เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เหล่าเยาวชนประมาณ 1.4 ล้านคน จาก 100 ประเทศทั่วโลก อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา พร้อมใจกันหยุดเรียนเพื่อเข้าร่วมการประท้วงในระดับนานาชาติ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวโลกสนใจมหันตภัยของโลกที่ใกล้เข้ามาอย่าง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ” พวกเขารวมตัว ชูป้ายประท้วง ร้องรำทำเพลงและตะโกนในสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องเพื่อแสดงออกถึงสิ่งที่พวกเขาวิตกกังวลไปยังบรรดาผู้มีอำนาจบนโลกให้ตระหนักถึงปัญหานี้
“เราคือคนรุ่นแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยิ่งยวด และเราจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่ออกมาทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้” – นาเดีย นาซาร์ หนึ่งในผู้จัดการประท้วงที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวไว้ในการประท้วงครั้งนี้
การนัดประท้วงของเยาวชนในระดับนานาชาตินี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการประท้วงในเดือนสิงหาคม ปี 2018 โดย เกรียตา ทุนแบร์ย เด็กหญิงชาวสวีเดน วัย 16 ปี ที่ออกมาประท้วงเรียกร้องด้านนอกรัฐสภาในกรุงสต็อกโฮล์มเพื่อให้ผู้นำประเทศของเธอรับรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และออกมาตรการที่แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเกรียตาเรียกการประท้วงครั้งนี้ว่า “การประท้วงหยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ ” (School Strike for Climate) และเธอได้กลายเป็นสัญลักษณ์และผู้นำในการเรียกร้องของเด็ก ๆ เหล่านี้ไปในที่สุด
เด็กหญิงออทิสติกผู้เลือกใช้ชีวิตแบบไม่รบกวนโลก
เกรียตา ทุนแบร์ย เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2003 มีแม่เป็นนักร้องโอเปร่า และพ่อเป็นนักแสดง และมีคุณปู่คือ สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius) นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมี เมื่อ ค.ศ. 1903 ผู้ค้นพบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ซึ่งเป็นงานวิจัยตั้งต้นให้โลกได้รู้จักกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
เกรียตาเริ่มสนใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อเธออายุ 9 ขวบ หลังจากได้เรียนรู้เรื่องนี้ในโรงเรียน เธอมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษยชาติ แต่กลับไม่มีผู้ใดให้ความสำคัญ เธอจึงลงมือศึกษาเพื่อหาคำตอบให้กับตัวเองในเรื่องนี้ และด้วยความเป็นเด็กออทิสติก เธอจึงความสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เธอสนใจได้เป็นเวลานานจนได้ข้อสรุป เธอเริ่มแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเอง เช่น หยุดบริโภคเนื้อสัตว์ หยุดซื้อทุกอย่างที่ไม่จำเป็น ในปี 2015 เธอเลิกเดินทางด้วยเครื่องบิน และปลูกผักรับประทานเอง นอกจากนี้ เธอยังชักชวนครอบครัวให้ติดตั้งแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าในบ้านอีกด้วย
เริ่มต้นเรียกร้องความตระหนักจากรัฐบาล
เธอตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่อาจแก้ไขได้ด้วยตัวเธอเพียงคนเดียว ในเดือนสิงหาคม ปี 2018 เกรียตาในวัย 15 ปี ตัดสินใจหยุดเรียนและเดินทางไปที่ด้านนอกอาคารรัฐสภาสวีเดนโดยลำพังพร้อมชูป้ายประท้วงเพื่อให้รัฐบาลสวีเดนทบทวนมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่านี้ หลังจากเธอมองว่านโยบายของรัฐบาลสวีเดนในขณะนั้นให้ความใส่ใจในเรื่องนี้น้อยเกินไป (แม้สวีเดนจะเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกแล้วก็ตาม) เธอไม่ได้ถูกจับไปที่สถานีตำรวจในฐานะที่ก่อความวุ่นวาย เพียงแต่ได้รับการตักเตือนจากผู้ใหญ่หลายคน ทั้งจากบุคคลภายนอกและเหล่านักการเมืองในรัฐสภาว่าให้กลับไปเรียนเสีย
แน่นอนว่าเธอเพิกเฉยต่อคำตักเตือนจากผู้ใหญ่เหล่านั้น และมาประท้วงหน้ารัฐสภาเช่นนี้ต่อไปในทุกวันศุกร์ (เพราะในวันจันทร์ – พฤหัสบดีเธอต้องไปเรียน) แต่อย่างไรก็ตาม การประท้วงของเธอทำให้คนทั้งในสวีเดนและคนจากต่างประเทศเริ่มตระหนักถึงสิ่งที่เธอพยายามเรียกร้อง และเริ่มตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกมากขึ้น
เด็กหญิงผู้ไม่ยอมจำนนต่อภาวะโลกร้อนอีกต่อไป
ในเดือนมกราคม ปี 2019 เกรียตาได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 24 หรือ COP 24 การขึ้นพูดของเธอในครั้งนั้นได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ “ผู้ใหญ่” ที่เพิกเฉยต่อเรื่องภาวะโลกร้อนอย่างชัดแจ้ง และมอบพันธกิจแด่คนรุ่นใหม่ที่ต้องออกมาแก้ไขปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนด้วยตัวเอง
“สิ่งแวดล้อมบนโลก ชั้นบรรยากาศของโลกขณะนี้กำลังเป็นเครื่องสังเวยให้กับประเทศของคนรวยที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา”
“ในปี 2078 ฉันจะมีอายุครบ 75 ปี ถ้าฉันมีลูก ลูกหลานของฉันจะถามถึงพวกคุณว่าทำไมพวกคุณถึงไม่ทำอะไร ในขณะที่คุณยังมีเวลา”
“พวกคุณบอกว่ารักและเป็นห่วงเด็กๆ แต่ทำไมพวกคุณถึงได้ขโมยอนาคตของพวกเขาไป”
“เราไม่สามารถแก้ปัญหาถ้าเราไม่มองว่ามันเป็นปัญหา ทางออกสำหรับระบบนี้ คือเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวระบบเอง ฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อขอให้บรรดาผู้นำโลกมาใส่ใจ คุณได้เพิกเฉยพวกเรามาตลอดในอดีต และคุณคงเพิกเฉยอีก ฉันมาที่นี่เพื่อบอกคุณว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม เพราะพลังที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชนทุกคน”
(รับชมวิดีโอสุนทรพจน์เต็มของ เกรียตา ทุนแบร์ย)
หลังจากนี้ เกรตายังคงเรียกร้องในเรื่องภาวะโลกร้อนที่หน้ารัฐสภาต่อไป จนกว่ารัฐบาลสวีเดนสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
การต่อสู้เพื่ออนาคต
เมื่อเดือนตุลาคม 2018 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ได้ออกรายงานเตือนว่า ขณะนี้อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกเกินกว่าที่คาดคิดไว้ บรรดาคนรุ่นใหม่เมื่อได้ยินตัวเลขนี้แล้วก็ได้เฝ้านับปีต่อจากนี้และตระหนักว่า นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ของโลกใบนี้ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด จึงเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลการรวมตัวของเยาวชนนับล้านคนจากกว่าสองพันเมืองทั่วโลกที่ออกมาร่วมการเดินขบวนในชื่อ Fridays for Future หรือ วันศุกร์เพื่ออนาคต ในวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา
จุดมุ่งหมายของการเดินขบวนคือเรียกร้องให้บรรดารัฐบาลต่าง ๆ ในโลกนี้ ประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องภูมิอากาศโลก และให้ปฏิบัติต่อเสียงของคนรุ่นใหม่ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างเหมาะสม
เกรียตาได้กล่าวถึงการเดินขบวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ว่า “เราได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งใดก็ตามที่เราทำเป็นสิ่งสำคัญ และไม่มีใครที่ตัวเล็กเกินกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ผู้ได้รับการเสนอชื่อรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุด
จากการที่เกรียตาได้เคลื่อนไหวในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกจนกลายเป็นผู้นำและเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทั่วโลกได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ เธอจึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ และหากเธอได้รับเลือก ก็จะกลายเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอายุน้อยที่สุดในโลก โดยสมาชิกรัฐสภาของสวีเดนเป็นผู้เสนอชื่อของเธอด้วยเหตุผลว่า ถ้าไม่มีการทำอะไรเพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหานี้จะนำไปสู่สงคราม ความขัดแย้ง และผู้อพยพลี้ภัย โดยเกรียตา ทุนแบร์ย เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวใหญ่ที่เป็นการส่งเสริมสันติภาพโลกอย่างแท้จริง
ทางด้านเกรียตากล่าวถึงกรณีนี้ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “เป็นเกียรติ” ที่ได้รับการเสนอชื่อในครั้งนี้
สำหรับการเดินขบวนวันศุกร์เพื่ออนาคต จะจัดขึ้นในอีกกว่า 100 ประเทศทั่วโลกอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 12 เมษายนนี้ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของการเดินขบวนครั้งนี้ได้ที่ https://www.fridaysforfuture.org
แหล่งอ้างอิง
เกรตา ธุนเบิร์ก: โดดเรียนเพื่อต้นไม้ ใบหญ้า และโลก
เกรตา ธันเบิร์ก โฉมหน้าของนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่
“เกรตา ทุนเบิร์ก” เด็กอายุ 16 ที่แก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการโดดเรียนทุกวันศุกร์
รู้จัก เกรียตา ทุนแบร์ย นักรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อนชาวสวีเดนผู้เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
From Sweden to India, school climate strikes have gone global
Kids striking against climate change: ‘We’re fighting for our lives’
School climate strikes: 1.4 million people took part, say campaigners
‘The beginning of great change’: Greta Thunberg hails school climate strikes