การสร้างเขื่อน ส่งผลกระทบต่อการไหลของแม่น้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์

เขื่อน Xiaowan ที่มีความสูงราว 291 เมตร ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2010 เป็นแหล่งพลังงานให้กับบรรดาเมืองและอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีน การสร้างเขื่อนนี้ทำให้ชาวบ้านกว่า 38,000 คน ต้องอพยพ ภาพถ่ายโดย DAVID GUTTENFELDER, AP/NAT GEO IMAGE COLLECTION 


การศึกษาครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่า แม่น้ำ ซึ่งให้ประโยชน์หลายอย่างกับมนุษย์ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และช่วยป้องกันน้ำท่วม กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง เนื่องจากการสร้างเขื่อน และการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ

มี แม่น้ำ สายใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนเพียงหนึ่งในสามสายเท่านั้นที่ยังไหลตามธรรมชาติ เพราะแม่น้ำเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างเขื่อนกั้นหรือขัดขวางทางน้ำโดยฝีมือมนุษย์

บรรดานักวิทยาศาสตร์เตือนว่าแม่น้ำสาขา ของแม่น้ำสายใหญ่หลายแห่งของโลก ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นทางน้ำ ได้คุกคามระบบนิเวศที่ทั้งมนุษย์และสัตว์ต้องพึ่งพิงเพื่อความอยู่รอด เหล่านักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สายน้ำที่ไหลตามธรรมชาตินั้นสามารถก่อให้เกิดแหล่งอาหารของคนนับร้อยหรือนับล้านคน พัดพาตะกอนดินซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำการเกษตร และบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมและภัยแล้ง และเกื้อหนุนความระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

“ประโยชน์ของ แม่น้ำ ที่ไหลตามธรรมชาตินั้นมีมากมายครับ” เดเนียล เพอร์รี นักภูมิศาสตร์แหล่งน้ำแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์นแอริโซน่า ใน Flagstaff กล่าวและเสริมว่า “แม่น้ำคือเส้นเลือดของโลก”

จากการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ เพื่อสำรวจแม่น้ำทั่วโลกที่มีความยาวราว 12 ล้านกิโลเมตร นักวิจัยพบว่ายิ่งแม่น้ำมีความยาวมากเท่าไร การไหลของแม่น้ำก็จะถูกขัดขวางมากขึ้น ในขณะแม่น้ำที่มีขนาดสั้น (มีความยาวไม่เกิน 100 กิโลเมตร) ร้อยละ 97 ยังคงไหลไปตามธรรมชาติ และยังมีแม่น้ำที่มีความยาวเกิน 500 กิโลเมตร เพียงไม่กี่สายบนโลก ซึ่งพบได้ในสหรัฐอเมริกา จีน ภูมิภาคยุโรปตะวันตก และภูมิภาคอื่นๆ บนโลก

แผนภูมิแสดงแม่น้ำที่ยังคงไหลตามธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ ของโลก
แผนที่แสดงการกระจายตัวของแม่น้ำขนาดใหญ่ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยเส้นสีฟ้าคือแม่น้ำที่ยังไหลตามธรรมชาติ ส่วนเส้นสีชมพูคือแม่น้ำที่มีการสร้างเขื่อนหรือถูกขัดขวางการไหลของน้ำ

โดยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเป็นตัวการหลักทำลายการไหลของน้ำ และการกระทำอื่นๆ ของมนุษย์ เช่นการสูบน้ำ การดักตะกอนดิน ก็เป็นปัจจัยขัดขวางการไหลของน้ำ จากการวิเคราะห์ ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดใหญ่ 60,000 แห่งทั่วโลก และที่มีแผนจะสร้างเพิ่มขึ้นอีก 37,000 แห่ง อย่างในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างลุ่มน้ำแอมะซอน ในทวีปอเมริกาใต้ มีแผนจะสร้างเขื่อนมากกว่า 500 แห่งทั่วภูมิภาค “การสร้างเขื่อนจะเปลี่ยนระบบนิเวศที่เป็นอยู่โดยสิ้นเชิง” เพอรรี ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ลุ่มน้ำแอมะซอน กล่าว

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ที่มีการพัฒนาเขื่อนพลังงานน้ำอย่างมากเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็วางแผนที่จะสร้างเขื่อนอีกมากกว่า 50 แห่งตามแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา

“สิ่งที่น่ากลัวคือ แม่น้ำโขงจะแตกกระจายมากจนสูญเสียหน้าที่เดิมของมัน และไม่สามารถส่งเสริมความหลากหลายของสัตว์ป่าและสนับสนุนคนนับล้านที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ได้” เซบ โฮแกน (Zeb Hogan) ผู้เขียนร่วมงานวิจัยและนักชีววิทยาปลาในมหาวิทยาลัยเนวาดา เมืองเรโน กล่าว

จำนวนปลาที่ลดลง

พลังงานน้ำคือพลังงานที่สามารถทดแทนได้ และมันก็มักถูกนำเสนอว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศได้ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับปลา ต่างพากันไม่สนับสนุนความคิดนี้

“พลังงานน้ำเป็นพลังงานที่ทดแทนได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เฮอร์แมน แวนนิงเกน (Herman Wanningen) นักนิเวศวิทยาทางน้ำและผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของมูลนิธิการอพยพของปลาโลก (the World Fish Migration Foundation) ในจังหวัดโกรนิงเงิน (Groningen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวและเสริมว่า “พอมีเขื่อนเข้ามา สายน้ำที่ไหลผ่านจะกลายเป็นแหล่งเก็บน้ำที่น้ำไม่เคลื่อนที่ และทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยในน้ำหายไป เช่นเดียวกับบรรดาปลา”

เปลี่ยน “กระแส” น้ำ

ในขณะที่การสร้างเขื่อนพลังน้ำในบางภูมิภาคของโลกไม่ลดลง แต่ก็มีสัญญาณในการสร้างเขื่อนที่ลดน้อยลง อย่างเช่นประเทศจีนที่ยุติแผนการสร้างเขื่อนใหม่หลายโครงการ (แต่ก็ยังมีบริษัทจีนหลายบริษัทวางแผนสร้างเขื่อนในประเทศต่างๆ แทน) หรือโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่คาบสมุทรบอลข่านก็ต้องยุติลงไปหลังจากต้องเผชิญแรงต้านจากนักรณรงค์ที่ไม่ต้องการให้สร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์

คริสเตอร์ นิลส์สัน (Christer Nilsson) นักนิเวศวิทยาภูมิทัศน์แห่งมหาวิทยาลัยอูเมโอ (Umeå University) ประเทศสวีเดน กล่าวว่า การมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเชื่อมโยงกันของแม่น้ำสายต่างๆ ในโลก จะช่วยให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ และผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้สามารถวางแผนในการจัดการแม่น้ำได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

“เรามีความรู้ที่มากขึ้นเกี่ยวกับระบบนิเวศ เศรษฐกิจ คุณค่าทางสังคมเกี่ยวกับแม่น้ำ และการสร้างเขื่อนก็มีราคาที่เราต้องจ่าย” นิลส์สันกล่าวเพิ่มเติมว่า “มันน่าเศร้าที่เราได้ทำลายสิ่งต่างๆ เสียมาก ก่อนที่จะตระหนักได้ว่า [การสร้างสิ่งเหล่านี้] ไม่ใช่ความคิดที่ดีเลย”

เรื่องโดย STEFAN LOVGREN


อ่านเพิ่มเติม ฤาประวัติศาสตร์จะจมบาดาลตลอดกาล เมื่อตุรกีสร้างเขื่อน 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.