จากอินเดียถึงโบลิเวีย ผู้หญิงคือคนที่รู้ดีที่สุดว่า ครอบครัวของเธอต้องใช้นํ้ามากน้อยเท่าไร…
เมื่อแอชลีย์ กิลเบิร์ตสัน ช่างภาพ นั่งคุยกับสมาชิกครัวเรือนในหกประเทศเพื่อบันทึกภาพการเข้าถึงแหล่งนํ้าให้กับองค์การยูนิเซฟ เขาจะถามถึงปริมาณนํ้าที่ครัวเรือนหนึ่ง ๆ ใช้ในแต่ละวันจากนั้นจะนำนํ้าปริมาณดังกล่าวจากแหล่งนํ้าในท้องถิ่นมาใส่ลงในถังพลาสติกเพื่อถ่ายภาพ
แม้ว่าผู้เป็นภรรยาและลูกสาวจะเป็นคนไปตักนํ้ามาใช้ในครัวเรือน แต่สามีหรือพ่อมักเป็นคนตอบก่อนเสมอ “ผู้ชายมักไม่ค่อยรู้หรอกครับว่า การไปหานํ้าหรือตักนํ้ามาน่ะยากแค่ไหน หรือว่าจะต้องใช้นํ้าเท่าไร” กิลเบิร์ตสันเล่า “ผมจะบอกว่า ‘ขอคุยกับภรรยาคุณดีกว่านะครับ’ แล้วเธอก็หัวเราะ”
ความไม่เท่าเทียมกันของความรับผิดชอบในการทำงานบ้านนี้สอดคล้องกับข้อมูลจาก Water.org ที่ระบุว่า ผู้หญิงและเด็กทั่วโลกจะใช้เวลารวมกันถึง 125 ล้านชั่วโมงในการไปตักนํ้าในแต่ละวัน “นํ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพสูงมากค่ะ” เลสลีย์ โพรีส์ ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรสถาบันของ Water.org บอก “ในสังคมที่มีนํ้าใช้เพียงบางเวลาของวัน เวลาทั้งหมดของวันนั้นจะหมดไปกับการหานํ้ากินนํ้าใช้” เธอเสริมว่า “หน้าที่นี้กลายมาเป็นอุปสรรคกีดขวางต่อการไปทำงาน หารายได้ หรือการไปเรียนหนังสือของผู้หญิง”
กิลเบิร์ตสันยังอยากถ่ายรูปการใช้นํ้าในประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อกลับถึงบ้านในนิวยอร์ก เขาจึงตัดสินใจใช้ตัวเองเป็นแบบ เขากับภรรยาเริ่มบันทึกการใช้นํ้าของครอบครัว คิดแล้วเท่ากับวันละ 1,000 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่ทำให้ทั้งคู่ “อึ้ง” จากนั้นก็ถ่ายรูปกับถังนํ้า “แค่ผมเปิดก๊อก นํ้าก็ไหลออกมาแล้ว” กิลเบิร์ตสันบอก “พอคุณได้ทำงานกับคนที่ต้องไปตักนํ้ามาใช้ คุณก็จะเริ่มเห็นคุณค่าของทรัพยากรนั้น คุณรู้สึกได้ จริง ๆ ว่านํ้านั้นเป็นสิ่งที่หนักครับ”
เรื่อง นีนา สตรอคลิก
อ่านเพิ่มเติม