รักษาผืนป่าตะวันตกด้วย ความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศ

“ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดอย่าง ห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังเลยว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”

นั่นคือคำกล่าวของสืบ นาคะเสถียร ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ และอาจเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมสืบถึงเลือกตัดสินใจทิ้งทุนเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่อังกฤษ และเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อพิสูจน์สิ่งที่เขาเชื่อมั่นมาตลอดว่า ถ้าจะอนุรักษ์สัตว์ป่าในเมืองไทยต้องเริ่มที่ห้วยขาแข้ง และถ้าจะรักษาป่า ห้วยขาแข้ง -ทุ่งใหญ่นเรศวรให้ยั่งยืนได้ ต้องรักษาป่าตะวันตกไว้ทั้งผืน

ในระดับโลก ผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกหลายชนิดแล้ว ป่าผืนนี้ยังเชื่อมต่อกับป่าผืนใหญ่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของเมียนมา และทอดตัวยาวลงใต้ผ่านเทือกเขาตะนาวศรีไปถึงป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี รวมถึงป่าอนุรักษ์ของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา

นับเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 12 ล้านไร่ประกอบไปด้วยเขตป่าอนุรักษ์ถึง 17 แห่ง ทั้งอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในหกจังหวัด โดยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร พื้นที่ป่ามรดกโลกอยู่ตรงกลางพอดี ป่าตะวันตกโดดเด่นทั้งในแง่ของขนาดที่กว้างใหญ่ไพศาล ความหลากหลายของระบบนิเวศโดยเฉพาะป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ทุ่งหญ้า ป่าริมนํ้า และตำแหน่งที่ตั้งอันเป็นศูนย์รวมความหลากหลายของเขตชีวภูมิศาสตร์หลายแห่ง

แนวคิดป่าผืนใหญ่ของสืบ นาคะเสถียร จึงอาจหมายถึงพรมแดนธรรมชาติที่มีพื้นที่ 30 ล้านไร่ ซึ่งครอบคลุมสองประเทศเลยทีเดียว และหากมีปัญหาเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง ก็ย่อมส่งผลกระทบไปถึงส่วนอื่น ๆ ด้วย

สำหรับสืบ ตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในฐานะนักวิจัยสัตว์ป่า ก่อนก้าวข้ามไปสู่บทบาทหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ที่ต้องจัดการกับปัจจัยคุกคามต่าง ๆ นั้น แนวทางการทำงานด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าจึงอยู่ที่ความเข้าใจทางนิเวศวิทยา เข้าใจความต้องการของกลุ่มชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นเป้าหมายการอนุรักษ์ ซึ่งจะช่วยให้กำหนดมาตรการอนุรักษ์ได้อย่างเหมาะสม เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเชิงระบบนิเวศ (ecosystem-based management) นั่นเอง

น่าดีใจที่แนวคิดการจัดการผืนป่าเชิงระบบนิเวศผ่านมุมมองของสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าตะวันตก ได้รับการขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่ายมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เกิดเป็นแนวทางอนุรักษ์ที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Spatial Monitoring And Reporting Tool: SMART Patrol) หรือการเดินลาดตระเวนอย่างเป็นระบบ ซึ่งประยุกต์ใช้ข้อมูลภาคสนามและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาวางแผน การจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมสมรรถภาพ และขวัญกำลังใจของผู้พิทักษ์ป่า

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย ผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ อธิบายว่า “ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำเอาระบบนี้ไปใช้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้ง 19 กลุ่มป่า ทำให้มีการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรควบคู่ไปด้วย ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนความสำเร็จ” นับเป็นการปฏิรูปการทำงานลาดตระเวนของประเทศไทยครั้งสำคัญ

ปัญหาสวัสดิการและความขาดแคลนของเจ้าหน้าที่ผู้ พิทักษ์ป่า ผู้เป็นแนวหน้าในการทำหน้าที่ป้องกันรักษาป่า เป็นปัญหาที่สืบ นาคะเสถียร ให้ความสำคัญเสมอ  เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  เขาระดมทุนจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และ ทำ ประกันชีวิตให้  ซึ่งต่อมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ สานต่องานด้านนี้  ด้วยการก่อตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าและครอบครัวในกรณี บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่  ปัจจุบัน  หลาย ฝ่ายพยายามผลักดันให้มูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าเข้ามารับผิดชอบ สวัสดิการของผู้พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ  รวมไปถึงการสนับสนุนการจัดตั้งสมาคมผู้พิทักษ์ป่าไทยเพื่อให้เป็นวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง

ผลสำเร็จในเชิงประจักษ์ของการอนุรักษ์ผืนป่ามรดกโลกและผืนป่าตะวันตกของไทย คือจำนวนเสือโคร่งในป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ที่เพิ่มขึ้นจาก 41 ตัวเมื่อสิบปีที่แล้ว เป็น 79 ตัวในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว ซึ่งบรรลุเป้าหมายปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่จะเพิ่มประชากรเสือโคร่งให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน พ.ศ. 2565 แล้ว รวมทั้งหลักฐานการแพร่กระจายตัวของเสือโคร่งจากพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งออกไปยังพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ในผืนป่าตะวันตกด้วย

ความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลก เพราะเสือโคร่งจะอยู่รอดและเพิ่มจำนวนขึ้นได้ พื้นที่ป่าต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเข้มแข็งให้พ้นจากขบวนการล่าสัตว์ป่า และยังบ่งชี้ว่ามีปริมาณเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น วัวแดง กระทิง เก้ง กวางป่า มากเพียงพอด้วย นับเป็นความสำเร็จที่สืบ นาคะเสถียร มีส่วนสำคัญยิ่งในการเริ่มต้นวางอิฐก้อนแรกเอาไว้

เรื่อง ดร.เพชร มโนปวิตร
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา


ตั้งแต่วันที่ 1-5 กันยายน พ.ศ. 2563 National Geographic Thailand จะนำเสนอสารคดีชุด “รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่” ยาว 5 ตอน โดย ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และนักเขียนสารคดีสิ่งแวดล้อม และถ่ายภาพโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

โปรดติดตาม “รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่” ตอน “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร: คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้” ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563


สารคดีชุด รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร: สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่

ตอนที่ 1 : จากเชี่ยวหลานถึงแม่วงก์ : การลุกฮือเพื่อปกป้องป่า


สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2563 

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.