การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้โลกทั้งใบเข้าสู่จุดพลิกผันอันตราย

ภาพจากภารกิจ “ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่มีต่อระบบนิเวศและทางเคมีในสภาพแวดล้อมของทวีปอาร์กติกด้านแปซิฟิก” ของนาซา เมื่อปี 2011 ภาพถ่ายโดย KATHRYN HANSEN, NASA


นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “ผู้คนคงไม่ตระหนักว่าเราเหลือเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” ในการหยุดการเปลี่ยนแปลงที่ทำลายล้างและไม่อาจหวนคืนของระบบภูมิอากาศโลก แต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่

โลกของเราได้ปรากฏหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงระบบภูมิอากาศโลกที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิม สถานการณ์นี้หมายความว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งอาจนำไปสู่จุดพลิกผัน (tipping point) ในระดับที่โลกทั้งระบบจะเปลี่ยนไปอย่างไม่อาจหวนคืน

สิ่งนี้อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้ของ “ภัยคุกคามอารยธรรมโลก” ทิม เลนตัน และทีมงานผู้เขียนงานวิจัยในนิตยสาร Nature กล่าว

การล่มสลายของโลกทั้งระบบนี้อาจนำไปสู่สภาวะ “Hothouse Earth” ซึ่งเปรียบได้ว่าโลกทั้งใบเป็นเตาอบ อันเป็นสภาวะที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียส ระดับทะเลเพิ่มขึ้นราว 6-9 เมตร ปะการังและป่าแอมะซอนหายไปอย่างสิ้นเชิง และพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกไม่สามารถอยู่อาศัยได้

นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกยังเตือนอีกว่า วิธีการตอบสนองสภาวะฉุกเฉินของโลกนี้คือต้องลดอุณหภูมิโลกให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส “ทั้งเสถียรภาพและความสามารถในการฟื้นฟูของโลกเราจะอยู่ในภาวะถูกคุกคาม” พวกเขากล่าว

(เชิญชมวิดีโออธิบายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ที่นี่)

จากการคาดการณ์ทางทฤษฎีสู่ความเป็นจริง

แนวคิดเรื่องจุดพลิกผันของโลกเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ซึ่งในช่วงเวลานั้นระบุว่า การสูญเสียทั้งแผ่นน้ำแข็งของทวีปอาร์กติกตะวันตก ป่าแอมะซอน และการละลายของชั้นดินเยือกแข็งคงตัว สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นจุดพลิกผันของภูมิอากาศโลกทั้งหมด โดยจุดพลิกผันจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 5 องศาเซลเซียส แต่รายงานของ IPCC เมื่อปีที่แล้วระบุว่า จุดพลิกผันนี้อาจเกิดขึ้นได้ในช่วง 1-2 องศาเซลเซียส และการเพิ่มของอุณหภูมิในทุกส่วนของโลกสามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดจุดพลิกผันอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศโลกอีก 30 จุด เพียงแค่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ก็สามารถนำไปสู่จุดพลิกผันได้แล้ว และถึงแม้ว่าประเทศต่างๆจะทำตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายเพื่อลดอุณหภูมิโลกลง แต่อุณหภูมิก็อาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 3 องศาเซลเซียสอยู่ดี

โลกร้อน อาจทำให้แนวปะการังหายไปภายใน 30 ปี

ดังนั้น การปล่อยคาร์บอนระดับโลก ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี จำเป็นต้องลดลงให้ได้ร้อยละ 7.6 ต่อปีนับตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2030 เพื่อให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกใกล้เคียงกับ 1.5 องศาเซลเซียส ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

อุณหภูมิของโลกและระบบนิเวศนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ทั้งพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ชั้นบรรยากาศโลก มหาสมุทร แผ่นน้ำแข็ง สิ่งมีชีวิตเช่นต้นไม้ และผืนดิน สิ่งเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกไม่มากก็น้อย ปฏิสัมพันธ์ท่ามกลางสิ่งต่างๆในภูมิอากาศโลกหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆในธรรมชาติ เปรียบได้กับการที่ต้นไม้ใหญ่อายุราว 200 ปีล้มลงทับต้นไม้เบื้องล่างที่กำลังเติบโต ส่งผลสืบเนื่องกันไปเช่นเดียวกับโดมิโน

การประกาศสภาวะฉุกเฉินของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรรู้ว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกมิได้เกิดจากการปล่อยคาร์บอนเพียงอย่างเดียว  แคเทอรีน ริชาร์ดสัน ศาสตราจารย์ด้านสมุทรศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และผู้เขียนร่วมในรายงาน กล่าวและเสริมว่า ระบบนิเวศของโลก เช่น ป่าไม้ ภูมิภาคขั้วโลก และมหาสมุทร ล้วนมีบทบาทสำคัญ “เราจำเป็นต้องใส่ใจสิ่งเหล่านี้ค่ะ” ริชาร์ดสันกล่าวในการให้สัมภาษณ์

หลายครอบครัวจากเกาะปะการังวงแหวนอันห่างไกลของคิริบาตี อพยพโยกย้ายมาสู่ทางใต้ของเกาะตาระวาเพื่อเข้าถึงแหล่งงาน การศึกษา และการสาธารณสุข ส่งผลให้ประชากรที่นี่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50,000 คน บ่อยครั้งครอบครัวที่มาใหม่ถูกบีบให้ไปอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายขอบซึ่งมักเกิด นํ้าท่วมเมื่อนํ้าทะเลขึ้นสูง

การลดความเสี่ยงโดยจำกัดการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสสามารถเป็นไปได้ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปี ในการบรรลุภาวะการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ริชาร์ดสันกล่าวและเสริมว่า “นั่นเป็นการประมาณการในแง่ดีที่สุด”

“ผมไม่คิดว่าผู้คนจะตระหนักได้ว่าเราเหลือเวลาอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” โอเวน กาฟฟ์นีย์ (Owen Gaffney) นักวิเคราะห์ความยั่งยืนของโลกจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม กล่าวและเสริมว่า เราจะใช้เวลาหนึ่งหรือสองศตวรรษในการลดอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และสามศตวรรษสำหรับการบรรลุสภาวะปลอดคาร์บอน ดังนั้น มันจึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินของโลกอย่างแท้จริง

“ถ้าไม่มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ลูกหลานของเราก็ต้องได้รับมรดกเป็นโลกที่อันตรายและไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง” เขากล่าวเสริมในการให้สัมภาษณ์

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่แพร่หลายไปทั้งโลก

รายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อเร็วๆนี้เผยว่า แม้สหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ วางแผนการใช้พลังงานฟอสซิลสูงถึงร้อยละ 120 ภายในปี 2030  รัฐบาลจากประเทศเหล่านี้ก็ตกลงที่จะออกมาตรการไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ยังกังวลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเช่นเดียวกัน

การตัดไม้ทำลายป่าเป้นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศสูงขึ้น

รัฐบาลหลายประเทศให้น้ำหนักกับคำแนะนำทางเศรษฐกิจมากกว่าการสนับสนุนงานวิจัยหรือให้ทุนการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กาฟฟ์นีย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สเตฟานี ไฟเฟอร์ ประธานกรรมการบริหารของ Institutional Investors Group on Climate Change กล่าวว่า “การเข้าสู่จุดพลิกผันของภูมิอากาศโลก คือความเสี่ยงอันใหญ่หลวงของสินทรัพย์ทางการเงิน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และชีวิตที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้” เธอเสริมว่า “เราจำต้องมีมาตรการเร่งด่วนอย่างยิ่งในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

มุมมองแห่งความหวัง

แม้จะมีความกังวลในเรื่องจุดพลิกผันของโลก แต่กระบวนการปลอดคาร์บอน (decarbonization) ระดับโลกได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010 และยังคงอยู่ในระหว่างการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research Letters เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา และในขณะที่การปล่อยคาร์บอนโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น กระบวนการปลอดคาร์บอนก็เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และทำให้การปล่อยคาร์บอนนั้นเริ่มลดลง

วิธีการปลอดคาร์บอนโดยส่วนใหญ่เกิดจากพลังงานสะอาดทั้งหลาย ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทำให้การทำตามความตกลงปารีสนั้นเป็นไปได้ “ถ้าเราดำเนินมาตรการอย่างจริงจังในเศรษฐกิจทุกภาคส่วน” แดเนียล แคมเมน (Daniel Kammen) ศาสตราจารย์ด้านพลังงานจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) กล่าว

แอ่งบาตาไกกาในไซบีเรียตะวันออกกว้างเกือบหนึ่งกิโลเมตรและยังขยายออกเรื่อยๆ เป็นหนึ่งในแอ่งขนาดใหญ่ที่สุดหลายแห่งในอาร์กติก เมื่อชั้นดินเยือกแข็งคงตัวละลาย ดินจะทรุดตัวลง ทำให้เกิดแอ่งและทะเลสาบขึ้น

ด้านกาฟฟ์นีย์บอกว่า นอกจากนี้ยังมีจุดพลิกผันทางสังคมเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากราคาตลาดของพลังงานทดแทนลดต่ำกว่าพลังงานฟอสซิลแล้ว “ราคาของพลังงานทดแทนลดลงเรื่อยๆ และประสิทธิภาพก็เริ่มดีขึ้นเช่นกัน นี่เป็นภาวะที่ดีจนหาที่เปรียบไม่ได้”

และในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เกิดจุดพลิกผันด้านการตระหนักรู้ของสังคมในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งจากปรากฏการณ์เกรตา ทูนแบร์ก (Greta Thunberg effect) ที่เยาวชนนับล้านคนทั่วโลกเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องมาตรการเร่งด่วนในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในขณะเดียวกัน ทั้งบริษัททางการเงิน ภาคธุรกิจ และเมืองต่างๆ ได้เริ่มตั้งเป้าหมายที่มีเรื่องของภูมิอากาศเข้าไปเกี่ยวข้อง

“การหลอมรวมกันของจุดพลิกผันที่ดีเหล่านี้จะทำให้ช่วงทศวรรษ 2020 สามารถสร้างการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ครับ” กาฟฟ์นีย์ทิ้งท้าย

เรื่อง STEPHEN LEAHY


อ่านเพิ่มเติม งานวิจัยเผย ขณะนี้โลกใช้พลังงานฟอสซิลมากเกินกว่าจะลดโลกร้อนได้สำเร็จ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.