ช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนัก มีทั้งไต้ฝุ่นเข้าถล่มญี่ปุ่น และ เฮอร์ริเคน พัดขึ้นฝั่งในสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ แต่คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าทั้งไต้ฝุ่นและเฮอร์ริเคนคือชื่อเรียกของ ” พายุหมุนเขตร้อน ” เหมือนกัน ทั้งยังมีชื่อเรียกอื่นอีก มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของพายุหมุนเขตร้อนนี้ให้มากขึ้นกัน
1. เฮอร์ริเคนคือพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และในมหาสมุทรแปซิฟิกแถบฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศเม็กซิโก การเกิดเฮอร์ริเคนจะส่งผลให้เกิดลมกรรโชกแรง ฝนตกหนักตามมา
2. พายุเฮอร์ริเคนเกิดขึ้นเหนือมหาสมุทรที่อุ่นใกล้เส้นศูนย์สูตร อากาศที่อุ่นและชื้นซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าอากาศเย็นจะลอยตัวสูงขึ้น และกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ขณะกลั่นตัวเมื่อมีการคายความร้อนออกมา ความร้อนจะทำให้ อากาศเบื้องบนอุ่นขึ้น และลอยตัวสูงขึ้นไปอีก ส่วนอากาศเย็นไหลเข้าแทนที่ ก่อให้เกิดการไหลของอากาศแบบหมุนวนและกำลังแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
3.ในขณะที่เฮอร์ริเคนกำลังหมุนวน ตรงกลางของเฮอร์ริเคนที่เรียกกันว่า “ตาพายุ” นั้น กลับเงียบสงบและปราศจากเมฆอย่างประหลาด ตาพายุจะถูกล้อมรอบด้วยกำแพงตาพายุ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศรุนแรงที่สุด
คลิปวิดีโอนี้ทดลองบินเข้าไปดูว่าภายในตาเฮอร์ริเคนเออร์มาเป็นอย่างไร?
4. หากพายุเฮอร์ริเคนเกิดขึ้นในทะเลจะไม่เป็นอันตราย แต่หากมันมุ่งหน้าตรงมาสู่แผ่นดิน เฮอร์ริเคนจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน
5. ความเร็วลมของเฮอร์ริเคนอาจสูงได้ถึง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความรุนแรงมากขนาดนี้สามารถถอนต้นไม้ใหญ่ ตลอดจนทำลายอาคารบ้านเรือนได้
(พายุฝุ่นที่เกิดขึ้นในอินเดีย เหตุใดจึงส่งผลถึงตาย?)
6. ในซีกโลกใต้ พายุเฮอร์ริเคนจะหมุนไปตามเข็มนาฬิกา ส่วนในซีกโลกเหนือ พายุเฮอร์ริเคนกลับหมุนทวนเข็มนาฬิกา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากแรงคอริออลิส (Coriolis Force) แรงเสมือนที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก
7. เมื่อเฮอร์ริเคนขึ้นฝั่งจะก่อให้เกิด “คลื่นพายุ” (Storm Surge) หรือกำแพงน้ำที่ซัดเข้าฝั่งพร้อมพายุ อันเป็นผลจากแรงลม ในบางครั้งคลื่นพายุอาจสูงถึง 6 เมตร และมีความเร็ว 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สิ่งนี้คือภัยน่ากลัวที่มาพร้อมกับเฮอร์ริเคน
8. เฮอร์ริเคนยังมีชื่อเรียกว่า “ไต้ฝุ่น” และ “ไซโคลน” ขึ้นอยู่กับสถานที่เกิด หากเกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโกจะเรียกว่าเฮอร์ริเคน แต่หากเกิดในทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย จะเรียกว่าพายุไต้ฝุ่น และหากเกิดในมหาสมุทรอินเดียเหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ จะเรียกว่าพายุไซโคลน
9. เฮอร์ริเคนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาคือ ไต้ฝุ่น Tip เกิดขึ้นในปี 1979 ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก (บริเวณฟิลิปปินส์) เส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 2,220 กิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว
10. ชื่อของเฮอร์ริเคนแต่ละลูกได้รับการแต่งตั้งโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO โดยในแต่ละปีชื่อจะถูกตั้งเรียงตามตัวอักษร เพื่อง่ายต่อการเก็บข้อมูล และชื่อพายุอาจถูกนำมาตั้งซ้ำได้เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี อย่างไรก็ดีหากเฮอร์ริเคนลูกนั้นมีความรุนแรงจนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมร้ายแรง ชื่อนั้นๆ จะไม่ถูกนำมาใช้ซ้ำอีก
อ่านเพิ่มเติม