งานวิจัยเผย ขณะนี้โลกใช้พลังงานฟอสซิลมากเกินกว่าจะลดโลกร้อนได้สำเร็จ

งานวิจัยเผย ขณะนี้โลกใช้พลังงานฟอสซิลมากเกินกว่าจะลดโลกร้อนได้สำเร็จ

งานวิจัยชิ้นใหม่พบว่า โลกต้องปลดระวางโรงไฟฟ้าและโรงงานถ่านหินจำนวนมาก เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ตั้งเป้าไว้

มีงานวิจัยฉบับใหม่ระบุว่า ณ ขณะนี้ โลกของเรามีโรงงานไฟฟ้า โรงงาน ยานพาหนะ และอาคารที่อาศัย พลังงานฟอสซิล อยู่มากมาย ถ้าสถานที่เหล่านี้ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลอย่างเช่นทุกวันนี้ไปเรื่อยๆ อุณหภูมิของโลกจะสูงเกินความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้โลกได้รับอันตรายอย่างใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

งานวิจัยฉบับนี้ยังให้แนวทางว่า เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ไม่เพียงแต่โลกของเราต้องยุติการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใดๆ ที่มีการใช้ พลังงานฟอสซิล เท่านั้น แต่โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิลที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้จำเป็นต้องปิดลงโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีแผนหรือการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลอยู่อีกมากมาย

“งานวิจัยของเรานั้นง่ายมาก” สตีเวน ดาวิส จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ไอร์วีน ผู้เขียนร่วมงานวิจัยฉบับนี้ที่เผยแพร่ลงในนิตยสาร Nature กล่าวและเสริมว่า “ เราอยากรู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีการสร้างโรงงานเชื้อเพลิงเผาไหม้ฟอสซิลดังเช่นในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา ”

เพื่อตอบคำถามนี้ ดาวิสและผู้ร่วมงานวิจัยได้ตรวจสอบการปล่อยก๊าซของไฟฟ้า, แหล่งพลังงาน, การจราจรขนส่ง, ที่พักอาศัย และโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ ของปี 2018 จากนั้นพวกเขาได้นำค่าจำนวนที่ได้ไปคำนวณค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต ซึ่งใช้ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาจำนวนปีที่ได้มีการปล่อยก๊าซนี้

พลังงานฟอสซิล, โรงไฟฟ้าถ่านหิน
ควันพวยพุ่งขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเยอรมนี การศึกษาใหม่พบว่าโลกจะต้องละเลิกการใช้ถ่านหินตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมายตามข้อตกลงด้านภูมิอากาศนานาชาติ ภาพถ่ายโดย PATRICK PLEUL, DPA/CORBIS

ยกตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีอยู่ในทุกวันนี้ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นับล้านตันทุกปีในตลอดช่วงการดำเนินงานตลอด 40 ปีที่ผ่านมา รถยนต์คันใหม่ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4 ตันต่อปี จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 60 ตัน ในกรณีที่มันมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 15 ปี และถึงแม้ว่าจะมีการดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์โดยพื้นที่ป่าไม้และมหาสมุทร แต่ก็ยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากอยู่ในชั้นบรรยากาศ และถูกขังอยู่ในนั้นเป็นเวลาหลายร้อยปี เว้นเสียแต่ว่าโลกจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อดูดซับก๊าซเหล่านี้จากชั้นบรรยากาศกลับมาบนโลกอีกครั้ง

นอกจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมาจากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่อยู่บนโลกแล้ว ดาวิสและผู้ร่วมวิจัยของเขาคาดว่า มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 658 พันล้านเมตริกตัน บนโลกของเรา ซึ่งมากกว่าจำนวนที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ตั้งเป้าไว้ 78 ตัน อันเป็นจำนวนที่คณะกรรมการฯ กล่าวว่า เป็นจำนวนที่ทำให้มีโอกาสร้อยละ 50 ที่จะทำให้โลกมีอุณหภูมิคงที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสดังที่ตั้งใจไว้

อย่างไรก็ตาม การคำนวณนี้ไม่ได้รวมการปล่อยก๊าซจากการทำเกษตรกรรม การทำลายป่าไม้ และการใช้ประโยชน์จากที่ดินในแบบอื่นๆ ซึ่งคิดเป็นจำนวนร้อยละ 24 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบัน และยังไม่รวมการปล่อยก๊าซในกระบวนการนำพลังงานฟอสซิลออกมาจากพื้นที่ซึ่งก็มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การขุดน้ำมันออกจากทรายน้ำมัน (Oil Sand) ในแคนาดา มีจำนวนการเผาไหม้มากถึงหนึ่งในสามของการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศ

การแก้ปัญหาอย่างมืดบอด

องค์การสหประชาชาติ และประเทศต่างๆ ต่างพุ่งความสนใจไปที่จำนวนการปล่อยก๊าซในแต่ละปีเพื่อพูดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งยังไม่เพียงพอ โดยดาวิสกล่าวว่า “มันเหมือนกับขับรถบนถนนไฮเวย์โดยการมองไปที่หน้าต่างด้านข้างเท่านั้น” การตัดสินใจว่าจะมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานฟอสซิลต่อไปหรือไม่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นการกำหนดว่าโอกาสอันเป็นไปได้ที่โลกจะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสหรือไม่

การศึกษาได้รวบรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนเออกไซด์จากถ่านหิน แก๊ส และโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำมันที่กำลังก่อสร้างหรือมีแผนที่จะก่อสร้าง ถ้าโครงการก่อสร้างเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกจะเพิ่มขึ้นราว 846 พันล้านตัน อันเป็นจำนวนงบประมาณคาร์บอนที่โลกยังเหลืออยู่ เพื่อไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส

พลังงานฟอสซิล, โรงไฟฟ้าถ่านหิน
โรงงานพลังงานไฟฟ้าถ่านหินประสิทธิภาพสูงในประเทศเยอรมนี ซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด แต่เช่นเดียวกับหลายประเทศบนโลกที่ยังพึ่งพาถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก ภาพถ่ายโดย MARTIN MEISSNER, AP

“ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ตอนนี้เราอยู่ในช่วงอันยากลำบากที่จะทำให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่า 2 องศา และลืมเรื่องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปได้เลย” เกล็น ปีเตอร์ (Glen Peter) ผู้อำนวยการวิจัย ศูนย์การวิจัยภูมิอากาศนานาชาติแห่งประเทศนอร์เวย์ กล่าวและเสริมว่า “การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานที่ทดแทนได้ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการพลังงานในแต่ละปี” และเพื่อที่จะให้อุณหภูมิของโลกต่ำกว่า 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม “ดูเหมือนว่าเราต้องปลดระวางโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานฟอสซิลให้เร็วกว่าที่วางแผนเอาไว้”

นอกเหนือไปจากการสงวนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากหินและก๊าซ ทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ปัญหามีทั้งการฟื้นฟูพื้นที่ป่าจำนวนหลายล้านตารางกิโมเมตร ใช้เทคโนโลยีที่สามารถดักจับคาร์บอนในปริมาณที่มาก และสร้างการใช้พลังงานที่ทดแทนได้ออกมาให้เร็วมากขึ้น และดูเหมือนว่าต้องใช้วิธีเหล่านี้ประสานไปด้วยกัน

นิคลาส เฮอฮ์เนอ (Niklas Höhne) แห่งสถาบันภูมิอากาศใหม่เพื่อนโยบายภูมิอากาศและความยั่งยืนของโลก (New Climate Institute for Climate Policy and Global Sustainability) ในประเทศเยอรมนีกล่าวว่า “โลกของเราเหลืออุณภูมิที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกแค่เพียง 1 องศาเซลเซียส และขณะนี้ (หน้าร้อน) ของประเทศเยอรมนีอยู่ที่เกือบ 40 องศาเซลเซียส อันเป็นอุณหภูมิที่เราไม่เคยเจอมาก่อน”

นิคลาสกล่าวเสริมว่า การให้คำปฏิญาณที่จะลดจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ ภายใต้ข้อตกลงปารีสไม่ได้ใกล้เคียงตามที่ต้องการ การเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนีซึ่งสุดไปเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนนั้น ล้มเหลวที่จะทำให้คำปฏิญาณนี้รุดหน้า และโลกยังคงอยู่แนววิถีที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นไปถึง 3 องศาเซลเซียส เขากล่าว

เรื่อง STEPHEN LEAHY


อ่านเพิ่มเติม ถ่านหิน คาร์บอนไดออกไซด์ และโลกร้อน

Recommend