สยบมหานทีนามแม่น้ำโขง

สยบมหานทีนามแม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงถือกำเนิด ณ ที่ราบสูงทิเบต แล้วไหลรี่เป็นระยะทางราว 4,200 กิโลเมตร ผ่านประเทศจีน เมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนจะไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ นับเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยาวเป็นลำดับเจ็ดในทวีปเอเชีย ทว่าเหนือสิ่งอื่นใดสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายนี้ แม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งประมงน้ำจืดอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก

ทว่าโกรกธารแคบๆและน้ำตกเชี่ยวกรากของแม่น้ำโขง ก็เป็นสิ่งเย้ายวนสำหรับนักสร้างเขื่อนมานานแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1960 สหรัฐฯสนับสนุนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวนหนึ่งบนแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยหวังจะพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้น พร้อมกับขัดขวางลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังผงาดขึ้นในเวียดนาม แผนที่ว่าประสบความชะงักงัน ภูมิภาคดังกล่าวดิ่งสู่ภาวะสงคราม ครั้นล่วงถึงทศวรรษ 1990 จีนกลับเป็นประเทศแรกที่สร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง

จีน: เมื่อปี 2012 ขณะบันทึกภาพนี้ การก่อสร้างเขื่อนเหมียวเหว่ย์เดินหน้าเต็มที่แล้ว เมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2013 เขื่อนแห่งนี้จะเป็นเขื่อนลำดับที่ 8 บนแม่น้ำหลานชางซึ่งเป็นชื่อภาษาจีนของแม่น้ำโขงส่วนที่ทอดยาว 2,100 กิโลเมตรในเขตประเทศจีน

ปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดว่าค่อนข้างสงบสุข และโดยทั่วไปเศรษฐกิจก็เติบโตดี แต่กลับมีเพียงชาวกัมพูชาราวหนึ่งในสามและชาวลาวมากกว่าสองในสามเล็กน้อยเท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้ มิหนำซ้ำไฟฟ้าที่ว่ายังมัก มีราคาแพงอย่างน่าเจ็บปวด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อปริมาณไฟฟ้าสำรองในภูมิภาค การวิเคราะห์เมื่อปี 2013 โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศทำนายว่า ความต้องการไฟฟ้าของภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 ใน 20 ปีข้างหน้า เห็นได้ชัดว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น และถ้าจะหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากภาวะโลกร้อน โลกย่อมต้องการให้พลังงานดังกล่าวก่อคาร์บอนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โอกาสในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากแม่น้ำโขงจึงยิ่งเย้ายวนกว่ายุคสมัยใดที่ผ่านมา

การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลแต่เพียงในนามของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศหลายองค์กร รวมทั้งจากชาติสมาชิกทั้งสี่ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ไทย และลาว

ลาว: ชาวประมงเตรียมเหวี่ยงแหจับปลาที่น้ำตกคอนพะเพ็ง ซึ่งถือเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียหากวัดจากปริมาตร กระแสน้ำบางส่วนจะถูกผันไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่เขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งจะเกิดขึ้นในไม่ช้าบนลำน้ำ สายรองสายหนึ่งของแม่น้ำโขง
จีน: ใกล้กับเขื่อนอูน่งหลง คนงานกำลังสร้างบ้านหลังใหม่ๆ บนพื้นทีี่สูงขึ้นไปเหนือแม่น้ำโขงให้ครอบครัวที่สูญเสียบ้านของตนจากการสร้างเขื่อน

จีนไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จึงไม่มีข้อผูกพันชัดแจ้งอันใดที่จะต้องปรึกษาหารือกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ปลายน้ำเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆของตนบนแม่น้ำโขงตอนบน และเมื่อไม่นานมานี้ โครงการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลัก 11 แห่งในลาวและกัมพูชายิ่งบั่นทอนอำนาจอันเปราะบางของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

ในปี 2010 รายงานการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมที่เอ็มอาร์ซีให้ทุนสนับสนุน เรียกร้องให้ระงับการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลักชั่วคราวเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยอ้างอิงผลกระทบที่อาจถึงขั้นร้ายแรงที่มีต่อแหล่งอาหารในภูมิภาค และความเป็นไปได้ที่จะเกิด “ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจเยียวยาให้กลับคืนมาได้” แต่ลาวซึ่งเป็นประเทศยากจน ตัดขาดจากโลกภายนอกมานาน และปัจจุบันกำลังพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ตั้งเป้าที่จะยกฐานะตนขึ้นเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ด้วยการขายไฟฟ้าพลังน้ำ ให้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ทั้งยังไม่สะทกสะท้านต่อเสียงคัดค้าน ปลายปี 2012 หลังจากปฏิเสธมาหลายปีในที่สุดทางการลาวก็ออกมายอมรับว่าได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่บริษัทเอกชนของไทยเป็นผู้ลงทุนบนลำน้ำห่างไกลช่วงหนึ่งของแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของลาว

เวียดนาม: เรือท้องแบนบรรทุกข้าวแล่นเอื่อยๆ ผ่านหนึ่งในลำคลองหลายสายที่ตัดไขว้กันไปมาบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เขื่อนจะกักตะกอนเอาไว้ที่ต้นน้ำซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร

เขื่อนไซยะบุรี จะมีความสูง 32 เมตรและยาวมากกว่า 800 เมตรเมื่อสร้างแล้วเสร็จ ตอนที่ฉันไปดูไซต์งานก่อสร้างเมื่อปี 2013 ตลอดสองฝั่งแม่น้ำทางต้นน้ำมีเรือดูดทรายและกรวดเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างเขื่อนและถนนปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆบ้างแล้ว ส่วนที่ไซต์งานเองก็มีปั้นจั่นแกว่งไกวอยู่เหนือลำน้ำ และกลุ่มคนงานกำลังใช้ระเบิดทลายตลิ่งสูงชันให้เป็นตะพักราบเรียบ

ในหมู่บ้านเล็กๆที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ชาวบ้านบอกว่าพวกเขาทนฟังเสียงระเบิดตลอดสามปีที่ผ่านมา พวกเขากำลังเตรียมย้ายไปอยู่หมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ทางต้นน้ำ และบางคนดูเหมือนจะมองโลกในแง่ดี พวกเขาตั้งตาคอยอยากไปอยู่บ้านหลังใหม่ และหลบให้พ้นจากเงาที่นับวันจะยิ่งตระหง่านเงื้อมของเขื่อน หลายคนยังหวังว่าจะได้จับปลาเหมือนเดิม

อีกหมู่บ้านหนึ่งตั้งอยู่ทางปลายน้ำติดกับไซต์งานก่อสร้างเขื่อนจนกระทั่งถึงปี 2012 ต่อมาในปี 2013 ลูกบ้านของหมู่บ้านนี้ก็พากันย้ายไปอยู่บ้านใหม่ไกลจากหุบผาชันของแม่น้ำ ในหมู่บ้านแห่งใหม่นี้ความหวังกลับกลายเป็นของหายาก ชาวบ้านบอกว่าเงินและที่ดินที่บริษัทสร้างเขื่อนสัญญาว่าจะให้เป็นค่าชดเชยสำหรับการโยกย้ายถิ่นฐานนั้นไม่เพียงพอและมาถึงมือพวกเขาช้ามาก หลายคนรู้สึกถึงผลกระทบอันเจ็บปวดของเศรษฐกิจเงินสด

กัมพูชา: ใกล้ใจกลางโตนเลสาบ พ่อค้าคนหนึ่งที่มีเครื่องปั่นไฟรับชาร์จแบตเตอร์รี่รถยนต์ ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านลอยน้ำใช้เพื่อให้แสงสว่าง ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
ลาว: ห่างจากจุดที่จะสร้างเขื่อนดอนสะโฮงไปทางทิศเหนือหลายร้อยกิโลเมตร เรือประดับดอกไม้ปลอมกำลังมุ่งหน้าไปยังไซต์งานก่อสร้างเขื่อนไซยบุรี

ขณะที่เขื่อนไซยะบุรี ก่อความทุกข์ร้อนให้ชีวิตผู้คนโดยรอบ ผลกระทบร้ายแรงที่สุดของมันอาจอยู่ที่การเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างให้เขื่อนแห่งอื่นๆ การที่ลาวเพิกเฉยต่อคำแนะนำของการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเอ็มอาร์ซีเป็นผู้ออกทุน แล้วตัดสินใจเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี  เท่ากับเป็นการแผ้วถางทางให้โครงการสร้างเขื่อนแห่งอื่นๆที่เหลือ

หัวใจหรือศูนย์กลางการทำประมงในแม่น้ำโขงอยู่ในประเทศกัมพูชา ที่นั่นทะเลสาบขนาดใหญ่ชื่อ โตนเลสาบ เชื่อมต่อกับลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงเหมือนปอดเชื่อมต่อกับหลอดลม โตนเลสาบจะแผ่ขยายออกไปจนกว้างใหญ่ไพศาลในฤดูฝนและหดเล็กลงในฤดูแล้ง

สายน้ำขุ่นคลั่กและกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาของโตนเลสาบประกอบกันเป็นโรงงานปลาธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์นี้โอบอุ้มประชาชาติขนาดย่อมๆที่ประกอบไปด้วยเหล่า “หมู่บ้านลอยน้ำ” หรือกลุ่มเรือบ้านซึ่งทอดสมอเรียงรายอยู่ตามริมทะเลสาบปลามากกว่าหนึ่งร้อยชนิดที่ฟักเป็นตัวในโตนเลสาบจะอพยพขึ้นไปทางต้นน้ำเป็นระยะทางไกลมาก เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางต้นน้ำราว 900 กิโลเมตรอาจอยู่ห่างไกลจนไม่ส่งผลกระทบโดยตรงมากนักต่อปลาเหล่านี้ แต่โครงการอื่นๆอยู่ใกล้กว่านั้นมาก ห่างจากพรมแดนระหว่างกัมพูชากับลาวขึ้นไปทางเหนือเพียงเล็กน้อย เขื่อนบนลำน้ำสายหลักอีกเขื่อนชื่อ เขื่อนดอนสะโฮง จะเริ่มก่อสร้างในไม่ช้า แม้เขื่อนนี้จะปิดกั้นลำน้ำเพียงสายเดียวของแม่น้ำที่ประกอบด้วยลำน้ำหลายสายตัดไขว้กันไปมา แต่มันจะส่งผลกระทบต่อการอพยพของปลาอย่างแน่นอน

ภัยคุกคามต่อการทำประมงที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นส่อเค้าให้เห็นในภาคเหนือของกัมพูชาเอง นั่นคือลำน้ำสาขาสายหนึ่งของแม่น้ำโขงที่เรียกกันว่า โตนเลซานหรือแม่น้ำแซซาน ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในเวียดนามและไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงตรงจุดที่อยู่ห่างจากเขื่อนดอนสะโฮงลงมาทางปลายน้ำราว 50 กิโลเมตร เป็นที่รู้กันว่าแม่น้ำนี้เป็นเส้นทางอพยพหลักของปลาหลายสิบชนิด เขื่อนที่มีชื่อว่า แซซานล่าง 2 ซึ่งจะตัดการเชื่อมต่อของแม่น้ำแซซานกับแม่น้ำโขง ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างห่างจากจุดน้ำสบไปทางตะวันออก 24 กิโลเมตร

เขื่อนที่วางแผนก่อสร้างในกัมพูชาและลาวจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการภายในประเทศเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่ช่วยให้ประชาชนทั้งสองประเทศมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน ไฟฟ้าร้อยละ 90 ที่ได้จากเขื่อนต่างๆบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงจะขายให้แก่ไทยกับเวียดนาม และรายได้ส่วนใหญ่จะไหลเข้าสู่บริษัทสร้างเขื่อน รายงานการวิเคราะห์เมื่อปี 2010 ที่เอ็มอาร์ซีจัดทำขึ้นทำนายว่า ความสูญเสียทางการประมงอันสืบเนื่องมาจากโครงการสร้างเขื่อนเหล่านี้จะยิ่งทำให้ปัญหาความยากจนเลวร้ายลง

เวียดนาม: รถแทรกเตอร์คันหนึ่งในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเสียหลักเพราะรถบรรทุกมากเกินไป อาจต้องสละข้าวหลายกระสอบไว้ก่อน สภาพภูมิอากาศอุ่นชื้น และการได้รับปุ๋ยจากตะกอนในแม่น้ำโขง ทำให้เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก

เจ้าหน้าที่รัฐบางคนแย้งว่า การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการปลูกข้าวสามารถทดแทนการลดลงของแหล่งอาหารใดๆก็ตามได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้ง พวกเขาบอกว่า ผลกระทบจากเขื่อนบนลำน้ำสายหลักที่มีต่อการทำประมงในแม่น้ำโขงจะทบทวีขึ้นเรื่อยๆ ไม่อาจเยียวยาให้กลับมาดีดังเดิม และส่งผลเสียหายอย่างมหาศาล ในแม่น้ำสายอื่นๆ ของภูมิภาคปริมาณปลาที่จับได้ลดลงระหว่างร้อยละ 30 ถึง 90 หลังเขื่อนสร้างเสร็จ และแม้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะทำกันอย่างกว้างขวางแล้วตลอดลำน้ำโขง แต่ปลาเหล่านั้นก็เลี้ยงด้วยปลาเล็กปลาน้อยในธรรมชาติที่จับจากแม่น้ำ การเลี้ยงด้วยอาหารปลาสำเร็จรูปจากโรงงานหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นจนไม่อาจแบกรับสำหรับผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ ผู้คนจำนวนมากที่พึ่งพาการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรายย่อยมีแนวโน้มที่จะถูกผลักเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินสดโดยปราศจากทั้งเงินทุนหรือความรู้ที่จำเป็นต่อการอยู่รอด

กัมพูชา: ปลาล้นทะลักจากโตนเลสาบอันอุดมไปด้วยสารอาหารในช่วงฤดูแล้ง เมื่อกระแสน้ำหลากของทะเลสาบแห่งนี้ล่าถอยลงสู่แม่น้ำโขง การสร้างเขื่อนอาจทำลายวัฎจักรน้ำหลากตามฤดูกาล ซึ่งเป็นรากฐานค้ำจุนการประมงอันเป็นแหล่งโปรตีนของชาวกัมพูชาจำนวนมาก

แม่น้ำโขงไม่ได้เป็นแหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำเพียงแหล่งเดียวในภูมิภาคนี้ ประเมินกันว่าโครงการสร้างเขื่อน 11 แห่งบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงตอนล่างอาจตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ราวร้อยละ 6-8 ภายในปี 2025 และผลการวิเคราะห์หลายชิ้นก็บ่งชี้ว่า มาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่นๆ อาจผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณพอๆกันหรือสูงกว่าโดยใช้ต้นทุนน้อยกว่า แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางเลือกเหล่านั้นเพิ่งจะเริ่มพัฒนา สำหรับรัฐบาลกัมพูชาและลาวแล้ว ไฟฟ้าพลังน้ำเป็นสิ่งที่ทั้งคุ้นเคยและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งยังมีมูลค่าสูงกว่าในฐานะสินค้าส่งออก

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะใช้ประโยชน์จากพลานุภาพของแม่น้ำโขง พร้อมๆ ไปกับการพิทักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสายนี้เอาไว้ด้วย

เรื่อง มิเชลล์ ไนฮัส

ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้กรณีเขื่อนลาวแตก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.