สัมภาษณ์โดย ซูซาน โกลด์เบิร์ก
ภาพถ่าย BRINSON + BANKS
เมื่อปี 2015 บรรดาผู้นำในที่ประชุมสหประชาชาติได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายแห่งการพัฒนาอันยั่งยืน 17 ข้อขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียม และปัญหาอื่นๆ ของโลกให้ได้ภายในปี 2030 ขณะเดียวกัน มหาเศรษฐีผู้ใจบุญอย่าง บิล และ เมลินดา เกตส์ มุ่งมั่นเดินทางสู่ เป้าหมายเหล่านี้มาก่อนนานแล้ว ดังนั้น ในปี 2017 มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ จึงจัดตั้งโครงการ Goalkeepers ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าของการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ ฉันมีโอกาสนั่งคุยกับทั้งคู่เกี่ยวกับ รายงานประจำปี 2018 นับเป็นการให้สัมภาษณ์พร้อมกันซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ซูซาน โกลด์เบิร์ก: ฉันเพิ่งอ่านรายงานของ Goalkeepers อะไรทำให้คุณตัดสินใจทำโครงการนี้
เมลินดา เกตส์: เพราะข่าวคราวเกี่ยวกับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในโลกยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ทั้งจำนวนผู้คนที่รอดชีวิตจากการเจ็บไข้ได้ป่วย และปัญหาความยากจนที่ลดลง สหประชาชาติตั้งเป้าหมายน่าทึ่งเหล่านี้สำหรับอนาคต เพื่อช่วยให้พวกเราสามารถจัดการกับปัญหาความยากจนได้อย่างต่อเนื่อง และเราอยากให้ผู้คนมีส่วนรับผิดชอบต่อความก้าวหน้านั้น ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้บรรดาผู้นำรุ่นถัดไปที่จะก้าวขึ้นมารับช่วงภารกิจเหล่านี้ต่อไป
คุณเห็นอะไรในแต่ละประเทศ ประเทศไหนทำได้ดีบ้าง
บิล เกตส์: แม้แต่ประเทศที่ยากจนมาก ๆ ก็สามารถสร้างความก้าวหน้าในเรื่องสุขภาพ เกษตรกรรม และ การศึกษา นั่นช่วยจุดประกายความหวังเป็นอย่างมาก เพราะคุณสามารถใช้แบบอย่างของประเทศเหล่านั้นได้ รวันดาเป็นประเทศที่โดดเด่นในเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพ ขณะที่ในเอธิโอเปีย เกษตรกรรมที่นั่นเติบโตขึ้นมากกว่าร้อยละห้าทุกปี ส่วนในเรื่องการศึกษาคงต้องยกให้เวียดนาม เพราะพวกเขาพัฒนาไปไกลเกินกว่าที่คุณจะคาดหวังหากพิจารณาจากความรํ่ารวยของประเทศ เมื่อคุณมีสามสิ่งนี้อยู่ด้วยกัน นั่นคือสุขภาพ การศึกษา และ เกษตรกรรม ประเทศเหล่านี้จะสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง
เมลินดา: สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจก็คือ [ในแง่ประชากร] รวันดาเป็นประเทศที่เล็กมาก ขณะที่เอธิโอเปียถือว่าใหญ่เป็นอันดับสองของทวีป แต่ทั้งสองประเทศต่างศึกษาบทเรียนด้านการพัฒนาจากประเทศอื่น ๆ ดังนั้นพวกเขาจึงศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นกับการเกษตรในเอเชีย เหตุใดบราซิลจึงประสบความสำเร็จอย่างเป็นประวัติการณ์ในการลดอัตราภาวะแคระแกร็น [ในหมู่เด็กขาดสารอาหาร] ทั้ง ๆที่เป็นประเทศใหญ่โตและประสบปัญหาความยากจนอยู่
การมองโลกในแง่บวกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการมองเห็นความเป็นไปได้รูปแบบหนึ่งซึ่งนำไปสู่การพยายามทำให้สิ่งนั้นเป็นจริงขึ้นมา – เมลินดา เกตส์
เมื่อพูดถึงทวีปแอฟริกา จำนวนประชากรหนุ่มสาวที่นั่นเป็นทั้งความท้าทายใหญ่หลวงและโอกาสอันยิ่งใหญ่ คุณอยากจะพูดถึงเรื่องนี้สักหน่อยไหม
บิล: ทุกวันนี้ ทวีปแอฟริกามีประชากรประมาณหนึ่งพันล้านคนจากประชากรทั้งหมดเจ็ดพันล้านคนทั่วโลก ภายในศตวรรษนี้ประชากรหนุ่มสาวกว่าครึ่งหนึ่งของโลกจะอยู่ที่นั่น การเคลื่อนตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ หากมีการลงทุนที่เหมาะสมในด้านความมั่นคงการศึกษา และสุขภาพ แอฟริกาจะมีอัตราการเติบโตและนวัตกรรมมากกว่าที่อื่น ๆ ในทางกลับกัน หากเราไม่แก้ปัญหาวิกฤติเอชไอวีอย่างจริงจัง สุดท้ายก็จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และหากเราไม่จัดการความเป็นอยู่ให้เหมาะสม
คนรุ่นใหม่เหล่านี้โดยเฉพาะผู้ชายก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความไม่มั่นคง
คุณพูดถึงวิกฤติเอชไอวี บอกได้ไหมคะว่า ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
บิล: แอฟริกาตอนใต้และตะวันออกคือภูมิภาคที่ประสบปัญหาหนักหนาสาหัสที่สุด กล่าวคือร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้ออยู่ที่นั่น อัตราการระบาดจัดว่าสูง ในหลายพื้นที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มักติดเชื้อในช่วงอายุ 20 ปลาย ๆ การนำยาต้านไวรัสเข้ามาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงอัตราการเสียชีวิตลดลงมาก ส่วนปัญหาการติดเชื้อระหว่างแม่สู่ลูก หลายประเทศจัดการได้ดี เรามีชุมชนที่ถูกตราหน้า เช่น กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด ผู้ค้าบริการทางเพศ หรือผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน ตอนนี้ เราต้องมองไปที่แต่ละประเทศแล้วดูว่าพวกเขาจัดการกับชุมชนต่าง ๆ ได้ดีแค่ไหน กลยุทธ์ในการป้องกันที่เห็นผลที่สุดคืออะไร
เมลินดา: เรื่องน่าเป็นห่วงที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือพวกผู้หญิงที่อายุยังน้อย อย่างที่บิลได้พูดไปแล้วว่า เอดส์กำลังระบาดอย่างหนักในชุมชนและโอกาสที่พวกเธอจะติดเชื้อก็มีสูงมาก ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีป้องกันตัวและชวนให้ทุกคนไปตรวจโรคอย่างสมํ่าเสมอจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ การคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องได้รับการประชาสัมพันธ์ออกไป แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับเอชไอวีหรือเอดส์โดยตรง แต่เรื่องนี้ก็ยังมีความสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ
เมลินดา นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่คุณมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดช่วยขยายความให้เราฟังหน่อยค่ะ
เมลินดา: การคุมกำเนิดเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าที่ไหนในโลก ถ้าผู้หญิงสามารถเลือกได้ว่า พวกเธอจะมีลูกหรือไม่และจะมีเมื่อไร เธอจะมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ลูกของเธอก็เช่นเดียวกัน นี่เป็นข้อมูลจากการวิจัยด้านสุขภาพระดับโลกที่มีมานานแล้ว ตอนที่เดินทางไปแอฟริกา สิ่งที่ฉันติดใจมากที่สุดคือ แม้ว่าพวกผู้หญิงที่นั่นจะรู้จักการคุมกำเนิดและต้องการใช้มัน แต่กลับไม่สามารถทำได้ เพราะเครื่องมือหรืออุปกรณ์คุมกำเนิดไม่ได้ถูกจัดส่งไปด้วยวิถีทางหรือพื้นที่ที่พวกเธอต้องการ ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน เรามีผู้หญิงที่คุมกำเนิดเพิ่มขึ้น 40 ล้านคน นับเป็นความก้าวหน้าที่ยังไม่ก้าวไกล เพราะเป้าหมายของเราคือการทำให้ผู้หญิง 200 ล้านคนสามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดได้หากทำได้ แต่ละครอบครัวจะมีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจนได้มากขึ้น เพราะถ้าพวกเขาเว้นระยะในการมีบุตรได้ พวกเขาจะสามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กที่เกิดมาได้ ส่วนพวกผู้หญิงก็จะสามารถออกไปทำงานและนำรายได้มาช่วยจุนเจือครอบครัวได้ การคุมกำเนิดเปลี่ยนพลวัตภายในครอบครัว เปลี่ยนชุมชน และที่สำคัญคือช่วยยกระดับประเทศซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับทุกคน
จากการที่คุณเดินทางไปทั่วโลกและมีโอกาสสัมผัสปัญหาอย่างใกล้ชิด หากคุณมีไม้กายสิทธิ์อยู่ในมือและสามารถใช้มันได้เพียงครั้งเดียว คุณจะทำอะไร
เมลินดา: ฉันจะเลือกการคุมกำเนิดอย่างแน่นอน การช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงการคุมกำเนิดได้มากขึ้น จะเปิดโอกาสให้พวกเธอเลือกได้ว่า จะใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบไหนและเมื่อไร เพื่อที่พวกเธอจะสามารถเว้นระยะในการมีบุตรได้ สิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเธอและลูก ๆ ดังนั้นถ้าฉันมีพลังวิเศษ ฉันจะเสกให้ผู้หญิง 200 ล้านคนที่กำลังต้องการการคุมกำเนิดอยู่ในตอนนี้สามารถเข้าถึงมันได้
แล้วคุณล่ะ บิล
บิล: สำหรับผมคือพัฒนาการของเด็กครับ ทุกวันนี้ร่างกายและจิตใจของเด็กในแอฟริกามากกว่าครึ่งไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ สาเหตุมาจากภาวะทุพโภชนาการ อาหารที่พวกเขากิน และโรคภัยที่พวกเขาเผชิญ การศึกษาจุลชีพในลำไส้ของมนุษย์ช่วยให้เราเข้าใจภาวะแคระแกร็นมากขึ้น ผมตื่นเต้นมากเมื่อคิดว่าเมื่อถึงปลายทศวรรษนี้ เราจะมีอุปกรณ์ราคาไม่แพงมาช่วยแก้ปัญหาพัฒนาการของ เด็ก ๆ ซึ่งนั่นหมายความว่า การลงทุนทางการศึกษาที่คุณทุ่มเทลงไปจะเห็นผลมากขึ้น ดังนั้น ถ้าต้องเลือกเพียงอย่างเดียวผมคงเลือกที่จะหยุดภาวะทุพโภชนาการเหล่านี้
ก่อนจะจบการสัมภาษณ์นี้ ฉันอยากจะถามเกี่ยวกับแนวคิดการมองโลกในแง่บวกซึ่งปรากฏอยู่ตลอดรายงานฉบับนี้
บิล: ข่าวแง่ลบในสื่อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้คนมีความเข้าใจไปในทางที่ผิด คุณอาจฟันธงว่า ทุกอย่างดูสิ้นหวัง แต่มันไม่ใช่แบบนั้น คุณต้องหัดเรียนรู้จากเรื่องราวดี ๆ บ้าง อย่างเรื่องของปาฏิหาริย์ที่เกิดจากการส่งวัคซีนออกไป ระดับการรู้หนังสือของผู้คนทั่วโลกรวมถึงแอฟริกาที่กำลังพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ บางปัญหาอาจดูหนักหนา แต่ในไม่ช้าก็อาจมีนวัตกรรมหรือกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มาพร้อมกับหนทางใหม่ ๆ ในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ คุณ ต้องหัดมองโลกในแง่บวก ไม่ใช่ปล่อยให้ข่าวแย่ ๆ มาบั่นทอนกำลังใจ
เมลินดา: การมองโลกในแง่บวกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการมองเห็นความเป็นไปได้รูปแบบหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การพยายามทำให้สิ่งนั้นเป็นจริงขึ้นมา การตั้งเป้าหมายก่อนหน้านี้ทำให้พวกเราตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้ และเราก็เห็นความก้าวหน้าต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวเลขรายงาน และที่สำคัญคือประชาชนในพื้นที่เราเห็นความเฉลียวฉลาดอันน่าทึ่งนี้แล้วถ้าเราสามารถนำมันมาใช้ได้ในระดับโลก สิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน!
(บทสัมภาษณ์ได้รับการขัดเกลาเพื่อความกระชับและชัดเจน)