รู้หรือไม่ มนุษย์กินพลาสติกเข้าไปทีละนิดโดยไม่รู้ตัว

แม้ พลาสติก จะมีมากมายในแหล่งน้ำ อากาศ หรือแม้แต่อาหารทั่วๆ ไป แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามันจะส่งผลต่อสุขภาพของเราหรือไม่

พลาสติก ชิ้นเล็ก ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์เรียกว่าไมโครพลาสติกนั้นมีอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ใต้มหาสมุทร ผสมปนเปไปกับทรายบนชายหาด หรือปลิวไปกับสายลม ก็สามารถเข้ามาอยู่ในตัวเราได้ทั้งนั้น

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการพบไมโครพลาสติกในตัวอย่างอุจจาระคนอาสาสมัคร 8 คน ที่เข้าร่วมในการทดลองนำร่องที่ค้นคว้าว่ามนุษย์บริโภคพลาสติกโดยไม่ได้ตั้งใจมากขนาดไหน

ในขณะนี้ มีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Environmental Science and Technology กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่ามนุษย์อาจบริโภคอนุภาคไมโครพลาสติกที่มีอยู่ทุกที่ตั้งแต่ 39,000 – 52,000 อนุภาคต่อปี นอกจากนี้ ยังมีไมโครพลาสติกที่เราหายใจเข้าไป ซึ่งเป็นจำนวนราว 74,000 อนุภาค

มีการใช้พลาสติกในตลอดการผลิตอาหาร ดังเช่นภาพนี้ที่แสดงถึงการปลูกกล้วยที่ห่อด้วยพลาสติกในประเทศแคเมอรูน เพื่อป้องกันไม่ให้มีจุดด่างหรือรอยช้ำ ภาพถ่ายโดย UNIVERSAL IMAGES GROUP, GETTY IMAGES

วิธีการวัดจำนวนพลาสติก

อนุภาคไมโครพลาสติกคือชิ้นส่วนของพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีขนาดเล็กจนต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์

งานศึกษาชิ้นนี้เป็นการตรวจสอบจำนวนไมโครพลาสติกที่ปรากฏอยู่ในเบียร์ เกลือ อาหารทะเล น้ำตาล แอลกอฮอล์ และน้ำผึ้ง ซึ่งว่าพบไมโครพลาสติกในอาหารมีเพียงร้อยละ 15 ของปริมาณแคลอรี่ที่แนะนำต่อวัน ต่อคน

นักวิจัยยังศึกษาถึงจำนวนไมโครพลาสติกที่ปะปนอยู่ในน้ำดื่มและอากาศ พบว่า คนที่ได้รับแนะนำว่าให้ดื่มน้ำประปาพบว่าได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายถึง 4,000 อนุภาคต่อปี ในขณะที่คนที่ดื่มเฉพาะน้ำบรรจุขวด ร่างกายได้รับไมโครพลาสติกเพิ่มเติมอีกถึง 90,000 อนุภาคต่อปี

ผู้เขียนงานวิจัย คีราน ค็อกซ์ คาดว่า ข้อสรุปของเขาอาจต่ำกว่าความเป็นจริง และดูเหมือนว่าผู้คนอาจบริโภคไมโครพลาสติกมากกว่านั้น

“สิ่งของที่เรานำมาใช้พิจารณาคือของที่มนุษย์กินเข้าไปได้โดยตรง แต่เรายังไม่รวมถึงชั้นภายนอกอาหาร รวมไปถึงพลาสติกที่มาจากบรรจุภัณฑ์” คอกซ์กล่าวและเสริมว่า “ผมคิดว่าน่าจะมีกรณีที่มีพลาสติกอยู่ในอาหารมากกว่าที่เรารู้สึก”

งานศึกษาชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Environmental Pollution เมื่อปี 2018 สรุปว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะรับพลาสติกเข้าสู่ร่างกายผ่านฝุ่นควันในสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากกว่าการบริโภคสัตว์จำพวกหอยเสียอีก

ลิงวอกคู่หนึ่งกำลังตรวจดูพลาสติกที่ถูกทิ้งไว้ที่นอกวัด พชูภทินาธ (Pashupatinath Temple) ในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ภาพถ่ายโดย PETE RYAN, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ผลกระทบต่อไมโครพลาสติกที่มีต่อร่างกาย

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าพลาสติกอยู่ในร่างกายของเรา มันจะเข้าสู่กระแสเลือดไหม จะซึมผ่านเข้าไปในลำไส้ หรือแค่เข้ามาและออกจากร่างกายเราไปโดยที่ไม่มีผลกระทบอะไร

ลีอาห์ เบนเดลล์ นักพิษวิทยาเชิงนิเวศของมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ในแคนาดา กล่าวว่า งานวิจัยของคอกซ์เป็นการใช้มุมมองอย่างง่ายในประเด็นที่ประกอบไปด้วยปัจจัยที่มีหลายตัวแปร “แต่ข้อสรุปที่ว่าเราบริโภคพลาสติกเข้าสู่ร่างกายจำนวนมากเป็นเรื่องจริง”

เธอกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องจำเอาไว้ว่าไมโครพลาสติกนั้นอาจมาในรูปแบบของชิ้นส่วนเล็กๆ ก้อนกลมเล็กๆ เส้นใย และแผ่นฟิล์ม มันสามารถก่อร่างขึ้นได้จากสสารจำนวนหนึ่งที่มีการเติมแต่งทางเคมี (chemical additives) ซึ่งมีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ เธอจึงบรรยายถึงไมโครพลาสติกว่ามัน “มีหลายลักษณะ” บางชนิดก็ประกอบไปด้วยสารเคมีที่อาจเป็นพิษ ในขณะที่บางชนิดก็เป็นพาหะสำหรับแบคทีเรียและปรสิตเข้าสู่ร่างกาย

อาหารที่ปราศจากพลาสติก

มนุษย์บริโภคไมโครพลาสติกผ่านหลายช่องทาง มันอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านการกินอาหารทะเล การหายใจเข้าอากาศที่อยู่รอบตัว หรือบริโภคอาหารที่มีร่องรอยของพลาสติกซึ่งมาจากบรรจุภัณฑ์

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องอยากที่เราจะหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติก คอกซ์กล่าว

ท่ามกลางงานวิจัยมากมาย เส้นใยขนาดเล็ก (Microfibers) คือพลาสติกที่ถูกพบเจอได้ง่ายที่สุด เส้นใยขนาดเล็กนั้นลอยออกมาจากสิ่งทอ เช่น ไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเมื่อมีการซักล้างเสื้อผ้า จะมีเส้นใยขนาดจิ๋วหลุดไปตามระบบนิเวศผ่านน้ำเสียจากการซักล้าง รองลงมาคือชิ้นส่วนพลาสติกเล็กๆ ที่มาจากกระเป๋าหรือหลอด

คอกซ์กล่าวว่า เขาหวังว่างานวิจัยของเขาจะช่วยเน้นย้ำว่ามลพิษจากพลาสติกที่ไม่ได้ส่งผลแค่ในบรรดาสัตว์น้ำเท่านั้น

“เราไม่เคยพิจารณาตัวเองว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากพลาสติก” เขากล่าวและเสริมว่า “ซึ่งจริงๆ คือพวกเรา”

เรื่องโดย SARAH GIBBENS


อ่านเพิ่มเติม ขยะพลาสติก : ภัยคุกคามใหม่แห่งท้องทะเล

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.