“เจ้าหน้าที่ด้านนี้ไม่มีใครไม่รักต้นไม้”พูดคุยกับเขตดุสิตที่ตัดแต่งต้นไม้ริมถนนได้ดี

แม้จะมีหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตัดแต่ง ต้นไม้ริมถนน ที่เกินความจำเป็น แต่ในพื้นที่เขตดุสิตมีการตัดแต่งต้นไม้สาธารณะที่สวยงาม พวกเขาทำได้อย่างไร

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาคนที่รักต้นไม้ต่างแสดงความเห็นถึงเหตุการณ์การตัด ต้นไม้ริมถนน ในพื้นที่สาธารณะของสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง ที่ได้ตัดต้นไม้ในลักษณะที่เกินความจำเป็น เช่น การบั่นยอดของต้นไม้ทิ้งทั้งหมดเป็นแนวยาว หรือการตัดกิ่ง-ยอดของต้นไม้จนไม่สามารถให้ร่มเงาตามพื้นที่ริมทางได้เช่นเคย ส่งผลต่อทั้งทัศนียภาพและบรรยากาศโดยรวมของพื้นที่สีเขียวซึ่งมีอยู่น้อยนิดอยู่แล้วในกรุงเทพมหานคร

อันที่จริง เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรามักพบเห็นการตัด ต้นไม้ริมถนน ในพื้นที่สาธารณะในระดับที่ส่งผลต่อทัศนียภาพดั้งเดิมมากเกินไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครในหลายพื้นที่มาหลายปีแล้วเช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่ง ทางกองบรรณาธิการได้ลงพื้นที่สำรวจเขตดุสิต หนึ่งในพื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางราชการหลายแห่ง พบว่าต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะนั้นได้รับการตกแต่งเป็นอย่างดี และสามารถตัดแต่งให้สอดรับกับสายไฟและสายสื่อสาร ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคในการตัดแต่งต้นไม้ที่มีมากไม่แพ้เขตอื่นๆ และทำให้เราได้เห็นทัศนียภาพพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการจัดวางเป็นอย่างดี

เราได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ คุณจินดา พงศ์ด่านเพชร เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตดุสิต ถึงที่มาที่ไปและวิธีการตัดแต่งต้นไม้จนเกิดทัศนียภาพที่สวยงามได้เช่นนี้

คุณจินดาเล่าให้ฟังว่า อันที่จริงแล้วเขตดุสิตก็เป็นเหมือนพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก จึงต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลการตัดต้นไม้ ซึ่งมีนโยบายหรือโจทย์สำคัญว่าต้นไม้ที่ตัดแต่งแล้วต้องทั้งปลอดภัยและสวยงาม ซึ่งคำว่าปลอดภัยนี้ คือต้นไม้ต้องไม่หักลงมา, ยื่นเข้าไปในผิวจราจร หรือทำความเดือดร้อนให้ประชาชน นอกจากนี้ การตัดแต่งต้นไม้ต้องคงสภาพความสวยงาม ซึ่งจะต้องใช้หลักวิชาการ เช่น ต้องไม่ตัดมากเกินไป และจะมีการเน้นย้ำต่อเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการอยู่ตลอด

“แต่ถามว่าเราเคยโดน (ชาวบ้าน) ล้อมไหม ก็เคย และก็ต้องปล่อยเหมือนกัน ตรงนี้ก็ทำให้เราต้องระมัดระวังในการตัดมากขึ้น ซึ่งก็เกิดจากประชาชนด้วยนะ ประชาชนในพื้นที่ หรือประชาชนที่เค้าผ่านไปมาก็จะให้ความสำคัญกับต้นไม้ด้วย พอพวกเขาเห็นเจ้าหน้าที่เขตตัดเยอะเกินไปเขาก็จะโทรแจ้งเลย เราก็ต้องระมัดระวังข้อนี้เป็นพิเศษ”

สำหรับการตัดต้นไม้ที่ดูมากเกินไปในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ คุณจินดาผู้มีประสบการณ์ในการดูแลต้นไม้ในพื้นที่เมืองกว่า 30 ปีให้ความเห็นว่า “บางครั้งเราเองก็เคยตัดในสภาพแบบนั้นเนื่องจากมันมีข้อจำกัด คือต้นไม้ในเมืองอย่างกรุงเทพมหานครนั้นดูแลยาก ตัดยากมาก เนื่องจากทั้งเรื่องสายไฟ อันเป็นประเด็นหลักที่เรามีปัญหากันมากคือต้นไม้กับสายไฟ เพราะในกรุงเทพต้นไม้กับสายไฟมันจะอยู่ในแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แล้วจะทำอย่างไรถึงไม่รบกวนกัน ซึ่งมันยาก”

“แล้วจะตัดตามหลักวิชาการทั้งหมด บางครั้งก็ไม่ได้ บางทีก็ไปติดหม้อแปลง ซึ่งถ้าเราไม่ตัดแบบนั้น เวลาเกิดลมพัดหรือฝนตก เวลาต้นไม้ไปเสียดสีกันหรือเกิดประกายไฟใกล้หม้อแปลง พอระเบิดขึ้นมาเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ก็เข้าใจว่าเขาก็มีเหตุผล”

เมื่อถามถึงกระบวนการปฏิบัติงานตัดแต่งต้นไม้ในพื้นที่จริง คุณจินดาเล่าให้ฟังว่า แต่ละเขตจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีวุฒิการศึกษาเกี่ยวกับต้นไม้หรือเกษตรเป็นผู้ดูแล แต่ก็ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติการจริงๆ นั้นแทบเลือกไม่ได้ เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทุกคนจะสามารถทำได้ เพราะบางคนสามารถปืนต้นไม้ได้ แต่ไม่เข้าในวิธีการตัดแต่งต้นไม้ก็มีเช่นกัน ในส่วนนี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเป็นผู้ดูแล และทางกรุงเทพฯ ก็จะมีการอบรมเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ปีละครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะทราบถึงหลักการที่ถูกต้อง แต่ในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงๆ ย่อมต้องพบกับข้อจำกัดมากมาย

“ในแต่ละครั้งปัญหาที่เจอระหว่างการตัดแต่งต้นไม้นั้นไม่เหมือนกัน เพราะสำหรับต้นไม้ในเมืองมันไม่เหมือนกันเลย ต้นหนึ่งอาจจะมีเหตุผลในการตัดอีกแบบหนึ่ง แต่อีกต้นก็จะมีการตัดในเหตุผลอีกแบบ แล้วบางครั้งการตัดก็ต้องเข้าใจประชาชนเป็นหลักด้วย”

“ในบางครั้งเราคิดว่าตัดแบบนี้โอเคแล้ว แต่บางครั้งประชาชนที่เขาอยู่ติดกับต้นไม้ก็คิดว่าไม่ได้ คุณต้องเอาอันนี้ออก เนื่องจากมันแหย่เข้าไปในบ้านของเขา ไปโดนคอมเพรสเซอร์แอร์บ้าง บังหน้าร้านบ้าง มันมีหลายปัจจัย บางทีการทำตามหลักวิชาการก็ใช้ไม่ได้ (ในการทำงานจริง)”

คุณจินดากล่าวกับเราในตอนท้ายของการพูดคุยว่า “แต่ละ 50 เขต จะได้รับนโนบายเหมือนกัน คล้ายกัน แต่เราไม่สามารถที่จะทำแนวเดียวกันได้ ด้วยเหตุดังที่กล่าวไป เหตุผลและความจำเป็นนั้นแตกต่างกัน”

“เพราะฉะนั้นบอกเลยว่าเจ้าหน้าที่เขตที่ทำด้านนี้ไม่มีใครไม่รักต้นไม้ เพราะเป็นหน้าที่ของเราโดยตรง เราปลูกเขามากับมือ เพราะฉะนั้นในการตัดแต่งเราไม่อยากทำลายเขาอยู่แล้ว แต่ในการทำนั้นต้องมีเหตุผลและความจำเป็นในแต่ละเขต”

“บางทีเราก็โดนสื่อต่อว่าเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่ตัด อย่างเช่นตอนนี้ที่ใกล้หน้าฝนแล้ว ก็จะมีลม พอต้นไม้หัก ล้ม ก็เกิดทรัพย์สินเสียหาย หรือที่หนักไปกว่านั้นก็คือโดนประชาชนได้รับบาดเจ็บ แล้วมันจะเป็นความรู้สึกที่คิดว่า ถ้าเราตัดเสียตั้งแต่วันนั้นก็คงจะดี คือมันมีสองด้านจริงๆ คือบางครั้งตัดก็โดน พอไม่ตัดก็โดน มันเกิดความเสียหาย เจ้าหน้าที่ก็จะโดนตำหนิ คือมันมีอะไรเยอะเหมือนกัน”

 

สัมภาษณ์ ณภัทรดนัย / เรียบเรียง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

(นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)

ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข (นิตยสารบ้านและสวน)


อ่านเพิ่มเติม ต้นไม้ในเมืองใหญ่

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.