พื้นที่ชุ่มน้ำ…ในชีวิตและความทรงจำ

พื้นที่ชุ่มน้ำ ในชีวิตและความทรงจำ

จากแปลงนาสาธิตในมหาวิทยาลัยสู่ พื้นที่ชุ่มน้ำ ในภูมิภาคอินโดจีน-พม่า จากฝูงเป็ดและนกอพยพถึงปลาบึกและสรรพชีวิตอันเป็นปฐมบทของการอนุรักษ์ข้ามพรมแดน

เมื่อนึกถึง พื้นที่ชุ่มน้ำ ภาพในความทรงจำหลากหลายผุดขึ้นมาจากการเดินทางนับครั้งไม่ถ้วน ความเวิ้งว้างของผืนฟ้ากับแผ่นน้ำที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง  พลังอันยิ่งใหญ่ตระการตาของแม่น้ำโขงที่น้ำตกคอนพะเพ็ง สี่พันดอน  ความมีชีวิตชีวาของผู้คนและอัศจรรย์แห่งอาหารการกินที่มาจากพื้นที่ชุ่มน้ำทุกหนแห่ง  จากเหนือสุดที่หนองบงคาย เชียงแสน ลงไปใต้สุด ที่ป่าพรุโต๊ะแดง นราธิวาส จากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เวียดนามฝั่งตะวันออก ไปถึงหาดเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งอ่าวเมาะตะมะในพม่า  พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศอันหลากหลายมหัศจรรย์ที่ยึดโยงกันด้วยสายน้ำและสรรพชีวิตที่อพยพเดินทางอย่างไร้พรมแดน

หนึ่งในความทรงจำวัยเด็กที่ติดตรึงอยู่กับผมมากที่สุด คือการที่ได้ออกไปเดินต้อนเป็ดที่เลี้ยงไว้กลับบ้านตอนเย็นๆ จากบึงเล็กๆ ในตัวเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสีจากน้ำเงินเป็นม่วงครามและส้มแสด  บรรยากาศรอบตัวสุขสงบแต่มีชีวิตชีวาด้วยเสียงนกเป็ดน้ำอพยพฝูงใหญ่ที่บินร่อนส่งเสียงร้องอยู่บนฟ้าฤดูหนาว  ชั่วยามเช่นนั้นเองที่เปิดโอกาสให้ผมในวัยชั้นประถมได้สัมผัสและเรียนรู้ความงามของธรรมชาติโดยตรงไม่ต้องปรุงแต่ง ภาพจำเกี่ยวกับชีวิตที่บึงน้ำติดตัวผมมาตลอด

ตอนที่ครอบครัวของผมย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ แถวย่านหลักสี่ราวปี พ.ศ. 2524 ผมยังจำได้ดีว่าชอบไปเดินเล่นบริเวณบ่อพักน้ำด้านหลังโรงกรองน้ำบางเขน หรือสำนักงานการประปานครหลวงในปัจจุบัน ช่วงหน้าหนาวบ่อน้ำที่มีกอกก กอธูปฤาษี ขึ้นแน่นตามชายน้ำแห่งนั้นจะแน่นขนัดไปด้วยฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมาก ซึ่งผมมารู้ในภายหลังว่าส่วนใหญ่เป็นนกเป็ดแดงและเป็ดลาย นกน้ำที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยช่วงฤดูหนาว

ในบรรดานกอพยพที่บินมาอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทยพักพิงในฤดูหนาวนั้นมีหลายชนิดที่ทำรังวางไข่และหากินในช่วงฤดูร้อนอยู่บริเวณไซบีเรีย มองโกเลีย จีน และเกาหลี เลยไปจนถึงเขตทุนดราทางตอนเหนือของรัสเซีย พอถึงฤดูหนาว ก็อพยพลงใต้มาบ้านเรา  เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่นกตัวเล็กๆ สามารถเดินทางไปกลับปีละหลายพันกิโลเมตร ความอยู่รอดของพวกมันขึ้นอยู่กับพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นจุดแวะพักตามเส้นทางการอพยพ ซึ่งผ่านการเลือกสรรและลองผิดลองถูกมานับหมื่นๆ ปี  พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ห่างไกลกันคนละประเทศหรือแม้แต่ทวีปถูกผูกร้อยกันไว้ด้วยปีกแห่งชีวิตนับร้อยนับพันพ้นไปจากพรมแดนที่มนุษย์สร้างขึ้น

พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างทะเลสาบสงขลา มีขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่หลายจังหวัด มีระบบนิเวศหลายหลาย ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด มีป่าไม้ทั้งที่เป็นป่าบก ป่าพรุน้ำท่วมขัง และป่าชายเลน ซึ่งเป็นที่พักพิงของสิ่งมีชีวิตหลากหลาย รวมทั้งมนุษย์มาอย่างยาวนาน

แม้ผมคิดว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ”จะเป็นคำที่ดี แต่ก็จับต้องได้ยาก  อาจเพราะมันครอบคลุมทุกอย่างที่มีน้ำ  ความกว้างขวางของมันอาจทำให้ถ้อยคำสูญเสียความหมาย  ในขณะที่นักวิชาการบอกแต่เพียงว่าพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญ จำเป็นต้องอนุรักษ์ แต่วิถีชีวิตของคนเมืองส่วนใหญ่ในปัจจุบันกลับถูกตัดขาดจากธรรมชาติ ไม่อนุญาตให้เราเข้าถึงและทำความเข้าใจพื้นที่ชุ่มน้ำได้ง่ายดายนัก

“ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นก็มีชีวิต ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ ชายฝั่งทะเล จากแอ่งน้ำบนยอดเขาลงมาถึงพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต พื้นที่เหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และกลายเป็นแหล่งอารยธรรมมาทุกยุคทุกสมัย” รศ.ดร.ศันสนีย์​ ชูแวว แห่งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการผู้บุกเบิกสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำคนแรกๆของเมืองไทย เคยอธิบายให้ผมฟัง

ชาวประมงกัมพูชากำลังก่อไฟทำอาหารเช้าบนเรือประมงลำเล็กที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเกาะกะปิ ในจังหวัดเกาะกง ที่เห็นอยู่ใกล้ๆ คือตะกอนทรายมหาศาลซึ่งไหลมาทับถมบริเวณปากแม่น้ำแถบนี้  การให้สัมปทานดูดทรายในพื้นที่บางส่วนของเกาะกะปิเพื่อส่งขายยังสิงคโปร์ ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรวดเร็วหลายจุด และเริ่มส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านหน้าด่านติดทะเล

เลยขึ้นไปทางเหนือของกรุงเทพฯ ไม่ไกล พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งดูนกน้ำนกทุ่งที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือทุ่งรังสิตหลังฤดูเก็บเกี่ยว ทุ่งนากลายเป็นเวิ้งน้ำเกิดความหลากหลายของพืชพรรณตามธรรมชาติ โดยปกติทุ่งแบบนี้จะได้รับสารอาหารและแร่ธาตุจากน้ำหลากที่เอ่อล้นมาจากแม่น้ำสายหลัก ปุ๋ยธรรมชาติถูกพัดพามากับน้ำขุ่นข้น นำพาสารอาหารมาเติมให้กับผืนดิน เกิดเป็นทุ่งน้ำสวยชวนให้ชม มีทั้งพืชลอยน้ำเช่น จอกหูหนู แหนแดง และกระจับ พืชชายน้ำเช่น ต้นกก หญ้าปล้อง อ้อ และพืชใต้น้ำอาทิ สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายข้าวเหนียว

เหล่าพืชน้ำงอกงามตามฤดูกาลเป็นแหล่งอาศัยหลบซ่อนของตัวอ่อนแมลงน้ำ ซึ่งเป็นอาหารของกุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด พลังงานถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ นกปากห่างคอยกำจัดหอยเชอรี่ งูกระด้างหากินลูกปลากัด เหยี่ยวขาวกระพือปีกลอยตัวคอยจับงูใน  ขณะที่นกกระเต็นคอขาวและนกยางกรอกพันธุ์จีนซุ่มเงียบอยู่ตรงชายน้ำ มีทั้งการแก่งแย่งแข่งขัน และมีกระบวนการควบคุมสมดุลในตัวเอง  จะว่าไปมันคือภาพจำลองเล็กๆของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่ราบลุ่มภาคกลางที่เหลืออยู่ได้เป็นอย่างดี

หากเรามองลงมาจากที่สูงอย่างฝูงนกเป็ดน้ำอพยพ เราจะเห็นว่ากรุงเทพฯเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่ครั้งหนึ่งมีความอุดมสมบูรณ์น่าหยุดแวะพัก  ที่ราบลุ่มแห่งนี้มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดหลักที่พอเข้าสู่ฤดูฝนก็จะนำพาตะกอนอันอุดมไปด้วยแร่ธาตุมาจากป่าทางตอนเหนือ ในอดีตเรือกสวนไร่นาจึงงอกงามได้โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย มีลำคลองสาขาเชื่อมถึงกันนับร้อยสาย มีไม้ใหญ่ปกคลุมร่มครึ้ม ทั้งต้นไทร ต้นจาก ใกล้ทะเลมีป่าโกงกาง ป่าเสม็ดที่อุดมสมบูรณ์ เลยออกไปคือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อยาวไปยังสามสมุทร คือสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ รวมกันเป็นพื้นที่อ่าวไทยตอนใน หาดเลนขนาดใหญ่แหล่งอาศัยของนกชายเลนอพยพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย

แม้กรุงเทพฯในปัจจุบันจะเปลี่ยนโฉมไปจนจำไม่ได้  ลำคลองถูกถมเป็นถนน ทุ่งนากลายเป็นตึกรามบ้านช่องและศูนย์การค้า หนองน้ำปริมณฑลกลายเป็นสนามบิน  แต่ที่นี่ก็ยังสามารถพบนกได้มากกว่าที่หลายคนคิด สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยรายงานการพบนกในกรุงเทพฯจนถึงปัจจุบันได้กว่า 300 ชนิดอย่างที่อาจารย์ศันสนีย์ว่าไว้ “ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นมีชีวิต” สวนสาธารณะ ห้วย หนอง คลอง บึง ทุ่งนา ทุ่งร้างที่เหลืออยู่กระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยยังทำหน้าที่เป็นแหล่งพักพิงของหลายชีวิต พื้นที่เหล่านี้เป็นที่มั่นสุดท้ายของธรรมชาติในเมือง

ในพื้นที่ชุ่มน้ำแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง จังหวัดนครนายก กบนาลอยตัวซุ่มอยู่ในกอแห้วเพื่อรอดักจับแมลงเป็นอาหาร

ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นก็มีชีวิต ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ ชายฝั่งทะเล จากแอ่งน้ำบนยอดเขาลงมาถึงพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต พื้นที่เหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และกลายเป็นแหล่งอารยธรรมมาทุกยุคทุกสมัย

“แม่น้ำ” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอีกลักษณะหนึ่งที่สำคัญมากและคนอาจจะไม่ทันนึกถึงสายน้ำที่เคลื่อนไหวถูกใช้เป็นเส้นทางคมนาคมของคนแต่ในสายน้ำเดียวกันนี้เองก็เป็นเส้นทางการอพยพอาศัยวางไข่ และเลี้ยงลูกอ่อนของปลา พอๆกับที่เป็นแหล่งหากินของนกและเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพ

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความอัศจรรย์มาก มีการพบจำนวนพันธุ์ปลาถึง 850 ชนิด มากเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาจากแม่น้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้เท่านั้นแม้จะมีระยะทางที่สั้นกว่ามาก แม่น้ำโขงตอนล่างที่ไม่รวมจีนมีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากกว่า 600 ชนิดและหนึ่งในสายพันธุ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำโขงก็คือปลาบึก

ผมเคยถามเซบ โฮแกน นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืดชาวอเมริกันที่ศึกษาปลาบึกในกัมพูชาและลาวอยู่นานนับสิบปีว่า อะไรทำให้แม่น้ำโขงมีปลาหลากหลายและชุกชุมมากขนาดนี้ เซบที่ตอนนี้เป็นนักสำรวจของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และเป็นพิธีกรรายการ “Monster Fish” ออกตามหาปลาหายากไปทั่วโลก ตอบว่า “ความแปรปรวนของระดับน้ำ การปรับตัวของปลาตามแหล่งอาศัยในแต่ละฤดูกาลคือปัจจัยสำคัญ คุณลองคิดดูว่ามีปลาอย่างน้อย 850-1,200 ชนิดในแม่น้ำโขง เกือบร้อยละ 90 เป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่นไปวางไข่ยังที่อื่น พลวัตของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงจึงสูงมาก  ปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขงมีวงจรชีวิตที่อาศัยในทะเลสาบเช่นโตนเลสาบในกัมพูชาและพื้นที่ชุ่มน้ำสองฝั่งลำน้ำสาขาอย่างแม่น้ำมูลในเมืองไทย เป็นพื้นที่หากินและวางไข่ด้วย  พื้นที่ชายน้ำ ป่าบุ่ง ป่าทาม ที่น้ำท่วมขังในลำน้ำสาขา จึงมีอิทธิพลต่อนิเวศวิทยาของปลาในแม่น้ำโขงอย่างมาก พอถึงฤดูฝนพื้นที่ชุ่มน้ำในแม่น้ำโขงจึงขยายตัวเกือบสองเท่าก็ว่าได้”

แม่น้ำโขงจึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดที่จะอนุรักษ์ระบบนิเวศขนาดใหญ่และสลับซับซ้อนแบบแม่น้ำโขงเอาไว้ได้ หากไร้ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศและการใช้ประโยชน์อย่างเข้าใจ

ฝูงควายถูกต้อนเข้าคอกที่ถมเป็นเนินกลางพื้นที่ชุ่มนํ้าของทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ความที่เนินดินตามธรรมชาติหายากขึ้น   ทุกที ซํ้ายังอยู่ห่างไกลออกไป และมีควายมากเกินกว่าจะอยู่ในพื้นที่จำกัดได้ เจ้าของควายหลายคนจึงจำเป็นต้องลงทุนทำคอกกลางนํ้าเป็นที่พักยามนํ้าหลาก
แพกลางน้ำที่ใช้เป็นที่ตั้งยอขนาดใหญ่ไว้จับปลาที่บ้านปากยาม ลุ่มน้ำสงคราม สามารถเคลื่อนย้ายจุดไปตามระดับน้ำได้

พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ในทุกด้าน เป็นตลาดนัด แหล่งอาหาร อ่างเก็บน้ำยามหน้าแล้ง แหล่งรับน้ำยามน้ำหลาก แนวป้องกันพายุหรือแม้แต่คลื่นสึนามิของชุมชนชายฝั่ง แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจสร้างรายได้ ปอดดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ลดโลกร้อน

และที่สำคัญที่สุดผมเชื่อว่าพื้นที่ชุ่มน้ำคือประตูบานแรกที่เชื้อเชิญคนให้ได้ทำความรู้จัก เรียนรู้ที่จะรักและเข้าใจสายสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของธรรมชาติ

เรื่อง เพชร มโนปวิตร

ภาพถ่าย เริงชัย คงเมือง

อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนมีนาคม 2562


อ่านเพิ่มเติม

บางปะกง : สายใยชีวิตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.