คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้

คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร : คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้

เพียงสิบวันหลังงานพระราชทานเพลิงศพสืบ นาคะเสถียร หรือ 18 วันหลังจากเขาเสียชีวิต กลุ่มคนร่วมแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกันกับสืบได้ช่วยก่อตั้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขึ้น มีภารกิจสำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือการเฝ้าระวังติดตามนโยบายและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่คุกคามสัตว์ป่าและธรรมชาติ โดยยึดหลักการสื่อสารบนพื้นฐานงานวิชาการ และความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าส่งเสียงพูดในนามของสัตว์ป่า

ในช่วงแรก มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำหน้าที่คล้ายแขนขาของกรมป่าไม้ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ที่จำเป็น รวมไปถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนภายใต้การนำของหัวหน้าชัชวาลย์ พิศดำขำ ผู้เข้ามารับหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคนถัดจากสืบ นอกจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังมีบทบาทสำคัญในการประสานงานให้ฝ่ายต่าง ๆ ร่วมกันตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกหกจังหวัดขึ้นมา ในเวลานั้นเองที่แนวคิดการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศตามแนวคิดของสืบที่มองว่า ธรรมชาติไม่มีพรมแดนก็ได้รับการพัฒนาอย่างเข้มแข็งด้วย

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, สืบนาคะเสถียร, วันสืบ, จอมป่า, มูลนิธิ

แต่ถึงที่สุดแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การอนุรักษ์ไม่ใช่การจัดการพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่าแต่เพียงอย่างเดียว หากเป็นการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมและความต้องการของมนษุย์ โดยเฉพาะที่อยู่รอบ ๆ ป่านั้นด้วย สืบ นาคะเสถียร เองเข้าใจดีว่า การอนุรักษ์ย่อมหมายถึงการนำความรู้ทางนิเวศวิทยามาปรับใช้กับกระบวนการทางสังคมอย่างไม่อาจแยกขาดจากกัน

“ผมคิดว่าป่าไม้จะอยู่ได้ คนจะต้องอยู่ได้ก่อน เพราะว่าคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เขาไม่สามารถจะไปเรียกร้องอะไร เขาไม่มีอำนาจ คนเหล่านี้อยู่กับธรรมชาติ ผ มคิดว่าป่าจะอยู่หรือจะไป อยู่กับคนกลุ่มนี้ด้วย” สืบ นาคะเสถียร เคยกล่าวไว้เช่นนั้น ซึ่งตรงกับแนวคิดของวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับสืบที่เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผู้เคยออกสำรวจและทำข้อมูลป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งร่วมกับสืบ เพื่อเสนอเป็นมรดกโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และเข้าใจชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่า

ผมทำงานอยู่ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรอยู่สามปีก็ลาออกเพื่อไปศึกษาต่อด้านนิเวศวิทยาเขตร้อน ก่อนจะกลับมาทำงานวนเวียนอยู่กับองค์กรอนุรักษ์ระหว่างประเทศหลายแห่ง ช่วงเวลานั้นเองทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ที่เป็นสากลมากขึ้น และพบว่าแนวคิดเรื่องขบวนการอนุรักษ์สัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพในโลกเพิ่งจะเริ่มต้นอย่างจริงจังราว 60 – 70 ปีก่อนและมีแบบแผนขั้นตอนพัฒนาการคล้ายคลึงกันทั่วโลกทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์และความเคลื่อนไหวทางสังคม

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, สืบนาคะเสถียร, วันสืบ, จอมป่า, มูลนิธิ

การอนุรักษ์ธรรมชาติในช่วงนั้นจึงวิวัฒน์จากเรื่องชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์จากการล่าและการใช้ประโยชน์ที่มากเกินขนาด ไปสู่การจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและระบบนิเวศด้วยแนวคิดการอนุรักษ์แบบล้อมรั้ว แล้วค่อย ๆ ตระหนักว่า มนุษย์เองก็ได้รับประโยชน์จากธรรมชาติโดยตรงผ่านนิเวศบริการมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดและเคยพึ่งพิงป่ามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย การอนุรักษ์จะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกันได้ มิใช่ให้ตัดขาด หรือมุ่งแต่ปราบปรามและจัดการด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว

ในทำนองเดียวกัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเองก็ตั้งต้นและมีการเปลี่ยนผ่านทางแนวคิดและวิสัยทัศน์องค์กรอย่างต่อเนื่องมาตลอดสามทศวรรษด้วย โดยเปลี่ยนบทบาทจากผู้สนับสนุนหลักของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรในระยะแรก มาสู่การเป็นตัวกลางในการจัดการความขัดแย้งเรื่องคนกับป่า และส่งเสริมการช่วยกันทำงานอนุรักษ์ของฝ่ายราชการและชุมชน

หมุดหมายสำคัญที่เป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว คือเมื่อมูลนิธิเริ่มต้นทำโครงการ “จอมป่า” หรือโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งมาพร้อมกับผู้จัดการโครงการชื่อ ศศิน เฉลิมลาภ ผู้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตตัวเองจากการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต “มาทำงานให้พี่สืบ”

ผืนป่าตะวันตกนั้น แม้จะโดดเด่นในแง่ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และเป็นบ้านหลังสำคัญของสัตว์ป่าก็จริง แต่ยังเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนจำนวน 131 ชุมชน ซี่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายตั้งแต่ชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 200 ปีไปจนถึงกะเหรี่ยงที่ค่อนข้างมีการพัฒนาด้านวัตถุ ชุมชนม้ง ไทยภาคกลาง ไทยอีสานที่เพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานราว 40 ปีก่อน ขนาดของชุมชนก็แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ชุมชนละ 30 ครอบครัว ไปจนถึงชุมชนละหลายร้อยครอบครัว

ชุมชนที่อาศัยในผืนป่าขณะนั้นมีแนวโน้มขยายที่ทำกินอย่างเข้มข้นตามกระแสความนิยมพืชเชิงเดี่ยว ความต้องการเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบาย และแหล่งท่องเที่ยวที่พัฒนา ในขณะที่ทางราชการก็เน้นหนักการปราบปราม จับกุม และอพยพประชาชนหรือกันพื้นที่ทำกินออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ แต่ไม่มีแนวทางปฏิบัติในการสร้างแนวร่วม และยอมรับการมีอยู่ของชุมชนในด้านวิถีวัฒนธรรม สิทธิชุมชน จนนำไปสู่ความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันอยู่เสมอ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, สืบนาคะเสถียร, วันสืบ, จอมป่า, มูลนิธิ

“ยุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญที่สุดที่อาจารย์รตยา (รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนแรก) มอบให้ผมคือ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน” ศศินเล่าและเสริมว่า “เราจะเป็นตัวกลางและเข้าหาทุกฝ่ายด้วยความอ่อนน้อม ทั้งกับพี่ ๆ ป่าไม้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน การจัดการป่าต้องเป็นธรรมทั้งกับป่าและกับคน” เป็นคำอธิบายบุคลิก การทำงานภาคสนามของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เป็นอย่างดีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรลงพื้นที่ทั่วป่าตะวันตกอย่างไม่หยุดหย่อนในฐานะเป็นตัวกลางในการจัดทำฐานข้อมูลชุมชน รวมไปถึงการสำรวจแผนที่แสดงแนวแขต และแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนทั้งหมดกว่า 120 ชุมชน และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้รัฐและชุมชนยอมรับแนวเขตร่วมกันอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมีหลักประกันในการดำรงชีพต่อไป แต่ก็มีกติกาและคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาร่วมดูแล ไม่ให้เกิดการขยายพื้นที่ทำกินเกินขอบเขตจนบุกรุกทำลายป่าไปพร้อมกันด้วย

สิ่งที่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผลักดันนี้จึงเป็นโมเดลการจัดการความขัดแย้งและการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมระหว่างเจ้าหน้าที่อนุรักษ์และชาวบ้านโดยให้ความสำคัญต่อคุณค่าของวิถีชีวิตชุมชนและความสมดุลของระบบนิเวศ และอาศัยเครื่องมือสำคัญ คือการทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนที่ได้รับการยอมรับ

“ผมพูดได้ว่าโครงการจอมป่าเปลี่ยนมูลนิธิสืบนาคะเสถียรไปตลอดกาล เพราะมันทำให้มูลนิธิมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามแทบจะทั่วป่าตะวันตก บังคับให้เราต้องลงไปรับรู้ปัญหาจริง ๆ ในพื้นที่ ชุมชนมีปัญหาอะไร เจ้าหน้าที่มีปัญหาอะไร ชุมชนเป็นผู้ร้าย [เจ้าหน้าที่] ป่าไม้คอร์รัปชันหมดจริงหรือเปล่า พอได้ลงไปรับรู้ปัญหาจริง ๆ เราก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องขาวดำอย่างนั้น เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ และปัญหาเชิงโครงสร้างในเชิงกฎหมาย เราค่อย ๆ เรียนรู้และเข้าใจรากของความขัดแย้ง รากของปัญหาการอนุรักษ์” ศศิน ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรสมัยที่สอง สะท้อนถึงวิวัฒนาการการทำงานของมูลนิธิ

ไม่เพียงเท่านั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังเสนอโครงการวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับผืนป่า ไม่ว่าจะเป็นการรักษาวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น การทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ที่เหมาะสม การตรวจป่าและลำห้วยเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่วังปลาในฤดูปลาวางไข่ การส่งเสริมการปลูกสมุนไพรอินทรีย์ การทอผ้า สนับสนุนกิจกรรมเพื่อการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง รวมไปถึงการจัดตั้งป่าชุมชนและแนวกันชนในป่าสำหรับชุมชนที่อยู่รอบนอก

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, สืบนาคะเสถียร, วันสืบ, จอมป่า, มูลนิธิ

หากเปรียบเทียบโครงการจอมป่ากับโครงการอนุรักษ์ลักษณะเดียวกันในประเทศอื่น ๆ ที่ผมมีโอกาสพิจารณาและประเมินผลสำเร็จ ต้องนับว่าเนื้องานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – 2557 เป็นเวลาสิบปี ด้วยงบประมาณ 130 ล้านบาทในพื้นที่ป่า 12 ล้านไร่กับชุมชน 131 แห่งในพื้นที่ป่าและชุมชนรอบนอกอีกกว่า 150 แห่ง เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งอย่างมาก ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าในเขตอนุรักษ์แทบจะหมดไป ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่อนุรักษ์กับชุมชนดีขึ้นอย่างน่าพอใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นหาใช่เป็นเพียงบทพิสูจน์ว่า เจ้าหน้าที่รัฐ เอ็นจีโอ และชุมชน สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความไว้เนื้อเชื่อใจและเป้าหมายเดียวกัน แต่ยังได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการจัดการพื้นที่คุ้มครองและการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของชุมชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวคิดที่ว่า คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้

เรื่อง ดร.เพชร มโนปวิตร
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา


ตั้งแต่วันที่ 1-5 กันยายน พ.ศ. 2563 National Geographic Thailand จะนำเสนอสารคดีชุด “รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่” ยาว 5 ตอน โดย ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และนักเขียนสารคดีสิ่งแวดล้อม และถ่ายภาพโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

โปรดติดตาม “รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่” ตอน “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร: ก้าวข้ามภารกิจเดิม” ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563


สารคดีชุด รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร: สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่

รักษาผืนป่าตะวันตกด้วย ความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศ


สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2563 

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2

Recommend