ความรุ่งโรจน์แห่งท้องทะเลโลกจะกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งภายในยุคสมัยนี้ จากบทวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่รายงานว่ามีการกลับมาของสิ่งมีชีวิตทางทะเลหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นวาฬหลังค่อมไปจนถึงช้างน้ำในสหรัฐอเมริกา และเต่าตนุในญี่ปุ่น
แม้จะมีการทำประมงเกินขนาด ปัญหามลพิษ และชายฝั่งถูกกัดเซาะ และมนุษยชาติมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อมหาสมุมรและถิ่นที่อยู่อาศัยทางทะเลมานานนับทศวรรษ แต่โครงการอนุรักษ์ทั้งหลายก็ประสบความสำเร็จ เห็นได้จากยังมีพื้นที่ทางทะเลที่ได้รับการฟื้นฟูแม้จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าขณะนี้เราสามารถสร้าง ‘การกำเนิดใหม่ของท้องทะเล’ ภายในปี 2050 โดยการสนับสนุนจากกิจการที่คนทั้งโลกต้องพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นกิจการอาหาร ไปจนถึงกิจกรรมปกป้องชายฝั่งเพื่อเสถียรภาพแห่งสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความต้องการในการดำเนินการอนุรักษ์ต่างๆ ต่อไปรวมไปถึงการปกป้องพื้นที่ซึ่งโอบล้อมมหาสมุทร การทำประมงที่ยั่งยืน และการควบคุมมลพิษ เป็นต้น โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจะต้องใช้เงินนับพันล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 32,000 ล้านบาท) แต่จะให้ผลตอบแทนที่มากถึง 10 เท่าเลยทีเดียว
นอกจากนี้ จะต้องมีการจัดการวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นเพื่อปกป้องทะเลจากปรากฏการณ์ทะเลกรด (Ocean Acidification) ซึ่งจะก่อให้เกิดการสูญเสียออกซิเจนและปะการัง แต่มีข่าวดีคือ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มีการับรู้ถึงความสามารถของพื้นที่ที่อยู่อาศัยชายฝั่งทะเล เช่นป่าชายเลนและบ่อเกลือชายฝั่งทะเล ที่สามารถดูดซึมเอาคาร์บอนไดออกไซด์และเสริมความแข็งแกร่งให้แนวชายฝั่ง ซึ่งสามารถรับมือปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้
ศาสตราจารย์ คัลลัม โรเบิร์ต แห่งมหาวิทยาลัยยอร์ก หนึ่งในทีมนักวิจัยนานาชาติที่ออกบทวิคราะห์ กล่าวว่า ปัญหาการทำประมงเกินขนาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้รรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังมีความหวังในวิทยาศาสตร์ที่ใช้ฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ได้
โดยหนึ่งในข้อความสำคัญของบทวิเคราะห์นี้คือ ถ้าคุณหยุดสังหารสัตว์ทะเลและปกป้องมันเอาไว้ มันก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น และท้องทะเลก็จะดีขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีในทางเศรษฐกิจ และมนุษย์ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และแน่นอนว่าส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
บทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature พบอีกว่าการทำประมงระดับโลกค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นวิถีที่ยั่งยืนอย่างช้าๆ และการทำลายที่อยู่อาศัยชายฝั่งทะเลอย่างทุ่งหญ้าทะเลและป่าชายเลนก็เกือบยุติลงแล้ว นับตั้งแต่อ่าวแทมปาในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ไปจนถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์
เรื่องราวการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งคือวาฬหลังค่อมที่อพยพจากแอนตาร์กติกามาทางตะวันออกของออสเตรเลีย ซึ่งมีจำนวนเพียงไม่กี่ตัวในปี 1968 จนมีการสั่งห้ามล่าวาฬ ในวันนี้ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 40,000 ตัว ส่วนนากทะเลในพื้นที่ทางตะวันตกของแคนาดาก็เพิ่มขึ้นจากจำนวนไม่กี่ตัวในปี 1980 มาเป็นนับพันตัวในทุกวันนี้ และในทะเลบอลติก ประชากรแมวน้ำเทาและนกกาน้ำก็เพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าดังกล่าวยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีปัญหามลพิษจากฟาร์มและพลาสติกยังคงส่งผลต่อมหาสมุทร ผืนน้ำยังคงมีอุณหภูมิสูง การทำประมงแบบทำลายล้างยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เห็นได้จากจำนวนปลาอย่างน้อยหนึ่งในสามที่อยู่ในคลังสินค้าเกิดจากการจับที่มากเกินไป
“พื้นที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยังคงย่ำแย่” ศาสตราจารย์โรเบิร์ต กล่าวและเสริมว่า “และยังมีการทำประมงเกินขนาดอย่างน่าสยดสยองในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย อันเป็นพื้นที่ที่การประมงคือการจับเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่อวนลากมาจากใต้พื้นทะเลและเอาไปทำเป็นอาหารปลาและน้ำมัน”
อุณหภูมิทะเลที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้วาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ (North Atlantic right whale) ซึ่งอยู่ตามชายฝั่งของแอตแลนติกเหลืออยู่เพียงแค่ 200-300 ตัว เนื่องจากในพื้นที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยเรือประมงล็อบสเตอร์ ซึ่งวาฬมักไปชนหรือถูกรัดด้วยเชือกจากเรือ โดยข้อบังคับใหม่ที่เพิ่งออกไปอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้
อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ตก็กล่าวว่า ตัวอย่างของการฟื้นฟูที่ได้ผลยังคงมีเพิ่มขึ้น ทั้งจากการกลับมาของหอยนางรมที่มีส่วนช่วยให้น้ำสะอาดขึ้น และบรรดาพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลที่มีส่วนให้พื้นที่ใกล้เคียงสามารถจับปลาได้มากขึ้น เช่นเกาะ Isle of Arran ในสกอตแลนด์
“ตอนที่ผมเริ่มทำงานในพื้นที่คุ้มทางทะเลเมื่อต้นทศวรรษที่ 1990 มันเป็นงานที่มีคนสนใจไม่มาก” โรเบิร์ตกล่าวและเสริมว่า “แต่ในขณะนี้มีการพูดคุยถกเถียงกันในระดับนานาชาติ และเรามีหลายประเทศที่ลงนามเพื่อขยายการอนุรักษ์ไปยังพื้นที่มหาสมุทรโลกถึงร้อยละ 30 ภายในปี 2030” โดยพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมดในปี 2000 มาเป็นร้อยละ 7.4 แล้ว แม้บางพื้นที่จะไม่ได้ทำการอนุรักษ์แบบเต็มที่ก็ตาม
บทวิเคราะห์จากนักวิทยาศาสตร์นี้สรุปว่า การฟื้นฟูมหาสมุทรให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งเนื่องจากต้องอาศัยการอนุรักษ์ร่วมกันในระดับโลก สามารถทำให้สำเร็จได้ “การไปให้ถึงความท้าทายนี้จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญของมนุษยชาติ ในภารกิจบรรลุเป้าหมายแห่งความยั่งยืนในอนาคต”
แปลเรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้
Oceans can be restored to former glory within 30 years, say scientists
Wrecked sea life could be largely revived in 30 years under action plan, say scientists