โลกร้อนเรื่องหลอกลวง? เหตุใดจึงยังมีผู้คนที่ “ไม่เชื่อ” เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โลกร้อนเรื่องหลอกลวง? เหตุใดจึงยังมีผู้คนที่ “ไม่เชื่อ” เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อน คือปัญหาระดับโลกที่มนุษยชาติต้องหาหนทางแก้ไข แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เชื่อเรื่องนี้และพยายามโต้แย้งว่าเป็นเรื่องไม่จริง เหตุใดพวกเขาจึงเชื่อเช่นนั้น

หนึ่งในเนื้อหาสำคัญจากสุนทรพจน์ของเกรตา ทูนแบร์ก (สุนทรพจน์เดียวกับ How dare you – พวกคุณกล้าดียังไง ที่เคยเป็นกระแสในโลกออนไลน์) ซึ่งได้กล่าวไว้ในเวทีการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UN Climate Action Summit 2019 ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน คือการพูดถึงข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาว่าได้พิสูจน์เห็นแจ้งเรื่องภาวะผลกระทบต่างๆจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติแล้ว และผู้นำแต่ละประเทศควรยอมรับความจริงนี้และหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน ก่อนที่โลกจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีบุคคลจำนวนมากที่ปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ ยกตัวอย่างเช่น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ได้แสดงออกชัดเจนมาโดยตลอดว่าเขาปฏิเสธข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องโลกร้อนทั้งหลาย ล่าสุด เขาได้นำประเทศสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจาก “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงระดับโลกที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้โลกได้รับอันตรายอย่างใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, โรงงานไฟฟ้า, ก๊าซเรือนกระจก
โรงไฟฟ้า Scherer ในรัฐจอร์เจีย เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่ใหญ่สุดในสหรัฐฯ ในทุกวัน มีการเผาไหม้ถ่านหินราว 34,000 ตัน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 25 ล้านตันปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในทุกปี ภาพถ่ายโดย ROBB KENDRICK, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ทำไมถึงมีผู้คนที่ปฏิเสธข้อเท็จจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยหลักแล้ว การปฏิเสธความจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดจากความไม่สอดคล้องกันระหว่าง ข้อเท็จจริง (fact) และ ค่านิยม (Value) ผู้คนจำนวนไม่น้อยปฏิเสธเรื่องวิกฤติการณ์ภูมิอากาศ อาจเป็นเพราะพวกเขามีความรู้สึกผิดบางอย่างอยู่กับตัว

ปกติแล้ว การรับรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกี่ยวข้องกับการยอมรับข้อเท็จจริงในบางกรณี ซึ่งการยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับทั้ง ข้อเท็จจริง และ ค่านิยม ของบุคคล โดยเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงกันทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหตุปัจจัยต่างๆ ฉันทามติร่วมกันของสังคม และความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าของบุคคล

การปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้เกิดจากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีผลไปอีกทิศทางหนึ่ง กล่าวคือ แทนที่จะต้องการยับยั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลับกลายเป็นหาทางปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้ไปแทน เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์นี้มีความเกี่ยวพันกับพฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน ยิ่งในปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนกลายเป็นความจริงที่ไม่น่ารื่นรมย์ ผู้ที่เลือกปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้จึงเลือกที่จะไม่ใช้ชีวิตภายใต้ความกังวลเช่นเดียวกับผู้ที่กังวลเรื่องโลกร้อน และสมาทานแนวคิดและใช้ชีวิตในด้านตรงข้ามเพื่อความสบายใจ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ชิคาโก
กระแสอากาศเย็นจากปรากฏการณ์ลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) ส่งผลให้น้ำในทะเลสาบชิคาโกจับตัวกลายเป็นน้ำแข็ง ขณะที่อุณหภูมิลดต่ำลงถึงเกือบลบ 30 องศาเซลเซียส (ภาพถ่าย: KIICHIRO SATO, AP)

การปฏิเสธความจริง

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย เคยอธิบายถึง “ภาวะการปฏิเสธความจริง” (negation of reality) ว่าเป็นกระบวนการทางจิตใจที่ รับรู้ สิ่งที่ต้องการเก็บกดเอาไว้ (a way of taking cognisance of what is repressed) โดยกระบวนการนี้เองที่ทำให้เกิดการละเลยความจริง การเข้าใจผิด รวมไปถึงการไม่เชื่อในความจริงนั้น ซึ่งการปฏิเสธเรื่องภาวะโลกร้อนก็มีส่วนของความจริงอันน่ากลัว จึงมีผู้คนที่เลือกปฏิเสธมัน

บรรดานักจิตวิทยาสังคมร่วมสมัยพูดถึงเรื่องการปฏิเสธในแง่ของ “การให้เหตุผลอย่างมีแรงจูงใจ” (motivated reasoning) (อาจเทียบเคียงเป็นภาษาง่ายๆ ว่าให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง) เนื่องจากความเป็นจริงเรื่องวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศขัดแย้งกับความเชื่อและการให้คุณค่ากับความเชื่อของผู้คนที่มีอยู่เดิม

เมื่อการปฏิเสธเรื่องภาวะโลกร้อนเกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้ให้เหตุผลกับเรื่องนี้ในแบบที่ควรจะเป็น ในทางกลับกัน พวกเขาพยายามให้เหตุผลในแบบที่ทนายแก้ต่างให้ลูกความผู้กระทำผิดในชั้นศาล อันเป็นการกระตุ้นการป้องกันตัวเองในการทบทวนความเป็นจริงที่ถูกต้อง

นอกจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปฏิเสธความจริงแล้ว บุคลิกภาพก็เป็นปัจจัยสำคัญ ผู้คนที่ปฏิเสธเรื่องภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มเป็นบุคคลที่เชื่อในเรื่องการแบ่งลำดับชั้นทางสังคม (hierarchy) และต่อต้านการเปลี่ยนสถานะปัจจุบันทางสังคม (status quo) ปัจจัยทางประชากรศาสตร์ก็มีผลเช่นเดียวกัน ในระดับโลก ผู้คนที่มีการศึกษาไม่สูง ผู้สูงอายุ และคนเคร่งศาสนา มีแนวโน้มไม่เชื่อถือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนปัจจัยด้านเพศมีผลเพียงเล็กน้อย

แต่ปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือแนวคิดทางการเมืองส่วนบุคคล มีการศึกษาในระดับโลกว่า ค่านิยม อุดมคติ และความจงรักภักดีทางการเมือง (political allegiance) มีผลเหนือกว่าปัจจัยอื่นๆ โดยผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองไปทางอนุรักษนิยม (หรือฝ่ายขวา) มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธเรื่องโลกร้อน ในขณะที่บรรดากลุ่มผู้ที่เชื่อมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยจะยอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ป่าแอมะซอนกำลังสูญเสียพื้นที่ราวสนามฟุตบอลหนึ่งล้านแห่งในทุกปี โดยส่วนมากเป็นการตัดไม้เพื่อทำการเกษตร โดยเมื่อมีการสูญเสียป่าไม้ คาร์บอนจะลอยไปในอากาศและเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาพถ่ายโดย FRANS LANTING, NAT GEO IMAGE COLLECTION

การเมืองแห่งการปฏิเสธ

นักสังคมวิทยา สแตนลีย์ โคเฮน ผู้มีชื่อเสียงด้านการศึกษาเรื่องการปฏิเสธ เคยเสนอแนวคิดความต่างกันระหว่าง การปฏิเสธในระดับบุคคล กับ การปฏิเสธในระดับองค์กรหรือสถาบันทางสังคม ดังจะเห็นได้จากกรณีขององค์กรด้านพลังงานที่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ซึ่งมีหลักฐานเอกสารว่าองค์กรเหล่านี้รับรู้เรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาหลายทศวรรษ แต่องค์กรเหล่านี้พยายามหาทางเผยแพร่ข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านทางสื่อต่างๆ รวมไปถึงการให้เงินสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์และสถาบันคลังสมองที่ทำวิจัยเพื่อหา “ความจริงทางเลือก” และเผยแพร่ต่อสังคม

สำหรับการปฏิเสธในระดับบุคคล เมื่อบุคคลหนึ่งเริ่มกระบวนการปฏิเสธความเชื่อและมองหาข้ออ้างหรือเหตุผลอื่น ก็จะมีช่องทางในการสนับสนุนพวกเขา สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนทั้งหลาย เช่น มีหลายคลิปวิดีโอในเว็บไซต์ YouTube ที่เผยแพร่แนวคิดการปฏิเสธความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดแจ้ง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ประท้วง
นักเรียนและผู้ประท้วงนับพันคนรวมตัวกันที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในการเดินขบวนเพื่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีการจัดขึ้นทั่วโลก การเดินขบวนมีจุดประสงค์ให้มีการออกมาตรการจัดการวิกฤตด้านภูมิอากาศ ภาพถ่ายโดย JENNY EVANS, GETTY IMAGES

การเปลี่ยนกลับข้อปฏิเสธ

โดยสรุปแล้ว การปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการปฏิเสธความรู้ข้อเท็จจริงทั้งในระดับจิตวิทยาส่วนบุคคลและในระดับสังคม แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นสถานการณ์อันน่าหดหู่ แต่ในความหดหู่ก็ยังมีความหวังเล็กๆในตัวพวกเขาเช่นเดียวกัน

ความหวังที่ว่านั้นคือพวกเขายังมีความสามารถในการรับรู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (เพียงแต่พวกเขาเลือกที่จะเชื่อในสิ่งตรงกันข้าม) แต่เป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่ต้องยอมรับเรื่องราวเหล่านี้ ดังนั้น การพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสื่อสารด้วยวิธีการอันสอดคล้องไปกับค่านิยมหลากหลายรูปแบบก็อาจทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิดได้ ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา การใช้แนวคิดรักชาติ การทำตามคำสั่งของหน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งแนวคิดการปกป้องความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ จะช่วยให้พวกเขาสนับสนุนการกระทำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเปลี่ยนความคิดได้ สาเหตุหลักอาจเป็นเพราะแนวคิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน อาจมีผลต่อชีวิตของพวกเขา

สิ่งที่สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างผู้ที่เชื่อกับไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ พลังมวลชน ผ่านการออกระเบียบข้อบังคับ การเดินขบวนสาธารณะ การสร้างทางเลือกที่ดีด้านการต้านโลกร้อนให้กับสังคม

การสำรวจระดับโลกครั้งหนึ่งระบุว่า ผู้ที่ปฏิเสธความจริงเรื่องโลกร้อนนั้นเป็นเพียงกลุ่มคนส่วนน้อยของโลก ดังนั้น ผู้ที่เชื่อเรื่องโลกร้อน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเอาชนะทุกคนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงความเชื่อนี้ก็ได้

เรียบเรียงขึ้นจากข้อเขียน Climate explained: why some people still think climate change isn’t real 

โดย David Hall, Auckland University of Technology

ภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้งานเนื้อหาแบบ Creative Commons licence


อ่านเพิ่มเติม สุนทรพจน์โลกร้อนอันน่ากังวลของเกรียตา กับท่าทีอันแตกต่างจากบรรดาผู้นำประเทศเกรตา ทูนแบร์ก

Recommend