PM 2.5: มลพิษทางอากาศในไทย เหตุใดจึงยังไม่สิ้นสุด

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี 2020 ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มเกิดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อะไรคือสาเหตุของปัญหาฝุ่นที่ไม่อาจสิ้นสุดได้ง่ายๆ ในประเทศไทย

ทำความรู้จัก PM 2.5

PM ย่อมาจาก Particulate Matter หรืออนุภาคใดๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (ไมครอน) ซึ่งขนจมูกไม่ดักจับได้ โดยเป็นสารแขวนลอยที่ฟุ้งกระจายในชั้นบรรยากาศ อาจอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งขนาดเล็ก เช่น อนุภาคต่างๆ เชื้อโรค หรือฝุ่นละออง จนทำให้เรามองเห็นในภาพกว้างเป็นลักษณะคล้ายหมอกหรือควัน

ในประเทศไทยเริ่มตรวจวัดค่า PM 2.5 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ก่อนที่กรมควบคุมมลพิษจะมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นละอองและข้อมูลอื่นๆ หลังจากนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงออกประกาศการกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใน พ.ศ. 2553

ในสถานการณ์ปัจจุบันนิยมใช้การวัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใช้ระบุคุณภาพอากาศของสถานที่นั้นๆ โดยตัวเลขบอกปริมาณ PM 2.5 เป็นหน่วย ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (μg/m3)

ค่าเฉลี่ย AQI ของ PM 2.5 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ที่ 25 μg/m3 สำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 10 μg/m3 สำหรับค่าเฉลี่ยต่อปี ขณะที่ประเทศไทยกำหนดมาตรฐานไว้ที่ 50 μg/m3 ในค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 25 μg/m3 ในค่าเฉลี่ยต่อปี ซึ่งสูงกว่า WHO ถึงกว่า 2 เท่า

ดัชนีคุณภาพอากาศ 1 ค่า เท่ากับ ค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ โดยแบ่งเป็น 6 ระดับตามภาพ ตั้งแต่ 0-500 ซึ่งแต่ละระดับใช้สีเปรียบเทียบที่แตกต่างกัน หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกิน 100 แสดงว่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ มีค่าเกินมาตรฐาน และอาจส่งผลต่อสุขภาพ

ดัชนีคุณภาพอากาศ 1 ค่า เท่ากับ ค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ โดยแบ่งเป็น 6 ระดับตามภาพ ตั้งแต่ 0-500 ซึ่งแต่ละระดับใช้สีเปรียบเทียบที่แตกต่างกัน หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกิน 100 แสดงว่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ มีค่าเกินมาตรฐาน และอาจส่งผลต่อสุขภาพ

สาเหตุของฝุ่นละออง

ฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ในที่โล่งของการเกษตร การคมนาคมขนส่ง ไอเสียจากรถยนต์ ฝุ่น ควันดำ รวมถึงภัยธรรมชาติอย่างไฟป่าและภูเขาไฟระเบิด ในเวลาปกติชั้นบรรยากาศจะไล่อุณหภูมิความร้อนบริเวณพื้นดินขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน ทำให้ฝุ่นต่างๆ ลอยขึ้นสูงและถูกกระแสลมพัดออกไปในที่สุด

แต่ในฤดูหนาวอุณหภูมิที่พื้นดินมักเย็นกว่าชั้นบรรยากาศด้านบน ทำให้ชั้นบรรยากาศเป็นแนวผกผัน (Inversion Layer) จึงเปรียบเหมือนโดมครอบพื้นที่ไว้ ทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถขึ้นสูงด้านบนได้ และสะสมจนกลายเป็นฝุ่นควันฟุ้งกระจายทั่วเมืองในที่สุด

ภาพจำลองการเกิดความร้อนผกผันแบบปิด ที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในประเทศไทย เมื่อเดือน มกราคม 2562

สภาวะของปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันทำให้ควันและฝุ่นละอองต่างๆ ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ช่วงเวลากลางคืน อุณหภูมิเหนือพื้นดินจะมีความเย็นกว่าอากาศข้างบน เนื่องจากมีการคายความร้อนของพื้นผิวโลก จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันขึ้น

ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมแบบใดในประเทศไทยมักก่อมลพิษ PM 2.5

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวก่อมลพิษทั้งทางด้านการผลิต และการเผาของเสีย ซึ่งทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น อุตสาหกรรมที่มีการเผาไหม้จากการผลิตในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานถลุงโลหะ โรงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน โดยโรงงานเหล่านี้ไม่มีการกรองฝุ่น PM 2.5 ก่อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนมลพิษที่เกิดจากภาคเกษตรกรรมนั้น มักมาจากการเผาไร่อ้อยขนาดใหญ่ ถึงแม้จะเป็นวิธีที่สะดวกสบายสำหรับคนงานที่เข้าไปตัดอ้อย แต่ผลกระทบจากการเผาไหม้สามารถแพร่กระจายออกไปในวงกว้างได้ง่าย

ผู้คนบนท้องถนนสวมหน้ากากอนามัยป้องกันสุขภาพของตนเองจากฝุ่นควัน
ภาพถ่ายโดย จิตรภณ ไข่คำ จากสารคดีเรื่อง “เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน” ตีพิพม์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย พฤษภาคม 2558

ผลกระทบของฝุ่นที่มีต่อร่างกาย

ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้อย่างมากมาย เหตุเพราะ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งสามารถเล็ดลอดเข้าจมูกไปสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้ โดยผลกระทบเบื้องต้นคือเกิดการระคายเคืองต่อดวงตา แสบจมูก และส่งผลให้ผิวพรรณบริเวณใบหน้าเกิดริ้วรอย จุดด่างดำ เหี่ยวย่นง่าย และถ้าฝุ่นละอองสะสมอยู่ในอวัยวะเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหอบหืด

และด้วยความที่ขนาดของมันนั้นเล็กมากๆ ฝุ่นละออง PM 2.5 เหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหา เนื่องจากสามารถเล็ดรอดผ่านการดักของขนจมูกเข้าไปสู่ภายในร่างกายของเราได้ และจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในระยะยาวตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจหรือภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบ รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอีกด้วย มากไปกว่านั้นอันตรายยิ่งกว่าคือสิ่งที่มาพร้อมกับฝุ่น อนุภาคของฝุ่นละอองที่ถูกสูดเข้าไปในร่างกายนั้นมีลักษณะขรุขระ ดังนั้นมันจึงพาเอาสารอื่นติดมาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมากขึ้น หากสะสมในร่างกาย

เดือนสิงหาคม ปี 2016 กรุงนิวเดลีเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 17 ปี การสูดอากาศนอกที่พักอาศัยมีค่าเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปริมาณถึง 2 แพ็คในวันเดียว ภาพถ่ายโดย AP

เคยมีสถานการณ์ PM 2.5 ที่ประเทศอื่นไหม และประเทศนั้นแก้ไขปัญหาอย่างไร

ในนานาประเทศที่เคยประสบปัญหาเช่นนี้ ต่างก็มีวิธีการรับมือกับฝุ่นละอองอย่างเข้มงวด ล่าสุดอย่างประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้ออกมาตรการลดการผลิตในโรงไฟฟ้า รณรงค์ให้ประชาชนทำกิจกรรมกลางแจ้งให้น้อยลง และห้ามเจ้าหน้าที่รัฐขับรถมาทำงาน

ต่อมาคือกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้ออกมาตรการห้ามรถที่ผลิตก่อนปี 1997 ขับเข้าไปในย่านใจกลางเมืองช่วงวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 20.00 รวมทั้งห้ามรถยนต์ดีเซลทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี 2001 ขับเข้าพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย หรือในประเทศจีนที่ประสบปัญหาหมอกควันพิษอย่างหนัก ในด้านการจราจร ได้กำหนดวันคี่วันคู่สำหรับรถยนต์ ควบคุมมาตรฐานการปล่อยไอเสีย และสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ด้านการใช้พลังงาน ลดการใช้พลังงานถ่านหินจากโรงงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงสร้างหอคอยฟอกอากาศ ที่สามารถกรองอากาศพิษพร้อมกับปล่อยอากาศที่ปลอดภัยออกสู่ภายนอก

ส่วนมาตรการป้องกันของประเทศไทยในสถานการณ์ล่าสุดที่รัฐบาลนำออกมาแก้ปัญหา คือการฉีดน้ำในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงในหลากหลายมุมมองว่าวิธีการนี้สามารถช่วยลดฝุ่นละอองได้จริงหรือ

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 กรมควบคุมมลพิษเคยออกมาประกาศเตือนเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ในทำนองนี้เช่นกัน เท่ากับว่าในปีนี้ ชาวกรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหามลพิษในอากาศถึง 2 ครั้ง และมีแนวโน้มที่จะเพื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ถ้าเช่นนั้นเจ้าหน้าที่รัฐควรทำเช่นไร?

เพื่อปกป้องสุขภาพของพลเมือง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวัดมลพิษทางอากาศด้วยไลเคน รองศาสตราจารย์ ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ หัวหน้าหน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า

“ในกรุงเทพมหานคร PM 2.5 มีปัจจัยการเกิดจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน) เป็นสำคัญ เพราะมีรถยนต์จำนวนมากและการจราจรติดขัด ในระยะยาวควรแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์เข้าถึงทุกพื้นที่ อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยลดมลพิษได้มากโดยเฉพาะกับ ฝุ่นละออง PM 2.5”

นอกจากนั้น ดร. กัณฑรีย์ ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น รวมไปถึงดูแลรักษาต้นไม้ที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์อยู่เสมอ เนื่องจากต้นไม้เหล่านี้จะช่วยดูดซับสารพิษในอากาศได้ โดยเฉพาะกับเกาะกลางถนน แค่ลำพังหญ้าหรือพืชที่คลุมดินนั้นไม่เพียงพอ เมื่อมียานยนต์หนาแน่นจะเกิดฝุ่นขนาดใหญ่ (PM 10) ฟุ้งกระจาย ซึ่งเมื่อผสมผสานกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะยิ่งทำให้สภาวะมลพิษรุนแรงขึ้น

ค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งขึ้นคำแนะนำว่า ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ (unhealthy)’ ขอบคุณภาพจาก https://aqicn.org/city/bangkok

ในต่างประเทศการปลูกต้นไม้บนเกาะกลางถนนทำโดยให้วัสดุปลูกและดินอยู่ต่ำกว่าขอบเกาะ รวมทั้งจะปิดหน้าดินด้วยวัสดุคล้ายเปลือกไม้ ซึ่งจะช่วยให้ฝุ่นไม่ฟุ้งกระจายหรือไหลลงบนพื้นถนน ต่างจากในไทยที่นิยมพูนดินบนเกาะกลางถนนให้สูงไปกว่าขอบ เหล่านี้คือแนวทางที่บ้านเราสามารถนำมาปรับใช้ได้เพื่อลดปัญหามลพิษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่น PM 2.5 มักมีการนำรถน้ำมาฉีดพ่นน้ำในอากาศเพื่อหวังให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น

“การนำรถออกมาฉีดพ่นน้ำไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้นานค่ะ ตราบใดที่น้ำนั้นไม่ได้นำไปทิ้งหรือระบายลงท่อไป น้ำแค่ช่วยไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกไปในขณะที่ถนนยังเปียก แต่มื่อถนนแห้งฝุ่นก็จะกลับมาฟุ้งกระจายได้อีก” รองศาสตราจารย์ ดร. กัณฑรีย์ กล่าว

ในระหว่างที่ต้องรอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไปควรที่จะป้องกันสุขภาพของตนเองไว้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้านหรือใช้บริการขนส่งสาธารณในวันที่ค่าปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ด้วยการหาหน้ากาก N95 หรือ P-100 respirators ที่ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยสามารถกรองอนุภาคขนาด 1 – 5 ไมครอนได้ร้อยละ 95 ส่วนหน้ากากอนามัยทั่วไปนั้นไม่สามารถกรอง ฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ ใช้กรองได้เพียงฝุ่นขนาดใหญ่เท่านั้น


อ่านเพิ่มเติม “ต้นไม้” วิธีที่ง่ายและยั่งยืนที่สุดในการลดปัญหาฝุ่นควัน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.