“ไม่มีมหาสมุทรไหนเหมือนที่นี่อีกแล้วครับ” นักชีววิทยาทางทะเล ไบรอัน ลาพอยต์ บอก “ไม่มีที่อื่นใดบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเราที่โอบอุ้มความหลากหลายของชีวิตกลางห้วงสมุทรได้อย่างนี้ ทั้งหมดล้วนมาจากสาหร่ายพวกนี้ครับ” ลาพอยต์กำลังพูดถึงสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลลอยน้ำได้ชื่อสาหร่ายทุ่นหรือสาหร่ายซาร์กัสซัมในมหาสมุทรแอตแลนติก ตรงบริเวณที่เรียกว่า ทะเลซาร์กัสโซ (Sargasso Sea) เขตแดนของทะเลแห่งนี้ไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้แบ่งด้วยแผ่นดิน แต่ด้วยกระแสน้ำหลักห้าสายที่ไหลวนตามเข็มนาฬิการอบเกาะเบอร์มิวดา ความที่ไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่ ห้วงน้ำแถบนี้จึงไม่ค่อยมีสารอาหาร กระจ่างใส และเป็นสีฟ้าจัด
ทะเลซาร์กัสโซ เป็นส่วนหนึ่งของระบบไหลเวียนขนาดใหญ่ชื่อวงวนใหญ่แอตแลนติกเหนือ (North Atlantic gyre) ซึ่งมักได้รับการขนานนามว่าทะเลทรายกลางสมุทร และก็ดูจะเป็นเช่นนั้น ถ้าไม่ใช่เพราะผืนแพสาหร่ายที่ลอยละล่องอยู่
สาหร่ายทุ่นอาจดูไม่สะดุดตาเมื่อแรกเห็น ก็แค่พืชน้ำเกาะเป็นแพผืนใหญ่ แต่จากที่ลาพอยต์ช่วยอธิบายให้เราเห็นผ่านงานของเขา สาหร่ายทุ่นเป็นพื้นฐานของระบบนิเวศอันซับซ้อนที่หล่อเลี้ยงชีวิตในทะเลจำนวนมากอย่างน่าทึ่ง โดยเป็นทั้งที่พักพิงเคลื่อนที่และแหล่งอาหารหมุนเวียน
ลาพอยต์ซึ่งเป็นนักชีววิทยาประจำสถาบันสมุทรศาสตร์ฮาร์เบอร์บรานช์ของมหาวิทยาลัยฟลอริดาแอตแลนติกที่ฟอร์ตเพียร์ซ ศึกษาสาหร่ายทุ่นมาตลอด 36 ปีทั้งเฝ้าสังเกตจากดาวเทียมและจับต้องโดยตรงผ่านชุดดำน้ำสกูบา เขาอยากรู้ว่าสาหร่ายพวกนี้มาจากไหน เคลื่อนที่ไปอย่างไร อยู่ได้ด้วยอะไรและหล่อเลี้ยงสิ่งใดบ้าง ไม่เพียงเท่านั้น ลาพอยต์ยังอยากคลี่คลายความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสาหร่ายทุ่นกับสัตว์ทะเลอื่นๆ ตั้งแต่ม้าน้ำไปถึงฉลามขาว เขาบอกว่า ด้วยการศึกษาทรัพยากรสำคัญชนิดนี้เท่านั้นที่จะทำให้เราปกป้องมันจากภัยคุกคามต่างๆ เช่น ภาวะทะเลเป็นกรดและมลพิษได้
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สาหร่ายทุ่นกลายเป็นข่าว ไม่ใช่ในฐานะแหล่งที่ให้พลังงานแก่ชีวิต แต่ในฐานะภัยคุกคาม เมื่อสาหร่ายกองมหึมาถูกซัดมาเกยหาดต่างๆในทะเลแคริบเบียนและเม็กซิโกจนดูเสื่อมโทรม ไม่มีใครพูดถึงการอนุรักษ์มันอีกต่อไป
สาหร่ายทุ่นถือกำเนิดในน่านน้ำอุดมไปด้วยสารอาหารใกล้ชายฝั่งทวีปอเมริกา โดยเฉพาะในอ่าวเม็กซิโก กระแสน้ำพัดพามันลอยอ้อมคาบสมุทรฟลอริดาเพื่อส่งต่อให้กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมที่ไหลขึ้นเหนือพัดพาไปลงเอยที่ทะเลซาร์กัสโซในที่สุด
ซิลเวีย เอิร์ล นักสมุทรศาสตร์ผู้มีส่วนริเริ่มในความพยายามผลักดันให้ซาร์กัสโซเป็นเขตสงวนทางทะเลในทะเลหลวงแห่งแรก เปรียบสาหร่ายชนิดนี้กับป่าฝนเขตร้อนที่มีค่าดุจทองคำ ซึ่งเป็นคำอุปมาที่เหมาะมาก เพราะสาหร่ายนี้ก่อตัวเป็นเสมือนเรือนยอดบนผิวน้ำ ทำให้ผมนึกถึงแนวปะการังลอยน้ำ หรือกระทั่งทุ่งหญ้ากลางทะเล เป็นดั่งเซเรงเกติแห่งห้วงสมุทรด้วยซ้ำ
เส้นสายโยงใยมุ่นพันหนาทึบของสาหร่ายทุ่นเอื้อให้สิ่งมีชีวิตอันหลากหลายอย่างน่าทึ่ง ซึ่งมีทั้งตัวอ่อนและวัยรุ่น เข้ามาซ่อนตัวและหากินผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบปลา 122 ชนิด รวมไปถึงลูกเต่าทะเลวัยอ่อนทากเปลือย ม้าน้ำ ปู กุ้ง และหอยทากในทางกลับกัน สาหร่ายก็ได้อาศัยมูลของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ในการเจริญเติบโต
สัตว์ขนาดใหญ่อย่างปลาและเต่าหาอาหารได้เหลือเฟือในแพสาหร่ายทุ่น และพวกมันก็ดึงดูดสัตว์นักล่าขนาดใหญ่กว่าเข้ามาตั้งแต่ปลาวัว ปลากะพงดำปลาวัวจมูกยาว ปลาอีโต้มอญ และปลากะมงเรื่อยไปจนถึงสัตว์ที่อยู่ด้านบนของห่วงโซ่อาหารอย่างฉลาม ทูน่า อินทรีน้ำลึก และกระโทง ขณะที่นกร่อนทะเล นกจมูกหลอด นกเพเทรล นกนางนวลนกบูบีและนกอื่นๆที่หากินในทะเลเปิดใช้แพสาหร่ายทุ่นเป็นที่หากินและหลับนอน
สาหร่ายทุ่นสองชนิดหลักในทะเลซาร์กัสโซเป็นสาหร่าย (ทะเล) เพียงสองชนิดในโลกที่ไม่หยั่งรากบนพื้นสมุทร ชีวิตไร้รากนี้ส่งผลให้แพสาหร่ายโปร่งแสงสีทองจนถึงเหลืองอำพันไหลเรื่อยตามกระแสลมและกระแสน้ำ แยกจากกันยามเจอพายุ และกลับมารวมตัวกันอีกครั้งยามคลื่นลมสงบ ขอบนอกของมันผนึกกันแน่นเหมือนแผ่นตีนตุ๊กแก ส่วนขนาดก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ยาวหลายกิโลเมตรไปถึงกระจุกเท่าฝ่ามือ
“กระทั่งกระจุกเล็กๆ พวกนั้นก็มีสิ่งมีชีวิตอยู่ครับ” จิม แฟรงก์ส นักวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายทุ่นจากห้องปฏิบัติการวิจัยชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นมิสซิสซิปปีในโอเชียนสปริงส์ บอก สรรพชีวิตในดงสาหร่ายต้องปรับตัวตลอดเวลากับการแตกตัวและกลับมารวมตัวกันของเกาะที่มันอิงอาศัย แฟรงก์สบอกว่า สาหร่ายทุ่น “เป็นหนึ่งในถิ่นอาศัยกลางทะเลที่มีพลวัตมากที่สุดเท่าที่เราจะนึกภาพได้”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สาหร่ายทุ่นถูกซัดขึ้นมาเกยหาดหลายแห่งบนเกาะมาร์ตินีกและกวาเดอลูปเป็นกองสูงกว่าสามเมตร คนในตรินิแดดและชาวเกาะในทะเลแคริบเบียนอื่นๆ ต้องทิ้งบ้านเพื่อหนีก๊าซพิษอย่างไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่เกิดจากสาหร่ายเน่าบนชายหาด
ไม่มีใครรู้สาเหตุแน่ชัดของการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของสาหร่ายทุ่น ลาพอยต์คิดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนทิศและพัดมันไปยังบริเวณที่แทบไม่เคยมีสาหร่ายทุ่นปรากฏให้เห็น นั่นคือแอฟริกาตะวันตกไปจนถึงชายฝั่งทางเหนือของบราซิล แต่ตัวการหลักน่าจะเป็นสารอาหารที่อุดมด้วยไนโตรเจนจากการทำฟาร์มระดับอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ตะกอนสารอาหารไหลจากระบบแม่น้ำมิสซิสซิปปีลงอ่าวเม็กซิโก ทำให้สาหร่ายทุ่นเจริญเติบโตอย่างล้นเกิน
เรื่อง เจมส์ โพรเส็ก
ภาพถ่าย เดวิด ดูบิเลต์ และเดวิด ลิตต์ชวาเกอร์
** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับมิถุนายน 2562
อ่านเพิ่มเติม