อุทยานแห่งชาติทางทะเล หรือพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area: MPA) เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจโครงการทะเลพิสุทธิ์ (Pristine Seas Project) ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่ร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ หน่วยงานในท้องถิ่น และชุมชน เพื่อปกป้องท้องทะเลและมหาสมุทรที่ยังคงความสมบูรณ์ โดยการจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์เพื่อปกป้องระบบนิเวศและถิ่นอาศัยทางทะเล
อ่าวเทติสซึ่งตั้งอยู่ใกล้ปลายสุดของหมู่เกาะเตียร์ราเดลฟวยโกในประเทศอาร์เจนตินา น่าจะเป็นบริเวณใต้สุดที่คนจะไปถึงได้ในทวีปอเมริกา ทว่าน้อยคนนักที่เคยไป “ที่นี่ยากลำบากต่อการเดินเรือ” กัปตันเจมส์ คุก เขียนไว้ในบันทึกประจำวันเมื่อปี 1768 เพื่อเตือนผู้มาเยือนในอนาคตให้หลีกเลี่ยงสาหร่ายทะเล แต่อ่าวนี้เป็นสถานที่หลบคลื่นลมปั่นป่วนรุนแรงขึ้นชื่อในภูมิภาคนี้
ผมไปอ่าวเทติสเพื่อดำเนินโครงการสำรวจทะเลพิสุทธิ์ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก โดยร่วมมือกับรัฐบาลอาร์เจนตินา รัฐบาลท้องถิ่นของเตียร์ราเดลฟวยโก และสภาเพื่อการอนุรักษ์ทะเลปาตาโกเนีย ผู้ที่ไปกับผมคือสหายเก่าและเพื่อนร่วมงาน เกลาดิโอ กัมปาญา ซึ่งร่วมก่อตั้งสภานี้เมื่อปี 2004 และอุทิศชีวิตให้แก่การศึกษาและการคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมของอาร์เจนตินา เป้าหมายของเราคือการรวบรวมความรู้ทางวิทยาศาสตร์และถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อวางรากฐานให้เขตอนุรักษ์ หรือ อุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ได้รับความคุ้มครองแห่งใหม่ในน่านน้ำอาร์เจนตินา
การก่อตั้งเขตอนุรักษ์เช่นนั้น ซึ่งก็คือ อุทยานแห่งชาติทางทะเล เป็นงานสำคัญของชีวิตผม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทีมทะเลพิสุทธิ์ของเราร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อช่วยรัฐบาลต่างๆในการคุ้มครองน่านน้ำกว่าห้าล้านตารางกิโลเมตรของมหาสมุทรจากการประมงและภัยคุกคามอื่นๆ
การไปสำรวจดินแดนตอนปลายเตียร์ราเดลฟวยโกมีความสำคัญกับผมอย่างยิ่ง ไม่เพียงเพราะสิ่งที่เราอาจทำสำเร็จ แต่ยังมาจากความผูกพันส่วนตัวกับสถานที่แห่งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 1973 พอล เดย์ตัน เพื่อนและที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของผม ทำงานวิจัยบุกเบิกที่นี่ พอลกับเพื่อนซึ่งหาญกล้าเผชิญลมขั้วโลก ลูกเห็บ และหิมะ ดำน้ำรอบอ่าวเทติสและอิสลาเดโลสเอสตาโดส (เกาะสแตเทน) ทางทิศตะวันออก พวกเขาวัดขนาดและนับจำนวนสาหร่ายเคลป์ยักษ์และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ใต้เรือนยอดป่าเคลป์ ไม่เคยมีใครศึกษาถิ่นอาศัยใต้น้ำเหล่านี้ และภารกิจของเราส่วนหนึ่งจะตามรอยการสำรวจของพอล ผมได้เห็นกับตาถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในบริเวณอื่นๆ ของมหาสมุทรที่เกิดจากการทำประมงเกินขนาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เด่นชัดที่สุดคือแนวปะการังเกิดการฟอกขาวและตาย และน้ำแข็งทะเลอาร์กติกหดตัวลงในช่วงฤดูร้อน เราจะพบอะไรบ้างใต้ผิวน้ำที่นี่ หลังจากพอลมาเยือน 45 ปี
พอเกลาดิโอกับผมก้าวลงบนชายหาดก็ตระหนักทันทีว่า เรากำลังเดินอยู่บนหลุมศพขนาดมหึมา กระดูกสิงโตทะเลเก่าๆ ที่พรานในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ยี่สิบทิ้งไว้ ดังกรอบแกรบอยู่ใต้เท้าทุกย่างก้าว สิงโตทะเลและแมวน้ำขนถูกล่าอย่างไม่เลือกหน้า ส่วนใหญ่เพื่อเอาหนังและชั้นไขมันสำหรับเคี่ยวเอาน้ำมัน
ในสมัยของพอล เดย์ตัน รัฐบาลอาร์เจนตินาออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์เหล่านี้ แต่ประชากรยังไม่ฟื้นตัว จากข้อมูลของนักวิจัย สิงโตทะเลในท้องถิ่นมีเพียงหนึ่งในห้าของจำนวนที่มีเมื่อกว่า 70 ปีก่อน อาจเป็นเพราะเพศเมียวัยเจริญพันธุ์ลดจำนวนลงอย่างมากและผลกระทบรุนแรงจากการประมงเชิงอุตสาหกรรม
“เมื่อก่อนนี้ผู้คนฆ่าพวกมันโดยตรงครับ” เกลาดิโอบอกและเสริมว่า “ปัจจุบันเราทำให้พวกมันขาดอาหารด้วย” สามวันก่อนจะมาเยือนอ่าวเทติส เราเห็นเรืออวนลากขนาดยักษ์ยาว 110 เมตรที่ท่าเรือเมืองอูชัวยา เรืออวนลากเหล่านั้นและเรือเบ็ดราวทำการจับปลาตรงขอบไหล่ทวีปเตียร์ราเดลฟวยโก ซึ่งแอ่งลึกเริ่มต้นขึ้น
บริเวณใกล้ชายฝั่ง สภาพอากาศรุนแรงมากแทบทั้งปีจนน้อยคนนักลองเสี่ยงดำน้ำที่อ่าวเทติสและอิสลาเดโลสเอสตาโดส แต่ความที่เรามาถึงในสภาพอากาศค่อนข้างสงบ เราจึงสามารถดำน้ำรอบเกาะเป็นเวลาสองสัปดาห์
น่านน้ำที่เย็นและอุดมด้วยสารอาหารนำพาอาหารมาให้ป่าเคลป์อันเป็นระบบนิเวศทางทะเลชั้นเลิศที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ต้นสาหร่ายเติบโตขึ้นมายังผิวน้ำจากระดับลึกถึง 45 เมตร บางครั้งงอกได้ครึ่งเมตรในหนึ่งวัน สาหร่ายเคลป์ยักษ์เติบโตต่อไปเมื่อถึงผิวน้ำ ก่อเกิดเป็นเรือนยอดซึ่งแสงอาทิตย์ส่องลอดลงมาราวกับผ่านกระจกสีในมหาวิหาร
เรารู้สึกประหลาดใจ สาหร่ายเคลป์ในแต่ละอ่าวเป็นชนิดเดียวกัน สภาพทางสมุทรศาสตร์ของที่นี่ดูเหมือนจะยังคงเดิมตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างถาวร ดูเหมือนนี่จะเป็นของขวัญชิ้นเยี่ยม
เรายังรู้สึกทึ่งกับจำนวนสิ่งมีชีวิตอันมากมาย ก้นทะเลมีสิ่งมีชีวิตเข้าครอบครองอยู่ทุกตารางเซนติเมตร เช่น ฟองน้ำสีขาวและสีเหลือง สาหร่ายสีชมพู เพรียงหัวหอมรูปร่างเหมือนอมยิ้ม สาหร่ายเคลป์ยักษ์เอนตัวลงพื้นทะเลจากน้ำหนักของหอยแมลงภู่ที่ติดอยู่บนต้น ดาวทะเลสีน้ำเงินกินหอยแมลงภู่ ตลอดจนหอยทากและปูเสฉวน
หลังการสำรวจ เราเปลี่ยนจากชุดเว็ตสูทเป็นชุดนักธุรกิจเพื่อวิ่งเต้นให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอาร์เจนตินาคุ้มครองมหาสมุทร พร้อมกับหุ้นส่วนของเราที่สภาเพื่อการอนุรักษ์ทะเลปาตาโกเนียและองค์กรอนุรักษ์ทอมป์คินส์ อาเล็กซ์ มูโญซ ผู้อำนวยการโครงการทะเลพิสุทธิ์ประจำลาตินอเมริกา เสนอผลการสำรวจของเราแก่รัฐบาลเพื่อสนับสนุนโครงการจัดตั้งอุทยานทางทะเลยากาเนส เรายังฉายภาพยนตร์สารคดีจากการสำรวจของเรารอบปฐมทัศน์ในบัวโนสไอเรส ให้ผู้นำและพลเมืองอาร์เจนตินาได้ชมความมหัศจรรย์ทางทะเลของยากาเนสและเตียร์ราเดลฟวยโก
พอถึงเดือนธันวาคม รัฐสภาอาร์เจนตินาเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตตินี้ เราทุกคนกระวนกระวาย เรารู้ว่าสำนักงานบริหารอุทยานแห่งชาติและผู้นำคนสำคัญบางคนในรัฐบาลสนับสนุนการคุ้มครองพื้นที่นี้ แต่ภายใต้กฎหมายอาร์เจนตินา ร่างกฎหมายการจัดตั้งอุทยานต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
หลังการเจรจาต่อรองอย่างเคร่งเครียด สภาก็ลงมติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ผมรู้สึกอัศจรรย์ใจ ร่างกฎหมายผ่านการลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 196 ต่อ 0 เป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในประเทศไหนๆ วุฒิสภาลงมติเห็นชอบขั้นสุดท้ายในวันที่ 12 ธันวาคม
“วันนี้เป็นวันแห่งความสุขของชาวอาร์เจนตินาทุกคนครับ” เกลาดิโอบอกผมระหว่างคุยโทรศัพท์กันหลังจากร่างกฎหมายอุทยานได้รับการลงนามรับรองเป็นกฎหมาย แต่ความสุขนี้มิใช่สำหรับชาวอาร์เจนตินาเท่านั้น ความที่ผมได้รับสิทธิพิเศษให้สำรวจและถ่ายสารคดีในน่านน้ำเหล่านี้ ผมรู้สึกว่า มหาสมุทรเอาชนะการที่เราฉกฉวยสิ่งมีชีวิตไปจากมันอย่างไม่บันยะบันยังได้บ้างแล้ว
*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562
สารคดีแนะนำ