นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ของสหรัฐอเมริกาที่จะมีผู้นำประเทศเป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
โดยสหรัฐอเมริกาในยุคสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (2017-ปัจจุบัน) ซึ่งให้ความสำคัญกับนโยบาย ‘สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) มีมุมมองในเรื่องเน้นการสร้างและจัดการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันภายในประเทศก่อน แม้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง เหตุการณ์ที่แสดงออกได้เด่นชัดมากที่สุดคือการที่ทรัมป์ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนอุตสาหกรรม
ทรัมป์มองว่าความตกลงนี้ส่งผลเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้สหรัฐ เสียเปรียบ และส่งผลให้คนสหรัฐฯ ตกงานมากขึ้น โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมพลังงานถ่านหินหรือพลังงานฟอสซิล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของเศรษฐกิจประเทศ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยออกตัวว่าเป็นผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องของภาวะโลกร้อน และมีความต้องการที่จะพาสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ
แต่หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2020 ได้ปิดฉากลงพร้อมบทสรุปว่า โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ในยุคสมัยของบารัค โอบามา และอดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐหลายสมัย จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ และมีความยินดีจากบรรดาคณะทำงานและผู้คนที่ห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่คาดว่าจะได้เห็นภาพนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากหนึ่งในคำมั่นที่ไบเดนได้ให้ไว้ในช่วงหาเสียงคือ ‘จะดำเนินการให้สหรัฐฯ กลับเข้าสู่ความตกลงปารีส ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับดำรงตำแหน่ง’
บทบาทนักการเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมในอดีต
ในตลอดชีวิตในการเมือง ไบเดนถือว่าเป็นนักการเมืองที่มีประวัติในทางบวกต่อนโยบายสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงกลางทศวรรษ 80 James Hansen นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ได้นำเสนอแนวคิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) ต่อสภาคองเกรส และนายไบเดน ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิก นำเสนอกฎหมายว่าด้วยการปกป้องภูมิอากาศโลก (Global Climate Protection Act) และนำมาสู่การเจรจาระหว่างการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และประธานาธิบดี มิคาอิล กอร์บาชอฟ ของโซเวียต (ในขณะนั้น) เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการให้ความสำคัญของภูมิอากาศโลกและการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม
ในปี 1992 นายไบเดนเคยวิพากษ์วิจารณ์ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ว่าไม่ได้ผลักดันให้สหรัฐ เข้าสู่เป้าหมายหรือกรอบเวลาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเท่าที่ควร และในยุคที่เขาทำหน้าที่เป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของนายบารัค โอบามา ในปี 2015 เขาได้เป็นหนึ่งในคณะทำงานในของสหรัฐ ในการพาประเทศเข้าสู่ความตกลงปารีสด้วยเช่นกัน
ไบเดน – “เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมคือเรื่องเดียวกัน”
ในส่วนของแนวคิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไบเดนมองว่าเป็น ‘ภัยคุกคามที่ดำรงอยู่’ (existential threat) และจะส่งผลต่อชาวอเมริกันที่อยู่ในภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจมากที่สุด และเขาได้มีความเห็นต่อเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่แคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่าเป็น “ผลกระทบทั้งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นการลงโทษเราจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อโลก และชีวิตผู้คน ”
แม้ในยุคสมัยของทรัมป์ เขามองว่าการใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ตัดโอกาสทางเศรษฐกิจของสหรัฐมากมาย แต่ตามนโยบายที่หาเสียงของโจ ไบเดน เขามองว่าการปรับนโยบายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กลับเป็นโอกาสในการสร้างให้เศรษฐกิจอเมริกาเดินเข้าสู่การ ‘พัฒนาอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคสมัยใหม่’ โดยใช้การพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเป็นพื้นฐาน ก่อให้เกิดการจ้างงานที่เขามองว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
แม้ขณะนี้สหรัฐอเมริกาอาจจะต้องทุ่มทั้งความสนใจและงบประมาณในการแก้ปัญหาเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ แต่ไบเดนได้ให้คำมั่นว่าเขาจะเสนอให้มีการใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการลงทุนด้านพลังงานสะอาดต่างๆ ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน สร้างและปรับปรุงสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ที่มีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สหรัฐ เป็นประเทศที่มีใช้พลังงานสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายในปี 2035 และจะมีการวางกลไกทางกฎหมายเพื่อให้สหรัฐฯ มุ่งสู่การเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2050
การลงทุนนี้เขามองว่าเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจ และงานใหม่ๆ ให้กับชาวอเมริกัน ดังที่ไบเดนเคยพิมพ์ข้อความในทวิตของเขาว่า “เมื่อทรัมป์คิดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขามองว่าเป็นเรื่องหลอกลวง แต่ผมคิดว่ามันคืองาน งานที่รายได้ดี งานที่จะทำให้ชาวอเมริกันรวมกันเพื่อสร้างชาติที่มั่นคงและสามารถปรับตัวกับสภาพอากาศได้”
นอกจากนี้ก็จะมีการส่งเสริมให้แต่ละรัฐกระตุ้นผู้คนให้มาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมให้มีจุดชาร์ตไฟให้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมไปถึงการจ้างงานราว 1 ล้านตำแหน่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ออกนโยบายเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่อนุมัติให้มีการอนุมัติการผลิตน้ำมันและก๊าซจากบริษัทรายใหม่ๆ เพิ่มเติมในสหรัฐ แม้ว่าเขาไม่เคยกล่าวว่าสนับสนุนแผนการห้ามการขุดเจาะสำรวจน้ำมันในประเทศก็ตาม
ในด้านบทบาทของการเป็นผู้นำโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากการนำสหรัฐ กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสแล้ว เขาให้คำมั่นว่าจะเสริมบทบาทให้สหรัฐเป็นประเทศที่เป็นผู้นำบนเวทีการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงออกนโยบายสนับสนุนหรือช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายความตกลงด้านภูมิอากาศระดับโลกต่างๆ ร่วมกัน ในฐานะเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับสองของโลก (จีนคืออันดับหนึ่ง)
ซึ่งนโยบายเหล่านี้ ชาวโลกนับล้านจะได้รับผลกระทบจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่เราต้องคาดหวัง(หรือฝากความหวัง) ว่า ไบเดน จะทำได้ตามที่ให้คำมั่นไว้สำเร็จหรือไม่