อุณหภูมิของคาบสมุทรแอนตาร์กติกทำลายสถิติ และจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากนี้

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะได้เห็นสภาพภูมิอากาศสุดขั้วในอนาคต ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญจากแผ่นดินเยือกแข็งขนาดใหญ่อย่าง แอนตาร์กติก

ห่างจากทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ไปราว 8,000 กิโลเมตร คือที่ตั้งของเคปฮอร์น (Cape Horn) แผ่นดินรูปร่างแคบในจุดเหนือสุดบริเวณคาบสมุทร แอนตาร์กติก อันเปรียบเหมือนอาณาจักรต้องห้ามซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะถิ่นอาศัยยอดนิยมของเหล่าเพนกวิน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ พื้นที่ใต้สุดของแอนตาร์กติกกำลังอยู่ในช่วงฤดูร้อนซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 20 องศาเซลเซียส และอาจจะเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา

สาเหตุของอุณหภูมิดังกล่าวเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งกระแสลมภูเขาที่มีความอบอุ่นและมหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะยาว ปกติแล้วอุณหภูมิช่วงฤดูร้อนทั่วคาบสมุทรแอนตาร์กติกมักจะเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 2-3 องศาเซลเซียส แต่พื้นที่นี้ได้ประสบกับสภาพอากาศอบอุ่นอย่างรุนแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความร้อนนี้จะทำให้แผ่นดินแตกตัวง่ายขึ้น ประกอบกับอุณหภูมิของโลกที่อุ่นขึ้นเนื่องจากคาร์บอนในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น อุณหูภูมิที่สูงจนทำลายสถิติใหม่อาจจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศส่งผลให้เพนกวิจหาอาหารได้ยากลำบากขึ้น อนาคตของสัตว์สายพันธุ์นี้ยังคงไม่แน่น่นอน แม้จะมีนโยบายอนุรักษ์และการกำหนดเขตคุ้มครองทางทะเล ภาพถ่ายโดย Ralph Lee Hopkins

“ผมคิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจหรอกครับ” ปีเตอร์ เนฟฟ์ นักวิทยาธารน้ำแข็งแอนตาร์กติกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวและเสริมว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้ม (สภาพภูมิอากาศ) ที่กำลังเกิดขึ้น และเราจะพบเจอกับเหตุการณ์อากาศอุ่นขึ้นมากกว่าเหตุการณ์อากาศที่หนาวเย็นในอนาคต

การโจมตีของอากาศร้อน

สาเหตุของสภาพอากาศอบอุ่นของแอนตาร์กติกในช่วงนี้คือคลื่นความร้อนที่อยู่ขึ้นไปทางเหนือหลายร้อยกิโลเมตร

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แนวความกดอากาศสูงเคลื่อนตัวเหนือพื้นที่ทางใต้สุดของสหรัฐอเมริกาและโอบล้อมภูมิภาคแอนตาร์กติกไว้ ฆาเวียร์ เฟตต์ไวส์ นักภูมิอากาศวิทยาขั้วโลกจากมหาวิทยาลัยลีแยฌ (University of Liège) ในประเทศเบลเยียม กล่าวและเสริมว่า เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงฤดูร้อน ซึ่งผลกระทบไม่สามารถรับรู้ได้ในคาบสมุทรแอนตาร์กติก เนื่องจากได้รับการปกป้องโดยกระแสลมตะวันตกซีกโลกใต้ (Southern Hemisphere Westerlie) ซึ่งเป็นลมที่มีกำลังแรงพัดอยู่โดยรอบทวีป

แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กระแสลมนี้อยู่ในภาวะอ่อนกำลังรอบๆพื้นที่ขั้วโลกใต้ อันเป็นรูปแบบที่รู้จักกันในชื่อว่าความผันผวนแอนตาร์กติก (Antarctic Oscillation) ซึ่งเฟตต์ไวส์กล่าวว่า ความผันผวนนี้ทำให้อากาศอบอุ่นเข้าไปยังพื้นที่ขั้วโลกใต้ในแบบที่ไม่ธรรมดา

แมวน้ำเสือดาวงับเพนกวินอาเดลีวัยเยาว์ ก่อนจะลากลงไปให้จมน้ำตายใกล้แอนตาร์กติกซาวด์ ตรงปลายสุดทางตอนเหนือของคาบสมุทร ตามปกติแล้ว แมวน้ำเสือดาวจะล่าเหยื่อเพียงลำพังตามแพน้ำแข็งนอกชายฝั่ง แต่เมื่อน้ำจับตัวเป็นน้ำแข็งช้าลงและละลายเร็วขึ้น ทุกวันนี้พวกมันจึงมักจับกลุ่มอยู่ใกล้ชายฝั่งซึ่งมีคอโลนีของเพนกวินอยู่

นอกเหนือไปจากนั้น แฮร์รี เฮนดอน นักวิจัยวิทยาศาสตร์จากสำนักอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย กล่าวว่า อุณหภูมิมหาสมุทรที่อยู่รอบๆจุดสูงสุดของคาบสมุทรแอนตาร์กติกอุ่นขึ้นราว 5-9 องศาเซลเซียส มากกว่าระดับปกติในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งความอบอุ่นภาคพื้นสมุทรนี้อาจเป็นผลที่ตามมาของเหตุการณ์ชั้นบรรยากาศตอนบนที่เบาบางอบอุ่นขึ้น (a rare upper-atmosphere warming event) ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยอากาศอบอุ่นทั้งหมดที่อยู่ในมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศโลก มีส่วนช่วยให้เกิดอุณหภูมิที่กำลังจะทะลุสถิตินี้

ที่สถานีวิจัยในคาบสมุทรแอนตาร์กติกจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิอยู่เสมอ โดยวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ฐานปฏิบัติการเอสเปรันซาของอาร์เจนตินาบันทึกอุณหภูมิได้ที่ 18.3 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติก่อนหน้าซึ่งวัดได้ที่ 17.5 องศาเซลเซียสเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2015 จากนั้น ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ สถานีวิจัยของบราซิลซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะเซย์มูร์ (Seymour Island) บันทึกอุณหภูมิที่สูงถึง 20.75 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าข้อมูลนี้ได้รับการยืนยัน จะเป็นการวัดอุณหภูมิที่สูงเกิน 20 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก ไม่ใช่แค่ในแอนตาร์กติกา แต่รวมไปถึงทุกภูมิภาคที่อยู่ภายใต้เส้นละติจูด 60 องศาใต้

หนึ่งในทีมนักลำรวจ Queen Maud Land ดินแดนห่างไกลบนทวีปแอนตาร์กติกา โรยตัวผ่านแนวหินที่มีชื่อเรียกว่า Bertha’s Tower ภาพถ่ายโดย Cory Richards

มองภาพใหญ่

ในขณะที่อุณหภูมิที่พุ่งสูงจนทำลายสถิติกำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง นักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นตรงกันว่า แม้แนวโน้มภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้นมีความซับซ้อน แต่ก็มีทิศทางที่ชัดเจนว่าดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้กำลังร้อนขึ้น

กระนั้น มนุษย์ยังคงปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นทุกปี ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าคาบสมุทรแห่งนี้จะเริ่มร้อนขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายสำหรับดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้

ในขณะที่พื้นที่น้ำแข็งขอบนอกสุดของแอนตาร์กติกาตะวันตกถูกกระแสน้ำอุ่นของมหาสมุทรโจมตีจากข้างใต้ อากาศอบอุ่นของคาบสมุทรแอนตาร์กติกก็โจมตีดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้จากทางด้านบน ทำให้น้ำแข็งละลายและแตกตัวเป็นหิ้งน้ำแข็งลอยน้ำ น้ำแข็งที่ละลายจะไหลลงสู่มหาสมุทรเร็วขึ้นและทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี 1992 จนถึง 2017 อัตราการสูญเสียน้ำแข็งในคาบสมุทรแอนตาร์กติกเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่า กล่าวคือ จาก 7,000 ล้านเป็น 33,000 ล้านตันต่อปี

“เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะบอกว่าเราอาจพบกับสภาพภูมิอากาศสุดขั้วเช่นนี้ได้มากขึ้นอีกในอนาคตค่ะ” – รูธ มอตแทรม นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาของเดนมาร์ก ทิ้งท้าย

เรื่อง MADELEINE STONE


อ่านเพิ่มเติม แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์กำลังละลายเร็วขึ้นถึงสี่เท่า – และส่งผลร้ายต่อโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.