โลกของ Aquaman กำลังจมขยะพลาสติก

โลกของ Aquaman กำลังจมขยะพลาสติก

จินตนาการดูว่าบ้านของคุณถูกใครก็ไม่ทราบนำขยะที่คุณไม่ได้มีส่วนร่วมก่อเสียด้วยซ้ำมาถมทิ้งเพิ่มพูนขึ้นทุกวันๆ นี่คือความรู้สึกของชาวแอตแลนติส ใน “Aquaman” ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่เรื่องใหม่จากวอร์เนอร์ บราเธอร์ส พิคเจอร์ส ที่นำฮีโร่จากค่าย DC พาคุณผู้ชมดำดิ่งลงไปยังโลกใต้ทะเลอันน่าตื่นตาตื่นใจ

(*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Aquaman)

Aquaman เล่าเรื่องราวการผจญภัยของอาเธอร์ เคอร์รี่ ลูกครึ่งมนุษย์และชาวแอตแลนติส ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามใต้น้ำอย่างไม่ตั้งใจ ทั้งยังต้องตามหาตรีศูลอันเป็นอาวุธทรงพลังอำนาจในตำนาน เพื่อใช้หยุดยั้งคิงออร์ม ราชาแห่งอาณาจักรแอตแลนติสที่ต้องการทำลายล้างมนุษย์ ดูเผินๆ เป้าหมายและการกระทำของคิงออร์มช่างไม่ต่างจากตัวร้ายทั่วไปในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ทว่าความโกรธเกรี้ยวของวายร้ายผู้นี้ที่มีต่อมนุษยชาติคือหนทางเดียวที่จะปกป้องอาณาจักรของเขาให้รอดพ้นจากขยะและมลพิษที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของชาวแอตแลนติส

ใช่! นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ธรรมดา การต่อสู้ของ Aquaman กำลังส่งสารสำคัญถึงมนุษย์ทุกคนให้หันไปมองยังปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในท้องทะเลว่าตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเราทิ้งอะไรไว้บ้างกับโลกใบนี้ คิงออร์มเชื่อว่าหนทางเดียวคือการกำจัดมนุษยชาติเสียให้หมดสิ้น อุดมการณ์อันแข็งกล้านี้เริ่มต้นจากไหน? มาเรียนรู้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรกันให้มากขึ้น คุณอาจพอเข้าใจถึงความคับแค้นใจที่ราชันแห่งโลกใต้น้ำผู้นี้มีต่อมนุษย์

อาเธอร์ เคอร์รี่ หรืออควาแมน ลูกครึ่งมนุษย์และชาวแอตแลนติส นอกเหนือจากความสามารถในการหายใจใต้น้ำได้แล้ว ตัวเขายังสื่อสารกับสัตว์น้ำได้อีกด้วย
ขอบคุณภาพจาก DCComics

 

ขยะพลาสติกท่วมโลก

ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 วัสดุทุกอย่างที่มนุษย์ใช้ล้วนมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแก้ว ไม้ กระดาษ หรือโลหะ จนกระทั่งเมื่อ “พลาสติก” ถือกำเนิดขึ้นจากการกลั่นน้ำมันดิบและการแยกก๊าซธรรมชาติประกอบกับการทำปฏิกิริยาทางเคมีจนได้ “พอลิเมอร์” ที่ภายในประกอบด้วยห่วงโซ่โมเลกุลยาวๆ จากการเชื่อมต่อของมอนอเมอร์ ซึ่งเป็นห่วงโซ่ที่แข็งแกร่ง เบา และทนทาน ต่อมาวัสดุมหัศจรรย์ที่เราใช้จนขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันนี้ถูกผลิตขึ้นอย่างล้นหลามเป็นทวีคูณในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อันเนื่องมาจากการขาดแคลนวัสดุธรรมชาติ นำไปสู่ยุคสมัยใหม่แห่งการมีวัสดุให้ใช้กันเหลือเฟือ

พลาสติกปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมเพราะความเบาแต่ทนทานของมัน ทั้งยังเอื้อต่อการสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ๆ ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ช่วยให้การเดินทางท่องอวกาศประสบความสำเร็จ พลาสติกเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนเมื่ออาหารที่บรรจุใส่ถุงพกพาได้ง่ายกว่าเดิม ทั้งหีบห่อพลาสติกยังช่วยยืดอายุในการเก็บรักษา หมวกนิรภัยจากพลาสติกช่วยชีวิตใครหลายคนเมื่อยานยนต์ประสบอุบัติเหตุ และยังช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยการเป็นบรรจุภัณฑ์น้ำดื่มให้แก่ผู้คนในพื้นที่ห่างไกล อันที่จริงมีคุณประโยชน์มากมายมหาศาลที่พลาสติกช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนักวิทยาศาสตร์มากมายก็กำลังพยายามพัฒนาพลาสติกนานาประเภท เพื่อให้พวกมันทำหน้าที่ให้ดีที่สุด การผลิตพลาสติกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเสียจนครึ่งหนึ่งของจำนวนพลาสติกที่เคยมีมาในโลกถูกผลิตขึ้นในช่วง 15 ปีมานี้เท่านั้น

ภาพล้อเลียนโปสเตอร์หนัง Aquaman เมื่อมหาสมุทรในปัจจุบันกำลังเต็มไปด้วยขยะ
ขอบคุณภาพจาก https://www.reddit.com/r/funny/comments/90c8df/aquaman/

ทว่าสิ่งที่ใครหลายคนลืมไปก็คือ เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งานแล้วพลาสติกไปลงเอยที่ไหน? มหาสมุทรคือบ่อขยะพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในจำนวนทั้งหมด 80% ของขยะพลาสติกที่ล่องลอยในทะเลถูกทิ้งลงมาจากแผ่นดิน เมื่อแม่น้ำลำคลองพัดพาเอาขยะพลาสติกออกสู่ทะเล ทุกวันนี้ในแต่ละปีผู้คนทั่วโลกทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรเฉลี่ย 8 ล้านตัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าวัสดุสังเคราะห์เหล่านี้ต้องใช้เวลาย่อยสลายทางชีวภาพนานเท่าไหร่ จึงจะกลับไปเป็นโมเลกุลของสารประกอบตามเดิม การคาดการณ์ในปัจจุบันมีตั้งแต่ใช้เวลา 450 ปี ไปจนถึงนิรันดร์ นั่นหมายความว่าหากไม่ถูกนำมารีไซเคิล ขยะพลาสติกชิ้นแรกที่ถูกผลิตขึ้นเมื่อราว 130 ปีก่อน ยังคงอยู่ในปัจจุบัน และจะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงช่วงเวลาที่คุณหมดลมหายใจ และหลานของคุณมีหลานเป็นของตนเอง

“ในแต่ละปีมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงทะเลมากถึง 8 ล้านตัน ปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับการทิ้งขยะเต็มหนึ่งคันรถลงมหาสมุทรทุกๆ หนึ่งนาที”

อันที่จริงปัญหาจากขยะพลาสติกไม่ใช่เพิ่งปรากฏในช่วงสิบปีมานี้ แต่เริ่มส่อแววมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบเศษขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารของนกทะเลที่ตายแล้ว และต่อมาก็ขยายลุกลามพบในกระเพาะและลำไส้ของแพลงก์ตอน โลมา ไปจนถึงสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดอย่างวาฬ ทว่าความน่ากลัวของขยะพลาสติกไม่ได้หยุดอยู่แค่ระยะเวลาอันยาวนานกว่าจะย่อยสลายตามธรรมชาติ หากบนเส้นทางนั้นกว่าจะถึงช่วงเวลาสุดท้าย พลาสติกได้แตกกระจายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยด้วยคลื่นลมและแสงอาทิตย์ บางชิ้นมีขนาดเล็กเสียจนยากที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

รายงานจากปี 2015 ในจำนวนขยะ 6.9 พันล้านตันที่ถูกผลิตขึ้น มีเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล และ 12% ที่ถูกเผาทำลาย และในจำนวนนี้มีขยะมากถึง 40% ที่ถูกใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง
ขอบคุณภาพจาก Rich Carey

“ไมโครพลาสติก” คือชื่อเรียกของเศษพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และทุกวันนี้สามารถพบได้ตั้งแต่ก้นมหาสมุทร ไปถึงน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในขั้วโลกเหนือ เรื่องราวของไมโครพลาสติกเริ่มต้นขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ในตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าเหตุใดพวกเขาจึงไม่พบขยะพลาสติกในทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อปริมาณการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารจาก 2.1 ล้านตันในปี 1950 เป็น 147 ล้านตันในปี 1993 ข้อมูลจากรายงานวิจัยในปี 2004 โดยริชาร์ด ทอมป์สัน นักนิเวศวิทยาทางทะเลเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่าแท้จริงแล้วขยะพลาสติกไม่ได้หายไปไหน หากแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยปริมาณมหาศาลเกินกว่าที่จะคำนวณได้ มากแค่ไหน? ในการศึกษาแอมฟิพอดชนิดหนึ่งที่พบทั่วไปตามชายฝั่งของยุโรปพบว่า พวกมันกิดกินขยะถุงพลาสติก โดยถุงพลาสติก 1 ใบสามารถถูกแทะกินจนกลายเป็นเศษพลาสติกได้มากถึง 1.75 ล้านชิ้น

เศษเล็กจิ๋วของขยะพลาสติกเหล่านี้ก่อปัญหามากกว่าขนาดตัวมันหลายเท่า เพราะไมโครพลาสติกกำลังเดินทางไปทั่วโลกและปนเปื้อนไปทุกหนแห่ง ไม่ใช่แค่ในกระเพาะอาหารของสัตว์ทะเลที่เผลอกลืนกินขยะ ทว่ารายงานข่าวล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อมของออสเตรียพบไมโครพลาสติกเฉลี่ย 20 อนุภาคในอุจจาระทุกๆ 10 กรัมของผู้ที่เข้าร่วมงานวิจัย และหากคุณกำลังคิดว่าถ้าหลีกเลี่ยงการทานอาหารทะเลก็จะรอดพ้น อันที่จริงในเดือนเดียวกันมหาวิทยาลัยอินซอนในเกาหลีใต้เผยว่า แม้แต่ในเกลือทะเล เกลือทะเลสาบ และเกลือหินก็พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนเช่นกัน ตอกย้ำว่าปัญหาขยะพลาสติกกำลังเป็นวิกฤตที่รุนแรงไม่น้อยไปกว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทั้งยังไม่สามารถหนีพ้นได้

“สหประชาชาติรายงานว่าปัจจุบันทุกๆ ตารางไมล์ของมหาสมุทรเต็มไปด้วยขยะเฉลี่ย 46,000 ชิ้น”

แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานถึงอันตรายจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในอาหารที่ชัดเจน ทว่ากระบวนการผลิตพลาสติกที่ต้องใช้สารเคมีหลายชนิดสร้างความกังวลต่อนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อย และในการทดลองกับสัตว์ในห้องปฏิบัติการเผยให้เห็นว่าสารเคมีจากไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในร่างกายเข้าไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมน ส่วนในมนุษย์ยังคงต้องหาคำตอบกันต่อไป ข่าวดีก็คือส่วนใหญ่แล้วขยะพลาสติกจิ๋วเหล่านี้สะสมในกระเพาะอาหารและลำไส้ของสัตว์ทะเล ไม่ใช่ในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่ผู้คนกินกัน ทว่าไม่จำเป็นต้องรอให้งานวิจัยมาบอกว่าพลาสติกกำลังทำลายสุขภาพเราอย่างไร ที่ผ่านมาผลกระทบจากขยะพลาสติกปรากฏชัดเจนในทุกระบบ และมากพอแล้วที่เราต้องร่วมมือกันทำอะไรสักอย่าง

อุปกรณ์ประมงคือหนึ่งในขยะที่หลุดลอยสู่ทะเล และคร่าชีวิตบรรดาสัตว์น้ำเมื่อพวกมันว่ายเข้าไปติด รายงานล่าสุดที่วิจัยแพขยะแห่งแปซิฟิกพบว่า ในขยะปริมาณ 79,000 เมตริกตันของแพแห่งนี้ ส่วนใหญ่ของขยะแล้วเป็นอุปกรณ์ประมงทั้งสิ้น ไม่ใช่ขวดพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์หีบห่อแบบที่เรามักคุ้นชินจากภาพข่าว
ภาพถ่ายโดย Jordi Chias

 

เราจะชดเชยให้คิงออร์มได้อย่างไร?

ในภาพยนตร์ Aquaman มีฉากหนึ่งที่คิงออร์มส่งสัญญาณเตือนไปยังมนุษยชาติด้วยการสร้างคลื่นขนาดมหึมาพัดพาเอาขยะในทะเลกลับขึ้นไปบนชายฝั่ง หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงอาจมีขยะมากถึง 5.25 ล้านล้านชิ้นตีกลับขึ้นมาบนบก ตัวเลขดังกล่าวคือการคาดการณ์เท่านั้น เมื่อจำนวนจริงมากมายมหาศาลจนไม่อาจใช้เครื่องมือใดนับได้ และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าภายในปี 2050 นี้ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มหาสมุทรจะมีขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลาเสียอีก

ถ้าเช่นนั้นเราควรทำอะไรบ้าง? สิ่งสำคัญในการลดปัญหาขยะนอกเหนือจากการเก็บแล้ว คือความพยายามไม่สร้างขยะเพิ่ม และเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลในหลายประเทศจำเป็นต้องกระตุ้นให้ประชาชนจัดการขยะด้วยวิธีรีไซเคิล หลายประเทศในยุโรปนอกเหนือจากการออกกฎหมายแบนการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง พวกเขามีตู้รับขยะพลาสติกไปรีไซเคิล โดยประชาชนจะได้เงินคืนกลับมาในฐานะผู้ช่วยลดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีหลายประเทศในทวีปแอฟริกาที่ออกกฎหมายควบคุมปริมาณการใช้ถุงพลาสติกไม่ใช้มากเกินที่กำหนด เช่น เคนยา, แอฟริกาใต้ และรวันดา

“แพขยะแห่งแปซิฟิก คือชื่อของวงขยะขนาดยักษ์ที่ลอยตัวอยู่ ณ ผิวมหาสมุทรบนพื้นที่ระหว่างฮาวายและรัฐแคลิฟอร์เนีย มันมีขนาดใหญ่กว่ารัฐเท็กซัส และถูกตั้งให้เป็นประเทศสมมุติที่มีชื่อว่า ‘Trash Isles’ มีพลเมืองอย่างเป็นทางการแล้วหนึ่งคนคือ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้ขับเคลื่อนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม”

นอกเหนือจากการรีไซเคิลวัสดุพลาสติกแล้ว อีกหนึ่งข้อสำคัญที่คนทั่วไปทำได้คือพยายามใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ค่าเฉลี่ยระบุว่าถุงพลาสติกใบหนึ่งถูกใช้งานเพียงแค่ 12 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นถุงดังกล่าวกลายไปเป็นขยะ และคงลงเอยในท้องของวาฬสักตัว ในจำนวนขยะพลาสติกทั้งหมดที่ลอยเคว้งคว้างในมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ากว่าครึ่งล้วนเป็นขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถุงพลาสติก, หลอด, ขวดน้ำ, ช้อน, ส้อม และอื่นๆ อีกมากมาย เหล่านี้คือความสะดวกสบายที่กลายมาเป็นนิสัย แต่ปรับเปลี่ยนได้เพื่อโลกของเรา ในหลายประเทศมีกลไกกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่นเดนมาร์กที่กำหนดภาษีถุงพลาสติกเป็นประเทศแรกมาตั้งแต่ปี 1993 ปัจจุบันชาวเดนมาร์กใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยเพียง 4 ใบต่อปีเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกาค่าเฉลี่ยการใช้ถุงพลาสติกตกอยู่ที่ครอบครัวละ 1,500 ใบต่อปี ส่วนในไทยตัวเลขเฉลี่ยรายบุคคลยังไม่แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ ประเทศเราคือผู้ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะลมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก อันดับหนึ่งคือจีนตามมาด้วยอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม รายงานจาก Ocean Conservancy เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

(ดูรายงานจาก Ocean Conservancy ได้ ที่นี่)

ซากวาฬเกยตื้นที่สร้างจากขยะพลาสติกชิ้นนี้ คือผลงานศิลปะของกรีนพีชในฟิลิปปินส์ ที่ต้องการสร้างความตระหนักถึงวิกฤตขยะพลาสติก
ขอบคุณภาพจาก https://www.onegreenplanet.org/news/whale-filled-with-plastic-trash/

ปัจจุบันมีหลายบริษัทและสตาร์ทอัพพยายามแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก บริษัทพอลิแมทีเรีย (Polymateria) ในอังกฤษพยายามเติมแต่งสารที่จะย่อยสลายพลาสติกซึ่งช่วยให้วัสดุของพวกเขาสลายตัวตามธรรมชาติได้เร็วขึ้น นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจียทดลองใช้พอลิเมอร์ที่สังเคราะห์จากจุลชีพมาทำบรรจุภัณฑ์แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมๆ ด้านวารสาร Current Biology รายงานนักวิทยาศาสตร์ในสเปนค้นพบหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่กัดกินพลาสติกเป็นอาหาร โดยถุงพลาสติก 1 ใบเฉลี่ยใช้หนอนในการย่อยสลายราว 100 ตัว เหล่านี้คือความหวังใหม่ในการจัดการกับปัญหาที่เราก่อ ในขณะเดียวกันที่นอกห้องทดลอง ไกลออกไปในทะเล อุปกรณ์เก็บขยะในมหาสมุทรโดย Ocean Cleanup ก็กำลังทยอยเก็บขยะที่ล่องลอยก่อนจะไปทำร้ายสรรพชีวิตที่ต้องมารับกรรมซึ่งตนไม่ได้ก่อ

“รายงานจากยูเนสโก ขยะพลาสติกคือสาเหตุการตายของนกทะเลนับล้านในแต่ละปี รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอีกมากกว่าแสนตัวที่กลืนกินขยะเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร”

อันที่จริงมีความพยายามทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกมากมายที่กำลังพัฒนาขึ้นเพื่อจัดการกับขยะพลาสติก แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาเทียบไม่ได้เลยกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา และเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเช่นกัน ทว่าโมเดลจากหลายเมืองพิสูจน์แล้วว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง แม้จะไม่ใช่ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็ตาม เพราะในชีวิตจริงไม่มี Aquaman คอยปกป้อง มีแค่เราและโลกที่ท่วมท้นไปด้วยขยะพลาสติกในทุกหนแห่ง อนาคตจึงขึ้นอยู่กับทุกคนล้วนๆ ว่าจะรับพลาสติกหรือไม่ และหากรับมาแล้วจะจัดการกับขยะในมืออย่างไร

 

อ่านเพิ่มเติม

พบพลาสติกห่อบุหรี่ในตัว แมงกะพรุน

 

แหล่งข้อมูล

The plastics campaigner that changed the way we think about our oceans

What Is Ocean Plastic?

10 SHOCKING FACTS ABOUT PLASTIC

WE MADE PLASTIC. WE DEPEND ON IT. NOW WE’RE DROWNING IN IT.

For Animals, Plastic Is Turning the Ocean Into a Minefield

The future of the sea? How the ocean economy can fight plastic pollution.

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.