โลกร้อน: ชั้นดินเยือกแข็งอาร์กติกที่กำลังละลายอาจปล่อยปรอทปริมาณมหาศาลออกมา!

โลกร้อน: ชั้นดินเยือกแข็งอาร์กติกที่กำลังละลายอาจปล่อยปรอทปริมาณมหาศาลออกมา!

โลกร้อน: ชั้นดินเยือกแข็งอาร์กติกที่กำลังละลายอาจปล่อยปรอทมหาศาลออกมา!

นักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบแหล่งพิษธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ทวีปอาร์กติก และยังไม่แน่ชัดว่าจะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารมากเพียงใดเมื่อ “โลกร้อน” ขึ้นเรื่อยๆ

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบภัยอีกอย่างหนึ่งที่ถูกฝังไว้ในน้ำแข็งทางเหนือ นั่นคือแหล่งเก็บกักปรอท ซึ่งเป็นโลหะหนักที่เป็นพิษ ขนาดมหึมา ซึ่งสามารถเข้าสู่ปลาและสัตว์อื่นๆ จนทำให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อสุขภาพในมนุษย์ได้

จากการวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ใน Geophysical Research Letters เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2018 รายงานว่าปริมาณของปรอทธรรมชาติที่เคยอยู่ในชั้นดินเยือกแข็ง ซึ่งอาจมากกว่าที่มนุษย์ปล่อยสู่บรรยากาศจากการเผาถ่านหินและจากแหล่งมลพิษอื่นในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาถึง 10 เท่า  เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้แผ่นดินอุ่นขึ้น ชั้นดินเยือกแข็งหรือ permafrost ก็ละลายและอาจปล่อยปรอทปริมาณมหาศาลสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดมลพิษต่อชั้นบรรยากาศและห่วงโซ่อาหารออกมาอีกมาก

“ก่อนหน้าที่งานวิจัยจะเริ่มขึ้น คนมักคิดว่าชั้นดินเยือกแข็งจะไม่มีปรอทเก็บกักอยู่เลย หรือถ้ามีก็น้อยมาก” เควิน แชเฟอร์ แห่งศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ มหาวิทยาลัยโคโลราโด ผู้ร่วมวิจัย “แต่มันกลับกลายเป็นว่า ไม่ใช่แค่ปรอทที่อยู่ในชั้นดินเยือกแข็ง แต่ยังเป็นแอ่งปรอทยักษ์ที่อยู่บนโลกเลยด้วย”

เรื่องที่ยังไม่ชัดเจนก็คือปรอทปริมาณมากขนาดไหนและเมื่อใดที่จะถูกปล่อยออกมาในรูปแบบที่จะเป็นพิษกับมนุษย์

 

พิษจากธรรมชาติ

ปรอทมักพบตามธรรมชาติในสิ่งแวดล้อมและถูกปล่อยออกมาเมื่อเกิดไฟไหม้ป่า ภูเขาไฟระเบิด และการผุกร่อนของหิน  แต่ปรอทในอากาศราว 2 ใน 3 มาจากการการปล่อยของมนุษย์ ส่วนใหญ่จากถ่านหิน ขยะทางการแพทย์ หรือการทำเหมืองบางประเภท  ทันทีที่ปรอทแพร่สู่อากาศแล้ว ในที่สุดจะตกลงมาบนโลก แล้วลงเอยในแหล่งน้ำและผืนดิน เข้าสู่ร่างกายปลาและสัตว์ต่างๆ สะสมในปริมาณมากและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในที่สุด

ปรอทเป็นพิษต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง และทำลายพัฒนาการของสมองในเด็ก ส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ความจำ ภาษา ตลอดจนการเคลื่อนไหวและการมองเห็น  แม้แต่ในผู้ใหญ่ หากได้รับปรอทในปริมาณที่มากเกินไปก็จะหยุดการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ การพูด และการมองเห็นได้  ลดการเจริญพันธุ์และระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมักมีการเตือนห้ามบริโภคปลาจากแม่น้ำลำธารที่ปนเปื้อนปรอท และทำไมเด็กและหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาทูน่าหรือปลาอายุยืนเช่นปลากระโทงแทงดาบ

ด้วยความซับซ้อนของกระบวนการของชั้นบรรยากาศและทะเล ปรอทปริมาณมากขึ้นต่างลงเอยในเขตละติจูดสูงทางตอนเหนือมากกว่าที่อื่นๆ  และเป็นที่รู้กันดีว่ามันสะสมอยู่ในนก ปลา แมวน้ำ วอลลัส หมีขั้วโลก และวาฬ ต่อให้อยู่ไกลจากแหล่งมลพิษเป็นพันๆ ไมล์ก็ตาม  ความที่มลพิษแพร่ไปได้กว้างไกลเช่นนี้ ทำให้ชนพื้นเมืองรอบอาร์กติกที่ต้องพึ่งพาอาหารจากการล่า ต่างก็มีระดับปรอทสูงอยู่ในเลือด

กระแสลมและกระแสน้ำที่พาปรอทขึ้นไปทางตอนเหนือนี้พัดมานานเป็นหมื่นๆ ปีแล้ว และยังพัดพาปรอทเข้มข้นตามธรรมชาติไปทั่วอาร์กติก  แต่เพราะปรอทเหล่านั้นถูกเก็บกักอยู่ในพื้นน้ำแข็งมานานเป็นพันๆ ปี มันจึงไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์หรือมนุษย์  มาถึงตอนนี้ชั้นดินเยือกแข็งของอาร์กติก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 24 ของแผ่นดินทั้งหมดในซีกโลกเหนือ กำลังละลายและเสี่ยงต่อการปล่อยปรอทจากแหล่งกักเก็บยักษ์ออกมา ซึ่งถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้ว่ามีปริมาณเท่าใด

 

งานวิจัยหนึ่งทศวรรษ

พอล ชูสเตอร์ นักอุทกศาสตร์จากหน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ทำงานวิจัยเรื่องปรอทในชั้นบรรยากาศมานานหลายทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เขาเริ่มเก็บตัวอย่างแท่งน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งในแม่น้ำวิน ที่ไวโอมิง และพัฒนาบันทึกการสะสมปรอทที่ย้อนกลับไปได้ถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม  งานวิจัยครั้งนั้นมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวผู้ออกกฎหมายของรัฐบาลกลางว่าปรอทที่ปล่อยโดยมนุษย์มีค่าสูงและสหรัฐฯ ควรผ่านกฎหมายใช้เครื่องดักจับเพื่อลดปรอทที่โรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

ชูสเตอร์เข้าไปทำวิจัยในลุ่มน้ำยูคอนที่อะแลสกา และพบว่าไม่เคยมีใครลองหาปริมาณของปรอทที่ถูกกับเก็บในชั้นดินเยือกแข็งมาก่อนเลย ที่จริงต่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่มีใครเชื่อว่าจะมีปรอทอยู่ที่นั่นด้วยซ้ำ

ระหว่างปี 2004-2012 ชูสเนอร์และทีมของเขาเก็บตัวอย่างแท่งน้ำแข็ง 13 แท่งจากทั่วอะแลสกา โดยเลือกพื้นที่ตัวอย่างชั้นดินเยือกแข็งในอะแลสกาที่จะนำมาสรุปเป็นผลของอาร์กติกได้ และใช้เวลาสร้างเป็นแบบจำลองอยู่หลายปี

ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าชั้นดินเยือกแข็งของอาร์กติกกักเก็บปรอทปริมาณมหึมาถึง 15 ล้านแกลลอน (ราว 6 หมื่นลูกบาศก์เมตร) หรือราวสองเท่าของที่มีอยู่ในมหาสมุทร ชั้นบรรยากาศ และทวีปทั้งหมดรวมกันเป็นอย่างน้อย  “ความเข้มข้นของปรอทก็มหาศาล สูงกว่าที่เราคาดเอาไว้มาก” ชูสเตอร์กล่าว

คำถามสำคัญก็คือ “แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับปรอทเหล่านั้น”

ไม่มีทางที่ปรอทเหล่านั้นจะอยู่ในชั้นดินเยือกแข็งตลอดไป  เมื่อแผ่นดินเริ่มละลาย พืชก็จะเติบโตขึ้นและดึงเอาปรอทขึ้นมา แล้วจุลชีพที่ย่อยสลายพืชจะปล่อยเมทิลเมอคิวรีออกมาส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปที่ปรอทเป็นพิษมากกว่าออกมา ปรอทบางส่วนจะแพร่กระจายทางน้ำและอากาศสู่ระบบนิเวศ และสู่สัตว์ต่างๆ ในที่สุด

 

ปรอทจะเข้าสู่อาหารมากเพียงใด

การระบุความเสี่ยงดังกล่าวมีอยู่มากน้อยขนาดไหนเป็นเรื่องยาก  แรกสุดอุณหภูมิจะสูงขึ้นขนาดไหน หรือจะช้าเร็วเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเพียงใด ซึ่งจะบ่งชี้ว่าชั้นดินเยือกแข็งจะละลายได้มากเพียงใด และจะนำไปสู่ปริมาณปรอทที่จะถูกปล่อยออกมา แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องทั้งหมด  คำถามเงินล้านก็คือ “ปรอทปริมาณเท่าใดที่จะลงเอยในห่วงโซ่อาหารและไปที่ไหนบ้าง” ชูสเตอร์กล่าว “พอเราก้าวไปสู่เรื่องห่วงโซ่อาหารในงานวิจัยนี้ เรื่องต่างๆ เริ่มดูหมดหวัง”

อาจดูเหมือนว่าการรั่วไหลของปรอทจากชั้นดินเยือกแข็งจะเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ในแถบอาร์กติกก่อน “แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอาร์กติก ไม่ได้อยู่แต่ในอาร์กติกหรอก” ชูสเตอร์ว่า “ในที่สุดแล้วมันก็จะแพร่กระจายไปทั่วโลก” ซึ่งส่งผลต่อมนุษยชาติอย่างแน่นอน

เรื่อง เครก เวล์ช

ภาพถ่าย โจเอล ซาร์ตอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

โลกร้อนจะเปลี่ยนโฉมหน้าโลกเราไปอย่างไร?

Recommend