องนุ่งห่มที่ถูกทิ้งของโลกได้อย่างไรนั้น เกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์และการค้ามากพอๆ กับกระแสความนิยมแฟชั่นที่มาเร็วไปเร็ว
มองเผินๆ อาจดูเหมือนว่าทะเลทรายที่ห่างไกลจากศูนย์กลางประชากรชิลีเกือบ 1,600 กิโลเมตรไม่น่าจะเป็นจุดหมายปลายทางของขยะฟาสต์แฟชั่นได้ แต่ประเทศนี้ยังเป็นบ้านของท่าเรือปลอดภาษีใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกาใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในอีกีเก เมืองชายฝั่งริมชายขอบทางตะวันตกของทะเลทรายอาตากามา เสื้อผ้าจากทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา มาลงเอยที่นี่ปีละหลายล้านตัน ตามสถิติศุลกากรของชิลี ตัวเลขของปีที่แล้วอยู่ที่ 46 ล้านตัน
ท่าเรือปลอดภาษีต่างๆ ช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสินค้าถูกนำเข้าและมักถูกส่งออกอีกทอดโดยไม่ต้องชำระภาษีและค่าธรรมเนียมตามปกติ ท่าเรือปลอดภาษีแห่งนี้สร้างขึ้นในอีกีเกเมื่อปี 1975 เพื่อช่วยสร้างงานและชุบชีวิตเศรษฐกิจท้องถิ่นที่กำลังซบเซา ชิลีกลายเป็นผู้นำเข้าเสื้อผ้ามือสองรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกและทำให้อีกีเกเปลี่ยนโฉมหน้าไป พอฟาสต์แฟชั่นเฟื่องฟูขึ้นอย่างฉับพลัน การนำเข้าก็เป็นอย่างนั้นเช่นกัน
“โซนาฟรังกา [เขตการค้าเสรี] ถือเป็นการปฏิวัติที่แท้จริง” สำหรับประชากรของเมือง แบร์นาโด เกร์เรโร นักสังคมวิทยาจากฟุนดาซีออนเกรอาร์ (Fundación Crear) องค์กรศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองอีกีเก กล่าวและเสริมว่า “จู่ๆพวกเขาก็เข้าถึงอะไรต่ออะไรที่ไม่เคยนึกฝันว่าจะมีได้ เช่น รถยนต์ของตัวเอง เสื้อผ้าเริ่มไหลเข้าออกเมืองอีกีเกเหมือนระลอกคลื่นตามแฟชั่นโลกที่เปลี่ยนไป
ปัจจุบัน มีธุรกิจทุกประเภทราว 2,000 รายที่ดำเนินกิจการอยู่ในเขตปลอดภาษีนี้ โดยกว่าครึ่งเป็นต่างชาติ โลโก้ยี่ห้อทาสีด้วยมือประดับอยู่ตามประตูทางเข้าโกดังสินค้า และกองรถยนต์มือสองอันเป็นสินค้านำเข้าหลักอีกอย่าง ตั้งซ้อนหลายชั้นบนถนนเล็กแคบ เขตปลอดอากรนี้ยังพัฒนาต่อมาเป็นศูนย์คัดแยกขยะสิ่งทออีกด้วย
“โดยเนื้อแท้แล้ว เราแค่กำลังรีไซเคิลเสื้อผ้าของทั้งโลกครับ” เมห์เมต ยิลดิซ ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าเสื้อผ้า ชื่อ ดิลารา กล่าว ยิลดิซนำเข้าเสื้อผ้าจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่มาจากร้านสินค้ามือสอง เมื่อเสื้อผ้าเหล่านี้มาถึงอีกีเก คนงานจะคัดแยกเป็นสี่หมวดหมู่ ตั้งแต่เกรดพรีเมียมไปจนถึงคุณภาพต่ำ จากนั้น ยิลดิซจะส่งออกพวกที่คุณภาพดีที่สุดไปยังสาธารณรัฐโดมินิกัน ปานามา เอเชีย แอฟริกา และกระทั่งย้อนกลับไปที่สหรัฐฯ เพื่อขายต่อ อีกทอด
เสื้อผ้าที่ผู้นำเข้าไม่ต้องการมักลงเอยในมือของเหล่าคนขับรถบรรทุกที่จะขนส่งไปยังบ่อขยะนอกเมือง อัลโตฮอสปิซิโอที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร ซึ่งจะเข้าสู่วงจรคัดแยกและขายต่ออีกครั้งตามร้านรวงขนาดเล็กและตลาดข้างทาง หรือที่ลาเกบราดิยา ตลาดกลางแจ้งขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่นั่น การค้าขายเสื้อผ้ามือสองอันคึกคักดำเนินไปตามแผงลอยราว 7,000 แผงตลอดความยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร
เสื้อผ้าที่ขายไม่ออกที่ตลาดแห่งนี้จะถูกส่งไปทิ้งยังทะเลทราย และส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ที่ไม่อาจย่อยสลายทางชีวภาพได้ เหล่าคนคุ้ยขยะจะเก็บกู้ข้าวของใดๆ ตามแต่จะหาได้ บ่ายอากาศหนาววันหนึ่ง ผู้หญิงชื่อ เฆเนซิส คุ้ยกองเสื้อผ้าสำหรับออกงาน เครื่องแบบนางพยาบาล ชุดชั้นใน และรองเท้าคร็อกส์ เธอเลือกเสื้อผ้าเป็นผ้า ฟลีซกับผ้าห่มไว้ใช้ในค่ำคืนที่หนาวเย็น และแยกพวกที่มีสภาพดีหน่อยเพื่อนำไปขายที่ตลาดลาเกบราดิยาซึ่งอาจได้ไม่กี่สตางค์
ตลาดสินค้ามือสองอาจมีประโยชน์ไม่ต่างจากยุคก่อนหน้านี้ก็จริง แต่ตลาดเหล่านี้ก็ล้นทะลักไปด้วยเสื้อผ้า ถูกทิ้งกองมหึมาที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความพยายามใหม่ๆ ทั้งใหญ่และเล็ก กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อรับมือกับขยะเสื้อผ้า และความสนใจในปัญหาขยะกลางทะเลทรายก็อาจเป็นแรงบันดาลใจให้โครงการใหม่ๆ
ทางออกที่เข้าท่าที่สุดชนิดที่สามารถรับมือกับขนาดของปัญหาได้นั้นอยู่ในมือของรัฐบาลชิลี ธนาคารโลกพยากรณ์ว่า จะมีการสร้างขยะมากถึง 3,400 ล้านตันทุกปี เมื่อถึงปี 2050 ขณะที่ขยะเหล่านี้ทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศจำเป็นต้องบังคับให้ผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนจนถึงปลายทางชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วย ที่ผ่านมามีการนำนโยบายที่เรียกกันว่า การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตมาใช้แล้วในอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา
เมื่อปี 2016 ชิลีผ่านรูปแบบหนึ่งของนโยบายนี้ออกมาเป็นกฎหมายโดยเรียกว่า การขยายความรับผิดของผู้ผลิต (Extended Liability of the Producer) หรือเรียกย่อๆ ว่า เลย์อาร์อีพี (Ley REP) กฎหมายนี้บังคับให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ารับผิดชอบขยะผลิตภัณฑ์หกหมวดหมู่ ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ แบตเตอร์รี่ขนาดเล็ก ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ และยางรถยนต์ โดยในตอนแรกไม่มีสิ่งทอรวมอยู่ด้วย
โตมาส ไซเยก ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจหมุนเวียน กระทรวงสิ่งแวดล้อมชิลี บอกว่า คณะเจ้าหน้าที่กำลังผลักดันให้เพิ่มผลิตภัณฑ์อีกสามประเภท ซึ่งรวมถึงสิ่งทอ เข้าไปในกฎหมายเลย์อาร์อีพีด้วย
“สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องยุติต้นตอของปัญหาครับ จะพูดอย่างนั้นก็ได้ เพื่อไม่ให้เสื้อผ้าเหล่านี้ไปลงเอยในทะเลทรายอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น” เขาบอกและเสริมว่า “การเปลี่ยนชิลีจากบ่อขยะให้กลายเป็นศูนย์กลางการรีไซเคิลเป็นความฝันสูงสุดของผมครับ”
ระหว่างนี้ กระแสแฟชั่นว่าด้วยสิ่งของต้องมียังคงมาเร็วไปเร็ว ยอดขายออนไลน์ยังปั่นได้ไม่หยุด และภูเขาเสื้อผ้าที่ถูกลืมยังสูงขึ้นทุกทีกลางผืนทรายสีแดงของทะเลทรายอาตากามา
เรื่อง จอห์น บาร์ตเลตต์
ภาพถ่าย ตามารา เมรีโน
แปล อัครมุนี วรรณประไพ
ติดตามสารคดี สุสานแฟชั่นกลางทะเลทราย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2567
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/605937