ฤาประวัติศาสตร์จะจมบาดาลตลอดกาล เมื่อตุรกีสร้างเขื่อน

ฤาประวัติศาสตร์จะจมบาดาลตลอดกาล เมื่อตุรกีสร้างเขื่อน

เลย์ลา ซอนคูช เก็บใบองุ่นบนที่ราบสูงฮาร์รานทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ไม่ไกลจากพรมแดนซีเรีย การชลประทานในฮาร์รานถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของโครงการอนาโตเลียอาคเนย์ แต่คนในซีเรียและอิรักโอดครวญว่า เขื่อนของตุรกีคุกคามการไหลของน้ำในแม่น้ำยูเฟรทีสและไทกริส ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำดื่มสะอาดตกอยู่ในความเสี่ยง

ฤาประวัติศาสตร์จะจมบาดาลตลอดกาล เมื่อตุรกีสร้างเขื่อน

ฮาซันเคฟคือหมู่บ้านอายุ 12,000 ปี ตั้งอยู่บนที่ราบสูงริมแม่น้ำไทกริส

สูงขึ้นไปเหนือหมู่บ้านคือโพรงถ้ำต่างๆ ที่ผู้บุกเบิกในยุคหินใหม่สร้างไว้ ขณะที่ซากปรักของป้อมก็เก่าแก่ตั้งแต่สมัยไบแซนไทน์ ชุมชนแห่งนี้มีร่องรอยของชาวโรมัน เป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมอิสลามยุคกลางที่โดดเด่น รวมถึงสะพานบนเส้นทางสายไหม

ฮาซันเคฟยังเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี เป็นที่ที่คุณสัมผัสได้ถึงความอยู่รอดและความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน

ทว่าเมื่อปี 2006 รัฐบาลตุรกีเริ่มการสร้างเขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำไทกริสอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ราวร้อยละ 80 ของฮาซันเคฟจมน้ำและประชากร 3,000 คนต้องย้ายที่อยู่ ตอนนี้เขื่อนที่ชื่ออิลิซูเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และน้ำอาจท่วมเมื่อไรก็ได้ในปีหน้า

ทำไมประเทศหนึ่งจึงทำลายดินแดนสำคัญในตำนานของตนเอง รัฐบาลตอบว่าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่นั่นด้วยการทำให้ทันสมัย กระนั้น โครงการขนาดใหญ่นี้ก็ส่งผลดีต่อตุรกีในภาพรวมด้วย ประเทศนี้ไม่มีแหล่งน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติของตนเอง สิ่งที่มีคือน้ำ

ในช่วงทศวรรษแรกๆ ของศตวรรษที่ยี่สิบ สาธารณรัฐตุรกีริเริ่มโครงการสู่ความทันสมัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งขับเคลื่อนโดยรัฐหลายโครงการ แต่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งประชากรค่อนข้างยากจน ด้อยการศึกษา และเป็นชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด อาหรับ และอัสซีเรีย ถูกทอดทิ้งเป็นส่วนใหญ่  ต่อมาในทศวรรษ 1970 รัฐบาลจึงเสนอแผนเยียวยาด้วยโครงการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ที่จะสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคและใช้ในการชลประทาน  โดยจะสร้างเขื่อน 22 แห่งและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 19 แห่งทั่วเครือข่ายแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส รวมทั้งถนน สะพาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในแผนการชื่อ “โครงการอนาโตเลียอาคเนย์” หรือ “จีเอพี” (GAP) ตามตัวย่อในภาษาตุรกี

เขื่อน
เมืองโบราณฮาซันเคฟตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไทกริส เขื่อนอิลิซูจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นราว 60 เมตร ซึ่งจะทำให้ร้านกาแฟทันสมัยแห่งนี้ รวมทั้งซากสะพานอายุ 900 ปีด้านหลัง และถ้ำยุคหินใหม่ (ในฉากหลัง) จมอยู่ใต้น้ำ

ซีเรียและอิรักซึ่งอยู่ท้ายน้ำประท้วงว่า ตุรกีอาจกักน้ำที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับตน ในปี 1984 พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Workers Party: PKK) ซึ่งเป็นกองกำลังแบ่งแยกดินแดน ก่อการจลาจลเพราะถูกรัฐบาลตุรกีกระทำอย่างอยุติธรรม ส่งผลให้ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นเขตสงคราม ขณะเดียวกันธนาคารในยุโรปก็ถอนการให้ทุนสนับสนุน และธนาคารโลกก็ปฏิเสธการกู้เงินเนื่องจากความไม่เห็นพ้องระดับนานาชาติที่ดำเนินอยู่การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงพอ และข้อวิตกเรื่องขอบเขตของการอพยพประชากร ตลอดจนการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม กระทั่งภายในรัฐบาลตุรกีเอง ฮิลัล เอลแวร์ ที่ปรึกษากระทรวงสิ่งแวดล้อมในทศวรรษ 1990 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิด้านอาหารของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็ยังเห็นว่า ความกระตือรือร้นที่จะผลักดันให้จีเอพีเป็นโครงการแห่งความภาคภูมิใจระดับชาตินั้นเริ่มถดถอยลงแล้ว

จนถึงตอนนี้ เขื่อนอิลิซูไม่เพียงจะทำให้น้ำท่วมฮาซันเคฟเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบนิเวศแม่น้ำอีก 400 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดี 300 แห่ง โบราณวัตถุบางส่วนจะถูกย้ายไปยังจุดที่ปลอดภัยกว่า แต่เขื่อนจะทำให้คนประมาณ 15,000 คนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ และกระทบชีวิตคนอีกหลายหมื่น  แอร์จาน อัยโบอา วิศวกรสิ่งแวดล้อม และโฆษกโครงการความริเริ่มเพื่อปกป้องชีวิตฮาซันเคฟ บอกว่า ตัวเลขน่าจะใกล้เคียง 100,000 คน “มันเป็นโครงการมหึมาที่รัฐบาลตุรกียัดเยียดให้ผู้คนในภูมิภาค” อัยโบอาบอก “ไม่มีประโยชน์สำหรับประชากรท้องถิ่นเลย มีแต่กำไรให้บริษัทบางแห่งและเจ้าของที่ดินรายใหญ่”

เขื่อน
หญิงชาวเคิร์ดที่อพยพไปแล้วนั่งอยู่บนเนินที่มองเห็นการสร้างเขื่อนอิลิซูซึ่งอยู่ห่างจากฮาซันเคฟไปทางท้ายน้ำ 80 กิโลเมตร

แล้วทำไมรัฐบาลตุรกีจึงดื้อแพ่งเดินหน้าต่อ

หลายคนเชื่อว่า เป้าหมายของรัฐบาลมีเพียงต้องการควบคุมทรัพยากรธรรมชาตินี้ให้ได้ เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศและเพื่อความมั่นคง  น้ำ “อาจใช้เป็นอาวุธสู้กับอิรักและซีเรียได้” จอห์น ครอฟูต ชาวอเมริกันที่อยู่ในตุรกีและผู้ก่อตั้งฮาซันเคฟแมตเทอร์ส (Hasankeyf Matters) บอก

ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา อิรักประสบภัยแล้งรุนแรงขึ้น และระดับน้ำในแม่น้ำไทกริสลดต่ำลงอย่างน่ากลัว รัฐบาลอิรักกดดันไม่ให้ตุรกีปล่อยน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำที่เกิดจากเขื่อนอิลิซูในเดือนมิถุนายนตามแผน แม้รัฐบาลตุรกีจะยอมโอนอ่อนผ่อนตาม แต่ตลอดหลายสิบปีมานี้ ทัศนคติของรัฐบาลก็ยังเหมือนเดิม กล่าวคือในเมื่ออิรักมีน้ำมัน แต่ตุรกีมีน้ำ ก็ย่อมจะทำอะไรกับมันอย่างไรก็ได้

เรื่อง ซูซี แฮนเซน

ภาพถ่าย มาเทียส เดอปาร์ดง

เขื่อน
หมู่บ้านซาวาชานในเขตฮัลเฟตีเผยให้เห็นภาพในอนาคตของฮาซันเคฟ เมื่อปี 2000 หมู่บ้านนี้ถูกน้ำท่วมพร้อมกับหมู่บ้านอีกแปดแห่งจากการสร้างเขื่อนบิเรจิก แม้โครงการสร้างเขื่อนจะส่งผลดีต่อการเกษตรตามคำกล่าวอ้าง แต่ปัจจุบัน พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ของชาวเมืองฮัลเฟตีก็จมน้ำไปแล้ว เรือท่องเที่ยวแล่นผ่านมัสยิดที่จมน้ำ แต่รายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่อาจชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจของชุมชนได้
เขื่อน
เด็กหญิงชาวเคิร์ดนั่งเล่นในบ้านที่จะถูกน้ำท่วมจากโครงการสร้างเขื่อนอิลิซู
เขื่อน
ก่อนน้ำเอ่อท่วม ชาวเมืองขนเตียงไปไว้บนหลังคาเพื่อหนีความร้อนในฤดูร้อน หออะซานที่เห็นอยู่ด้านหลังจะถูกย้ายไปยังอุทยานโบราณคดี
เขื่อน
เลย์ลา ซอนคูช เก็บใบองุ่นบนที่ราบสูงฮาร์รานทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ไม่ไกลจากพรมแดนซีเรีย การชลประทานในฮาร์รานถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของโครงการอนาโตเลียอาคเนย์ แต่คนในซีเรียและอิรักโอดครวญว่า เขื่อนของตุรกีคุกคามการไหลของน้ำในแม่น้ำยูเฟรทีสและไทกริส ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำดื่มสะอาดตกอยู่ในความเสี่ยง

 

อ่านเพิ่มเติม

เขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

Recommend