นับจนถึงวันนี้ (23 สิงหาคม) เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วที่ป่าฝนแอมะซอน ผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กำลังเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ส่งผลให้ธรรมชาติ ทั้งพรรณไม้และสัตว์ป่าซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ปรากฏแค่ในป่าแอมะซอนเท่านั้นได้รับผลกระทบ โดยคาดว่าขณะนี้มีพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ไปแล้วกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร โดยในทางธรรมชาติ ถือเป็นการสูญเสียปราการทางธรรมชาติของมนุษย์อย่างมหาศาล
ป่าแอมะซอนได้ชื่อว่าเป็น ปอดของโลก เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนให้กับโลกมากถึงร้อยละ 20 และมีปัจจัยสำคัญในการต่อสู้เรื่องภาวะโลกร้อน โดยการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออก
แม้ว่าการเกิดไฟป่าแอมะซอนจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ปกติในช่วงหน้าแล้ง แต่จากการเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม พบว่ามีการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 83 จากปีที่แล้ว แม้สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อน แต่สาเหตุโดยส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่าเกิดจากมนุษย์ที่เข้าไปบุกรุกในพื้นที่ป่า
ในปี 2018 กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียพื้นป่าหลายแห่งในโลก รวมไปถึง ป่าแอมะซอน ตามข้อมูลที่รวบรวม วิเคราะห์ และรายงานโดยกลุ่มนักวิจัยที่ชื่อว่า Global Forest Watch ในมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Merryland)
การตัดไม้โดยไม่มีการควบคุม เป็นเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าโดยรวม โดยส่วนมากเป็นการตัดไม้เพื่อทำพื้นที่ปศุสัตว์ แต่กิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นๆ เช่นการทำเหมืองเร่และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็เป็นสาเหตุสำคัญด้วยเช่นกัน การสูญเสียพื้นที่ป่าในปี 2018 ราวร้อยละ 50 เกิดจากไฟป่าครั้งใหญ่ในปี 2016 และ 2017 แต่ถึงแม้จะไม่มีไฟป่า ก็มีการสูญเสียพื้นที่ป่าราวร้อยละ 13 อยู่ดี ทีมนักวิจัยกล่าวว่า เราสามารถตีความเหตุการณ์เหล่านี้ได้ว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเรื่องที่น่าวิตกกังวลทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
สาเหตุที่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าระดับโลก
นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ประเทศที่สูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด 4 ประเทศอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้ สถาบันทรัพยากรโลก (The World Resources Institute) ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์พื้นที่ป่าของโลกเรื่อยมา รายงานว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นในประเทศบราซิล อินโดนีเซีย โคลัมเบีย เปรู และโบลีเวีย
นอกจากการเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาสรรพสัตว์และพืชพรรณชนิดต่างๆ แล้ว ป่ายังเป็นที่ที่มีความสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อย่างป่าฝนแอมะซอนนั้นเป็นสถานที่ในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไป
จากการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม บรรดานักวิจัยจาก Global Forest Watch ค้นพบว่า โลกได้สูญเสียพื้นที่ป่ากว่า 120,000 ตารางกิโลเมตร ในปี 2018 ในจำนวน 3,500 ตารางกิโลเมตรนั้นคือพื้นที่ป่าสมบูรณ์ (Primary Forest) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยถูกรบกวนจากกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ของมนุษย์ในช่วงสมัยปัจจุบัน พื้นที่ป่านี้จึงเป็นจุดที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ โดยบางชนิด มนุษย์ก็อาจไม่เคยค้นพบมาก่อน
เฉพาะในประเทศบราซิลอย่างเดียว มีการสูญเสียพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไปประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร โดยกิจกรรมของมนุษย์ เช่นการถางป่าเพื่อการทำปศุสัตว์ การทำเหมืองแร่ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ก็เร่งให้สูญเสียพื้นที่ป่ามากขึ้น
นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความกังวลในเรื่องพื้นที่ป่าแอมะซอนในบราซิลมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนับตั้งแต่ประธานาธิบดีคนใหม่ของบราซิล Jair Bolsonaro ดำรงตำแหน่งเมื่อปลายปีที่แล้ว เขาสัญญาว่าจะเปิดป่าแอมะซอนเพื่อการทำอุตสาหกรรมและลดงบประมาณเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมลง
อย่างไรก็ตาม ในรายงานเน้นย้ำว่าการสูญเสียพื้นที่ป่านั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ Bolsonaro จะครองตำแหน่งประธานาธิบดีเสียด้วยซ้ำ และยังเร็วไปที่จะสรุปว่านโยบายเหล่านี้จะเปลี่ยนหรือมีผลกับป่าแอมะซอนอย่างไร
นอกจากนี้ ในประเทศโคลัมเบียก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยมีพื้นที่ป่าที่หายไปกว่า 117 ตารางกิโลเมตร เมื่อปีที่แล้ว
ในรายงานได้ระบุเพิ่มเติมว่า แม้จะมีหลายประเทศที่มีพันธะสัญญาในการลดการตัดไม้ทำลายป่า แต่ก็มีหลายประเทศในโลกซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของพื้นที่ป่าที่มีความเก่าแก่และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สุดในโลกหลายแห่ง มีแนวโน้มที่ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับป่าไปผิดทาง