ปลาพลวง ถั่วฝักยาว หรือ เสือโคร่งแห่งสายน้ำ

ปลาพลวง อาจจะเป็นปลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเพียงว่าเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามน้ำตก รอคอยกินถั่วฝักยาวหรืออาหารปลาที่นักท่องเที่ยวโยนลงไปให้

แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ด้านปลาน้ำจืดทั่วโลก ปลาพลวง เป็นมากกว่านั้น พวกมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้ปลาแซลมอน และบางพื้นที่ถึงกับเรียกปลาพลวงว่า “เสือโคร่งแห่งสายน้ำ” เลยทีเดียว

รอบกองไฟที่อบอุ่นท่ามกลางความหนาวเย็นริมน้ำเงา ผมเอ่ยถามจูลี คลัสเสน นักวิจัยเรื่องปลาจากมูลนิธิอนุรักษ์ปลา (Fisheries Conservation Foundation) ว่า “ทำไมต้องเป็นมาห์เซียร์ครับ ทำไมไม่เป็นปลาอื่นอย่างปลาคัง ปลาสวาย หรือปลาอะไรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจกว่านี้ครับ”

มาห์เซียร์คือชื่อภาษาฮินดีที่ใช้เรียกปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่กระจายพันธุ์อยู่มากทางตอนเหนือของอินเดีย ปลาชนิดนี้มีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะปลาเกมชั้นดีเมื่อนักตกปลาชาวอังกฤษได้สำรวจเจอ ปลาชนิดนี้อยู่ในสกุล Tor ต่อมาก็ได้มีการใช้คำว่ามาห์เซียร์กับปลาในสกุล Neolissochilus ไปด้วย

ในเมืองไทยเรามีปลาในกลุ่มมาห์เซียร์ อยู่ 2 ชนิดคือ ปลาพลวง (Neolissochilus) และปลาเวียน (Tor) ใช่ครับ ปลาที่คนส่วนใหญ่เคยเห็นตามน้ำตกเมื่อมีคนให้อาหาร หรือว่ายมากินถั่วฝักยาวจากมือนั่นละครับ

ปลาพลวงในเขตอนุรักษ์ของบ้านแม่หลุยส์ เขตอนุรักษ์ปลาที่เก่าแก่ที่สุดในลุ่มน้ำเงา

จูลีอธิบายให้ฟังว่า วงการนักวิทยาศาสตร์ทางด้านปลาให้ความสนใจมาห์เซียร์ เป็นเพราะสามเหตุผลคือ มาห์เซียร์นั้นเป็นอาหารที่สำคัญของผู้คนที่อาศัยอยู่กับสายน้ำ มาห์เซียร์เป็นปลาที่มีคุณค่าในทางกีฬาตกปลาที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศ และที่สำคัญที่สุด มาห์เซียร์เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลำน้ำใสสะอาดและมีการย้ายถิ่นตลอดลำน้ำ ขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำเหมือนปลาแซลมอน ทำให้การอนุรักษ์ปลามาห์เซียร์ส่งผลไปถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งลำน้ำ

“แม่น้ำเงาเป็นแม่น้ำสายเดียวของลุ่มน้ำสาละวินที่ยังคงใสสะอาด” ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ซึ่งทุ่มเทให้กับการวิจัยและการอนุรักษ์ปลาน้ำจืดในภาคเหนือ บอก เป็นเรื่องดีแม้ว่าคำพูดนั้นจะทำให้ผมหวนคิดว่าสายน้ำนี้จะคงความสมบูรณ์ไปได้นานแค่ไหน เกือบทุกหมู่บ้านริมแม่น้ำเงามีเขตอนุรักษ์ปลา บางแห่งเริ่มโครงการมาแล้วกว่า 26 ปี ชาวบ้านที่นี่ตั้งเขตอนุรักษ์กันขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากใคร เป้าหมายหลักของการอนุรักษ์ปลาก็เพียงเพื่อให้เขาและลูกหลานมีปลากินอย่างยั่งยืน

ดร.แอรอน โคนิง ผู้ที่เข้ามาทำวิจัยเรื่องปลาและน้ำที่แม่น้ำเงามาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี จนพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษากระเหรี่ยง บอกเราว่า “นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าการอนุรักษ์ปลาเพียงส่วนหนึ่งของลำน้ำจะได้ผล แต่จากการวิจัยของผม เห็นได้ชัดมากว่ามันได้ผลอย่างมากที่จะรักษาปลาเหล่านี้ไว้ และยังเห็นได้ชัดอีกด้วยว่าหมู่บ้านที่มีเขตอนุรักษ์ปลา จะจับปลา (นอกเขต) ได้มากกว่าหมู่บ้านที่ไม่มีเขตอนุรักษ์”

จูลีเสริมต่อว่า “โปรตีนจากปลาอย่างมาห์เซียร์ เป็นโปรตีนที่ดีมาก ให้ผลดีต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ และการที่คนในพื้นที่สามารถจับปลาเหล่านี้เป็นอาหารทำให้มีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยมาก ถ้าเราสามารถรักษาหรือเพิ่มจำนวนปลาพวกนี้ได้โดยไม่ต้องให้อาหารก็จะเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุด ดีกว่าที่จะต้องทดแทนอาหารของชาวบ้านด้วย หมู ปลา หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่จะต้องให้อาหารซึ่งล้วนมาจากถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว

การตกปลาในเชิงเกมกีฬา

นักตกปลาชาวอังกฤษพบความสนุกสนานของการตกปลามาห์เซียร์ทางเหนือของอินเดียตั้งแต่เกือบร้อยปีที่แล้ว ผมเคยอ่านเจอในหนังสือของจิม คอร์เบ็ต นายพรานนักอนุรักษ์คนสำคัญในอินเดีย ความว่า การตกปลามาห์เซียร์ คือความสุขที่สุดของการใช้ชีวิตในป่าของเขาเลยทีเดียว

การตกปลาเป็นกีฬาที่สร้างรายได้ให้กับหลายประเทศ นักตกปลามืออาชีพยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้เขาได้ตกปลาชนิดแปลกๆ ได้พบเห็นสิ่งที่แตกต่างและเป็นของแท้ในท้องถิ่นทุรกันดารที่อยู่อีกซีกโลก ตัวอย่างของความสำเร็จของการสร้างรายได้จากการตกปลามีให้เห็นทั่วโลกตั้งแต่ประเทศนิวซีแลนด์ หมู่เกาะบาฮามา เม็กซิโก หรือแม้กระทั่งประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา

ปลา Golden Mahseer ในภูฏาน (ภาพโดย Jigme Tsuendrup)

“ที่ภูฏานเรามีปลาเทราต์เยอะนะ” จิกมี เพื่อนใหม่ชาวภูฏานของผมเอ่ยขึ้นมา ปลาเทราต์ที่นั่นไม่ใช่ปลาท้องถิ่น แต่เป็นปลาที่มาจากผลพวงของการปล่อยปลาเทราต์ในตอนเหนือของอินเดียโดยชาวอังกฤษเมื่อนานมาแล้ว “แต่ที่น่าสนใจกว่าคือปลาโกลเดนมาห์เซียร์ ซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นของเราแท้ๆ ครับ ตอนนี้กำลังจะมีกฎหมายออกมาให้ตกมาห์เซียร์เป็นเกมส์กีฬาได้แล้วครับ น่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศและคนในพื้นที่ของเราได้เยอะเลย” เขาจบด้วยประโยคที่น่าสนใจที่สุด “มาหาผมที่ภูฏานสิครับ ผมจะพาคุณไปตกปลาให้ทั่วเลยครับ”

การศึกษาวิจัย

สมมติฐานของเราคือปลาพลวงและปลาเวียนจะขึ้นไปวางไข่บนลำห้วยเล็กๆ ที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเงาและลำห้วยสายย่อยในช่วงฤดูน้ำหลากเหมือนกับที่ ดร.เดวิด พี. ฟิลิปป์ หรือ ดร.เดฟ และจูลีพิสูจน์มาแล้วจากการติดแท็กปลาโกลเดนมาห์เซียร์ที่ภูฏาน “ตามธรรมชาติ ฝูงปลาพยายามแหวกว่ายขึ้นไปวางไข่ในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งระดับน้ำไม่ลึกมาก เพราะนั่นคือที่ที่ลูกปลาจะเติบโตได้อย่างดีและมีสัตว์ผู้ล่าน้อยมาก” ดร.เดฟ อธิบายเหตุผล แต่ที่เราไม่สามารถเดาได้เลยคือ ฝูงปลาจะเคลื่อนลงสู่แม่น้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำเมยหรือสาละวินทางปลายน้ำด้วยหรือเปล่า

เหยื่อฟลายที่เป็นแมลงจะมีขนาดเล็กมากและจะเกี่ยวที่ริมปากของปลาสร้างความบาดเจ็บให้กับปลาน้อยที่สุด

งานขั้นแรกของการวิจัยคือการจับปลาพลวงและปลาเวียนที่มีขนาดโตเต็มวัยมาติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ เพื่อติดตามการเดินทางในช่วงฤดูผสมพันธุ์ งานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจับปลาจำเป็นต้องระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยของปลามากที่สุด การใช้ข่ายดักจับเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ไม่เหมาะกับการวิจัย เพราะข่ายมักบาดเหงือกปลาทำให้ปลามีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก
ทีมวิจัยทดลองใช้แหที่จะทำร้ายปลาน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะน้ำใสมากและปลาชนิดนี้ว่ายน้ำเร็วมาก ส่วนใหญ่ฝูงปลาว่ายหนีออกไปหมดก่อนที่แหจะคลุมลงไปใต้น้ำ การตกด้วยเหยื่อสดอย่างไส้เดือน เป็นสิ่งที่ง่ายและได้ผลที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเพราะเมื่อปลากินเหยื่อสดประเภทนี้ ปลาจะกลืนเหยื่อลงไปลึกมากและเบ็ดก็จะทำอันตรายต่ออวัยวะภายใน ทางเลือกเดียวที่เหลือคือ ตกด้วยเหยื่อปลอม และทางเลือกที่ดีที่สุดคือ “เหยื่อฟลาย” ที่มีขนาดเล็กและเกี่ยวติดแค่มุมปากของปลา หรือรองลงไปก็คือเหยื่อปลอมที่ใช้เบ็ดตัวเดียวและไม่มีเงี่ยงเบ็ด

อารอนใช้เครื่องรับสัญญาณแบบเคลื่อนที่ได้สำรวจปลาที่ติดตั้งวิทยุไปแล้ว
ทุกวันในแคมป์จะเต็มไปด้วยหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ จากซ้ายไปขวา ดร.อภินันท์, ดร.เดฟ, จูลี่ และ ดร.อารอน

ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า

เหยื่อตั๊กแตนเขียวตัวนั้นร่อนลงข้างก้อนหินริมน้ำใต้ต้นไม้ใหญ่ราวกับมันเป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ นานๆ ทีผมจะสามารถส่งเหยื่อไปลงน้ำได้สมบูรณ์แบบอย่างนี้ “ตั๊ป” เสียงปลาพลวงตัวหนึ่งขึ้นมางับตั๊กแตนตัวนั้นจนน้ำกระจาย ไม่นานนัก ผมก็สามารถนำปลาพลวงตัวนั้นเข้ามาในสวิงได้ ดูเหมือนการจะได้ปลาพลวงสักตัวหนึ่ง นักตกปลาจะต้องเข้าใจอะไรมากมายตั้งแต่อ่านภูมิประเทศว่าปลาอยู่ตรงไหนของลำน้ำ สังเกตว่าปลากินอะไรในช่วงฤดูนั้นและเวลานั้น ไปจนถึงเรียนรู้ที่จะตีสายส่งเหยื่อลงไปให้เหมือนแมลงธรรมชาติมากที่สุด

ผมรับหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ช่วยนักวิจัยของทีม การตกปลาพลวง แต่ละครั้งล้วนต้องใช้ความอดทนและการรอคอย

ดีเค สหายชาวภูฏานของผมดึงเทปวัดออกมาทาบตัวปลา “33 เซนติเมตร เล็กไปนะสหาย” คำพูดนั้นทำให้หัวใจที่พองโตของผมแฟบลงทันที ปลาที่เราจะติดวิทยุติดตามตัวได้จะต้องมีความยาว 35 เซ็นติเมตร และความเส้นรอบลำตัวระดับหนึ่ง ดีเคใช้กรรไกรตัดปลายครีบของปลาตัวนั้นแล้วบันทึกข้อมูลทุกอย่างของปลาและการจับได้ นอกจากติดวิทยุเพื่อติดตามแล้ว ทีมนักวิจัยยังเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอของปลาทุกตัวที่เราจับได้ด้วย

เย็นวันนั้น ผมเดินโซเซลงมาจากรถด้วยความเปียกชุ่ม ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นอย่างฉับพลันในเดือนกุมภาพันธ์ ในจังหวะเดียวกันนั้น กองไฟดูช่างมีเสน่ห์และอบอุ่นเสียเหลือเกิน

แอรอนถามผมในทันที “ได้ติดวิทยุกี่ตัวครับ” ผมชูนิ้วชี้เป็นสัญลักษณ์แทนคำตอบพร้อมหน้าเหยเก วันนี้ปลากินเบ็ดยากมาก และบางตัวมีขนาดเล็กเกินไป บางตัวก็ไม่ใช่ปลาพลวงหรือปลาเวียน ผมได้แต่โทษอากาศที่หนาวเย็นขึ้นมากะทันหันว่าเป็นเหตุให้ปลาไม่กระตือรือร้นที่จะกินเบ็ด “นับเป็นวันที่ดีครับ พี่เกิ้นได้ 1 พี่แจ๊คกับพีเจได้อีกคนละหนึ่ง วันนี้ได้ตั้ง 3 ตัว” แต่นั่นยังห่างไกลจากที่ผมคาดหวังไว้ ที่เราตั้ง 8 คนช่วยกันตกปลาในวันนี้

บทสนทนารอบกองไฟ

รอบกองไฟคืนนั้นเต็มไปด้วยหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ ดร.เดฟ เล่าประสบการณ์ที่เขาได้จากภูฏานว่า “มาห์เซียร์เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลำน้ำใสสะอาดและมีการย้ายถิ่นตลอดลำน้ำขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำเหมือนปลาแซลมอน ทำให้ปลามาห์เซียร์เป็นตัวแทนของการอนุรักษ์ปลาน้ำจืดที่ส่งผลไปถึงการอนุรักษ์ทั้งลำน้ำ ที่ภูฏานยกให้ปลามาห์เซียร์เป็น “เสือโคร่งแห่งสายน้ำ” (River Tiger) เพราะเปรียบได้กับเสือที่เป็นเหมือนตัวแทนของการอนุรักษ์ระบบนิเวศของป่า”

“ที่ภูฏาน ปลามาห์เซียร์เป็นหนึ่งในสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนา ในภาพวาดทางศาสนามีปลามาห์เซียร์เป็นส่วนหนึ่งด้วยนะ” แอรอนกล่าวเสริม เขาหมายถึง Eight Auspicious Signs หรือสัญลักษณ์มงคลทั้ง 8 ของศาสนาพุทธ นิกายวัชรยาน เรื่องนี้บ้านเรายังต้องสื่อความเข้าใจกันอีกมาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังรู้จักปลาพลวงในฐานะปลาเลี้ยงตามน้ำตกที่คอยกินถั่วฝักยาวจากมือของนักท่องเที่ยว แต่ผมก็เริ่มมีหวังว่าสักวันเราอาจจะได้ไปเฝ้าดูปลาพลวงขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำกันโดยไม่ต้องบินไปดูปลาแซลมอนที่อยู่ไกลๆ

รอบกองไฟที่อบอุ่น เต็มไปด้วยหัวข้อสนทนาที่ให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับปลาทั่วโลก

“ที่อเมริกาถึงแม้ว่าการอนุรักษ์ปลาของเราจะได้ผลแต่เราก็ทำอะไรพลาดมาเยอะนะ” ดร.เดฟ บอกและเล่าว่า “เรื่องการเพาะเลี้ยงปลาแล้วปล่อยกลับลงแม่น้ำนี่แหละเรื่องใหญ่เลย เพราะปลาที่เพาะเลี้ยงมันไม่ได้เติบโตมาแบบธรรมชาติ และได้ทำให้ปลาธรรมชาติแท้ๆ หายไปเกือบหมด” เขาอธิบายอีกยาวซึ่งน่าสนใจมาก

จากการศึกษาครั้งนี้ ถ้าเราสามารถเข้าใจการเดินทางและวงจรชีวิตของปลาพลวงและปลาเวียนได้ สิ่งนี้จะเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การตัดสินใจสำหรับการจัดการหลายๆ อย่างเช่น เราควรจะมีเขื่อนหรือไม่ ถ้ามีควรจะสร้างตรงไหน หรือการอนุรักษ์ต้นน้ำหรือการทำอะไรจะช่วยให้ปลาทั้งสองชนิดสามารถเพิ่มจำนวนได้โดยธรรมชาติโดยที่เราไม่ต้องไปเพาะเลี้ยงหรือให้อาหารมัน

“แทนที่จะอนุรักษ์เป็นช่วงๆ หน้าหมู่บ้าน ผมว่าเราควรจะสนับสนุนให้ชาวบ้านที่นี่อนุรักษ์ปลาตลอดแม่น้ำเลยนะ ให้เขาหารายได้จากการตกปลาแล้วไปซื้ออาหารอื่นทดแทน ซื้อหมูมาเลี้ยง ซื้อปลามาเลี้ยงในบ่อก็ได้” จิกมีออกความเห็นและให้เหตุผลว่า ที่ภูฏาน การตกปลาทุกชนิดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นการตกเพื่อเกมส์กีฬาซึ่งเพิ่งจะเริ่มอนุญาตเมื่อไม่นานมานี้ คนภูฏานเกือบทั้งหมดเห็นว่าการตกปลาเป็นเรื่องบาปเช่นเดียวกับคนไทยในเมืองใหญ่

ภาพจากเขตอนุรักษ์ปลาในลำน้ำว้า จ.น่าน จากสบมาง ปลาสีเข้มที่เห็นมีจำนวนมากนี้คือปลาพลวง ส่วนปลาขนาดใหญ่สีเทา ที่เห็นอยู่ในน้ำลึกกว่านั้นคือปลาเวียน จะเห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่ากันมาก

เราถกเถียงในประเด็นนั้นกันด้วยความเห็นที่แตกต่าง (ท่านอานันท์ ปันยารชุน เรียกว่าการถกเถียงเช่นนี้ว่า dialogue ไม่ใช่ debate เพื่อเอาชนะ) ผมเสนอว่า การที่ชาวบ้านริเริ่มอนุรักษ์ปลาไว้ก็เพื่อรักษาให้ลูกหลานเขามีอาหารกินตลอดไป คุณค่าที่แท้จริงของปลาที่นี่อยู่ตรงนี้ เงินที่ได้จากนักตกปลาเป็นเพียงรายได้เสริม เราไม่ควรจะเอาเรื่องสมมุตินั้นมาแทนที่เรื่องของชีวิตจริงของคนที่นี่ และไม่ควรเอาเงินเข้ามาเป็นตัวแปรแทนวิถีงดงามที่คนในพื้นที่สามารถหาอาหารชั้นดีและสะอาดได้จากธรรมชาติอย่างยั่งยืนเช่นนี้

ดร.อภินันท์ แบ่งปันมุมมองที่แตกต่างออกไป สำหรับอาจารย์ผู้ที่คลุกคลีกับลุ่มน้ำในภาคเหนือของประเทศไทยมากว่า 20 ปี ความยาวของเขตอนุรักษ์อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด “ยาฆ่าหญ้าไม่ได้ฆ่าเฉพาะหญ้านะ เมื่อถูกชะลงแม่น้ำ มันฆ่าตะไคร่น้ำ ฆ่าแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารของปลาและแมลงที่เป็นอาหารหลักของปลาไปด้วย” ดร.อภินันท์ บอก “เราห้ามเขาใช้ยาไม่ได้หรอก แต่เราต้องหารายได้อื่นมาทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว” คำพูดนั้นทำให้ผมนอนไม่หลับอยู่นานแม้จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบกองไฟไปหลายกระป๋อง

ตัวอย่างที่เรารอคอย

เช้าวันรุ่งขึ้น วิทู สหายชาวกระเหรี่ยงของผมหอบตาข่ายเดินผ่านแคมป์ของเราไป “ขอดูหน่อยได้ไหม ได้ปลาอะไรบ้าง” แอรอนตะโกนถามวิทู “ดูหน่อย” ของแอรอนไม่เป็นไปตามคำพูด เพราะเขาวัดขนาด ชั่งน้ำหนัก ถ่ายรูป และตัดครีบเก็บตัวอย่างของปลาทุกตัว ที่วิทูดักมาได้นอกเขตอนุรักษ์

อารอนเก็บข้อมูลของปลาที่ชาวบ้านจับได้ร่วมกับคนท้องถิ่นจากหลายหมู่บ้านมานานนับปีแล้ว เป้าหมายของเขาคือพิสูจน์ว่าการมีเขตอนุรักษ์ปลาหน้าหมู่บ้านมีผลให้ชาวบ้านจับปลานอกเขตได้ดีขึ้นมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับหมู่บ้านที่ไม่มีเขตอนุรักษ์ คำตอบนั้นดูจะชัดเจนจากจำนวนปลาในตาข่าย แต่ผลการวิจัยและตัวเลขที่ชัดเจนจะมีประโยชน์อีกมาก

สายของคันเบ็ดฟลายขนาดเล็กของผมถูกกระชากออกไปด้วยแรงมหาศาลของบางอย่างที่อยู่ใต้น้ำ โดยไม่ทันระวังตัว มือจับของรอกตีมือผมดัง “ปั๊กๆๆๆๆ” หลังจากเจรจาด้วยกำลังกันพักใหญ่ ผมก็ตะโกนเรียกจูลี และดร.เดฟ ที่ตกปลาอยู่ใกล้ๆ “ผมคิดว่าเขาเป็น Tor นะครับ” ใช่แล้วปลาตัวนั้นเป็นปลาเวียน ปลาในสกุล Tor ประเภทเดียวกับโกลเดนมาห์เซียร์ที่ภูฏานหรืออินเดีย ปลาที่คนส่วนหนึ่งว่าเป็นประเภทเดียวที่นับเป็นมาห์เซียร์ ปลาที่เราต้องการติดวิทยุแต่ยังตกไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว

จูลี่และ ดร.เดฟ ผ่าตัดเพื่อติดเครื่องส่งวิทยุในตัวปลา

ดร.เดฟ เล่าให้ผมฟังก่อนหน้านี้ว่า ปลาในสกุล Neolissochilus หรือปลาพลวงนั้นอาจจะมีอายุยืนยาวถึง 15 ปี แต่ Tor หรือปลาเวียน อาจจะมีอายุยืนยาวถึง 2 เท่า และมีขนาดใหญ่กว่ามาก
ปลาเวียนตัวที่ผมจับได้ตัวไม่ใหญ่นัก ยังมีปลาเวียนที่ใหญ่กว่านี้หลายเท่าในลำน้ำเงา อาหารของปลาเวียนคือ Nymph หรือตัวอ่อนของแมลงตัวเล็กจิ๋วที่อาศัยอยู่ตามหน้าดินของลำน้ำตัวอ่อนของแมลงเป็นแหล่งอาหารกว่าร้อยละ 80 ของปลาน้ำจืดเกือบทุกชนิด จูลีบอกว่า เธอรู้สึกแปลกใจมากที่ปลาเวียนตัวนี้มีสีและลายเหมือนกับปลาพลวงในลำน้ำจนแทบแยกไม่ออก จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาไม่เคยเห็นปลาในสกุล Tor และ Neolissochilus มีสีเหมือนกันมาก่อน

ดร.อภินันท์ บอกว่า ปลาเวียนเป็นปลาที่กินอาหารที่พื้นหน้าดินของลำน้ำเท่านั้น สังเกตได้จากปากของมันที่อยู่ด้านล่าง แต่ดร.เดฟ บอกว่าที่ภูฏานเขาจับ Tor ได้มากมายจากเหยื่อปลอมเหมือนลูกปลาที่อยู่กลางน้ำ ดูเหมือนว่ายังมีอะไรอีกมากมายที่เราไม่รู้เกี่ยวกับมาห์เซียร์ หลังจากการผ่าตัดใส่เครื่องส่งวิทยุ เราดูแลปลาเวียนตัวนั้นให้ฟื้นเต็มที่ ผมเฝ้ามองการปฏิบัติต่อปลาอย่างถะนุถนอมของจูลีและดร.เดฟ อย่างชื่นชม

เมื่อพักฟื้นนานพอแล้ว ผมก็ได้เห็นปลาเวียนตัวนั้นว่ายจากมือผมออกไปสู่สายน้ำอย่างแข็งแรง มันและเพื่อนๆ ของมันอีกเกือบสามสิบตัวที่ได้รับการติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุในครั้งนี้จะบอกเล่าอะไรให้กับเราได้อีกมาก และอาจจะนำเราไปสู่การอนุรักษ์ปลาน้ำจืดอีกหลายชนิดอย่างยั่งยืน

แสงสุดท้ายที่แม่น้ำเงา

จากลาอย่างมีความหวัง

ผมขับรถออกจากแม่เงาเพียงลำพัง การได้อยู่คนเดียวขณะขับรถเป็นช่วงเวลาที่ผมจะได้ทบทวนอะไรมากมาย การมาตกปลาเพื่อทำวิจัยที่แม่เงาครั้งนี้เป็นการตกปลาที่ยาวนานที่สุดนานเสียจนผมไม่อยากจับคันเบ็ดในวันท้ายๆ (คนที่รู้จักผมดีอาจจะไม่เชื่อคำพูดของผมตรงนี้) นอกจากได้ตกปลาในแบบที่มีความหมายที่สุดแล้ว ผมยังได้ความรู้ที่เปลี่ยนมุมมองของผมต่อปลาให้ลึกซึ้งขึ้นอีก ที่สำคัญผมได้มิตรภาพจากผู้คนที่ทุ่มเทให้กับการอนุรักษ์โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน และแนวทางของพวกเขาล้วนอ้างอิงกับความจริงทางวิทยาศาสตร์โดยไม่อิงกระแสอารมณ์

บนเส้นทางสายเดียวกัน ไม่นานนักผมก็ผ่านแม่น้ำสายหนึ่งที่ผมเคยคิดว่างดงามนัก และผมเคยคิดจะมาถ่ายภาพแม่น้ำสายนี้ในแสงแดดยามเช้า ผู้คนมากมายก็คงคิดเช่นนั้น เพราะในฤดูแล้งเช่นนี้แม่น้ำสายตรงหน้าคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่นั่งกินอาหารอยู่ริมน้ำ แต่หากในความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำสายนี้คือสายน้ำที่ปราศจากชีวิต มันตายไปนานแล้วจากตะกอนที่ไหลลงมาถมหน้าดินของลำน้ำ เมื่อตะกอนทับถมมากขึ้น แมลงที่อาศัยวางไข่ที่ก้อนหินก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อไม่มีแมลงเป็นอาหาร ปลาธรรมชาติหลายชนิดก็สูญหายไปจากลำน้ำ

ผมยืนมองสายน้ำที่ตื้นเขินนั้นด้วยความหวังว่า ปลาพลวงและปลาเวียน ปลาที่แทบไม่มีความสำคัญอะไรต่อคนเมืองอาจจะเป็นตัวช่วยให้สายน้ำเงาและสายน้ำอื่นๆ ยังคงมีชีวิตและไหลอย่างอิสระต่อไปโดยไม่มีสิ่งขวางกั้น

เรื่องและภาพ ธัชรวี หาริกุล


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ปลากัดได้รับการยกย่องให้เป็นปลาประจำชาติ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.