โลกร้อนส่งผลต่อธารน้ำแข็งบนยอดภูเขา – กระทบแหล่งน้ำจืดของผู้คนนับพันล้าน

หอคอยกักน้ำ (water tower) จาก ธารน้ำแข็ง บนยอดเขาสูงเป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดของโลกในอัตราส่วนจำนวนมาก แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นภัยต่อแหล่งน้ำเหล่านี้

ในพื้นที่สูงเหนือเทือกเขาหิมาลัยบริเวณใกล้ ธารน้ำแข็ง กังโกตรี (Gangotri Glacier) มีน้ำไหลรินไปกับแม่น้ำสายเล็ก ไหลต่อลงสู่กระแสน้ำเบื้องล่าง น้ำจากเทือกเขานี้จะไหลเป็นระยะทางนับพันกิโลเมตรเพื่อหล่อเลี้ยงชาวบ้าน พื้นที่การเกษตร และที่ราบสินธุ (Indus Plain) อันเป็นพื้นที่ธรรมชาติขนาดกว้างใหญ่ ผู้คนมากกว่าสองร้อยล้านคนต่างพึ่งพาน้ำที่มาจากกระแสน้ำดังกล่าว

แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลต่อพื้นที่เทือกเขาสูงเช่นนี้มากกว่าพื้นที่อื่นของโลกโดยเฉลี่ย และการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ “หอคอยกักน้ำ” (water tower) ที่ผู้คนนับพันล้านต่างพึ่งพิง อยู่ในภาวะอันตรายยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตามงานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เหตุใดเราต้องใส่ใจหอคอยกักน้ำเหล่านี้

เทือกเขาสูงโอบอุ้มน้ำแข็งและหิมะบนยอดเขามากกว่าที่ใดในโลกหากไม่นับรวมพื้นที่ขั้วโลก และเทือกเขาเหล่านี้ประกอบไปด้วยน้ำจืดปริมาณครึ่งหนึ่งที่มนุษย์ใช้อุปโภคบริโภค

หิมะและธารน้ำแข็งที่อยู่บนเทือกเขาต่างๆมีความสำคัญต่อผู้คนมากกว่า 1,600 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรโลก โดยแหล่งน้ำที่เราใช้กันทุกวันนี้อาจมาจากเทือกเขาเหล่านี้

แผนที่หอคอยกักน้ำทั่วโลก ซึ่งมักเริ่มจากเทือกเขาสูงต่างๆ ที่มีหิมะละลายกลายเป็นแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ของโลก

หอคอยกักน้ำที่อยู่บนเทือกเขาสูงทำหน้าที่เป็นเหมือนแท็งก์เก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีวาล์วปิดเปิด ตัวอย่างเช่น เมื่อหิมะตก ก็จะเป็นการเติมแท็งก์น้ำ และน้ำแข็งเหล่านี้ก็จะละลายอย่างช้าๆ ผ่านวันผ่านเดือน หรืออาจเป็นปี ก่อนจะปล่อยน้ำที่ละลายไหลลงจากเทือกเขา

ความคงที่ของการละลายของน้ำแข็งนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งโดยเฉพาะกับผู้ที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง เนื่องจากการละลายของหิมะที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ว่าต่อเนื่องนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายน้อยกว่าฝนตกครั้งใหญ่ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันหรือแผ่นดินถล่ม และมีความสำคัญต่อเมืองหลายเมืองที่ต้องการใช้น้ำตลอดทั้งปี เนื่องจากเทือกเขาสูงเหล่านี้เป็นบ้านของความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นดินของโลก (Earth’s land-based biodiversity) ถึงหนึ่งในสาม

ธารน้ำแข็ง Ngozumpa เป็นธารน้ำแข็งที่ยาวที่สุดของเทือกเขาหิมาลัย ภาพถ่ายโดย BRITTANY MUMMA

“ในอดีต เทือกเขาไม่ได้รับการมองว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบภายในโลก เหมือนกับป่าในเขตร้อนหรือมหาสมุทร” วอลเตอร์ อิมเมอร์ซีล นักวิทยาศาสตร์ด้านภูเขาและภูมิอากาศที่มหาวิทยาลัยอูเทรคต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้เขียนหลักของงานวิจัย กล่าวและเสริมว่า “เราเพิ่งรับรู้ความสำคัญของมันครับ”

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักวิทยาศาสตร์รับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อปริมาณน้ำที่กักเก็บอยู่ในเทือกเขาสูง ซึ่งกำลังอุ่นขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิในเทือกเขาหิมาลัยพุ่งสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษเป็นต้นมา โดยค่าเฉลี่ยของพื้นที่ทั่วโลกอยู่ที่ 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น

ความตึงเครียดที่อาจเพิ่มมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อขนาดและรูปร่างของธารน้ำแข็งในเทือกเขาสูงเหล่านี้ เช่นเดียวกับชนิดและปริมาณหิมะที่ตกสู่พื้นดิน มีหลายกรณีที่ปริมาณหยาดน้ำฟ้านั้นเพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจทดแทนธารน้ำแข็งที่ละลายไปได้อย่างเพียงพอ

ในช่วงเวลาเดียวกัน ความต้องการแหล่งน้ำและความขัดแย้งกำลังเพิ่มขึ้นในหอคอยแหล่งน้ำทุกแห่งบนโลก การเติบโตและพัฒนาของจำนวนประชากรทั่วโลกส่งผลให้ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อิมเมอร์ซีลกล่าว ซึ่งความต้องการน้ำนี้ประจวบเหมาะกับประสิทธิภาพอันจำกัดของรัฐบาล และความตึงเครียดทางการเมืองในเรื่องสิทธิการใช้น้ำในหลายพื้นที่ของโลก ยิ่งทำให้เรื่องหอคอยกักน้ำเหล่านี้เปราะบางมากขึ้น

ผู้หญิงสองคนดูแลสวนฝรั่งในหุบเขา Chipursan ประเทศปากีสถาน ภูมิภาคนี้เป็นส่วนหนึ่งของหอคอยกักน้ำของแม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำให้ระบบน้ำ (water system) มากที่สุดในโลก ภาพถ่ายโดย MATTHIEU PALEY, NAT GEO IMAGE COLLECTION

แม่น้ำสินธุเป็นแหล่งน้ำที่เปราะบางมากที่สุดของโลก อิมเมอร์ซีลบอก เช่นเดียวกับแม่น้ำอามูดาร์ยา (แถบเอเชียกลาง) แม่น้ำคงคา แม่น้ำทาริม (เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน) แม่น้ำซีร์ดาร์ยา (แถบเอเชียกลาง) หอคอยกักน้ำในทวีปอเมริกาใต้ก็มีความเปาะบางอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน
ด้านทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปเองก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากผลกระทบนี้ที่เกิดขึ้นในที่ราบสูงโคลัมเบีย ที่ราบลุ่มแม่น้ำโคโลราโด แม่น้ำโรน (ยุโรป) แม่น้ำโป (ยุโรป) และแม่น้ำอื่นๆ

“ความเปราะบางของหอคอยกักน้ำไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบริเวณเทือกเขาในเอเชีย แต่เกิดขึ้นในทั้งสองซีกโลกและกลายเป็นปรากฎการณ์ระดับโลกโดยแท้จริง” จัสติน แมนคิน นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของวิทยาลัยดาร์ตมัท สหรัฐอเมริกา ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัย กล่าว

ควรพุ่งความสนใจไปที่ใด

นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ภูเขาสูงกำลังจะเกิดขึ้น

“น้ำกำลังจะเปลี่ยนไปครับ” วาวเตอร์ บายเทิร์ต นักอุทกวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) กล่าวและเสริมว่า “ดังนั้น ก้าวต่อไปคือการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถทำได้ และชุมชนต่างๆจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างไร” ซึ่งต้องมีความสร้างสรรค์และหาทางออกอื่นๆเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในหอคอยกักน้ำให้ได้

Dingboche เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเชิงเทือกเขาหิมาลัย ในหนึ่งหมู่บ้านที่ต้องพึ่งพาน้ำจากหอคอยกักน้ำในเทือกเขาสูง ภาพถ่ายโดย ERIC DAFT

ในลาดักห์ (อินเดีย) ทางแก้ปัญหาอาจหมายถึงการสร้างสถูป หรือแผ่นน้ำแข็งเล็กๆที่สามารถคงอยู่ได้ไปตลอดช่วงหน้าแล้ง ในเปรูอาจใช้วิธีการนำระบบประปาแบบโบราณกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการนำน้ำจากหอคอยกักน้ำไปสู่ช่องทางหรืออ่างเก็บน้ำต่างๆ แต่ก็อาจหมายถึงสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือการแก้ปัญหาในระดับโลก เช่น การพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการตั้งคำถามทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อเฝ้าจับตาความเปราะบางนี้

“ในจุดนี้ เราจำต้องคิดถึงโลกทั้งใบค่ะ” มิเชล โคปป์ส นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศและธารน้ำแข็งจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงาน กล่าวและเสริมว่า “นี่เป็นภาวะคับขันของโลกที่กำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศ Global South (ทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย และประเทศในตะวันออกกลาง) แต่ภาวะเปราะบางนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ในสวนหลังบ้านของเรา และต้องได้รับการใส่ใจทันที”

เรื่อง ALEJANDRA BORUNDA


อ่านเพิ่มเติม แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์กำลังละลายเร็วขึ้นถึงสี่เท่า – และส่งผลร้ายต่อโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.