มูลนิธิสืบนาคะเสถียร: ก้าวข้ามภารกิจเดิม

“ภารกิจสืบทอดเจตนารมณ์ของพี่สืบในเบื้องต้น 30 ปีนี้ ผมว่าเราไม่มีอะไรติดค้างพี่สืบแล้ว วันนี้ผืนป่าอนุรักษ์ที่พี่สืบเองเสนอให้มีพื้นที่ป่าอย่างน้อยร้อยละ 20 ตอนนี้เรามีการจัดตั้งผนวกรวมพื้นที่ป่าเป็นป่าอนุรักษ์เกือบจะร้อยละ 25 ตามแผนการจัดการป่าไม้แห่งชาติ เกินเป้าที่พี่สืบเคยฝันแล้ว” ศศินบอกผมเช่นนั้น

ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผมคิดว่าการกำหนดแผนยุทธศาสตร์อย่างมีส่วนร่วมทุกสี่ปี ทั้งด้านเป้าหมายแผนการทำงาน และการพัฒนาองค์กร ล้วนเป็นจุดเด่นในการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำให้มูลนิธิปรับองค์กรได้ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทำงานอย่างมืออาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่จากหลากหลายวงการเข้ามาร่วมทำงานอนุรักษ์มากขึ้น ทั้งที่เป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ

เมื่อถึงปีที่ 30 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นอกจากจะยังคงทำงานสืบสานงานอนุรักษ์เรื่องการรักษาป่าผืนใหญ่แล้ว “เราต้องการเป็นองค์กรสื่อสารเรื่องงานอนุรักษ์กับสังคมอีกด้วย” ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เล่าให้ผมฟัง “เราถึงพยายามแตะประเด็นสิ่งแวดล้อมในระดับโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อนหรือวิกฤติการสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นความเห็นร่วมกันของเจ้าหน้าที่มูลนิธิรุ่นปัจจุบัน”

ภาพถ่าย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

วิสัยทัศน์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2563 – 2566 ของมูลนิธิฉบับล่าสุดและยังพยายามยกระดับการจัดการป่าตะวันตกทั้งผืนที่มีขนาดราว 20 ล้านไร่ให้ได้มาตรฐานเดียวกับพื้นที่มรดกโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างระบบติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ของชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานในป่าทั้ง 131 ชุมชน และเข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ให้ดำเนินอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงทดลองใช้กลไกเศรษฐศาสตร์ใหม่ ๆ เช่น ระบบตอบแทนคุณระบบนิเวศ (payment for ecosystem services) เพื่อระดมทุนสนับสนุนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนด้วย

“ผมว่าเราทบทวนตัวเองตลอด และพยายามปรับเปลี่ยนมูลนิธิให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก” ภานุเดช กล่าว “แต่อย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ หลาย ๆ งานที่ทำอยู่ ตอนนี้กลับไปคล้ายคลึงมากกับงานที่คุณสืบทำในอดีต เพียงแต่ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” นั่นคือ

1. การขอพูดในนามของสัตว์ป่าเป็นเสียงให้กับสัตว์ป่าที่พูดไม่ได้

2. เป็นตัวกลางประสานงานนักวิชาการและองค์กรต่าง ๆ ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เป็นรายชนิด เช่น การกลับมาทำแผนอนุรักษ์ผ่านสายตาของสัตว์ป่า เช่น การฟื้นฟูกวางผา เสือปลา พญาแร้ง ควายป่า และ

3. ผลักดันการจัดการผืนป่าอย่างมีส่วนร่วม  โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในป่า ให้อยู่กับป่าได้โดยไม่กลับไปทำลายป่าอีก

ภาพถ่าย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ตลอด 20 ปีที่ผมทำงานอยู่ในวงการอนุรักษ์ ผมพบว่านักอนุรักษ์และนักวิชาการในประเทศไทยที่พยายามผลักดันเรื่องความยั่งยืนมักถูกโจมตีว่าเป็นตัวถ่วงการพัฒนาอยู่เสมอ ทั้งที่ในเวทีโลกนั้น กลุ่มนักวิชาการและนักคิดต่างมองว่าการพัฒนาย่อมมีขีดจำกัด ดังในรายงานฉบับสำคัญชื่อ “The Limit to Growth” (ขีดจำกัดของการเติบโต) ของกลุ่ม The Club of Rome ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2515 หรือเกือบ 50 ปีมาแล้ว

รายงานฉบับนั้นตั้งคำถามถึงความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนา โดยใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นของสถาบันเอ็มไอทีทำแบบจำลองหลายชุดที่ได้จากข้อมูลการเติบโตของประชากรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อัตราการเกิด อัตราการตาย สถานภาพของทรัพยากรธรรมชาติ อัตราการบริโภค ผลผลิตอุตสาหกรรม ผลปรากฏว่าแบบจำลองเหล่านั้นได้ข้อสรุปตรงกันว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อเนื่องอย่างไร้การควบคุมจนเกินขีดจำกัดของต้นทุนทางธรรมชาติ และจะเริ่มเข้าสู่ภาวะล่มสลายของภาคการผลิต และประชากรทั่วโลกระหว่างปี พ.ศ. 2593 -2613 หรือราว 30 ปีข้างหน้า

น่าสนใจตรงที่ผลการศึกษาอายุเกือบ 50 ปีสอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) อย่างน่าทึ่ง รายงานด้านสภาพภูมิอากาศชี้ชัดว่า หากมนุษย์จะรักษาโลกนี้ไว้ได้โดยหลีกเลี่ยงวิกฤติรุนแรงหลายด้าน ทุกฝ่ายทุกประเทศต้องลงมือปฏิวัติรูปแบบเศรษฐกิจ การผลิตและการบริโภคตั้งแต่เดี๋ยวนี้ และเรามีเวลาอีกราว 10 ปีเท่านั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

ภาพประกอบ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

หลังความตายของสืบ นาคะเสถียร เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงคู่ขนานที่เกิดขึ้น มีความพยายามต่าง ๆ ที่จะผลักดันขบวนการอนุรักษ์ให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญในระดับโลกเกิดขึ้นเมื่อประเทศส่วนใหญ่ได้บรรลุข้อตกลงสำคัญร่วมกันสองฉบับในปี พ.ศ. 2558 นั่นคือความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ช่วยอธิบายว่า ที่จริง “การพัฒนา” ไม่ได้หมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจระยะสั้นที่นำมาซึ่งความหายนะระยะยาวของสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม

“ความยั่งยืน” กลายเป็นภาษาที่เข้าใจตรงกันทั้งรัฐบาล นักวิชาการ และภาคธุรกิจ ส่วน “การอนุรักษ์” กำลังกลายเป็นพันธกิจร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2573

เรื่อง ดร.เพชร มโนปวิตร
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา


ตั้งแต่วันที่ 1-5 กันยายน พ.ศ. 2563 National Geographic Thailand จะนำเสนอสารคดีชุด “รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่” ยาว 5 ตอน โดย ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และนักเขียนสารคดีสิ่งแวดล้อม และถ่ายภาพโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

โปรดติดตาม “รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่” ตอน “สายธารสีเขียวในคนรุ่นใหม่” ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563


สารคดีชุด รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร: สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่

คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้


 

สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2563 

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.