ในห้องปฏิบัติการของหอสังเกตการณ์โลกลามอนต์โดเฮอร์ตี มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เดบรา ลี มากาดินี วางสไลด์ไว้ใต้กล้องจุลทรรศน์ แล้วเปิดสวิตช์แสงอัลตราไวโอเลต เธอเพ่งมองทางเดินอาหารของกุ้ง ตัวหนึ่งที่ซื้อมาจากตลาด ก่อนจะส่งเสียงดัง จุ๊ ออกมา หลังจากดูสไลด์ทุกซอกมุมแล้ว เธอก็โพล่งออกมาว่า “กุ้งตัวนี้มีเส้นใยขยุกขยุยเต็มท้องไปหมด!”
ทั่วโลก นักวิจัยอย่างมากาดินี กำลังเพ่งมองพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ผ่านกล้องจุลทรรศน์ ทั้งเส้นใย เศษพลาสติก หรือเม็ดไมโครบีดที่เข้าไปอยู่ในตัวสัตว์นํ้าจืดและสัตว์ทะเลต่าง ๆ ทั้งที่จับจากธรรมชาติและจากฟาร์มเลี้ยง นักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติกในสัตว์นํ้าถึง 114 ชนิด และมากกว่าครึ่งของสัตว์เหล่านั้นลงเอยด้วยการเป็นอาหาร ของเรา ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามค้นหา คำตอบว่า มนุษย์จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างไรบ้างจากพลาสติกที่สัตว์เหล่านั้นกินเข้าไป
จนถึงตอนนี้ วิทยาศาสตร์ยังขาดหลักฐานที่จะชี้ชัดว่า ไมโครพลาสติกหรือชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กกว่าห้ามิลลิเมตร ส่งผลกระทบต่อปลาในระดับประชากรหรือไม่อย่างไร กระนั้นก็มีผลวิจัยมากพอที่จะยืนยันว่า ปลาและสัตว์มีเปลือกที่เราชอบกินกำลังได้รับผลกระทบจากพลาสติกที่ พบได้ทุกหนทุกแห่ง ทุก ๆ ปีมีไมโครพลาสติก 5 ถึง 13 ล้านตันไหลจากพื้นที่ชายฝั่งลงสู่มหาสมุทร แสงแดด ลม คลื่น และความร้อน ทำให้พลาสติกย่อยสลายกลายเป็น ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้แพลงก์ตอน กุ้งหอยปูปลา และแม้แต่วาฬ นึกว่าเป็นอาหาร
การทดลองหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ไมโครพลาสติก ทำอันตรายแก่สัตว์นํ้า เพราะเข้าไปติดอยู่ในทางเดินอาหาร ทำให้พวกมันไม่อยากอาหาร เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ซึ่ง ทั้งหมดจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตและระบบสืบพันธุ์ บางชนิดถึงกับอดอยากและตายลง
นอกจากผลกระทบทางกายภาพแล้ว ไมโครพลาสติกยังส่งผลกระทบทางเคมี เนื่องจากมลพิษที่ล่องลอยได้ ซึ่งถูกชะล้างจากแผ่นดินและไหลลงสู่ทะเล เช่น พอลิ- คลอริเนตไบฟีนีลหรือพีซีบี (polychlorinated biphenyls: PCBs) พอลิไซคลิกแอโรเมติกไฮโดรคาร์บอนหรือ พีเอเอช (polycyclic aromatic hydrocarbons: PAHs) และโลหะหนักอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะเกาะติดกับพื้นผิว
เชลซี ร็อกแมน อาจารย์ด้านนิเวศวิทยาที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต นำพอลิไทลีนซึ่งใช้ทำถุงพลาสติกบางประเภทไปบดให้ละเอียดและแช่นํ้าในอ่าวแซนดีเอโกอยู่นานสามเดือน จากนั้นก็นำพลาสติกปนเปื้อนเหล่านี้พร้อมกับอาหารจากห้องปฏิบัติการ ไปเลี้ยงปลาซิวข้าวสารญี่ปุ่นเป็นเวลา สองเดือน ปลาที่กินพลาสติกอุ้มนํ้าเข้าไปเริ่มแสดงอาการของโรคทางตับมากกว่าพวกที่กินพลาสติกบริสุทธิ์ซึ่งไม่ผ่านการแช่นํ้า ผลการวิจัยอีกชิ้นแสดงให้เห็นว่า หอยนางรมที่กินชิ้นส่วนขนาดเล็กจิ๋วของพอลิสไตรีนซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์อาหารเข้าไป จะวางไข่น้อยลงและผลิตสเปิร์ม ที่เคลื่อนที่น้อยลง รายชื่อสัตว์นํ้าจืดและสัตว์ทะเลที่ได้รับอันตรายจากพลาสติกมียาวเหยียดหลายร้อยชนิด
เป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์แจกแจงว่า ไมโครพลาสติก ส่งผลกระทบต่อเราแต่ละคนในฐานะผู้บริโภคอาหารทะเล อย่างไร เพราะวัสดุเหล่านี้อยู่รอบตัวเราไปหมด ตั้งแต่ในอากาศที่เราหายใจ ไปจนถึงนํ้าประปาและนํ้าขวดที่เราดื่ม อาหารที่เรากิน และเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ นอกจากนี้ พลาสติก ไม่ได้มีอยู่เพียงรูปแบบเดียว แต่มีอยู่หลากหลายรูปแบบ และใช้สารเติมแต่งหลากหลายชนิด ทั้งสารสี สารเพิ่มความเสถียรต่อรังสีอัลตราไวโอเลต สารกันนํ้าซึมผ่าน สารหน่วงไฟ สารกันการคดงอ และสารขจัดความกระด้าง ซึ่งแต่ละชนิดสามารถละลายและแทรกซึมสู่สิ่งแวดล้อมได้
สารเคมีเหล่านี้บางชนิดจัดเป็นสารก่อกวนระบบต่อม ไร้ท่อโดยเข้าไปขัดขวางการทำงานของระบบฮอร์โมนตามปกติ และแม้กระทั่งทำให้นํ้าหนักขึ้น สารหน่วงไฟอาจเข้าไปรบกวนพัฒนาการของสมองทารกในครรภ์และเด็ก ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เกาะติดอยู่บนพลาสติกอาจก่อมะเร็งหรือความพิการแต่กำเนิด หลักการพื้นฐานทางพิษวิทยาข้อหนึ่งระบุว่า ขนาดของพิษที่ได้รับเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดพิษ แต่สารเคมีเหล่านี้หลายชนิด ทั้งบีพีเอและชนิดใกล้เคียง สามารถทำให้สัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการเกิดความ ผิดปกติในระดับที่รัฐบาลของบางประเทศจัดว่ายังปลอดภัยสำหรับมนุษย์
การศึกษาว่าไมโครพลาสติกในทะเลส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์อย่างไรเป็นหัวข้อที่ท้าทาย เพราะเราไม่ อาจขอให้คนกินพลาสติกเพื่อทดลองได้ พลาสติกและสารเติมแต่งจะออกฤทธิ์ต่างกันไปตามลักษณะทางกายภาพและเคมี และเนื่องจากลักษณะของพลาสติกอาจเปลี่ยนแปลงไประหว่างที่สัตว์ในห่วงโซ่อาหาร กิน เผาผลาญ และ ขับถ่ายออกมา เราแทบไม่รู้เลยว่า กระบวนการแปรรูป อาหารหรือการปรุงอาหารส่งผลกระทบต่อพิษวิทยาของพลาสติกในสัตว์นํ้าอย่างไร หรือระดับปนเปื้อนแค่ไหนที่อาจส่งผลเสียต่อเราได้
ข่าวดีมีอยู่ว่า ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์ ศึกษานั้น ดูเหมือนจะตกค้างอยู่ในกระเพาะและทางเดินอาหารของปลา ไม่เคลื่อนเข้าสู่เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นส่วนที่เรากิน ในรายงานชิ้นหนาชิ้นหนึ่ง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ สรุปว่า คนน่าจะกินไมโครพลาสติกเข้าไปเป็นปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น แม้แต่คนที่บริโภคหอยแมลงภู่หรือหอยแครงที่ต้องกิน ทั้งตัวเป็นปริมาณมากก็ตาม เอฟเอโอยังยํ้าเตือนว่า การกินปลาเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
ถึงกระนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับ ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์จากพลาสติกในสัตว์นํ้า เพราะ ขยะพลาสติกมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง และในที่สุดจะย่อยสลายกลายเป็นนาโนพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตร หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือมองไม่เห็นนั่นเอง พลาสติกขนาดเล็กจิ๋วเหล่านี้สามารถแทรกซึมผ่านเซลล์ เข้าสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ได้ แต่เนื่องจากนักวิจัยยังขาดวิธีวิเคราะห์เพื่อหานาโนพลาสติกในอาหาร พวกเขาจึงยังไม่มีข้อมูลของการพบหรือการดูดซึมนาโนพลาสติกในมนุษย์
ดังนั้น งานจึงต้องดำเนินต่อไป “เรารู้ว่าพลาสติกส่งผลกระทบต่อสัตว์ในแทบทุกระดับของห่วงโซ่ชีวภาพ” ร็อกแมนบอก “เรารู้มากพอที่จะต้องลงมือลดมลพิษพลาสติกไม่ให้เข้าสู่มหาสมุทร ทะเลสาบ และแม่นํ้า” นานาประเทศสามารถสั่งห้ามใช้พลาสติกบางชนิด โดย มุ่งเน้นไปยังประเภทที่ใช้มากที่สุดและสร้างปัญหามากที่สุด วิศวกรเคมีอาจคิดค้นพอลิเมอร์และพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพได้ ผู้บริโภคอาจหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐอาจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะจัดเก็บและรีไซเคิลวัสดุเหล่านี้ก่อน ลงแหล่งนํ้าได้
เรื่อง เอลิซาเบท รอยต์
อ่านเพิ่มเติม