แปรงสีฟัน ขยะพลาสติกชนิดใหม่

ปกติแล้วขยะพลาสติกที่พบได้ทั่วไปตามชายหาดมักจะเป็นถุงพลาสติก หลอด กล่องโฟม และเศษข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งของใช้ส่วนตัวอย่าง แปรงสีฟัน (ขยะพลาสติก: ภัยคุกคามใหม่แห่งท้องทะเล)

แปรงสีฟันยุคแรก ๆ ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ กระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อวิทยาการต่าง ๆ พัฒนาขึ้น ไนล่อนและพลาสติกชนิดอื่น ๆ จึงถูกนำมาใช้ผลิตแปรงสีฟันตั้งแต่นั้น และเพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก จึงเป็นไปได้ที่แปรงสีฟันพลาสติกที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1930 จะยังหลงเหลืออยู่ที่ไหนในโลกนี้ก็ได้ 

มนุษยชาติรู้จักทำความสะอาดฟันมาหลายพันปีแล้ว นักโบราณคดีค้นพบ “แท่งไม้จิ้มฟัน” ในสุสานอียิปต์โบราณ พระพุทธเจ้าทรงเคี้ยวกิ่งไม้เล็ก ๆ (สันนิษฐานว่าอาจเป็นกิ่งข่อย) จนปลายของมันอ่อนนุ่มลงเพื่อทำความสะอาดฟัน แม้กระทั่งกวีชาวโรมันอย่าง Ovid ยังกล่าวว่าการทำความสะอาดฟันทุกเช้าเป็นเรื่องที่ดี ในยุคจักรพรรดิหงจื้อของจีนช่วงปลายศตวรรษที่ 15 มีการออกแบบสิ่งที่คล้ายคลึงกับแปรงสีฟันในปัจจุบัน โดยขนแปรงทำมาจากขนหมูป่าที่สั้นและแน่น ส่วนด้ามจับทำมาจากกระดูกหรือไม้ แต่แปรงสีฟันดังกล่าวมีราคาแพง ชาวบ้านทั่วไปจึงใช้กิ่งไม้ เศษผ้า หรือกระทั่งนิ้วมือของตนในการทำความสะอาดฟัน

สงครามเปลี่ยนทุกอย่าง

การดูแลสุขภาพฟันยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก จนกระทั่งสงครามกลางเมืองอเมริกันในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในยุคนี้ปืนต้องโหลดกระสุนทีละนัด กระสุนและดินปืนถูกบรรจุไว้ในห่อกระดาษ เมื่อจะโหลดกระสุน ทหารต้องใช้ฟันในการฉีกห่อกระดาษนั้น กองทัพได้มองเห็นปัญหาสุขภาพฟันของเหล่าทหารตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมืองต่อเนื่องมาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชายหนุ่มหลายคนที่สมัครใจจะไปร่วมรบในสงคราม แต่กลับโดนปฏิเสธเพราะมีฟันไม่ครบตามที่กองทัพกำหนด จนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เหล่าทหารเริ่มดูแลรักษาฟันกันมากขึ้น แปรงสีฟันได้รับความนิยมภายในกองทัพ และเมื่อทหารเหล่านั้นกลับจากการรบก็ได้นำเอานิสัยการแปรงฟันติดตัวกลับบ้านไปด้วย

เส้นทางสู่การเป็นอเมริกันชน

ทันตแพทย์เชื่อว่าสุขภาพฟันที่ไม่ดีอาจเป็นสัญญาณของโรคร้าย ภาวะขาดสารอาหาร และการไม่ดูแลรักษาความสะอาด Picard นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า “เหล่าทันตแพทย์มองตัวเองเป็นผู้ดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่ใช่เพียงแค่ภายในช่องปาก แต่หมายถึงสุขภาพโดยรวม” การรณรงค์การดูแลสุขภาพปากและฟันจึงเริ่มเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่เหล่าผู้อพยพที่เข้ามาขายแรงงานในอเมริกา “การดูแลช่องปากให้สะอาดและดูดีจึงกลายเป็นสิ่งที่เหล่าผู้อพยพเห็นว่าเป็นเส้นทางสู่การเป็นอเมริกันชนที่ดี” ทันตแพทย์คนหนึ่งในเพนซิลเวเนียกล่าว ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

การเข้ามาของพลาสติก

เมื่อความต้องการแปรงสีฟันเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยการพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ อย่างพลาสติก ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักเคมีค้นพบว่าพวกเขาสามารถสร้าง “เซลลูลอยด์” ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความแข็งแรง มันวาว ขึ้นรูปได้และมีราคาถูก เหมาะสำหรับการนำมาทำเป็นด้ามจับแปรงสีฟัน

ภายหลัง ขนแปรงเองก็ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์เช่นกัน โดยในปี 1938 บริษัท Dr. West’s ได้ออกผลิตภัณฑ์แปรงสีฟันที่ทำมาจากเชือกไนล่อน โดยโฆษณาว่า “กันน้ำได้ 100% ทำความสะอาดฟันได้ดีกว่า และใช้งานได้นานกว่า” ตั้งแต่นั้นมาพลาสติกชนิดใหม่ก็ได้ถูกนำมาแทนที่เซลลูลอยด์ในการผลิตด้ามจับแปรงสีฟัน ส่วนขนแปรงก็มีวิธีการผลิตที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทว่าดีไซน์ของแปรงสีฟันยังคงเหมือนเดิมจวบจนปัจจุบัน เหมือนความคงทนของพลาสติกนั่นเอง

ภาพแสดงวิวัฒนาการของแปรงสีฟัน ที่มา : MONICA SERRANO, NGM STAFF; MEG ROOSEVELT
SOURCES: SMITHSONIAN INSTITUTION; ERIC HUDSON, PRESERVE.; LIBRARY OF CONGRESS

อนาคตที่ปราศจากพลาสติก

“ดูจะเป็นเรื่องน่าทึ่งที่ดีไซน์ของแปรงสีฟันนั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยตลอดหลายร้อยปี อาจเป็นเพราะการใช้งานที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย” Charlotte Fiell นักประวัติศาสตร์ด้านการออกแบบกล่าว แต่ปัจจุบันดีไซเนอร์ต่างเริ่มตั้งคำถามว่า เราจะสามารถผลิตอุปกรณ์ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันชิ้นนี้โดยไม่ใช้ หรือใช้พลาสติกน้อยที่สุดได้หรือไม่

สมาคมทันตแพทย์อเมริกัน (The American Dental Association) แนะนำว่า ทุกคนควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3-4 เดือน หากทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ ขยะที่มาจากแปรงสีฟันในสหรัฐอเมริกาเองจะมีมากกว่าหนึ่งพันล้านชิ้นต่อปี และหากทั่วโลกปฏิบัติตามคำแนะนำนี้เช่นกัน โลกจะมีขยะที่มาจากแปรงสีฟันเพียงอย่างเดียวสูงถึงสองหมื่นสามพันล้านชิ้นต่อปี แปรงสีฟันจำนวนมากไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เพราะส่วนประกอบบางอย่างไม่สามารถ/ยากที่จะทำลายได้ ผู้ผลิตบางรายจึงหันกลับไปใช้วัสดุจากธรรมชาติในการผลิต ด้ามจับที่ทำมาจากไม้ไผ่ถูกนำมาใช้ผลิตแปรงสีฟัน ส่วนขนแปรงยังคงทำมาจากไนล่อนอยู่ แต่อย่างน้อยก็มีเพียงขนแปรงเท่านั้นที่เป็นขยะ ขณะที่บางบริษัทยังคงผลิตแปรงสีฟันที่มีดีไซน์ดั้งเดิม แต่สามารถเปลี่ยนหัวแปรงได้ ช่วยลดขยะลงได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

อาจต้องยอมรับว่า การหาแปรงสีฟันที่ปราศจากวัสดุพลาสติกนั้นเป็นเรื่องยาก พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ก็ไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากไปกว่าพลาสติกทั่วไปสักเท่าไร แต่การพยายามลดการใช้พลาสติกมาเป็นวัสดุในการผลิตแปรงสีฟันเองก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และการทำให้ผู้คนทั่วไปตระหนักในสิ่งที่พวกเขาใช้ทำความสะอาดช่องปากทุกวันก็ถือเป็นเรื่องดีเช่นกัน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.