ในเปรู ชาวบ้านที่เคยล่า กบหนังห้อย จนเสี่ยงสูญพันธุ์ ได้กลับมาเป็นผู้อนุรักษ์

กบหนังห้อย จากทะเลสาบตีตีกากาที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง มักถูกลักลอบล่าเพื่อนำไปปรุงสมูทตี้กบเปรู ซึ่งเป็นเครื่องดื่มกระตุ้นพลังทางเพศประเทศดังกล่าว ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NATIONAL GEOGRAPHIC PHOTO ARK


ผู้หญิงชาวเปรูขายงานหัตถกรรมที่มีแรงบันดาลใจจาก กบ หนังห้อย ซึ่งกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

มีเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมชนิดหนึ่งในเปรู ซึ่งบางคนเรียกว่าสมูทตี้ กบ โดยเครื่องดื่มที่คนมักใช้เป็นยากระตุ้นทางเพศนี้ (แม้จะมีการกล่าวอ้างว่ามันรักษาโรคได้สารพัดอย่าง) ปรุงด้วยกบที่ถูกถลกหนัง กับส่วนผสมอื่นๆ เช่นน้ำผึ้งและรากของต้นมาคา (Maca)

แน่นอนว่ากบซึ่งถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มชนิดนี้คือกบหนังห้อย หรือกบน้ำทะเลสาบตีตีกากา (Lake Titicaca Water Frog) แต่สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่เคยพบได้บ่อยประเภทนี้กลับมีจำนวนน้อยลงอย่างมาก Rosa Elena Zegarra Adrianzén นักชีววิทยาประจำสำนักงานอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าแห่งชาติเปรู (Peru’s Forest and Wildlife National Service) กล่าวว่า พวกมันอาจมีจำนวนเพียง 50,000 ตัว (แม้เธอจะกล่าวเสริมว่า การคาดเดาจำนวนที่แน่นอนเป็นสิ่งที่ยาก เนื่องจากพวกมันอาศัยอยู่ในก้นลึกของทะเลสาบ) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ได้จัดให้พวกมันอยู่ในหมวดหมู่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

นอกจากการล่าแล้ว กบพวกนี้ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามอื่นๆ เช่นมลพิษ โดยเมื่อปี 2016 มีการพบเห็นซากกบชนิดนี้กว่า 10,000 ตัวในบริเวณแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลสาบ ในขณะเดียวกันก็พบขยะ (และซากปลา) หลายประเภทบริเวณทะเลสาบดังกล่าวด้วย

“สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเป็นเหมือนฟองน้ำน่ะครับ และถ้ามีสิ่งแปลกปลอมในน้ำ พวกมันก็จะดูดซับสารเหล่านั้นเข้าไป” ทอม วีเวอร์ (Tom Weaver) ผู้ช่วยผู้อนุบาลสัตว์แห่งสวนสัตว์เดนเวอร์ (Denver) ซึ่งเป็นสถานที่แห่งแรกในซีกโลกเหนือที่เพาะพันธุ์กบหนังห้อยได้สำเร็จ กล่าว พร้อมเสริมว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปกติที่กบจะตายในฤดูฝน ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นเพราะฝนพัดพาขยะจากเหมืองและปศุศัตว์ไหลลงไปในทะเลสาบ

นอกจากนี้ ถุงพลาสติกและขยะประเภทอื่นยังเปลี่ยนสภาพกรดของน้ำ และทำให้พืชที่เป็นแหล่งออกซิเจนต้องตายลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อกบ เนื่องจากพวกมันต้องดูดซึมออกซิเจนผ่านผิวหนัง โรเบรโต เอเลียส (Roberto Elias) สัตวแพทย์และผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ในเปรูของสวนสัตว์เดนเวอร์ (Denver Zoo’s Peru Conservation Program) กล่าว “คุณเห็นได้ว่าผู้คนทิ้งขยะลงในทะเลสาบ” เอเลียส กล่าว “เราต้องให้ความรู้แก่พวกเขา”

ขยะกองเกลื่อนกลาดอยู่บนฝั่งทะเลสาบตีตีกากา ส่งผลให้สภาพกรดของน้ำเปลี่ยนแปลง และเกิดอันตรายต่อกบที่ดูดซึมออกซิเจนผ่านชั้นผิวหนังของมัน ภาพถ่ายโดย BY RODRIGO ABD, AP

ช่างฝีมือเริ่มช่วยเหลือกบ

เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มผู้หญิงกว่า 24 คน ซึ่งบางคนเคยลักลอบล่ากบชนิดนี้มาก่อน ได้เริ่มรวมตัวกันเพื่อประดิษฐ์และขายของที่ระลึกรูปกบหลายแบบ โดยพวกเธอจะเล่าเรื่องกบชนิดนี้ให้ลูกค้าฟัง และบอกพวกเขาว่าเราควรต้องปกป้องมันมากเพียงใด

พวกเธอเริ่มทำสิ่งนี้มาตั้งแต่ปี 2015 หลังจากนักชีววิทยาจากสวนสัตว์เดนเวอร์อธิบายเรื่องกบหนังห้อย วงจรชีวิตของพวกมัน และสรุปให้พวกเธอฟังว่าจะปกป้องพวกมันได้อย่างไร

Nelida Adela Apaza ผู้นำกลุ่มซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสวนสัตว์ดังกล่าว กล่าวว่างานฝีมือที่พวกเธอสร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากนัก โดยสินค้าเช่นหมวกถักรูปกบมีราคาประมาณแปดเหรียญสหรัฐฯ และหุ่นเชิดแบบสวมนิ้วมีราคาราวสามสิบเซนต์ นอกจากนี้ พวกเธอยังต้องรอเทศกาลขายของทำมือ หรือการเดินทางไปเมืองปูโน (Puno) เพื่อขายสินค้าเหล่านี้ กระนั้นก็ตาม เธอกล่าวว่าพวกเธอทำสิ่งนี้เพราะความใส่ใจ “พวกเธอต้องการทั้งอนุรักษ์กบเหล่านี้ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน พวกเธอกังวลถึงทั้งสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ และความสวยงามของทะเลสาบตีตีกากา (Titicaca)”

เอลวีรา ปูมา (Elvira Puma) กล่าวว่าเธอเคยจับกบพวกนี้ไปขายให้ร้านค้าและผู้คนในเมืองปูโน ซึ่งอยู่ติดกับทะเลสาบดังกล่าว ในราคาราวสามสิบเซนต์ต่อกบห้าตัว โดยเธออธิบายว่านี่เป็นสิ่งที่เธอและครอบครัวทำเป็นประจำ และเธอไม่เคยทราบมาก่อนว่าสัตว์เหล่านี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จนกระทั้งนักวิจัยจากสวนสัตว์เดนเวอร์อธิบายถึงเรื่องนี้

“มันทำให้ฉันแปลกใจ” เธอกล่าว และเสริมว่าแม้การขายกบสร้างรายได้มากกว่างานฝีมือ เธอจะไม่กลับไปจับพวกมันอีก “การจับพวกมันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” เธอกล่าว และสัตว์ชนิดนี้ “กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์”

ผู้หญิงชาวเปรูกว่า 24 คนถักทอและขายงานหัตถกรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากกบหนังห้อยเพื่อเสริมรายได้ โดยพวกเธอบางคนเคยเป็นผู้บุกรุกจับสัตว์มาก่อน ภาพถ่ายโดย ERIN STOTZ

กบหนังห้อยกำลังหมดไปจากโลก

Lucas Dourojeanni ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของสำนักงานอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเปรูกล่าวว่า “ยังไม่มีการสำรวจหรือประมาณการใหม่ ถึงจำนวนกบหนังห้อยที่ยังเหลืออยู่” และ “ดูเหมือนจำนวน 50,000 ตัวนั้นเป็นการประมาณขั้นต่ำจากการสำรวจเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้”

โรเบรโต เอเลียส กล่าวว่า แม้ไม่มีจำนวนกบที่แน่ชัดและเป็นปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทราบกันคือ “พวกมันกำลังพากันตายไปจากโลก”

Zegarra Adrianzén กล่าวว่าในช่วงปลายปี 2018 มีการยึดกบว่า 4,000 ตัวจากรถโดยสารสาธารณะที่เดินทางไปยังเมืองหลวงลิมา และตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 เป็นต้นมา มีการยึดกบทั้งที่ยังมีชีวิตและตายแล้วจากตลาดในเปรูได้อีกหลายร้อยตัว

เอเลียส กล่าวว่านักการเมืองโบลิเวียและเปรูกำลังร่วมกันเสนอมาตรการเพื่อคุ้มครองทะเลสาบตีตีกากา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับทั้งสองประเทศ เมื่อปี 2016 ประเทศทั้งสองลงนามข้อตกลงซึ่งสัญญาว่าจะมีการจัดงบประมาณสำหรับการทำความสะอาดทะเลสาบดังกล่าวเป็นจำนวน 500 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินบางส่วนจะเป็นทุนสำหรับโรงบำบัดน้ำเสีย 10 แห่งในเปรู และเขายังกล่าวด้วยว่า ในปีนี้ รัฐบาลจะตรารูปกบหนังห้อยลงบนเหรียญของเปรู เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงสัตว์ชนิดนี้มากขึ้น

กบหนังห้อยเป็นสัญลักษณ์ของทะเลสาบตีตีกากา และเป็นความภาคภูมิใจของชาวเปรู สิ่งนี้ทำให้นักการเมืองของเปรูและโบลิเวียเริ่มร่วมมือกันเพื่อทำความสะอาดทะเลสาบแห่งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ภาพถ่ายโดย PETE OXFORD, MINDEN PICTURES/NAT GEO IMAGE COLLECTION

“กบชนิดนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของทะเลสาบ” เขากล่าว “หากพวกเขาต้องการจัดการปัญหาของทะเลสาบ พวกเขาจำเป็นต้องจัดการปัญหาของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบเช่นกัน และกบชนิดนี้คือหนึ่งในสัตว์ป่าที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้คน”

การที่กบชนิดนี้เป็นความภาคภูมิใจของชาวเปรู เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้กระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกลุ่มหัตถกรรมนี้

เจมส์ การ์เซีย (James Garcia) ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือของสวนสัตว์เดนเวอร์ กล่าวว่า การสนับสนุนรายได้แม้เพียงเล็กน้อย นับเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้หญิงเหล่านั้นมากกว่าการเทศนาเรื่องการบุกรุกจับสัตว์ป่า “ถ้าพวกเธอเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ พวกเธอจะอนุรักษ์กบได้อย่างไร”

Apaza ซึ่งแจกจ่ายด้ายและสอนวิธีถักเย็บให้เหล่านักฝีมือ กล่าวว่าพวกเธอยินดีกับการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา “แม้พวกเราเป็นแค่ส่วนเล็กๆ แต่เราก็กำลังช่วยอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์หนึ่งอยู่”

เรื่อง RACHEL FOBAR


อ่านเพิ่มเติม ภาพถ่ายอันน่าทึ่ง! เมื่องูพยายามหนีออกจากปากกบ 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.