ลุ่ม แม่น้ำโขง กำลังอยู่ในภาวะแห้งแล้งขั้นอันตราย

ชาวประมงบนริมฝั่ง แม่น้ำโขง ที่จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ภาพถ่ายโดย SOE ZEYA TUN, REUTERS


แม่น้ำโขง สายนี้หล่อเลี้ยงอารายธรรมมาเป็นเวลานับพันปี ขณะนี้กำลังแห้งแล้ง และไม่อาจทนกับการจู่โจมการจากการก่อสร้างเขื่อน การทำประมงเกินขนาด และการขุดทราย (sand mining) ได้อีกต่อไป

กรุงพนมเปญ, กัมพูชา – เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้วที่บรรดาโลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin) ว่ายน้ำมาติดตาข่ายดักปลาของชาวประมงซึ่งถูกพบเห็นในแม่น้ำโขงที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เป็นจุดที่ห่างจากแหล่งอาศัยดั้งเดิมทางตอนเหนือของกัมพูชา นักอนุรักษ์ธรรมชาติต่างพยายามช่วยเหลือบรรดาสัตว์ที่กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในแม่น้ำแห่งนี้แม้จะต้องแข่งกับเวลาที่กำลังหมดลง

สำหรับชาวกัมพูชา โลมามีบทบาทในเชิงเปรียบเทียบตามความเชื่อ มันแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของลำน้ำโขง ชะตาชีวิตของปลาเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความสมดุลของธรรมชาติ แม่น้ำโขงก็เช่นกัน สัญญาณเหล่านี้กำลังแสดงให้เห็นว่า แม่น้ำที่ได้ชื่อว่ามีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกำลังอยู่ในภาวะที่บีบคั้นในระดับลุ่มแม่น้ำ

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่วิกฤตสิ่งแวดล้อมกำลังปรากฏขึ้นลางๆ ในเส้นทางน้ำที่มีความยาวกว่า 4,300 กิโลเมตร และไหลผ่านถึง 6 ประเทศ แม่น้ำโขงไม่อาจทนกับการจู่โจมการจากการก่อสร้างเขื่อน การทำประมงเกินขนาด และการขุดทรายได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในภาวะอ่อนแอ แม่น้ำสายนี้ก็ยังคงทรงพลังเนื่องจากมีผู้คนกว่า 60 ล้านคนที่ยังคงพึ่งพิงแม่น้ำสายนี้ในการหล่อเลี้ยงชีวิต

แต่ในปี 2019 สิ่งต่างๆ เริ่มย่ำแย่ เริ่มจากวิกฤตฝนมรสุมที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาลในช่วงเดือนพฤษภาคม ภาวะแห้งแล้งเกิดขึ้นในภูมิภาค ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี และเมื่อฝนมาถึง ก็ไม่ได้ยาวนานดังเช่นที่เคยเป็น ภาวะแห้งแล้งจึงยังดำเนินต่อไป

จุดสีเหลืองที่ปรากฎในแผนที่เป็นสัญลักษณ์แทนเขื่อนบนแม่น้ำโขงหรือลำน้ำสาขา

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีหลายสิ่งแปลกๆ เกิดขึ้น บางแห่งทางตอนเหนือแม่น้ำ สายน้ำอันยิ่งใหญ่ไหลช้าลงจนอยู่จนอยู่ในภาวะที่ไหลเอื่อยๆ สีของแม่น้ำเปลี่ยนคล้ายเป็นลางบอกเหตุความผิดปกติและเริ่มเต็มไปด้วยกลุ่มสาหร่ายที่กระจายตัว จำนวนปลาที่อาศัยอยู่พื้นล่างซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกลดลง ซ้ำร้าย ปลาที่จับได้ก็มีขนาดเล็กจนทำได้เพียงแค่นำไปใช้เลี้ยงปลาตัวอื่นๆ เท่านั้น

“ทุกที่ที่คุณมองต่างเป็นตัวชี้วัดว่าแม่น้ำแห่งนี้ ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงชีพผู้คนมากมายเป็นเวลานาน กำลังอยู่ในจุดแตกหักครับ” เซ็บ โฮแกน นักมีนวิทยา (fish biologist) แห่งมหาวิทยาลัยเนวาดา เรโน และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าว

และในขณะนี้ แม่น้ำโขงกำลังเข้าสู่สภาวะที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

กระแสน้ำธรรมชาติถูกขัดขวาง

แม่น้ำโขงมีจุดกำเนิดจากที่ราบสูงธิเบตอันหนาวเย็นไหลผ่านหุบเขาลึกในจีน หรือที่รู้จักกันในนามลุ่มน้ำตอนบน (upper basin) ไหลลงมายังประเทศที่อยู่ตามลุ่มน้ำตอนล่าง (lower basin) เช่นเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนแตกสาขาเป็นแม่น้ำสายย่อยไปพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันกว้างใหญ่ที่เวียดนามและไหลลงสู่ทะเลจีนใต้

แม่น้ำแห่งนี้เป็นบ้านของปลานับพันสายพันธุ์ สายน้ำที่ไหลในช่วงฤดูน้ำหลากก่อให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยสมบูรณ์แบบของบรรดาปลาและนกน้ำ และพัดพาตะกอนที่สำคัญไปตามพื้นที่เกษตรกรรมตามแม่น้ำ

แต่การไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติดังกล่าวกำลังถูกขัดขวาง เนื่องจากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปัญหาชัดเจนขึ้น

ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง 11 แห่งที่ดำเนินการโดยประเทศจีน โดยในช่วงหน้าแล้งสุดขั้ว เช่นในตอนนี้ที่เขื่อนเหล่านี้กั้นน้ำมากกว่า 12 ล้านล้านแกลลอน นับเป็นปัจจัยขัดขวางการไหลของน้ำไปยังพื้นที่เบื้องล่างอย่างรุนแรง

“เมื่อมีภาวะแห้งแล้ง จีนก็ควบคุมการไหลของน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ไบรอัน อีย์เลอร์ (Brian Eyler) ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งศูนย์สติมสันในวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว

(เชิญชมวิดีโอ 90 วันใน 90 วินาที: วิถีชีวิตในแม่น้ำโขง โดย เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ที่นี่)

ทั้งชาวประมงและชาวนาในภาคเหนือของประเทศไทยต้องจัดการกับความผันผวนของกระแสน้ำอย่างรุนแรงเนื่องจากเขื่อนเหล่านี้เป็นผู้กำหนดในการกักเก็บหรือปล่อยน้ำ โดยการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นอันตรายต่อการอพยพของปลา นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของน้ำอย่างรวดเร็วมักกวาดเอาพืช สัตว์ อุปกรณ์ และขัดขวางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท

เมื่อเร็วๆ นี้ สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น หลังจากที่เขื่อนจิ้งหงของจีนปรับลดการระบายน้ำครึ่งหนึ่งในช่วงการทดสอบเขื่อน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำลดลง โขดหินสันดอนทรายในแม่น้ำโขงโผล่ขึ้นจนมองเห็นได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมยังเกิดขึ้นจากโครงการสร้างเขื่อนของประเทศลาวที่กำลังวาดฝันตัวเองให้เป็นแบตเตอรีแห่งเอเชียโดยการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำนับร้อยแห่งในปีที่จะถึงนี้ หลังจากที่มีเขื่อนปฏิบัติการอยู่แล้วกว่า 60 แห่งตามลำน้ำสาขาในแม่น้ำโขง

ชีพจรลำน้ำอันรวยริน

นอกจากเรื่องเขื่อน ยังมีการศึกษาพบว่าแม่น้ำโขงกำลังพบเจอผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดจากภาวะเอลนีโญ ซึ่งก่อให้เกิดความแห้งในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น

และเมื่อพูดถึงเรื่องการทำประมง ไม่มีประเทศใดที่รู้สึกร้อนรนได้เท่ากัมพูชาซึ่งเป็นที่ตั้งและทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างโตนเลสาบ โดยปกติ เมื่อฤดูฝนมาถึง โตนเลสาบซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงจะขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของปลา และมีบทบาทสำคัญในด้านการค้า ในทุกปีจะมีการจับปลาในทะเลสาบแห่งนี้มากถึง 500,000 ตัน มีจำนวนมากกว่าปลาที่จับได้จากพื้นที่แม่น้ำและทะเลสาบทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือรวมกัน

ภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2019 แสดงให้เห็นถึงแม่น้ำโขงในจุดที่ห่างจากเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวประมาณ 297 กิโลเมตร กระแสน้ำร่องสายน้ำที่แห้งขอดที่มาจากเขื่อนก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากบรรดานักอนุรักษ์และชาวบ้านที่พึ่งพาความหลากหลายของระบบนิเวศเพื่อผลิตอาหารและดำรงวิถีชีวิต ภาพถ่ายโดย SUCHIWA PANYA, AFP/GETTY IMAGES

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะแห้งแล้งของแม่น้ำโขงทำให้ระดับที่มายังโตนเลสาบมาช้า และในเวลาต่อมาก็ลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเกิดการตายของฝูงปลามหาศาลที่เกิดจากน้ำที่ตื้นเขินและออกซิเจนในน้ำที่มีไม่เพียงพอ จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าจำนวนปลาที่จับลงได้อาจลดลงมากถึงร้อยละ 90 ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ จะไม่มีโอกาสในการจับปลาเพื่อการบริโภคของมนุษย์อีกต่อไป รวมถึงกิจการประมงโดยชาวบ้านที่อยู่รอบทะเลสาบจะต้องปิดตัวลงเช่นกัน

โดยอีย์เลอร์กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับเขาคือการขาดแคลนอาหารที่สำคัญในโตนเลสาบ “โดยปกติแล้ว การจับปลาในพื้นที่ทะเลสาบขนาดใหญ่ของโลกแห่งนี้เป็นแหล่งโปรตีนโดยส่วนใหญ่ของประชากรกัมพูชาที่มีอยู่กว่า 16 ล้านคน ราคาของปลาตามท้องตลาดในกัมพูชากำลังพุ่งทะยาน และวิกฤตทางอาหารอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาครับ” เขากล่าว

ความพยายามของภูมิภาคเพื่อรักษาอนาคตของลำน้ำโขง

ในขณะที่ไทยกำลังได้รับการเตือนเรื่องการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในเดือนที่กำลังจะมาถึง กัมพูชาอาจพบเจอกับการขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ ที่เวียดนามก็กำลังกังวลถึงสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในที่แห่งนั้น ชายฝั่งที่กำลังยุบตัวซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขุดทราย ซึ่งทำให้บ้านหลายหลังและถนนกำลังทรุดตัว จนทำให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินใน 6 จังหวัด

อีย์เลอร์กล่าวว่าผู้มีอำนาจในภูมิภาคต่างไม่ตระหนักถึงความเลวร้ายของสถานการณ์นี้ “บรรดารัฐบาลลุ่มแม่น้ำโขงไม่ตอบสนองในการเข้าใจปัญหาที่กำลังมาถึงและทำงานร่วมกันเพื่อบรรเทาความเสี่ยงและการฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ”

ด้านโฮแกนเชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อให้แม่น้ำโขงอยู่รอด “แม่น้ำสายนี้เปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของคนที่เห็นมันว่าเป็นแหล่งผลิตพลังงาน” เขากล่าวและเสริมว่า “สิ่งนี้ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้อาหาร ความอุดมสมบูรณ์ และระบบนิเวศ เกิดขึ้นได้จากการให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อแม่น้ำที่มีคุณภาพ เชื่อมต่อกัน และไหลรินได้อย่างอิสระครับ”

และดูเหมือนว่านักอนุรักษ์ธรรมชาติเองก็มีความเห็นว่ายังไม่สายเกินไปที่จะรักษาแม่น้ำโขงไว้ “เราต่างเห็นว่าแม่น้ำโขงกำลังบาดเจ็บ และความเสียหายกำลังจะเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ในไทยขององค์กร International Rivers กล่าวและเสริมว่า “แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นใกล้ตาย คุณค่าระบบนิเวศของแม่น้ำโขงอันประเมินค่ามิได้สามารถทำให้ฟื้นฟูและกลับมาเป็นยังเดิมเพื่อให้ภูมิภาคเกิดความยั่งยืนค่ะ”

เรื่อง STEFAN LOVGREN


อ่านเพิ่มเติม ระดับน้ำแม่น้ำโขงต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี และส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อธรรมชาติ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.