ใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงน้ำประปาเค็ม

หญิงสาวชาวปากีสถานแบกน้ำดื่มข้ามถนนที่เสียหายในเมือง Baseera ในเดือนสิงหาคม ปี 2010 เมื่อแม่น้ำสินธุเข้าท่วมหลายเมือง ในระยะยาว เส้นทางไหลของน้ำก็ลดน้อยลงไปด้วย ภาพถ่ายโดย AARON FAVILA, AP


เมื่อน้ำประปาที่ชาวกรุงเคยบริโภคอย่างปกติสุขกลับมีรสเค็มจนน่ากังวล สาเหตุนี้เกิดจากอะไร เราควรรับมือและใช้น้ำอย่างไรในสถานการณ์นี้

คุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพมหานครช่วงเปิดศักราช 2563 มีความย่ำแย่ลงเมื่อต้องพบเจอกับภาวะ “น้ำประปาเค็ม” ซึ่งสร้างความกังวลให้กับชาวเมืองจำนวนมากที่โดยปกติแล้วต้องพึ่งพาน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับที่การประปานครหลวงออกมายอมรับว่า แหล่งน้ำที่นำมาผลิตน้ำประปามีค่าความเค็มเกินมาตรฐานตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

ภัยแล้งยาว น้ำจืดหดหาย น้ำทะเลหนุนสูง สาเหตุทำน้ำประปาเค็ม

การประปานครหลวงได้อธิบายถึงสาเหตุของภาวะน้ำประปาเค็มว่า เกิดจากสถานการณ์ภัยแล้งสูงสุดในรอบ 50 ปี ทำให้แหล่งน้ำจืดหดหาย เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงเข้ามาในระบบการผลิตน้ำประปา โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อนำไปผลิตน้ำประปา ทำให้เกิดสถานการณ์นํ้าทะเลซึ่งเป็นน้ำเค็มที่มีมวลและความหนาแน่นมากกว่ารุกเข้ามาในแม่นํ้าเจ้าพระยา โดยเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ทำให้รสชาตินํ้าประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยาเปลี่ยนไป และคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 น้ำทะเลจะหนุนสูงมากเป็นพิเศษ และภัยแล้งที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำประปานี้จะเกิดไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2563

มีการใช้จ่ายเงินราวหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30 ล้านล้านบาท ในผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดทุกปี ภาพถ่ายโดย VLADIMIR MUCIBABIC/SHUTTERSTOCK

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มของน้ำประปาและการยอมรับของผู้บริโภคเอาไว้ โดยกำหนดให้มีโซเดียมในน้ำไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้ามีค่ามากเกินกว่านี้จะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็ม แต่นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง กล่าวว่า นํ้าประปาในช่วงนี้มีความเค็มในรูปคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือมีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด จึงทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความเค็มของน้ำประปาที่มาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร ได้เป็นบางครั้งในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม มีพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันตกที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำประปาเค็ม เนื่องจากเป็นน้ำที่ผลิตจากโรงงานผลิตนํ้ามหาสวัสดิ์ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากนํ้าเค็ม แต่โรงงานผลิตน้ำที่ได้รับผลกระทบคือสถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำประปาให้กับชาวกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่

ผลกระทบของน้ำประปาเค็มที่มีต่อสุขภาพ

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า มนุษย์ควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจากภาวะประปาเค็มนี้ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีโอกาสได้รับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคน้ำประปาเค็มในช่วงนี้ยังไม่มีผลต่อคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง เพราะโซเดียมในน้ำประปายังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมในอาหารทั่วไปที่บริโภคในชีวิตประจำวัน แต่จะมีผลในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งไตยังทำหน้าที่ขับโซเดียมได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีผลต่อผู้ป่วยโรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุ เป็นต้น เพราะจะทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายสูงขึ้น

ภาพโดย Tibor Janosi Mozes จาก Pixabay

ลดการเติมเครื่องปรุง – ใช้การกรองน้ำระบบ RO ช่วยแก้ปัญหา – ห้ามแก้ปัญหาโดยการต้มน้ำ

เนื่องจากการใช้น้ำประปาในช่วงนี้ทำให้เรามีโอกาสได้รับโซเดียมมากขึ้น ดังนั้น การประปานครหลวงได้แนะนำให้ลดการเติมเครื่องปรุงให้น้อยลงจากการใช้นํ้าประปาปรุงอาหารช่วงนี้ไปก่อน

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำในการรับมือปัญหาน้ำเค็มว่า การบริโภคน้ำดื่มที่ถูกต้องก็คือการเอาไปผ่านระบบที่ทำให้เกลือแร่หายไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น การกรองด้วยระบบ Reverse osmosis หรือระบบอาร์โอ (RO) หรือการกลั่นน้ำ ซึ่งได้จากเครื่องกรองน้ำแบบอาร์โอที่เป็นเครื่องกรองน้ำแบบมีความละเอียดสูง

การกรองน้ำระบบนี้คือการกรองโดยใช้แรงดันให้น้ำผ่านเยื่อเมมเบรน (Membrane) ที่กรองน้ำได้ละเอียดถึง 0.0001 ไมครอน จึงสามารถกรองโซเดียมที่ปะปนมากับน้ำได้ โดยน้ำที่ได้มาจะมีความบริสุทธิ์ถึง 95% จึงเป็นระบบกรองน้ำที่สามารถรับมือกับภาวะน้ำประปาเค็มได้ แต่ก็ไม่ควรดื่มน้ำที่ได้จากการกรองประเภทนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะการกรองน้ำระบบนี้ทำให้แร่ธาตุในน้ำที่จำเป็นต่อร่างกายในการซ่อมแซมและเสริมสร้างกระดูกและฟัน รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันต่างๆให้ร่างกาย อาทิ แมกนีเซียม แคลเซียม ซิลิกา ฟลูออไรด์ และซิงก์ (สังกะสี) หายไปด้วย ทำให้ร่างกายอาจขาดแร่ธาตุที่จำเป็นได้

เครื่องกรองน้ำในบางครัวเรือนเป็นระบบอาร์โออยู่แล้ว หรือแม้แต่ตู้กดน้ำหยอดเหรียญที่เป็นระบบอาร์โอก็ให้ผลเช่นเดียวกัน เพียงแต่ผู้บริโภคต้องเลือกตู้กดน้ำที่มีหลักฐานการเปลี่ยนไส้กรองน้ำอย่างสม่ำเสมอ หรือบางคนอาจแก้ปัญหาโดยการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดบริโภค ก็เป็นวิธีที่ใช้ได้ เพียงแต่ต้องเป็นน้ำดื่มที่มีตราสัญลักษณ์ อย. และผ่านการกรองน้ำด้วยระบบอาร์โอ

แม้การดื่มน้ำจากขวดน้ำครั้งเดียวใช้แล้วทิ้งซึ่งถูกวางทิ้งไว้ในอากาศร้อนจะไม่ทำให้คุณเจ็บปวด แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน บรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ถูกวางทิ้งไว้ในอากาศอันร้อนระอุ ภาพโดย MARK THIESSEN, NATIONAL GEOGRAPHIC

รองศาสตราจารย์เจษฎาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มีความเชื่อว่าการต้มน้ำจะทำให้ความเค็มหายไป ซึ่งความจริงแล้วการทำเช่นนั้นจะส่งผลร้ายแรงกว่าเดิม เพราะการต้มน้ำจะเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า “การระเหย” ทำให้ปริมาณของน้ำลดลง แต่ความเค็มที่เกิดจากตะกอนของเกลือไม่ได้ระเหยไป การต้มจึงทำให้น้ำมีอัตราความเข้มข้นของเกลือมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำลดลง แต่ปริมาณเกลือเท่าเดิม ดังนั้น เมื่อนำน้ำต้มไปดื่ม ก็จะยิ่งได้รับเกลือในปริมาณมากขึ้น จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะคนป่วย

นอกจากการรับมือปัญหาเพื่ออยู่กับน้ำประปาเค็มให้ได้แล้ว เราควรตระหนักถึงภัยแล้งซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำจืดไม่เพียงพอจนเกิดภาวะนี้ขึ้น โดยงานวิจัยระดับโลกระยะหลังชี้ให้เห็นตรงกันว่า ในอนาคตโลกของเราจะมีปริมาณน้ำจืดลดลง เนื่องจากแหล่งต้นน้ำสำคัญตามธรรมชาติกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น สิ่งที่ควรเกิดขึ้นหลังจากนี้คือการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและดูแลรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งอาจต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงจะสามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แหล่งข้อมูล

ยันต้มน้ำประปาไม่ช่วยลดเค็ม แถมทำเกลือเข้มข้นเพิ่ม
ทางรอดต้นไม้ สู้วิกฤติ “น้ำประปาเค็ม” เข้าใจใหม่ “น้ำขวด” ไม่ไร้เค็ม
ดีจริงไหม? กรองน้ำแบบ Reverse Osmosis (RO) น้ำสะอาดใส แต่ไร้แร่ธาตุ
กรมอนามัย ชี้น้ำประปาเค็มแต่ “โซเดียม” ไม่เกินมาตรฐาน
แล้งหนัก-น้ำประปาเค็มถึงพฤษภาคม 63 เตือน 7 กลุ่มเสี่ยงเลี่ยงดื่ม
เตือน 7 กลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงบริโภคน้ำประปาเค็ม


อ่านเพิ่มเติม ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยร้ายกลางเมืองที่กำลังคุกคามสุขภาพ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.