ปะการังกินขยะพลาสติก แทนอาหารตามธรรมชาติ

การศึกษาล่าสุดพบว่า อนุภาคเล็กๆ ของพลาสติกอาจเป็นตัวการนำเชื้อก่อโรคที่ส่งผลให้ปะการังป่วยหรือตายได้

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปะการังกินขยะพลาสติก ชิ้นเล็กๆ เข้าไป และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ดูเหมือนว่าพวกมันเลือกกินขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” มากกว่าอาหารตามธรรมชาติ แม้ว่าพลาสติกเหล่านี้มีแบคทีเรียที่อาจคร่าชีวิตได้ก็ตาม

การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences รายงานการสำรวจปะการังที่อยู่แถบชายฝั่งโรดไอแลนด์ พบว่า ที่ผ่านมา ปะการังในทะเลเขตร้อนเริ่มคุ้นเคยกับการกินไมโครพลาสติกมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อพวกมันเอง

ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ไมโครพลาสติกเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ยอดภูเขาสูงไปจนถึงส่วนที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร สิ่งมีชีวิตหลายชนิด ตั้งแต่ปลาไปจนถึงนกต่างกินไมโครพลาสติกเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ที่กินไมโครพลาสติกผ่านการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและอาหาร

แรนดี โรตชัน นักชีววิทยาแนวปะการัง มหาวิทยาลัยบอสตัน หัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า ในช่วงแรกที่ทำวิจัยเรื่องระบบนิเวศทางทะเล เธอไม่คาดหวังการวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบจากพลาสติก แต่พลาสติกเหล่านี้ปรากฏในการวิจัยอยู่เนืองๆ จนไม่สามารถเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ได้ เมื่อคุณศึกษาระบบนิเวศหรือสิ่งมีชีวิตในทะเล คุณมักพบกับไมโครพลาสติกอยู่เสมอ

ภาพแสดงโพลิปของปะการังที่เกาะอยู่บนโครงร่างแข็ง

ร้ายยิ่งกว่าอาหารขยะ
โรตชันและทีมวิจัยเก็บตัวอย่างปะการังชนิด Astrangia poculata จากสี่โคโลนีที่อยู่นอกชายฝั่งแอตแลนติก จากแมสซาชูเซตส์ไปจนถึงอ่าวเม็กซิโก พวกเขาเลือกบริเวณนอกชายฝั่งของโรดไอแลนด์เป็นพื้นที่ศึกษา เพราะใกล้กับเมือง ซึ่งคาดว่าเป็นแหล่งที่ได้รับผลกระทบจากพลาสติกผ่านมลพิษทางน้ำ

เมื่อกลับมายังห้องปฏิบัติการ นักวิจัยแยกปะการังออกเป็นแต่ละโพลิปและนับจำนวนของไมโครพลาสติก พวกเขาพบเส้นใยเล็กๆ มากกว่า 100 ชิ้นในทุกโพลิปของปะการัง นับเป็นการสำรวจครั้งแรกที่พบไมโครพลาสติกในปะการังธรรมชาติ ก่อนหน้านี้ งานวิจัยฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การทดลองกับปะการังที่เลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการ พบปะการังชนิดเดียวกันนี้กินพลาสติกเป็นอาหาร

ทีมนักวิจัยทำการทดลองกับโพลิปปะการังที่เลี้ยงในห้องปฏิบัติการ โดยให้อาหารสองประเภทคือ เม็ดบีดเรืองแสงสีฟ้าที่เป็นส่วนผสมในสบู่ เครื่องสำอาง และยาบางชนิด และอาหารจากธรรมชาติอย่าง ไข่กุ้งทะเล พบว่า โพลิปปะการังเลือกกินเม็ดพลาสติกมากกว่าในปริมาณที่มากกว่าเกือบสองเท่า เมื่อปะการังกินเม็ดพลาสติกจนอิ่ม พวกมันก็หยุดกินไข่กุ้งทะเลด้วย

เจสสิกา การิลลี นักเขียนร่วมและนักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางทะเลแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกในซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “ฉันรู้สึกตกใจกับผลการทดลอง พวกมันไม่ได้เพียงกินสิ่งที่ลอยมาใกล้หนวดของตนเอง แต่พวกมันยังต้องการที่จะกินพลาสติกมากกว่าอาหารปกติเสียอีก

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศห้ามใช้เม็ดพลาสติกในปี 2015 แต่การห้ามปรามนี้ได้ผลเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และเช่นเดียวกับพลาสติกชนิดอื่นๆ เม็ดบีดเหล่านี้จะคงอยูในสิ่งแวดล้อม และคุกคามปะการังเป็นเวลาอีกหลายร้อยปี

ภาพนี้แสดงให้เห็นว่า โพลิปปะการังเลือกกินบีดพลาสติก (สีฟ้า) มากกว่าไข่กุ้ง (สีเหลือง)
ภาพถถ่าย Courtesy Rotjan Lab

พาหะนำโรค
ในการทดลองเพิ่มเติม นักวิจัยวางเม็ดพลาสติกไว้ในน้ำทะเลเพื่อให้เกิดชั้นฟิล์มของแบคทีเรีย กอตี ชาร์ป นักเขียนร่วมและนักจุลชีววิทยาปะการังมหาวิทยาลัยโรเจอร์วิลเลียมส์ในโรดไอแลนด์ อธิบายว่า ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ในมหาสมุทรมักถูกเคลือบด้วยแบคทีเรีย

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า หลังจากกลืนเม็ดพลาสติกลงไป 48 ชั่วโมง เหล่าปะการังก็คายพลาสติกออกมา แต่แบคทีเรีย E. coli ยังคงตกค้างอยู่ในโพรงอาหารของปะการัง และปะการังที่กินเม็ดพลาสติกปนเปื้อนแบคทีเรียตายภายในสองสัปดาห์หลังจากนั้น

โจลีอาห์ แลมบ์ นักนิเวศวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า “ส่วนนี้เป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ ไม่เคยมีใครสนใจพาหะนำโรคชนิดนี้มาก่อน” เธอได้สำรวจแนวปะการังหลายร้อยโคโลนี บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับโรคและมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติกขนาดใหญ่ งานวิจัยของเธอตีพิมพ์ในนิตยสาร Science เมื่อปีที่แล้ว เธอค้นพบว่ามีโรคเกิดกับปะการังเพิ่มขึ้นถึงยี่สิบเท่าหลังจากที่พลาสติกสัมผัสกับปะการัง

นักวิจัยกล่าวว่า แม้ว่าเชื้อ E. coli ไม่สามารถพบได้ทั่วไปในมหาสมุทร แต่เชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นที่เจริญอยู่อย่างหนาแน่นบนไมโครพลาสติก ส่งผลให้ปะการังเกิดโรคได้ ปะการังบางชนิดอาจจะไม่ตอบสนองต่อเม็ดพลาสติกหรือแบคทีเรียที่กินเข้าไปแบบเดียวกัน เพราะทีมวิจัยของโรตชันศึกษาปะการังเพียงแค่ชนิดพันธุ์เดียวเท่านั้น “ฉันรู้สึกหวาดหวั่นในสิ่งแย่ๆ ที่เราทำต่อ มหาสมุทร นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราตระกหนักต่อการทำให้ทะเลสะอาดขึ้น” โรตชันกล่าว

เรื่อง JENNY HOWARD

***แปลและเรียบเรียงโดย ศุภพิชา คุณวุฒิ
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ครีมกันแดดทางเลือกเพื่อปะการัง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.