แอนตาร์กติกา ที่คุณไม่เคยเห็น: ภาพเก่าอายุร้อยปีของทวีปน้ำแข็ง

แอนตาร์กติกา ที่คุณไม่เคยเห็น: ภาพเก่าอายุร้อยปีของทวีปน้ำแข็ง

ข่าวร้ายจาก แอนตาร์กติกา เมื่อปลายปีก่อน หลังพืดน้ำแข็งขนาดมหึมาแตกตัวจากหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน-ซี และการคาดการณ์ถึงสถานการณ์เลวร้ายที่จะตามมา ทำให้ภาพถ่ายชุดหนึ่งทรงคุณค่าความหมาย เพราะทำให้เราหวนนึกถึงสภาพของทวีปน้ำแข็งแห่งนี้ ก่อนหน้าที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนทุกสิ่งไป

แอนตาร์กติกาได้ชื่อว่าลมกระโชกแรงที่สุด หนาวเหน็บที่สุด และแห้งแล้งที่สุดบนโลกหล้า แอนตาร์กติกาดึงดูดนักสำรวจผู้แสวงหาการผจญภัย นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เองก็มีประวัติศาสตร์ของความผูกผันหลงใหลในแอนตาร์กติกา โดยตีพิมพ์สารคดีเรื่องเกี่ยวกับทวีปแห่งนี้เมื่อปี 1894

เรือของคณะสำรวจ Terra Nova ติดอยู่กลางแพน้ำแข็ง

พอถึงปี 1907 เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ก็ตีพิมพ์ภาพถ่ายที่อาจเรียกว่าเป็นภาพแรกๆ ของแอนตาร์กติกา  ตามมาด้วยภาพถ่ายชุดแรกๆ อีกชุดหนึ่งในปี 1924 โดยช่างภาพเฮอร์เบิร์ต พอนทิง  ช่างภาพช่าวอังกฤษผู้นี้ยังบันทึกภาพภารกิจส่วนหนึ่งของคณะสำรวจ Terra Nova นำโดยนักสำรวจชาวอังกฤษผู้โด่งดัง โรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ ระหว่างปี 1910-1912

ภาพถ่ายขาวดำของพอนทิงแสดงให้เห็นเหล่านักสำรวจรุ่นบุกเบิกในแอนตาร์กติกาอันเวิ้งว้าง  พวกเขาสวมเสื้อผ้ากันหนาวตัวใหญ่เทอะทะ ใช้อุปกรณ์พื้นๆ และอาศัยสุนัขลากเลื่อนในการบรรทุกสัมภาระ เขายังบันทึกภาพชีวิตประจำวันของคณะสำรวจในกระท่อมไม้ (กินอาหารแปลกๆ อย่างเพนกวินและแมวน้ำ) ทำให้ผู้คนได้เห็นภาพของสถานที่ที่น้อยคนนักเคยไปเยือน

(แอนตาร์กติกาหนาวเย็นเสียจน ฟรุตเค้กอายุ 100 ปี ยังคงรับประทานได้)

แมวน้ำอาบแดนบนแผ่นน้ำแข็งทะเลที่ล่องลอย

สกอตต์และคณะสำรวจของเขาพบจุดจบในปี 1912 ขณะเดินทางกลับจากขั้วโลกใต้ หลังจากทราบข่าวว่า นักสำรวจชาวนอร์เวย์ชื่อ โรลด์ อามุนด์เซน พิชิตขั้วโลกใต้ได้ก่อนหน้าพวกเขา และเป็นบุคคลแรกที่ไปเหยียบจุดใต้สุดของโลก

ทว่าพอนทิงซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะที่พบจุดจบ เดินทางกลับไปยังแอนตาร์กติกาอีกในทศวรรษ 1920 เพื่อบันทึกภาพดินแดนอันเวิ้งว้างทารุณ เขาเสียชีวิตในปี 1935 ในประเทศบ้านเกิดที่อังกฤษ

ภาพถ่ายส่วนใหญ่ของพอนทิงในแอนตาร์กติกาไม่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารและต่อมาถูกประมูลขาย ภาพเหล่านี้เผยให้เห็นแอนตาร์กติกาที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น และอาจไม่มีวันได้เห็นอีกแล้วก็เป็นได้ ดังคำกล่าวของแมกซ์ โจนส์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ที่พูดถึงภาพถ่ายแอนตาร์กติกาของพอนทิงว่า “เปรียบเหมือนปราการทางธรรมชาติที่ถูกปิดล้อมและพิชิตด้วยน้ำมือมนุษย์”

เรื่อง ซาราห์ กิบเบนส์

ภาพถ่าย  เฮอร์เบิร์ต พอนทิง

ขนาดอันมหึหาของภูเขาน้ำแข็ง Castle ทำให้คนที่ยืนอยู่ด้านล่างดูเล็กไปถนัดตา
แม่เพนกวินกางปีกปกป้องลูกน้อยสองตัว
ลูกมือช่วยงานในคณะสำรวจ Terra Nova โพสท่าถ่ายภาพ

 

สมาชิกในคณะสำรวจ Terra Nova โพสท่าถ่ายภาพ
เพนกวินแอนตาร์กติกากลุ่มหนึ่งชุมนุมกันบนหิมะ
เรือของคณะสำรวจ Terra Nova ถ่ายจากถ้ำน้ำแข็งแห่งหนึ่ง
วาฬเพชฌฆาตสองตัวโผล่ขึ้นสูดอากาศหายใจ
ภูเขาน้ำแข็งลูกหนึ่งล่องลอยห่างจากฝั่ง
ภาพถ่ายตัวเองของช่างภาพเฮอร์เบิร์ต พอนทิง กับกล้องถ่ายภาพ

 

อ่านเพิ่มเติม

ความงามของโลกใต้ทะเลแอนตาร์กติกา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.