ลิเทียม : ทองคำสีขาวที่ขับเคลื่อนโลกอนาคต

ลิเทียม : ทองคำสีขาวที่ขับเคลื่อนโลกอนาคต

เมื่อความต้องการแบตเตอรี่ทรงพลังพุ่งทะยานขึ้น โบลิเวียฝันถึงการสร้างความมั่งคั่งโดยการสกัด ลิเทียม จากชั้นเกลือราบอันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศ แต่ไม่แน่ชัดว่า ชาวโบลิเวียสักกี่คนจะได้ประโยชน์

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์

ภาพถ่าย เซดริก เจอร์บีเฮย์

เช้าวันหนึ่งในกรุงลาปาซ อัลบาโร การ์ซิอา ลีเนรา รองประธานาธิบดีของโบลิเวีย ต้อนรับผมในห้องรับรองกว้างขวางด้านนอกสำนักงานของเขาซึ่งมองลงไปเห็นจัตุรัสมูรีโย นักการเมืองวัย 56 ปี ผมสีเงิน ท่าทางสง่างามผู้นี้เป็นที่รู้จักในประเทศของเขาว่า เป็นนักอุดมคติผู้นิยมลัทธิมากซ์ แต่ปัจจุบันเขาแสดงตนเป็นนักขายสายทุนนิยม

การขายนี้เกี่ยวข้องกับ ลิเทียม ซึ่งนอกจากสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแบตเตอรี่แล้ว ยังเป็นกุญแจไขสู่อนาคตของโบลิเวียด้วย รองประธานาธิบดียืนยันกับผมและทำนายว่า อีกเพียงสี่ปีข้างหน้า มันจะเป็น “จักรกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา” ชาวโบลิเวียจะได้อานิสงส์กันถ้วนหน้า เขากล่าวต่อ “มันจะฉุดพวกเขาให้พ้นจากความยากจน”

แต่อย่างที่รองประธานาธิบดีทราบดี การขายลิเทียมในฐานะทางรอดทางเศรษฐกิจของโบลิเวียไม่อาจครบถ้วนสมบูรณ์ หากไม่เอ่ยถึงแหล่งที่มาของลิเทียมที่ว่า นั่นคือซาลาร์เดอูยูนี (Salar de Uyuni) ชั้นเกลือราบ (salt flat) อันกว้างใหญ่ไพศาลกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ ถ้าไม่แปรสภาพไปอย่างแทบจะเรียกได้ว่าแน่นอน ก็อาจเสียหายชนิดมิอาจหวนคืน จากการทำเหมืองเพื่อสูบทรัพยากรที่อยู่ใต้ชั้นเกลือขึ้นมา

ขณะที่ประชากรชนพื้นเมืองชาวไอมาราเก็บและขายเกล็ดเกลือบนพื้นผิวของชั้นเกลือราบซาลาร์เดอูยูนี ลิเทียมที่ให้กำไรงามกว่าอย่างมหาศาล ละลายอยู่ในน้ำเกลือที่พบอยู่ลึกลงไปใต้ดิน
บ่อระเหยที่ขุดลึกลงไปในซาลาร์เดอูยูนี มองเห็นเป็นตารางโมเสกหลากสีที่โรงงานลิเทียมต้นแบบยีปี ซึ่งเริ่มผลิตลิเทียมคาร์บอเนตเมื่อปี 2013 น้ำเกลือที่อุดมด้วยลิเทียมถูกสูบจากใต้ผิวดินลึกลงไปถึง 20 เมตรขึ้นมาพักไว้ในบ่อระเหย ท้ายที่สุดแล้ว โรงงานแห่งนี้จะมีบ่อระเหยทั้งสิ้น 200 บ่อ

 การขับรถทั้งวันไปยังชั้นเกลือราบอันกว้างใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ได้เห็นบรรยากาศข้างทางของประเทศยากจนที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ จากย่านใจกลางเมืองของกรุงลาปาซ ถนนตัดขึ้นสู่ทางลาดชันไปยังเมืองเอลอัลโต ฐานที่มั่นของชนชั้นแรงงานที่ประกอบด้วยชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโบลิเวีย คือชาวไอมารา ตลอดเจ็ดชั่วโมงต่อมา เส้นทางลาดลงเขาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงทางราบที่ความสูงราว 3,650 เมตรจากระดับทะเล ตัดผ่านทุ่งไม้พุ่มรกร้างว่างเปล่า พอบ่ายคล้อย ประกายวับวาวเรื่อๆของชั้นเกลือราบก็แผ่ไปทั่วที่ราบ

ผมไปถึงซาลาร์ก่อนพระอาทิตย์ตกเล็กน้อย แล้วขับรถไปบนพื้นผิวเรียบแข็งของมันต่อไปอีกราว 1.5 กิโลเมตร กระทั่งรู้สึกได้อย่างชัดเจนถึงความไกลปืนเที่ยงของมัน ภาพที่เห็นก็ชวนหลอนมิใช่น้อย ลักษณะภูมิประเทศฟอกขาวกว้างไกลหลายกิโลเมตร ราบเรียบสุดลูกหูลูกตาอย่างน่าอัศจรรย์ ความว่างเปล่าถูกเติมให้ครบสมบูรณ์ด้วยฟ้าสีน้ำเงินไร้เมฆ กับหมู่ยอดเขาสีน้ำตาลแดงของเทือกเขาแอนดีสที่เห็นอยู่ลิบๆ

ใต้ชั้นเกลือราบขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้มีความมหัศจรรย์อีกอย่างซุกซ่อนอยู่  นั่นคือแหล่งลิเทียมขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งอาจมากถึงร้อยละ 17 ของทั้งหมดในโลก ด้วยการใช้ประโยชน์จากปริมาณลิเทียมสำรองของประเทศ รัฐบาลประเทศโบลิเวียซึ่งประชากรร้อยละ 40 มีชีวิตอยู่อย่างยากจน มองเห็นทางรอดจากทางตันแห่งความอับโชคของตน

ที่โรงงานแห่งหนึ่งในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม คนงานตรวจดูแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนที่จะจ่ายพลังงานให้รถออดี้ อี-ทรอน (Audi e-tron) ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นกระตุ้นให้มีการสกัดลิเทียมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทหารนายหนึ่งเฝ้าระวังอยู่ที่ด่านสังเกตการณ์  ซึ่งตั้งอยู่ตรงทางเข้าสู่โครงการนำร่องเพื่อผลิตลิเทียม ถนนทางซ้ายทอดสู่โรงงาน ผู้ขับขี่ยานยนต์ทุกคนต้องหยุดและกรอกแบบฟอร์มที่โต๊ะก่อนจะเข้าโรงงาน

ทองคำสำคัญอย่างไรสำหรับยุคอดีต และปิโตรเลียมสำคัญอย่างไรสำหรับศตวรรษที่แล้ว ลิเทียมอาจสำคัญแซงหน้าทั้งสองอย่างนั้นในหลายปีข้างหน้า ลิเทียมถูกใช้ในยารักษาโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว รวมทั้งในสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่เซรามิกไปจนถึงอาวุธนิวเคลียร์ จนกระทั่งปรากฏโฉมเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับแบตเตอรี่ในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

เมื่อปี 2017 การบริโภคลิเทียมในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 40,000 ตันต่อปี แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 ในทุกๆปี นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ระหว่างปี 2015 ถึง 2018 ราคาลิเทียมขยับสูงขึ้นเกือบสามเท่าตัว นอกจากนี้ ความต้องการที่ว่านั้นมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นที่นิยมมากขึ้น

แม้การทำเหมืองลิเทียมจะมีอยู่ในทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์กติกา ปริมาณลิเทียมสำรองมากถึงสามในสี่ของทั้งหมดเท่าที่ทราบอยู่ในเขตที่ราบสูงอัลติปลาโน-ปูนา ซึ่งทอดยาว 1,800 กิโลเมตรในเทือกเขาแอนดีส แหล่งชั้นเกลือพบอยู่หนาแน่นในชิลี อาร์เจนตินา และโบลิเวีย ซึ่งเรียกกันว่า “สามเหลี่ยมลิเทียม” (Lithium Triangle) ชิลีสกัดลิเทียมจากน้ำเกลือมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และซาลาร์เดอาตากามา (Salar de Atacama) ของประเทศนี้ก็เป็นแหล่งผลิตลิเทียมแหล่งใหญ่สุดในลาตินอเมริกาในปัจจุบัน ที่ผ่านมารัฐบาลชิลีมีความเป็นมิตรที่สุดกับนักลงทุนต่างชาติ อาร์เจนตินาก็เริ่มสกัดลิเทียมจากน้ำเกลือในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เช่นกัน

ปริมาณลิเทียมสำรองของโบลิเวียนั้นยังไม่ถูกแตะต้อง จวบจนกระทั่งไม่นานมานี้ “ในอาร์เจนตินาและชิลี พวกเขามีวัฒนธรรมร่วมหุ้นระหว่างรัฐกับเอกชนมาโดยตลอด” โอสการ์ บายีเบียน ชาเบซ นักธรณีวิทยาชาวโบลิเวีย กล่าว “ที่นี่รัฐบาลไม่อยากลงทุนกับภาคเอกชนเพราะจมอยู่กับความเกลียดชังระบบทุนนิยมครับ”

ในโรงงานลิเทียมต้นแบบ  คนงานตรวจดูลิเทียมคาร์บอเนตว่าแห้งดีหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนสารเคมีดังกล่าวจะถูกบรรจุลงถุงเพื่อขนส่งต่อไป โรงงานที่รัฐกำกับดูแลนี้มีลูกจ้างราว 250 คน พวกเขาสวมชุดหมีสีแดง และอาศัยอยู่ในบ้านสำเร็จรูปข้างโรงงาน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้อยคนที่ทำงานก่อสร้างและงานบริการต่างๆ

ชัยชนะในการเลือกตั้งของเอโบ โมราเลส ประธานาธิบดีชาวไอมาราคนแรกของประเทศ เมื่อปี 2006 นับว่าทรงพลังในเชิงสัญลักษณ์สำหรับประชากรพื้นเมืองชาวไอมารา แต่วาทกรรมและการปฏิบัติของประธานาธิบดีผู้นี้ก็ส่อเค้าถึงการผลักไสเงินลงทุนจากต่างชาติ โมราเลสเดินหน้าอย่างรวดเร็วในการแปรรูปอุตสาหกรรมปิโตรเลียมให้เป็นรัฐวิสาหกิจ และเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วสำหรับกิจการเหมืองแร่บางอย่าง

หลักการทำงานของรัฐบาลใหม่ภายใต้โมราเลสเป็นแบบ “เอสตาตัลร้อยเปอร์เซ็นต์!” หรือรัฐบาลโบลิเวียควบคุมโดยสมบูรณ์ “เราตัดสินใจว่าพวกเราชาวโบลิเวียจะต้องยึดครองซาลาร์เอง คิดค้นวิธีการสกัดลิเทียมของเราเอง แล้วร่วมหุ้นกับบริษัทต่างชาติที่หาตลาดโลกมาให้เราได้” รองประธานาธิบดีการ์ซิอา ลีเนรา บอก

คำขวัญนี้มีความหมายอีกอย่างหนึ่งด้วย กล่าวคือเมื่อประธานาธิบดีชาวไอมาราเป็นผู้เอ่ยออกมา ความที่ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่รอบซาลาร์เป็นชาวไอมารา การประกาศว่าชั้นเกลือราบดังกล่าวจะกลายเป็นศูนย์กลางการปฏิวัติทางเศรษฐกิจของโบลิเวีย เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า งานและการหลุดพ้นจากความยากเข็ญจะมาถึงแล้ว

การ์ซิอา ลีเนรา ให้คำมั่นว่า ลิเทียมของโบลิเวียจะเป็น “พลังงานที่จะป้อนให้โลก” เขาให้คำปฏิญาณกับผมว่า ภายในปี 2030 เศรษฐกิจของโบลิเวียจะอยู่ในระดับเดียวกันกับของอาร์เจนตินาและชิลี โมราเลสทำนายอย่างมั่นใจว่า โบลิเวียจะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมได้ภายในปี 2010 และรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2015 ปรากฏว่า การประมาณการดังกล่าวคลาดเคลื่อนไปมาก การทำเหมืองลิเทียมเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องอาศัยทั้งการลงทุนมหาศาลและความช่ำชองทางเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน การดึงดูดบริษัทต่างชาติที่จะยอมยกการควบคุมให้กับรัฐด้วยความเต็มใจนั้น ก็เป็นความท้าทายยิ่ง

จนกระทั่งถึงปี 2018 โบลิเวียจึงหาหุ้นส่วนได้ นั่นคือเอซีไอซิสเตมส์อาเลมาเนีย บริษัทสัญชาติเยอรมันซึ่งมีรายงานว่าจะร่วมลงทุนเป็นเงิน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แลกกับการถือหุ้นร้อยละ 49 ในกิจการดังกล่าว

ธงชาติต่างๆที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกปักทิ้งไว้ โบกสะบัดอยู่ในสายลมบนซาลาร์เดอูยูนี ผู้มาเยือนโบลิเวียซึ่งถูกดึงดูดด้วยความงามอันเวิ้งว้างของที่นี่  พากันหลั่งไหลมายังภูมิภาคอันห่างไกลแห่งนี้ การท่องเที่ยวกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของเมืองในละแวกนั้น เช่น โกลชานี และอูยูนี

ระหว่างที่ผมเดินทางไปยังหมู่บ้านฝุ่นคลุ้งต่างๆที่อยู่ติดกับซาลาร์เดอูยูนี หากว่ากันถึงความคิดเรื่องลิเทียมของโมราเลส ชาวบ้านจะตอบด้วยความกังขาปนเหนื่อยหน่าย และบางครั้งเจือความกังวล

ชาวไอมาราจำนวนมากในภูมิภาคนั้นทำงานเป็น ซาเลโร หรือคนงานเก็บเกลือและขายให้โรงงานแต่งแร่ เกษตรกรนาเกลือชื่อ อูโก โฟลเรส บอกผมว่า “เราไม่ได้รับข้อมูลอะไรจากรัฐบาลเลยครับ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลิเทียมคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และสร้างผลกระทบอะไรบ้าง” ตรงประเด็นยิ่งกว่านั้น สมาชิกสภาเทศบาลหญิงคนหนึ่งในตาอัวชื่อ ซิเปรียนา กัลล์ปา ดิอัซ บอกว่า “ไม่มีใครในเขตเทศบาลนี้ทำงานอยู่ในโครงการลิเทียม เรานึกว่าจะมีงานสำหรับคนของเราที่นี่ พร้อมกับเงินเดือนดีๆ น่าผิดหวังมากค่ะ”

บางทีความไม่พอใจรุนแรงที่สุดอาจเป็นดังคำกล่าวของริการ์โด อากีร์เร ติโกนา ประธานสภาเทศบาลยีกา เมืองหลวงของจังหวัดดานิเอลกัมโปส ซาลาร์เกือบทั้งหมดทอดตัวอยู่ในจังหวัดนี้

“เราเข้าใจว่าเมื่อโรงงานสร้างเสร็จจนดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นธุรกิจระดับหลายล้านดอลลาร์น่ะครับ” เขาบอกในบ่ายวันหนึ่งที่สำนักงานของเขา “ข้อกังขาก็คือเราจะมีวันได้มาสักแดงหรือเปล่า คนที่ควรจะได้รับผลประโยชน์ก่อนใคร คือคนในพื้นที่ซึ่งการผลิตดำเนินการอยู่ไม่ใช่หรือ”

อากีร์เรชั่งถ้อยคำถัดมาของเขาอย่างระมัดระวัง “ประชาชนชาวโบลิเวียอดทนกันดีครับ” เขาบอก “แต่ถ้าจำเป็น ประชาชนจะลงมือทำเพื่อบอกว่า พวกเขาต้องการอะไร”

อิงกาอัวซี หรือ “บ้านของชาวอินคา” ในเกชัว เคยเป็นเกาะเมื่อครั้งที่ซาลาร์เดอูยูนีเป็นทะเลสาบในยุคก่อนประวัติศาสตร์  ซากภูเขาไฟปกคลุมด้วยต้นกระบองเพชร ซึ่งบางต้นสูงตระหง่านถึง 12 เมตร และสาหร่ายที่กลายเป็นฟอสซิล การสกัดลิเทียมจากใต้ชั้นเกลือราบแห่งนี้จะทำให้ภูมิทัศน์อันน่าตื่นตาเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน

ในโบลิเวีย ถ้อยคำของเขาไม่จำเป็นต้องขยายความอันใด ย้อนหลังไปเมื่อปี 1946 ประชาชนชาวโบลิเวียตัดสินใจว่าพวกเขาหมดความอดทนกับประธานาธิบดีกวลเบร์โต บิยาร์โรเอล ผู้ริเริ่มการปฏิรูปแรงงาน แต่กลับบังคับใช้มาตรการกดขี่ข่มเหง เมื่อคนงานเหมืองเสนอข้อเรียกร้องเพิ่มขึ้น ชาวโบลิเวียผู้โกรธแค้นบุกปล้นสะดมทำเนียบของบิยาร์โรเอล สังหารเขา และแขวนศพของเขากับเสาไฟถนนในจัตุรัสมูรีโย ซึ่งอยู่ติดกับทำเนียบที่ผมไปเข้าพบรองประธานาธิบดี ผมนึกถึงเหตุการณ์เตือนใจอันดำมืดเมื่อครั้งอดีตหนนั้น ขณะขับรถออกจากซาลาร์เดอูยูนี สัญลักษณ์แห่งความเรียบง่ายที่อาจดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้น


อ่านเพิ่มเติม

ซิลิคอนแวลลีย์ : หวนคืนสู่ดินแดนแห่งโอกาส

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.