ภาวะโลกร้อนทำลายสุขภาพเด็กทั่วโลก และเป็นภัยคุกคามไปจนชั่วชีวิตของพวกเขา

งานศึกษาครั้งใหม่ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เด็กที่เพิ่งเกิดใหม่ต้องพบกับความไม่มั่นคงทางอาหาร การแพร่ระบาดของโรค มลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ภาวะอากาศสุดขั้ว ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบาก จนอาจป่วยง่ายและตายเร็วขึ้น

โฉมหน้าที่แท้จริงของภาวะโลกร้อนไม่ใช่น้ำแข็งขั้วโลกละลายหรือหมีขั้วโลกไร้ที่อยู่อาศัย แต่เป็นชะตากรรมของลูกหลานของเราเอง

เด็กที่เกิดในวันนี้จะป่วยเร็วขึ้นและตายเร็วขึ้น เนื่องจากผลกระทบที่ส่งผลต่อร่างกายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามรายงานการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ 120 คนจาก 35 สถาบันทั่วโลกที่เผยแพร่ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2019

ใจความสำคัญของรายงานระบุว่า เนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เด็กที่เกิดใหม่ในช่วงนี้อาจประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ปัญหาราคาอาหารแพงจนไม่สามารถเข้าถึงได้ การแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ปัญหามลภาวะทางอากาศ (PM 2.5) ที่ย่ำแย่ลงทุกขณะ และภาวะภูมิอากาศสุดขั้วที่จะรุนแรงขึ้นเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่

ในยุคน้ำแข็ง น้ำเกลือจะจมไปอยู่ใกล้มหาสมุทร และน้ำจีดอยู่ด้านบน Charlotte Naqitaqvik นำกาน้ำชาตักน้ำจืดไปยังครอบครัวของเธอที่ Arctic Bay ในทางตอนเหนือของแคนาดา ภาพถ่ายโดย ACACIA JOHNSON

โดยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้จะส่งผลต่อสุขภาพเด็กตั้งแต่เกิดจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ โดยทางแก้ปัญหานี้ คือโลกต้องรักษาข้อตกลงปารีสที่ไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส อันจะส่งผลให้อากาศสะอาดขึ้น บ้านเมืองสะอาดขึ้น และภัยธรรมชาติอาจลดความรุนแรงลง แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เด็กๆ ที่เพิ่งเกิดมาใหม่จะต้องพบกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร การแพร่กระจายของเชื้อโรคที่กินวงกว้างและรุนแรง สภาพมลพิษทางอากาศย่ำแย่ และภัยธรรมชาติที่พร้อมเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทุกเมื่อ

ความไม่มั่นคงทางอาหาร

เนื่องการจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรราคาแพงขึ้น เช่นในประเทศอียิปต์ ราคาขนมปังในขณะนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 และตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตผลทางการเกษตรลดลงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด (ลดลงร้อยละ 4) ข้าวสาลีปลูกฤดูหนาว (ลดลงร้อยละ 6) ถั่วเหลือง (ลดลงร้อยละ 3) และข้าว (ลดลงร้อยละ 4) จากภาวะนี้อาจส่งผลให้เด็กๆ ทั่วโลกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารและปัญหาทางสุขภาพ เช่นการเจริญเติบโต ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และปัญหาพัฒนาการในระยะยาว

เด็กนักเรียนเกรด 5 จากโรงเรียน Gustav Falke ในกรุงเบอร์ลิน กำลังอธิบายถึงคุณค่าของหนองน้ำเล็กๆ ในธรรมชาติ ขอบคุณภาพจาก Pia Ranada / Rappler

ติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น

เนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น การแพร่ระบาดของเชื้อโรคจึงง่ายขึ้น โดยเฉพาะการแพร่ระบาดจากโลกเขตร้อนไปสู่เขตอบอุ่นและเขตหนาว ดังข้อมูลการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholera ที่ก่อให้เกิดอหิวาตกโรค หรือ โรคห่า เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 10 ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา และมีรายงานการแพร่ระบาดของโรคนี้ในบริเวณที่ไม่เคยพบมาก่อนอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบการแพร่ระบาดของโลกไข้เลือดออก อันเป็นโรคเขตร้อนแพร่กระจายไปในบริเวณที่ไม่เคยพบมาก่อนเช่นกัน

อากาศก็ย่ำแย่

เด็กที่เกิดใหม่ในวันนี้จะต้องหายใจเอาอากาศที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น อันเนื่องมากจากการใช้พลังงานฟอสซิล ประกอบกับอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ส่งผลกระทบต่อปอดที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาของเด็กๆ ความสามารถในการทำงานของปอดลดลง อาการภูมิแพ้ และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ในปี 2016 มีสถิติการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่มีส่วนจากฝุ่น PM 2.5 กว่า 440,000 คน อันเนื่องมาจากการใช้ถ่านหิน และมากกว่าหนึ่งล้านคนเมื่อพิจารณาจากมลภาวะทุกประเภท

ในปี 2011 Felix Finkbeiner มีเป้าหมายในชีวิตว่าจะปลูกต้นไม้จำนวนมาก และเขาได้รับความช่วยเหลือมากมาย ภาพถ่ายโดย BENNO KRAEHAHN

ภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้วที่ต้องพบเจอไปตลอดชีวิต

ท้ายที่สุด เด็กที่เกิดจะพบกับความเสี่ยงของภาวะน้ำท่วมรุนแรง ภัยแล้งที่ยาวนาน ไฟป่าที่บ่อยครั้ง มีผู้คนใน 152 จาก 196 ประเทศที่ประสบเหตุการณ์ไฟป่าที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2001-2004 เป็นต้นมา และยังไม่รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดถี่มากขึ้น จนคนรุ่นใหม่ต้องเสียเงินทองมากมายไปการฟื้นฟูความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น

นอกจากนี้ ในรอบปีที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์เดือนที่ร้อนที่สุดหลายเดือนด้วยกัน (เช่นในเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นเดือนตุลาคมที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์) ประเทศในเขตยุโรปต้องพบเจอกับคลื่นความร้อนรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน และในปีที่แล้ว ที่ประเทศญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นกว่า 32 ล้านคนต้องเป็นประสบภัยจากคลื่นความร้อน ซึ่งคลื่นความร้อนส่งผลกับชั่วโมงการทำงานของผู้คนในโลก ทั้งผู้ที่ทำงานทั้งในร่มและกลางแจ้ง ส่งผลให้ประสิทธิภาพภาคการผลิตของโลกในหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลง

“ร่างกายของเด็กนั้นอ่อนแอต่อภาวะความเสี่ยงต่อสุขภาพที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาก ทั้งร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันกำลังพัฒนา ทำให้พวกเขาเปราะบางต่อโรคภัยและมลภาวะสิ่งแวดล้อมต่างๆ” ดร. นิก วัตต์ ประธานกรรมการขององค์กร The Lancet Countdown ที่เผยแพร่งานวิจัยนี้ กล่าวและเสริมว่า “ความเสียหายทางร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กตอนต้นนั้นจะอยู่อย่างยาวนานและกระจายไปทั่วร่างกาย และจะคงอยู่ไปตลอดชีวิตพวกเขา ถ้าไม่มีมาตรการเร่งด่วนจากทุกประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งสุขภาวะที่ดีและอายุขัยจะลดลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้มีผลต่อสุขภาพไปชั่วอายุคน”

ผู้คนชุมนุมเพื่อสนุับสนุนข้อเรียกร้องการฟ้องศาลในคดีเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่ด้านหน้าศาล the Wayne L. Morse Courthouse รัฐออริกอน ภาพถ่ายโดย TERRAY SYLVESTER, VWPICS VIA AP

ทั้งนี้ เหล่านักวิจัยผู้เขียนงานวิจัยขององค์กร The Lancet Countdown เรียกร้องมาตรการจริงจังเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4 ด้าน ดังนี้

1. หาทางลดการใช้หรือหยุดใช้พลังงานถ่านหินทั่วโลกโดยเร่งด่วน

2. กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงต้องทำตามข้อตกลงในโครงการเงินทุนด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ (International Climate Finance Commitment) จำนวนราวหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2020 เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ต่ำต่อสู้กับภัยโลกร้อน

3. ต้องมีการเพิ่มระบบขนส่งมวลชนที่เข้าถึงได้ มีราคาที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทางเดินเท้าและทางจักรยาน หรือมีการวางนโยบายระบบจักรยานให้เช่าหรือซื้อตามเมืองต่างๆ

4. ต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่ในการปรับปรุงระบบสุขภาพ (Health System Adaptation) เพื่อให้แน่ใจว่าระบบสาธารณะสุขจะสามารถรองรับคนไข้ที่มีอาการป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเพียงพอ

“เส้นทางที่เราลือกต่อจากนี้จะส่งผลต่ออนาคตของเด็กๆ ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ดร. สเตลลา ฮาร์ทิงเจอร์ จากมหาวิทยาลัย Cayetano Heredia ผู้เขียนร่วมงานวิจัยกล่าวและเสริมว่า “เราต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่นับล้านที่หยุดเรียนเพื่อเดินขบวนรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและเรียกร้องมาตรการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชากร 7.5 พันล้านคนทั่วโลกที่อาศัยอยู่บนโลกในตอนนี้ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสุขภาพของเด็กที่เกิดในวันนี้จะไม่ถูกกำหนดโดยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

แหล่งอ้างอิง

The Lancet: Climate change already damaging health of world’s children and threatens lifelong impact

Pollution, climate change, malnutrition will affect our kids for life, Lancet report says

Climate scientists predict a bleak future for today’s children

Fight climate crisis to stop damaging children


อ่านเพิ่มเติม โลกร้อนเรื่องหลอกลวง? เหตุใดจึงยังมีผู้คนที่ “ไม่เชื่อ” เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.