โลกร้อน อาจทำให้แนวปะการังหายไปภายใน 30 ปี

โลกร้อน อาจทำให้แนวปะการังหายไปภายใน 30 ปี

การศึกษาชิ้นใหม่ขององค์การยูเนสโกเผยว่า แนวปะการังของโลก ตั้งแต่เกรตแบร์ริเออร์รีฟนอกชายฝั่งออสเตรเลียไปจนถึงหมู่เกาะเซเชลส์นอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก กำลังตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงจากการสูญสิ้นไปอย่างสิ้นเชิงภายในช่วงกลางศตวรรษ หากการปล่อยคาร์บอนไม่ลดลงมากพอจะชะลอการอุ่นขึ้นของมหาสมุทรได้ และผลที่ตามมาอาจรุนแรงมากสำหรับผู้คนหลายล้านคน

 

มาร่วมแบ่งปันภาพถ่ายแห่งท้องทะเลเพื่อรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันรักษาคุณค่า และความงดงามของท้องทะเล คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การลดลงของแนวปะการังเคยได้รับการบันทึกไว้อย่างละเอียด แต่การศึกษาชิ้นใหม่นี้เป็นการตรวจสอบความสุ่มเสี่ยงของระบบแนวปะการังทั่วโลกครั้งแรก พื้นที่แนวปะการังที่เป็นมรดกโลก 29 แห่ง มีอย่างน้อย 25 แห่งที่จะประสบกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงสองครั้งในรอบสิบปีภายในปี 2040 ซึ่งเป็นความถี่ที่จะ “ฆ่าปะการังส่วนใหญ่อย่างรวดเร็วและขัดขวางการสืบพันธุ์อันเป็นสิ่งจำเป็นในการฟื้นตัวของปะการัง” องค์การยูเนสโกให้ข้อสรุปในรายงาน ในบางพื้นที่สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว

มุมมองทางอากาศของเรือพานักท่องเที่ยวดำน้ำที่ระบบแนวปะการังซอมเบรโร นอกชายฝั่งหมู่เกาะฟลอริดาคีส์ ช่วงที่น้ำลงต่ำสุดในฤดูใบไม้ผลิ
Photograph by Mike Theiss, National Geographic Creative

 

การฟอกขาวเป็นวงกว้าง

พอถึงปี 2100 ระบบปะการังส่วนใหญ่จะตาย ถ้าไม่ลดการปล่อยคาร์บอนลง ที่อื่นๆ อีกมากก็จะหายไปเร็วขึ้น “คาดว่าการอุ่นขึ้นของมหาสมุทรจะเกินกว่าความสามารถที่จะอยู่รอดของแนวปะการังส่วนใหญ่ในแหล่งมรดกโลกที่มีแนวปะการัง ภายในหนึ่งถึงสามทศวรรษ” รายงานกล่าวไว้

แนวปะการังมักได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นป่าดิบชื้นแห่งมหาสมุทร โดยครอบคลุมพื้นสมุทรไม่ถึงร้อยละ 1 แต่เป็นถิ่นอาศัยให้ชนิดพันธุ์ต่างๆนับล้านชนิด รวมถึงปลาหนึ่งในสี่ของโลก แนวปะการังยังช่วยปกป้องแนวชายฝั่งจากพายุและการกัดเซาะ และเป็นแนวปราการป้องกันการสูงขึ้นของระดับทะเล

นักดำน้ำว่ายผ่านกำแพงแนวปะการังที่เต็มไปด้วยปลา
Photograph by David Doubilet, National Geographic Creative

“เป็นเรื่องน่ากลัวที่จะคิดถึงผลสะท้อนของการสูญเสียปะการังทั่วโลกปริมาณมหาศาล” รูท เกตส์ ผู้อำนวยการของ Hawaii Institute of Marine Biology ในฮาวาย บอก “การลดลงของแหล่งอาหาร การปราศจากสิ่งป้องกันชายฝั่งเมื่อแนวปะการังล่มสลาย และการกัดเซาะผืนดินที่ตามมา จะทำให้สถานที่บางแห่งอยู่อาศัยไม่ได้ และผู้คนจะต้องอพยพออกไป นี่ยังไม่ได้พูดถึงการล่มสลายของการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการังด้วยซ้ำ”

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา แนวปะการัง 25 แห่งที่ประกอบด้วยระบบแนวปะการังสามในสี่ของโลก ประสบกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สรุปว่าเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดต่อเนื่องกันและเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน เกรตแบร์ริเออร์รีฟประสบปัญหาหนักเป็นพิเศษ แนวปะการังอื่นๆที่ประสบกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงประกอบด้วยหมู่เกาะเซเชลส์ เกาะนิวแคลิโดเนียซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย 1,210 กิโลเมตร และนอกชายฝั่งฮาวายและฟลอริดาของสหรัฐฯ

ปะการังอ่อนขนาดยักษ์ซึ่งน่าจะมีอายุหลายร้อยปี หยั่งรากลงบนกำแพงแนวปะการังที่ความลึก 40 เมตรในนิวแคลิโดเนีย
Photograph by Enric Sala, National Geographic

ส่วนหมู่เกาะที่อยู่ในที่ต่ำอย่างคิริบาตี ซึ่งเป็นเกาะปะการังวงแหวน 33 เกาะร้อยเรียงกันในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ถูกน้ำเค็มทะลักเข้าท่วมแหล่งน้ำดื่ม กระแสน้ำที่สูงขึ้นและแนวปะการังที่พังทลายกำลังก่อให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) มากขึ้น ในไม่ช้า การสูญเสียปะการัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับการทำประมงเกินขนาดทั่วโลก จะทำให้ปลาลดน้อยลง และขาดแคลนแหล่งโปรตีนในท้องถิ่น

 

ถึงเวลาลงมือทำ

แหล่งมรดกโลกส่วนใหญ่ดูแลจัดการภายในท้องถิ่นเพื่อควบคุมมลพิษจากน้ำที่ไหลมาจากเรือกสวนไร่นา หรือการทำประมงเกินขนาด ปัจจุบัน “ภัยคุกคามที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก” ได้กลายเป็นภัยใหญ่หลวงต่อแนวปะการัง การปกป้องในระดับท้องถิ่นนั้นไม่เพียงพอ ถ้าเราไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและมากพอ  สถานที่พิเศษเหล่านี้ รวมถึงผู้คนที่ต้องพึ่งพาพวกมัน จะต้องทนทุกข์แสนสาหัส ซึ่งอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดกันไว้มาก หากเราไม่อาจหยุดยั้งภาวะโลกร้อนได้

เรื่อง ลอรา ปาร์กเกอร์ และ เครก เวลช์

ปลานกขุนทองหัวโหนกและปลาอื่นๆว่ายน้ำอยู่ในแนวปะการังใกล้กับเกาะลอร์ดฮาวในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
Photograph by David Doubilet, National Geographic Creative
เกาะปะการังวงแหวนเซนต์โจเซฟเป็นเขตสงวนทางธรรมชาติกับเขตอนุรักษ์ทางทะเลในหมู่เกาะเซเชลส์
Photograph by Thomas Peschak, National Georgaphic Creative

 

อ่านเพิ่มเติมที่นี่

โลกร้อน: ชั้นดินเยือกแข็งอาร์กติกที่กำลังละลายอาจปล่อยปรอทปริมาณมหาศาลออกมา!

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.