สิบเอกวิมไบ คูมีเร ยกภาพถ่ายซากเสือดาวตัวหนึ่งในโทรศัพท์ของเธอขึ้นมาดู เธอจ้องมองภาพนั้น ขณะรถกระบะที่นั่งอยู่กระเด้งกระดอนไปบนถนนขรุขระ คอของเสือตัวนั้นถูกเชือด อุ้งเท้าชุ่มเลือดห้อยปวกเปียก “ก่อนมาทำงาน ผู้พิทักษ์ป่า ฉันไม่เคยนึกถึงสัตว์พวกนี้เลยค่ะ” เธอบอก
ปัจจุบัน คูมีเร วัย 33 ปี กับทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหญิงล้วน ชื่อ หน่วยอาคาชิงกา นับเป็นหน่วยคุ้มครองสัตว์ป่าที่ทุ่มเทที่สุดกลุ่มหนึ่ง ทีมนี้เป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ป่านานาชาติ (International Anti-Poaching Foundation) องค์กรไม่แสวงกำไรที่บริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฟุนดุนดูในซิมบับเว หน่วยอาคาชิงกา (หรือ “ผู้กล้า” ในภาษาโชนา) ลาดตระเวนเขตฟุนดุนดู ซึ่งมีพรมแดนติดกับชุมชน 29 แห่ง การอยู่ใกล้ชิดกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าบางครั้งก็นำไปสู่ความขัดแย้ง เช่น กรณีเกี่ยวกับเสือดาวในภาพถ่ายที่คูมีเรกำลังมุ่งหน้าไปตรวจสอบ
ในที่เกิดเหตุ คูมีเรแหวกเข้าไปในฝูงชนผู้โกรธเกรี้ยว ชายได้รับบาดเจ็บสิบคนทยอยก้าวออกมา คนหนึ่งมีผ้าพันแผลแปะอยู่ที่แก้ม อีกคนมีผ้าฝ้ายเปรอะเลือดพันอยู่ที่แขน แปดคนที่เหลือซึ่งได้รับการพยาบาลแผลขีดข่วนกับแผลเจาะเป็นรูมาจับกลุ่มกันอยู่รอบตัวเธอ
เจ้าหน้าที่อนุรักษ์จากอุทยานอีกแห่งเก็บซากเสือดาวตัวนั้นได้ และกล่าวหาชายเหล่านี้ว่ากระทำความผิด ทำให้ฝูงชนโกรธขึ้ง กลุ่มชายผู้ได้รับบาดเจ็บบอกว่า พวกตนถูกเสือดาวโจมตี แต่ดูจากบาดแผลเพียงเล็กน้อยของพวกเขา เจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าอาคาชิงกาสงสัยว่า กรณีนี้อาจไม่ใช่การป้องกันตัวโดยปราศจากการยั่วยุ การฆ่าสัตว์ป่าโดยไม่มีใบอนุญาตถือเป็นความผิดอาญา แต่หนัง เขี้ยว เล็บ และกระดูกเสือดาว เทียบเท่ากับรายได้ทั้งเดือนในเศรษฐกิจอันยากไร้ของซิมบับเว
เมื่อซากเสือดาวได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัย และเหตุการณ์แวดล้อมการตายของมันได้รับการบันทึกไว้ตามขั้นตอนแล้ว หน้าที่ของทีมในเวลานี้คือเตือนชุมชนให้ตระหนักว่า พวกเธอมาที่นี่เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า ทีมเจ้าหน้าที่หญิงล้วนนำกลุ่มชายบาดเจ็บขึ้นรถกระบะของพวกเธอ และพาไปยังคลินิกท้องถิ่น
ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะยอมรับสินบนจากเหล่าพรานลักลอบล่าสัตว์น้อยกว่า และสันทัดจัดเจนกว่าในการผ่อนคลายสถานการณ์ที่มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง
เหตุการณ์ทำนองนี้คือหัวใจของภารกิจหน่วยอาคาชิงกา และเป็นฉากคุ้นเคยสำหรับเดเมียน แมนเดอร์ ผู้ก่อตั้งหน่วยนี้ เขาเป็นชาวออสเตรเลียที่มีรอยสักทั่วตัว และเป็นอดีตทหารกองกำลังพิเศษ ผู้ฝึกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในซิมบับเวมานานกว่าสิบปีแล้ว ประสบการณ์สู้รบในสมรภูมิอิรักและในแนวหน้าของสงครามลักลอบล่าสัตว์ป่าในแอฟริกาสอนให้เขารู้ว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นสันติภาพในหมู่มนุษย์หรือทัศนคติเรื่องสัตว์ป่า ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชน
ภายใต้แนวคิดที่มีชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางนี้ แมนเดอร์พุ่งเป้าไปยังหมู่บ้านรอบๆเขตฟุนดุนดู โดยเฉพาะชาวบ้านผู้หญิง เพื่อรับสมัครคนมาบรรจุเข้าหน่วยอาคาชิงกา หลังจากฝึกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้ชายมาหลายปี เขาได้ข้อสรุปว่า ผู้หญิงเหมาะกับงานนี้มากกว่าในหลายแง่ แมนเดอร์พบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะยอมรับสินบนจากเหล่าพรานลักลอบล่าสัตว์น้อยกว่า และสันทัดจัดเจนกว่าในการผ่อนคลายสถานการณ์ที่มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง
แมนเดอร์มองหาผู้หญิงที่เคยประสบความบอบช้ำทางจิตใจมาก่อน เขาให้เหตุผลว่า ใครจะเหมาะกับภารกิจคุ้มครองสัตว์ป่าที่ถูกเบียดเบียน มากไปกว่าผู้หญิงที่เคยถูกเบียดเบียนทำร้ายมากับตัวเอง เขาออกแบบการฝึกคัดเลือก ตามแบบการฝึกทหารกองกำลังพิเศษ โดยกำหนดให้พวกผู้หญิงฝึกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสามวันเพื่อทดสอบทักษะด้านการทำงานเป็นทีมระหว่างที่เปียกปอน หนาวเหน็บ หิวโหย และอ่อนล้า ในจำนวนผู้สมัคร 37 คนที่เริ่มต้นเข้าคอร์ส มี 16 คนที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการฝึกฝน และมีเพียงสามคนที่ขอถอนตัว หลายปีก่อน แมนเดอร์เคยจัดคอร์สทำนองเดียวกันนี้สำหรับผู้เข้าทดสอบชาย 189 คน พอวันแรกจบลง ปรากฏว่าเหลือแค่สามคนเท่านั้นที่ไม่ขอถอนตัว “เราคิดว่าเราบังคับให้ผู้หญิงเหล่านี้เผชิญกับนรก แต่กลายเป็นว่า พวกเธอเคยผ่านนรกกันมาแล้วครับ” แมนเดอร์เล่า
ใครจะเหมาะกับภารกิจคุ้มครองสัตว์ป่าที่ถูกเบียดเบียน มากไปกว่าผู้หญิงที่เคยถูกเบียดเบียนทำร้ายมากับตัวเอง
เช้าวันต่อมา พวกผู้หญิงกินอาหารเช้า แมนเดอร์สรุปภารกิจบุกค้นสองภารกิจที่จะต้องปฏิบัติในคืนที่จะมาถึง ภารกิจหนึ่งคือตรวจค้นกลุ่มอาคารของชายผู้หนึ่งซึ่งมีเบาะแสว่าเป็นผู้ครอบครองปืนไรเฟิลไม่มีใบอนุญาตที่ใช้สังหารสัตว์ป่า อีกภารกิจหนึ่งคือการตรวจค้นบ้านพรานลักลอบล่าสัตว์ผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งที่พยายามบอกขายหนังเสือดาวผืนหนึ่งอยู่
ทีมอาคาชิงกาใช้เวลาเช้านั้นฝึกซ้อม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนจำตำแหน่งของตนได้ จากนั้น แมนเดอร์ก็ขึ้นนั่งหลังพวงมาลัย เจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าสี่คนกระโดดขึ้นหลังรถพร้อมกับตำรวจท้องที่นายหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการตรวจค้น แล้วทั้งทีมก็มุ่งหน้าออกไป
หลังเที่ยงคืน เมื่อหน่วยอาคาชิงกาเข้าใกล้บ้านผู้ต้องสงสัยที่เป็นเจ้าของปืนไม่มีใบอนุญาตในท้ายที่สุด แมนเดอร์ก็เหยียบคันเร่งพุ่งเข้าไปในพื้นที่หมู่อาคารแล้วกระแทกเหยียบเบรก เจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่ากระโดดลงจากรถและวิ่งไปประจำตำแหน่งตามที่ฝึกซ้อมมา ผู้ต้องสงสัยยอมให้พวกเขาเข้าไปในบ้าน ทีมตรวจค้นพบหนังตากแห้งของไดเกอร์ซึ่งเป็นแอนทิโลปขนาดเล็กชนิดหนึ่งหลายตัว ชายผู้นั้นถูกจับใส่กุญแจมือและนำตัวขึ้นรถกระบะ
ก่อนย้อนกลับมาที่ฐานในเช้าวันต่อมา ทีมอาคาชิงกาจับกุมผู้ถูกกล่าวหาว่าลักลอบล่าเสือดาวรายนั้นได้ คืนถัดมาพวกเธอจะจับผู้ต้องสงสัยว่าลักลอบล่าช้างได้รายหนึ่ง หลายชั่วโมงระหว่างนั้น พวกเธอออกลาดตระเวนพื้นที่กันต่อ และปลดแร้วของพรานลักลอบล่าสัตว์ได้หลายคัน ผลสำเร็จเหล่านี้ยืนยันว่า สัญชาตญาณของแมนเดอร์นั้นถูกต้อง “ผู้หญิงแบบนี้แหละครับที่จะเปลี่ยนทุกอย่างได้”
เรื่อง ลินด์ซีย์ เอ็น. สมิท
ภาพถ่าย เบรนต์ สเตอร์ตัน
* อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนมิถุนายน 2562
อ่านเพิ่มเติม