ต้นไม้ วิธีที่ง่ายและยั่งยืนที่สุดในการลดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5

ต้นไม้ วิธีที่ง่ายและยั่งยืนที่สุดในการลดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5

ฝุ่นละออง PM 2.5 ปกคลุมทั่วท้องฟ้าในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
ขอบคุณภาพจาก http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30362204

 

“ต้นไม้” วิธีที่ง่ายและยั่งยืนที่สุดในการลด ปัญหาฝุ่นควัน

“ถ้ามีพื้นที่สีเขียว สถานการณ์มลพิษในอากาศของกรุงเทพมหานครคงไม่แย่ขนาดนี้” และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษเพิ่งจะออกประกาศพื้นที่เสี่ยงเผชิญกับฝุ่นละออง PM 2.5 ไป ทว่าภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ปัญหาฝุ่นควัน แบบเดิมๆ กลับมาคุกคามสุขภาพชาวกรุงกันอีกครั้ง เพิ่มเติมคือรุนแรงกว่าเก่า คำประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การให้ความรู้ในหลายเพจ ไปจนถึงวิธีแก้ปัญหาของรัฐ แทบทุกอย่างปรากฏวนกลับมาราวกับฉายหนังซ้ำ และไม่อาจตอบได้ว่าเราต้องดูหนังม้วนนี้วนกันไปอีกนานแค่ไหน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 9 ตารางเมตรต่อคน แต่จากข้อมูลสำนักงานสวนสาธารณะ ของกรุงเทพฯ เมื่อปี 2017 ระบุ เมืองหลวงของเรามีพื้นที่สีเขียวรวม 6.43 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนอยู่ที่ 23.1 ตารางเมตรต่อคน หรือที่แคนาดามีสัดส่วน 12.6 ตารางเมตรต่อคน สัดส่วนพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันคาดว่าน่าจะต่ำกว่าเมื่อปี 2017 ลงไปอีก เพราะตลอดสองปีที่ผ่านมามีประชากรหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีพื้นที่สีเขียวส่วนหนึ่งที่ต้องหดหายไปจากการเติบโตของสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะบรรดาคอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด

ปัญหาฝุ่นควัน
ภาพเปรียบเทียบขนาดของฝุ่นละออง PM 2.5 (วงกลมสีชมพู) กับฝุ่นละออง PM 10 (วงกลมสีฟ้า), เม็ดทราย และเส้นผม
ภาพถ่ายโดย U.S. EPA

เหตุใดการมีอยู่ของต้นไม้จึงสำคัญขนาดนั้น? และยิ่งทวีความสำคัญหากเป็นเมืองใหญ่ ที่ทุกวันนี้ล้วนกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น เมืองที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรุงเทพมหานคร หมายความว่าในแต่ละปีย่อมมีผู้อยู่อาศัย, รถยนต์ และความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นี่คือปัจจัยที่นำไปสู่ความวิตกว่าในอนาคต ปัญหามลพิษทางอากาศอื่นๆ รวมไปถึงฝุ่นละออง PM 2.5 จะแวะเวียนมาคุกคามชาวกรุงถี่ขึ้น ล่าสุดทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาประกาศมาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสาธารณะให้มากขึ้น ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าเป็นพื้นที่ใด และผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบใด (สวนหย่อม, สวนชุมชน, ต้นไม้ริมทาง หรือสวนสาธารณะ ฯลฯ)

องค์การอนามัยโลกรายงาน ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มากกว่า 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ ทางที่ดีไม่ควรให้มีปริมาณฝุ่นเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ปัญหาฝุ่นควัน
ท้องฟ้าเหนือสถานีรถไฟบางซื่อ เมื่อเช้าวันที่ 13 มกราคม 2019
ขอบคุณภาพจาก Tatchadon Panyaphanitkul / The Nation

พืชคือสิ่งมีชีวิตที่ต้องหายใจตลอดเวลาไม่ต่างจากเรา ด้วยการดูดซับก๊าซออกซิเจนเข้าไป และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทว่ามีอยู่หนึ่งสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้แบบพืช นั่นคือการผลิตอาหารเองด้วยการสังเคราะห์แสง ในเวลากลางวัน “เซลล์คุม” (guard cells) เซลล์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการปิดเปิดของปากใบจะเปิดแยกจากกัน ส่งผลให้ปากใบเปิด และเกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซขึ้น ระหว่างหายใจพืชต้องการก๊าซออกซิเจนก็จริง แต่ในระหว่างกระบวนการสังเคราะห์แสง ใบของพืชจะดูดซับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเข้ามา คลอโรฟิลล์จะใช้พลังงานแสงจากดวงอาทิตย์เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ ให้เป็นคาร์โบไฮเดรต และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาแทน

วงจรการหายใจและวงจรการสร้างอาหารในชีวิตประจำวันของพืชเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากปริมาณการสังเคราะห์แสงมีมากกว่าการหายใจ ดังนั้นในเวลากลางวันพืชจึงผลิตก๊าซออกซิเจนมากกว่าในอัตราที่ใช้ไป ส่วนในเวลากลางคืน เมื่อไม่มีแสง พืชจึงหายใจเพียงอย่างเดียว และปลดปล่อยเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทน นี่คือเหตุผลว่าทำไมการปลูกต้นไม้จึงสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางวันได้ และต้นไม้ยังสามารถดูดซับก๊าซอันตรายอย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์อีกด้วย

(พืชสังเคราะห์แสงได้อย่างไร เรียนรู้เพิ่มเติมผ่านอนิเมชั่นได้ที่นี่)

มากไปกว่านั้นใบไม้ยังช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศ ละอองฝุ่นที่ล่องลอยผ่านต้นไม้จะติดค้างอยู่บนผิวใบ และเมื่อฝนตกลงมาฝุ่นเหล่านี้ก็จะถูกชะล้างลงดินไป แทนที่จะถูกสุดเข้าไปทำอันตรายต่อปอดของสิ่งมีชีวิต งานวิจัยโดยหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ระบุว่า บริเวณต้นไม้ใหญ่ทีมวิจัยพบการลดลงของอนุภาคฝุ่นละอองตั้งแต่ 7 – 24% และบริเวณดังกล่าวยังมีอุณหภูมิเฉลี่ยลดลงอีกด้วย ผลจากการคายน้ำของต้นไม้ แสดงให้เห็นว่าต้นไม้สามารถช่วยแก้ปัญหาหมอกควันในเมืองได้จริง ที่พิเศษก็คือต้นไม้บางต้นมีคุณสมบัติในการดูดซับมลพิษในอากาศมากกว่าต้นอื่นๆ โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นต้นไม้ที่มีใบใหญ่ และหนา เช่น ต้นเมเปิล และต้นเอล์ม

แต่ต้นไม้ใหญ่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในเมือง เมื่อปี 2017 มีรายงานน่าสนใจเผยแพร่ลงในวารสาร Atmospheric Environment ชี้ว่า ต้นไม้ใหญ่ช่วยดูดซับมลพิษแค่ในพื้นที่เปิดโล่งเท่านั้น แต่สำหรับเมือง “พุ่มไม้” เหมาะที่สุดในการดักจับฝุ่นควันที่ส่วนใหญ่แล้วมาจากท่อไอเสียรถยนต์ เนื่องจากบางครั้งต้นไม้ใหญ่ก็สูงเกินไปที่จะจัดการกับมลพิษบนท้องถนน เรียกได้ว่า หากจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจริง เมืองนั้นๆ ควรปลูกต้นไม้หลากหลายรูปแบบ ทว่าในท้ายที่สุดแล้ว มีต้นไม้มากเท่าไหร่ก็ไม่พอ ถ้าแหล่งกำเนิดมลพิษยังไม่ถูกแก้ไข

ตัวอักษร “N” ของชื่อหน้ากากกรองหมายถึง หน้ากากกรองอากาศนั้นๆ สามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอนได้ แต่ยกเว้นกรองน้ำมัน ส่วนความหมายของตัวเลข 95 นั้น หมายถึง ค่า % ต่ำสุด ที่รับรองว่ามีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคได้

ปัญหาฝุ่นควัน
สภาพอากาศโดยรวมของกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ขอบคุณภาพจาก http://aqicn.org/city/bangkok

(ตรวจสอบสภาพอากาศได้ ที่นี่)

ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศ ในหลายเมืองใหญ่ของโลกเอง ปัญหานี้ก็กำลังเป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2017 รัฐบาลออกคำสั่งปิดโรงงานเหล็กครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้นำของประเทศจีนเชื่อว่า โครงการนี้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดมลพิษ และเมื่อไม่นานมานี้ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีมาตรการขอให้ประชาชนงดการทำกิจกรรมในบริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง เพราะสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้ และทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้เองออกนโยบายสำหรับภาคอุตสาหกรรม ให้ร่วมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนต้องลดอัตราการผลิตออกไปให้ได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการลดปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อม

สำหรับในบ้านเรา นอกเหนือจากมาตรการระยะยาวที่ต้องติดตามกันต่อแล้ว บนโลกโซเชียลตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาระยะสั้น เมื่อหน่วยงานของกรุงเทพฯ ออกมาพ่นฉีดน้ำขึ้นไปบนอากาศ สิ่งนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ? “การนำรถออกมาฉีดพ่นน้ำไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้นานค่ะ ตราบใดที่น้ำนั้นไม่ได้นำไปทิ้งหรือระบายลงท่อไป น้ำแค่ช่วยไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกไปในขณะที่ถนนยังเปียก แต่มื่อถนนแห้งฝุ่นก็จะกลับมาฟุ้งกระจายได้อีก” รองศาสตราจารย์ ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ หัวหน้าหน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้วยรถฉีดพ่นน้ำผ่านอีเมล์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวัดมลพิษทางอากาศด้วยไลเคน “ในกรุงเทพมหานคร PM 2.5 มีปัจจัยการเกิดจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน) เป็นสำคัญ เพราะมีรถยนต์จำนวนมากและการจราจรติดขัด ในระยะยาวควรแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์เข้าถึงทุกพื้นที่ อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยลดมลพิษได้มากโดยเฉพาะกับ ฝุ่นละออง PM 2.5”

ปัญหาฝุ่นควัน
แผนที่ต้นไม้ใหญ่บริเวณถนนวอลลสตรีท หลายเมืองใหญ่เช่น นครนิวยอร์ก มีการทำแผนที่ต้นไม้ในเมืองอย่างเป็นระบบ
ขอบคุณภาพจาก https://tree-map.nycgovparks.org/#neighborhood-102

(ชมแผนที่ของต้นไม้ในมหานครนิวยอร์กได้ ที่นี่)

ความคิดเห็นของดร. กัณฑรีย์สอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหามลพิษระยะยาวของหลายประเทศ เช่น ที่กรุงปารีส รัฐบาลมีมาตรการแบนรถยนต์เก่า รวมไปถึงสนับสนุนให้ประชาชนหันมาให้ระบบขนส่งมวลชนและจักรยานกันมากขึ้น ด้วยการเปิดให้ใช้บริการฟรีในช่วงที่ต้องต่อสู้กับปัญหามลพิษที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีการกำหนดพื้นที่ปลอดรถยนต์ เช่นบริเวณตามแนวแม่น้ำแซน ด้านประเทศเนเธอร์แลนด์มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า รัฐบาลเตรียมแบนบริษัทขายรถยนต์ที่ยังคงใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันภายในปี 2025 นี้ นั่นหมายความว่าในอนาคตรถยนต์ที่วิ่งในประเทศนี้จะมีแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นปัญหาเท่าใด เพราะประเทศนี้มีผู้ใช้จักรยานมากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์อยู่แล้ว

ผลการวิจัยจากเว็บไซต์วารสารวิทยาศาสตร์นานาชาติด้านบรรยากาศศาสตร์ (Atmospheric Chemistry and Physics) ระบุว่า ประชากรที่อาศัยในเมืองใหญ่ เช่น กรุงสตอกโฮล์ม เมืองโกเธนเบิร์ก และเมืองมัลโม ประเทศสวีเดน มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 ปี จากมลพิษทางอากาศที่น้อย

ทั้งนี้ในบ้านเราเอง ทางกรมควบคุมมลพิษรายงานว่าได้ปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการรถยนต์แล้ว กำหนดให้มีการปรับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากดีเซลเป็นไบโอดีเซล หรือบี 20 และยังประสานงานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาเตรียมทำฝนเทียมในวันพรุ่งนี้ หากมีสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเองเตรียมตรวจจับรถยนต์ที่มีควันดำมากเป็นพิเศษ และเพิ่มตำรวจในจุดที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อบรรเทาการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในช่วงรถติด

สำหรับข้อแนะนำทางสุขภาพ ไม่เพียงแค่ประชาชนที่มีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือเด็กๆ และคนชราเท่านั้น ทว่ารายงานจากวารสาร Fertility and Sterility ของประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า สตรีมีครรภ์เองก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วย ระบุมลภาวะทางอากาศทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแท้งลูกได้ หากสูดฝุ่นละอองสะสมเป็นเวลาต่อเนื่องกัน ร้ายแรงกว่านั้นดูเหมือนว่าปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นี้จะไม่ใช่แค่ภัยคุกคามสุขภาพผู้คนเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงชีวิตที่ยังไม่เกิดมาด้วย เนื่องจากการสูดฝุ่นละอองที่เต็มไปด้วยสารพิษยังส่งผลกระทบต่อสติปัญญาของทารกในครรภ์เช่นกัน


อ่านเพิ่มเติม

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ฝุ่น PM 2.5

รอยเท้าคาร์บอน เบื้องหลังเทศกาลลอยกระทง

 

แหล่งข้อมูล

พื้นที่สีเขียว: ความหนาแน่นประชากรต้นไม้ (ไม่เพียงพอ) ต่อจำนวนหัวคนในเมือง

Why cities should plant more trees

Growth of city trees can cut air pollution, says report

Want to Fight Air Pollution? New Study Says Planting Hedges is More Effective Than Planting Trees

Why Urban Trees are Important

Fine dust blankets Korea

การสังเคราะห์ด้วยแสง

 

 

Recommend