การทำความสะอาดชายหาดไม่อาจเก็บขยะพลาสติกจำนวนหลายล้านชิ้น

ขยะพลาสติกกองพะเนินอยู่บนชายหาดทางเหนือของเกาะไดเรกชัน ประเทศออสเตรเลีย ภาพถ่ายโดย SILKE STUCKENBROCK, COURTSEY OF SPRINGER NATURE


ผลการศึกษาชิ้นใหม่เผยว่า ขยะพลาสติก ส่วนใหญ่บนชายหาดสักแห่งเป็นพลาสติกชิ้นเล็กจิ๋วที่ฝังอยู่ใต้ผืนทราย

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การทำความสะอาดชายหาดกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก บ่อยครั้งที่อาสาสมัครมารวมตัวกันเพื่อทำงานที่ดูเหมือนไม่มีวันสำเร็จได้ นั่นคือการเก็บ ขยะพลาสติก ปัจจุบัน งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ศึกษาหมู่เกาะโคโคส (Cocos) หรือคีลิง (Keeling) ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะห่างไกลของออสเตรเลียชี้ว่า การทำความสะอาดชายหาดอาจปิดบังความเสียหายที่แท้จริงของมลพิษจากพลาสติกอย่างไม่ตั้งใจ เนื่องจากพลาสติกส่วนใหญ่ถูกฝังอยู่ใต้ผืนทราย

 

“น่าเศร้าที่สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดแค่บนหมู่เกาะโคโคส” เจนิเฟอร์ เลเวอร์ส (Jennifer Lavers) นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย เขียนในผลการศึกษาที่ติมพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ปี 2019  “เมื่อเรามีเกาะน้อยใหญ่กว่า 2,000 เกาะในมหาสมุทรทั่วโลก และในแต่ละวัน ข้าวของพลาสติกนับพันๆ ชิ้นถูกคลื่นลมพัดมาเกยชายหาดของเกาะห่างไกล  จึงไม่มีทางที่เราจะเก็บขยะได้ทัน หากไร้ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ การจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเลจะยังคงเป็นความพยายามที่ไม่มีวันสำเร็จ”

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังบอกเป็นนัยถึงอนาคตที่อาจเกิดขึ้นกับชายหาดในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นหากไม่มีการทำความสะอาด  จนทำให้ขยะพลาสติกสะสมมากขึ้นปีแล้วปีเล่า  กระทั่งแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการเก็บขยะทั่วไป  อีกทั้งยังไม่มีไครทราบว่าขยะเหล่านี้มีจำนวนเท่าใด สะสมได้เร็วเพียงใด และมีผลกระทบอย่างไร

ในเกาะอันห่างไกลแห่งทะเลแคริบเบียน บรรดาขวดที่ถูกทิ้ง บรรจุภัณฑ์ และหลอดพลาสติกนั้นปกคลุมเต็มชายหาด ภาพถ่ายโดย ETHAN DANIELS, ALAMY

ขยะมาจากไหน?

กว่าร้อยละ 80 ของขยะพลาสติกจำนวนแปดล้านตันที่ถูกพัดพาลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปีมีที่มาจากบนบก ทว่าเกาะที่อยู่ห่างไกล รกร้าง หรือมีประชากรอาศัยอยู่อย่างเบาบาง ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นภาพอย่างแจ่มชัดของผลกระทบที่เกิดจากขยะทั่วโลก และการเคลื่อนทีของพวกมัน ทั้งนี้เพราะขยะเหล่านั้นแทบทั้งหมดไม่ได้มาจากแหล่งที่พบเลย

เมื่อปี 2017 เลเวอร์สและทีมงานสำรวจชายหาด 25 แห่งบนเกาะ 7 เกาะ (จากทั้งหมด 27 เกาะ) ของหมู่เกาะโคโคส  ซึ่งแม้จะมีผู้อยู่อาศัยบนเกาะเหล่านี้เพียงราว 600 คน และเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่บนเกาะที่ใหญ่ที่สุดสองเกาะ  ทีมงานเก็บขยะได้หลายประเภทรวมถึงพลาสติก จากชายหาดและป่ารกด้านหลังหาด อีกทั้งยังรวบรวมอนุภาคระดับไมโครหรือไม่โครพาร์ทิเคิล (microparticle) ที่ฝังอยู่ใต้ทรายลึกราวสิบเซนติเมตร  โดยร้อยละ 93 ของวัสดุเหล่านั้นคือพลาสติก

“สิ่งที่คุณเห็นบนผืนทรายเป็นเพียงปลายยอดสุดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น” เลเวอร์สกล่าว “จริงๆ แล้วสิ่งที่อยู่ตรงนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา”

เลเวอร์สประมาณการจากตัวอย่างที่รวบรวมได้ว่า  กลุ่มเกาะทั้งหมดมีขยะ  414 ล้านชิ้น และมีน้ำหนักรวมกัน 238 ตัน โดยไมโครพาร์ทิเคิลที่ฝังอยู่ใต้ทรายมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 93 ของขยะทั้งหมดที่ประมาณการ  ทั้งนี้ หากประเมินจากจำนวนผู้อยู่อาศัยบนเกาะ  นั่นหมายความว่ามีขยะเพียงน้อยนิดหรือไม่มีเลยที่เกิดจากท้องถิ่น พูดอีกนัยหนึ่งคือขยะบนชายหาดทั้งหมดถูกกระแสน้ำพัดมาจากที่อื่น

ผลกระทบของไมโครพลาสติก

คารา ลาเวนเดอร์ ลอว์ (Kara Lavender Law) นักวิจัยด้านสมุทรศาสตร์แห่ง Sea Education Association ใน วูดโฮลส์ รัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า  ผลการวิจัยที่ระบุว่า  พลาสติกส่วนใหญ่บนหาดในหมู่เกาะโคโคสเป็นไมโครพลาสติกนั้นเป็นเรื่องสมเหตุสมผล  เมื่อคำนึงถึงว่าพลาสติกจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กลงเรื่อยๆ เมื่อถูกแสงแดดและคลื่นลม เธอเสริมว่า  “ฉันยินดีที่มีคนทำงานวิจัยภาคสนามลักษณะนี้ เพื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดหรือประเภทของขยะ รวมไปถึงขนาดที่พบบนชายหาด” และ “เรายังไม่ทราบถึงขนาดที่แท้จริงของระดับการปนเปื้อนบนชายหาด”

เลเวอร์สกล่าวว่า  งานวิจัยที่โคโคสและงานวิจัยของเธอเมื่อปี 2017 ที่ศึกษาเกาะเฮนเดอร์สัน (Henderson) อันโดดเดี่ยวของหมู่เกาะพิตแคร์น (Pitcairn) ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งเป็นที่ที่เธอค้นพบมลพิษจากพลาสติกหนาแน่นที่สุดในโลก  ช่วยวางรากฐานใหม่ให้งานวิจัยเกี่ยวกับขยะบนชายหาดเดินหน้าต่อไปได้

มีขยะหลายตันกำลังตกค้างอยู่บนชายหาดหลายแห่งทั่งโลก เช่นเดียวกับชายหาดที่บราซิลแห่งนี้ ภาพถ่ายโดย PAULO SANTOS, REUTERS

“คำถามที่สำคัญที่สุดคือ พลาสติกมีผลกระทบอย่างไรต่อกลไกการทำงานของตะกอนนบนหาด  เป็นไปไม่ได้ที่ขยะจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อชายหาด” เธอกล่าวและเสริมว่า “เมื่อถึงจุดหนึ่ง ขยะเหล่านี้จะเปลี่ยนอุณหภูมิและองค์ประกอบทางเคมีของหาด และวิธีที่หาดดูดซึมหรือปล่อยให้น้ำระเหย สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่บนหาด”

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2011 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า  ไมโครพลาสติกที่ฝังอยู่ในทรายทำให้น้ำซึมผ่านตะกอนได้ง่ายขึ้น จึงส่งผลโดยตรงต่อความเร็วในการแห้งของทราย  นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกยังส่งผลต่ออุณหภูมิของทราย  เนื่องจากเมื่อสะสมมากขึ้น พลาสติกเหล่านี้จะทำหน้าที่คล้ายฉนวนป้องกันไม่ให้ความร้อนผ่านลงไปยังทรายชั้นล่างๆ  สิ่งนี้มีผลกระทบต่อเต่าทะเล เนื่องจากอุณหภูมิมีส่วนกำหนดเพศของลูกเต่าที่ฟักออกจากไข่

“อุณหภูมิที่เย็นกว่าของรังทำให้การกกไข่ใช้เวลานานขึ้น และอาจเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนระหว่างเพศของเต่า โดยเต่าเพศผู้จะมีจำนวนมากกว่าเพศเมีย” สตีเวน โคลเบิร์ต (Steven Colbert) นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากมหาวิทยาลัยฮาวาย และหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าว ระบุ

กระนั้น  จอร์จ ลีโอนาร์ด หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Ocean Conservancy ซึ่งทำความสะอาดชายหาดในมากกว่า 100 ประเทศ  และเก็บขยะมากกว่า 136 ล้านกิโลกรัม  กล่าวว่า  เขาคลางแคลงกับแนวคิดที่ว่า  ชายหาดในแคลิฟอร์เนียอาจมีสภาพเหมือนหาดบนหมู่เกาะโคโคส  หากยุติการทำความสะอาดชายหาดเหล่านั้น

“เราคาดการณ์แบบนั้นไม่ได้” เขากล่าวก่อนจะทิ้งท้ายว่า  ถิ่นอาศัยนั้นแตกต่างกัน  สภาพทางสมุทรศาสตร์ก็แตกต่างกัน  แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า  พลาสติกไหลเวียนไปถึงที่ที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ทิ้งหลักฐานของการใช้และความลุ่มหลงในพลาสติกของเราไว้นั้น  ช่างน่าพรั่นพรึง ถึงเวลาของความพยายามในระดับโลกแล้ว”

เรื่อง LAURA PARKER


อ่านเพิ่มเติม การจัดการขยะอย่างไม่ถูกวิธีอาจเป็นสาเหตุของการตายของคนนับล้านในแต่ละปี

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.