ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยร้ายกลางเมืองที่กำลังคุกคามสุขภาพ

ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยร้ายกลางเมืองที่กำลังคุกคามสุขภาพ

ภาพถ่ายโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา


ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยร้ายกลางเมืองที่กำลังคุกคามสุขภาพ

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้กลับปรากฎในเมืองหลวงเป็นระยะๆ และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกครั้ง

ฝุ่นละอองเหล่านี้มาจากไหน ทำไมต้อง PM 2.5 และทำไมเราจึงควรใส่ใจกับฝุ่นเล็กจิ๋วเหล่านี้? อันที่จริงผลกระทบจากการสูดหายใจเอาฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าไปในร่างกายนั้นใหญ่กว่าขนาดของตัวมันเองหลายเท่า

ทำความรู้จักกับฝุ่นละออง PM 2.5

คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วน 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตร นั่นหมายความว่าเจ้าฝุ่นอนุภาคเล็กจิ๋วเหล่านี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปกติแล้วไส้ดินสอกดจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 ไมครอน เส้นผมของมนุษย์อยู่ที่ 100 ไมครอน ฝุ่นละอองเหล่านี้มีขนาดเล็กแค่ไหน? ลองจินตนาการเปรียบเทียบดู

ฝุ่นละออง
ภาพเปรียบเทียบขนาดของฝุ่นละออง PM 2.5 (วงกลมสีชมพู) กับฝุ่นละออง PM 10 (วงกลมสีฟ้า), เม็ดทราย และเส้นผม
ภาพถ่ายโดย U.S. EPA

สาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองจากหลายปัจจัย แต่หลักๆ มาจาก โรงผลิตไฟฟ้า ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ การเผาไม้ทำลายป่า เผาขยะ การประทุของภูเขาไฟ หรืออาจเกิดมาจากพายุฝุ่น อันที่จริงในทุกวันกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขึ้นอยู่แล้ว ปกติฝุ่นเหล่านี้จะลอยขึ้นไปในอากาศ และถูกสายลมพัดพาฟุ้งกระจายไป ทว่าหากวันไหนที่อากาศนิ่ง ไม่ค่อยมีลมพัด ฝุ่นละอองจะไม่ฟุ้งกระจาย ส่งผลให้ระดับความเข้มของฝุ่นในพื้นที่นั้นๆ สะสมมากขึ้นจนกลายเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ

และด้วยความที่ขนาดของมันนั้นเล็กมากๆ ฝุ่นละออง PM 2.5 เหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหา เนื่องจากสามารถเล็ดรอดผ่านการดักของขนจมูกเข้าไปสู่ภายในร่างกายของเราได้ และจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในระยะยาวตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจหรือภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบ รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอีกด้วย มากไปกว่านั้นอันตรายยิ่งกว่าคือสิ่งที่มาพร้อมกับฝุ่น อนุภาคของฝุ่นละอองที่ถูกสูดเข้าไปในร่างกายนั้นมีลักษณะขรุขระ ดังนั้นมันจึงพาเอาสารอื่นติดมาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมากขึ้น หากสะสมในร่างกาย

(คุณผู้อ่านสามารถตรวจเช็คคุณภาพของอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่าน เว็บไซต์นี้

ข้อมูลเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2021 เวลา 7.00 น.

PM2.5 ปัญหาของคนกรุง

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 กรมควบคุมมลพิษเคยออกมาประกาศเตือนเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ในทำนองนี้เช่นกัน เท่ากับว่าในปีนี้ ชาวกรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหามลพิษในอากาศถึง 2 ครั้ง และมีแนวโน้มที่จะเพื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ถ้าเช่นนั้นเจ้าหน้าที่รัฐควรทำเช่นไร? เพื่อปกป้องสุขภาพของพลเมือง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวัดมลพิษทางอากาศด้วยไลเคน รองศาสตราจารย์ ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ หัวหน้าหน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า

“ในกรุงเทพมหานคร PM 2.5 มีปัจจัยการเกิดจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน) เป็นสำคัญ เพราะมีรถยนต์จำนวนมากและการจราจรติดขัด ในระยะยาวควรแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์เข้าถึงทุกพื้นที่ อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยลดมลพิษได้มากโดยเฉพาะกับ ฝุ่นละออง PM 2.5”

นอกจากนั้น ดร. กัณฑรีย์ ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น รวมไปถึงดูแลรักษาต้นไม้ที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์อยู่เสมอ เนื่องจากต้นไม้เหล่านี้จะช่วยดูดซับสารพิษในอากาศได้ โดยเฉพาะกับเกาะกลางถนน แค่ลำพังหญ้าหรือพืชที่คลุมดินนั้นไม่เพียงพอ เมื่อมียานยนต์หนาแน่นจะเกิดฝุ่นขนาดใหญ่ (PM 10) ฟุ้งกระจาย ซึ่งเมื่อผสมผสานกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะยิ่งทำให้สภาวะมลพิษรุนแรงขึ้น

ในต่างประเทศการปลูกต้นไม้บนเกาะกลางถนนทำโดยให้วัสดุปลูกและดินอยู่ต่ำกว่าขอบเกาะ รวมทั้งจะปิดหน้าดินด้วยวัสดุคล้ายเปลือกไม้ ซึ่งจะช่วยให้ฝุ่นไม่ฟุ้งกระจายหรือไหลลงบนพื้นถนน ต่างจากในไทยที่นิยมพูนดินบนเกาะกลางถนนให้สูงไปกว่าขอบ เหล่านี้คือแนวทางที่บ้านเราสามารถนำมาปรับใช้ได้เพื่อลดปัญหามลพิษ

ฝุ่นละออง
ผู้คนบนท้องถนนสวมหน้ากากอนามัยป้องกันสุขภาพของตนเองจากฝุ่นควัน
ภาพถ่ายโดย จิตรภณ ไข่คำ จากสารคดีเรื่อง “เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน” ตีพิพม์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย พฤษภาคม 2558

ปัญหาฝุ่นละอองกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามสุขภาพของผู้คนในหลากหลายประเทศ ก่อนหน้านี้กรุงปักกิ่ง ในจีนและกรุงนิวเดลี ในอินเดีย ก็เผชิญกับวิกฤติดังกล่าว ร้ายแรงที่สุดคือในวันที่ฝุ่นและหมอกควันเข้าปกคลุมมากๆ คนอินเดียได้รับผลกระทบถึงขนาดไม่สามารถมองเห็นได้ไกลกว่าในระยะ 300 เมตร จนทำให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์กันมาแล้ว รัฐบาลต้องออกมาตรการป้องกันและแก้ไขไม่ให้ปัญหาลุกลามไปมากกว่าเดิม รถเก๋งที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่รวมไปถึงรถ SUV เครื่องยนต์มากกว่า 2,000CC ถูกแบน รวมไปถึงรถแท็กซี่อีกหลายหมื่นคันที่ใช้น้ำมันดีเซลด้วย

ฝุ่นละออง
เดือนสิงหาคม ปี 2016 กรุงนิวเดลีเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 17 ปี การสูดอากาศนอกที่พักอาศัยมีค่าเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปริมาณถึง 2 แพ็คในวันเดียว
ภาพถ่ายโดย AP

ข้ามฝั่งไปที่ยุโรป ในกรุงปารีส รัฐบาลมีมาตรการแบนรถยนต์เก่าเช่นกัน รวมไปถึงสนับสนุนให้ประชาชนหันมาให้ระบบขนส่งมวลชนและจักรยานกันมากขึ้น ด้วยการเปิดให้ใช้บริการฟรีในช่วงที่ต้องต่อสู้กับปัญหามลพิษที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีการกำหนดพื้นที่ปลอดรถยนต์ เช่นบริเวณตามแนวแม่น้ำแซน ด้านประเทศเนเธอร์แลนด์มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า รัฐบาลเตรียมแบนบริษัทขายรถยนต์ที่ยังคงใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันภายในปี 2025 นี้ นั่นหมายความว่าในอนาคตรถยนต์ที่วิ่งในประเทศนี้จะมีแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นปัญหาเท่าใด เพราะประเทศนี้มีผู้ใช้จักรยานมากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์อยู่แล้ว

ในระหว่างที่ต้องรอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไปควรที่จะป้องกันสุขภาพของตนเองไว้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้านหรือใช้บริการขนส่งสาธารณในวันที่ค่าปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ด้วยการหาหน้ากาก N95 หรือ P-100 respirators ที่ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยสามารถกรองอนุภาคขนาด 1 – 5 ไมครอนได้ร้อยละ 95 ส่วนหน้ากากอนามัยทั่วไปนั้นไม่สามารถกรอง ฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ ใช้กรองได้เพียงฝุ่นขนาดใหญ่เท่านั้น

ฝุ่นละออง
ตัวอย่างของหน้ากาก N95 จากเว็บไซต์ alibaba.com

อ่านเพิ่มเติม

ชีวิตในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดของโลก

 

 

Recommend