ยูเอ็น: “เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทุกสัปดาห์”

ผู้ทำงานด้าน ภัยพิบัติ ขององค์การสหประชาชาติเตือนว่า “ประเทศที่กำลังพัฒนาจำต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบทางธรรมชาติเสียตั้งแต่ตอนนี้”

เจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติออกโรงเตือนว่า ขณะนี้ โลกมีภัยพิบัติด้านวิกฤตการณ์ทางภูมิอากาศเกิดขึ้นในอัตราหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องเตรียมตัว ทั้งความสนใจและการทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาพร้อมรับผลกระทบอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้น

เดอะการ์เดียน สื่อออนไลน์ของอังกฤษ ได้ออกบทความรายงานกล่าวถึง มามิ มิซุโทริ (Mami Mizutori) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ ในด้านการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ ซึ่งได้ออกมากล่าวว่า ภัยพิบัติ เช่น พายุไซโคลน ในประเทศโมซัมบิก และภัยแล้ง ในอินเดียกำลังกลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าสื่อทั่วโลก ทว่ายังมีภัยพิบัติที่ “ส่งผลกระทบระดับต่ำ” (lower-impact disasters) ซึ่งไม่ได้ถูกรายงานในหน้าสื่อ แต่ทำให้มีผู้เสียชีวิต การย้ายออกจากพื้นที่ และความทุกข์ทรมาน เกิดขึ้นมากและเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ และมามิเสริมว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องของอนาคต หากแต่เป็นเรื่องของวันนี้”

สิ่งนี้หมายความว่า การปรับตัวต่อวิกฤตการณ์ด้านภูมิอากาศไม่ได้เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณากันในระยะยาวอีกต่อไป แต่ควรมีการลงทุนเรื่องนี้เสียตั้งแต่วันนี้ โดยมามิกล่าวว่า “ผู้คนต้องมีการพูดคุยในเรื่องการปรับตัวและฟื้นฟูในเรื่องนี้”

มีการประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่ราว 520 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในเรื่องการสร้างอาคารที่มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปกป้องผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศของโลกมีเพียงแค่ราวร้อยละ 3 หรือราว 2.7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในช่วงอีก 20 ปีข้างหน้า

ภาพถ่ายของถนนที่ได้รับความเสียหายแจกแผ่นดินไหว ภาพถ่ายโดย SPIRIT OF AMERICA, SHUTTERSTOCK

มิซุโทริกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่เงินจำนวนมาก [ในบริบทของการใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐาน] แต่บรรดานักลงทุนก็ยังทำได้ไม่มากพอ และการฟื้นฟูจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ผู้คนจะต้องจ่าย” โดยค่าใช้จ่ายเพื่อการฟื้นฟูนี้หมายถึงการวางมาตรฐานสำหรับโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบใหม่ เช่นที่อยู่อาศัย ถนนและโครงข่ายรถไฟ โรงงาน แหล่งน้ำและพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้รับมือกับผลกระทบจากน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ และสภาวะภูมิอากาศสุดขั้วให้ได้มากที่สุด

จนถึงวันนี้ งานที่ให้ความสำคัญส่วนใหญ่ในเรื่องวิกฤตการณ์ภูมิอากาศมักเป็นในเรื่องของ การบรรเทา (Mitigation) อันเป็นคำศัพท์เชิงเทคนิคที่หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในส่วนของการปรับตัวต่อผลกระทบกลับเป็นเรื่องที่รองลงมา ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันเลย “เราต้องพิจารณาในเรื่องความเสี่ยงของการไม่ลงทุนกับการฟื้นฟูจากภัยพิบัติด้วย” มิซุโทริ กล่าว

ภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบในระดับต่ำสามารถป้องกันได้ ถ้ามีการแจ้งเตือนในเรื่องสภาพอากาศรุนแรงและเตรียมพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การป้องกันน้ำท่วม หรือการเข้าถึงแหล่งน้ำในกรณีเกิดภัยแล้ง รวมไปถึงการตระหนักรู้ของรัฐบาลว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงภัยบ้าง

อย่างไรก็ตาม มิซุโทริกล่าวว่า ในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้มีการตื่นตัวในปัญหานี้เท่าใดนัก และแม้กระทั่งประเทศที่ร่ำรวยก็ต้องพบเจอกับความท้าทายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและวิธีการปกป้องผู้คนจากภัยพิบัติ

นักดับเพลิงกำลังเข้าระงับเพลิงในบ้านแห่งหนึ่งเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.1 แมกนิจูด ที่รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2019 อันเป็นแผ่นดินไหวในทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบสองทศวรรษ ภาพภ่ายโดย ROBYN BECK, AFP/GETTY IMAGES

โดยการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติ เช่น การปลูกป่าชายเลน พื้นที่ป่า และพื้นที่ชุ่มน้ำที่สามารถเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันน้ำท่วม ควรเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก มิซุโทริ กล่าว

ปัญหาที่มีนอกเหนือจากนี้ คือการปกป้องผู้คนที่มีการตั้งถิ่นฐานแบบไม่เป็นทางการ (informal settlements) หรือชุมชนแออัด ซึ่งมีความเปราะบางกว่าเมืองที่มีการวางแผนเอาไว้แล้วอย่างมาก โดยในพื้นที่ที่เปราะบางเหล่านี้ มีทั้งคนจน ผู้หญิง เด็กผู้สูงอายุ และคนพิการ จำนวนมากอาศัยอยู่ และพื้นที่เหล่านี้ไม่มีการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานเท่าใดนัก

นอกจากนี้ การปรับปรุงข้อกำหนด-ข้อบังคับ และการสร้างมาตรฐานในเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องบังคับใช้ด้วยความร่วมมือในระดับรัฐบาลด้วยเช่นกัน

“เราต้องพิจารณาความเสี่ยงในมุมมองแบบองค์รวมมากกว่านี้” มิซุโทริกล่าวทิ้งท้าย

แหล่งอ้างอิง

ขอขอบคุณบทความต้นฉบับ: One climate crisis disaster happening every week, UN warns

Climate Disasters Now Happening Weekly, UN Official Warns 


อ่านเพิ่มเติม ลมฟ้าอากาศสุดขั้ว กำลังเกิด ต้องรับมือ และอยู่ให้ได้

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.