เมื่อคุณนึกถึงภาพเมือง เมืองของคุณมีจำนวนต้นไม้ใหญ่มากเพียงใด
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครมีแผนการพัฒนาพื้นที่เมืองเพื่อสร้างความเจริญมากมาย ไม่ว่ารถไฟฟ้านับสิบสาย (ที่ยังคงมีการก่อสร้างและไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จโดยง่าย) โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การปรับปรุง ก่อสร้างถนนเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งการพัฒนาในขนาดเล็กๆ อย่างการปรับปรุงทางเดินเท้าอยู่เป็นระยะ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นการเจริญเติบโตของเมืองที่มีการปรับปรุง ขยาย รื้อถอน หรือสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา
ในการพัฒนาเมืองเหล่านี้ สิ่งที่เป็นประเด็นควบคู่กันคือการจัดการกับต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่การพัฒนาเมืองในรูปแบบที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก และอีกกรณีที่เราเห็นกันจนชาชินคือการบั่นต้นไม้แบบไม่เหลือยอด เพื่อไม่ให้ยอดหรือกิ่งของต้นไม้รบกวนแนวสายไฟ หรือร่วงหล่นลงมาใส่คนเดินถนนจนได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน เราเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างภาพให้กับคนเมืองราวกับว่าต้นไม้กับเมืองใหญ่เป็นอริที่ไม่อาจอยู่ร่วม ไม่อาจแทรกตัว หรือต้องไปอยู่ในพื้นที่จัดเฉพาะ เช่นสวนสาธารณะ ที่ดูเหมือนยังไม่เพียงพอกับความต้องการสักเท่าไรนัก
ท่ามกลางความเชื่อที่ว่า ต้นไม้กับเมืองใหญ่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน แต่ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม Big Trees ที่มีอุดมการณ์ในการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อร่วมกันสร้างความตระหนัก ความเข้าใจเพื่อเกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนให้กับเมืองและพื้นที่อื่นๆ ให้กับผู้คน
กลุ่ม Big Trees เกิดจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นกลุ่มคนที่เรียกร้องไม่ให้โค่นหรือตัดต้นไม้ในบริเวณถนนสุขุมวิท และได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจกับผู้คน จัดโครงการต่าง ตามความเชื่อของตัวเอง จนในทุกวันนี้ กลุ่ม Big Trees กลายเป็นชื่อแรกๆ ที่คนนึกถึงเมื่อนึกถึงองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมหรือต้นไม้ใหญ่ในเมือง
ในเดือนธันวาคม 2563 พวกเขามีกำหนดการที่จะจัดกิจกรรมครบรอบ 10 ปีของพวกกลุ่ม Big Trees เพื่อนำเสนอเรื่องราวการเดินทางของพวกเขา ในช่วงที่ผ่านมา และมองถึงอนาคตข้างหน้า ในการรักษาต้นไม้และพื้นที่สีเขียว เพื่อคุณภาพชีวิตของคนเมือง และก่อนที่จะถึงวันงานนั้น เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ได้พูดคุยกับ คุณปุ้ม-อรยา สูตะบุตร หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Big Trees ในมุมมองของคุณค่าของต้นไม้ใหญ่ ว่าเหตุใดเราจึงควรรักษาเอาไว้ให้เป็นส่วนของเมืองอย่าง ‘ขาดไม่ได้’ และเราควรมีความเชื่อที่ว่า การพัฒนาเมืองและต้นไม้ สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้
: แนะนำว่า Big Trees ได้ทำหรือมีโครงการอะไรบ้าง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
เราเริ่มจากการเป็นอาสาสมัคร เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในกรุงเทพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รู้สึกว่าต้นไม้ในเมือง ถูกคุกคาม และมีจำนวนน้อยลง เวลาที่มีการสร้างอาคาร ตัดถนน โครงการขนาดใหญ่ ต้นไม้จะเป็นฝ่ายแพ้ตลอด เหมือนเป็นสิ่งที่ต้องแลก อย่างเช่นเวลาจะพัฒนาพื้นที่ก็ต้องเอาต้นไม้ออก
เราเลยรู้สึกว่า มันเป็นภารกิจที่ต้องเปลี่ยนความคิดนี้ของสังคม ถ้าเราจะเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก หรืออาคารต่าง ๆ ในเมืองต้องทำร่วมโดยอยู่กับต้นไม้ได้ เพราะต้นไม้ในเมือง ไม่ใช่แค่สวยหรือมีคุณค่า แต่มันคือความจำเป็นของคนในเมือง เพราะเรามีอากาศที่แย่ มีการใช้รถยนต์ ยานพาหนะ เครื่องปรับอากาศ ทำให้อุณหภูมิในเมืองสูงขึ้น การมีพื้นที่คอนกรีตมาก จะทำให้พื้นคอนกรีตดูดซับความร้อน ส่งผลให้เมืองร้อน รวมถึงเรื่องความแออัดของเมือง ซึ่งทั้งหมดต้นไม้คือคำตอบ ช่วยลดอุณหภูมิ ดูดซับมลพิษ และฝุ่น
นอกจากนี้ การอยู่ใกล้ต้นไม้ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ต้นไม้มีไอระเหยบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังปล่อยออกซิเจน เราต้องพูดให้คนเข้าใจว่า เราสามารถพัฒนาเมืองได้ โดยไม่ต้องแลกกับต้นไม้ และพื้นที่สีเขียว โดยช่วงเริ่มต้นต้องเป็นการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจ ยังไม่ต้องลึกซึ้งมาก เราเคยการจัดการประกวดต้นไม้ใหญ่ 100 ต้นของกรุงเทพฯ เช่นพวกต้นโพธิ์ ต้นไทร หลังจากนั้นเริ่มเป็นโครงการรณรงค์มากขึ้น เช่น ชวนให้คนขี่จักรยานชมต้นไม้ กิจกรรมจิตอาสา ปลูกต้นไม้ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ทำสวนสาธารณะร่วมกับชุมชน ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เมื่อถึงระดับหนึ่งคนก็จะสนใจ ใส่ใจมากขึ้น ย้อนนึกถึงคอนโดมีเนียมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชิดถนนมาก แต่ปัจจุบันถอยร่นจากถนนมากขึ้น มีต้นไม้หรือสวนลอยฟ้ามากขึ้น
ในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว สังคมเริ่มขานรับแล้วว่า เราต้องช่วยกันดูแลต้นไม้ที่อยู่ใกล้ตัว ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยปกป้องต้นไม้ใหญ่ในเมือง คำถามต่อมา เราจะเก็บรักษา หรือดูแลอย่างไร ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ เราก็ทำงานร่วมกับหลาย ๆ องค์กรทั้งใน และต่างประเทศ ทำให้เราพบว่าที่จริงแล้ว มีอาชีพที่ดูแลด้านนี้โดยตรงเลยโดย อ.เดชา บุญค้ำ ตั้งชื่อไว้ว่าอาชีพ รุกขกร (arborist) คือคนที่ฝึกอบรมมา จนสามารถดูต้นไม้ แล้วรู้ได้ว่าต้องตัดแต่งกิ่งอย่างไร ให้ต้นไม้แข็งแรงมากขึ้น
สิ่งที่เราคือฝึกคนทั่วไปให้เป็นมืออาชีพ มีการตั้งบริษัท เพื่อรองรับน้อง ๆ ที่ฝึกประสบการณ์มาจนเป็นมืออาชีพ ปัจจุบันตั้งเป็นสมาคมวิชาชีพรุกขกรรมไทยและมีการจัดสอบใบประกอบวิชาชีพ สำหรับใครที่สนใจอยากเป็นรุกขกรอย่างสมบูรณ์ก็สามารถมาสอบเพื่อรับรับรองวิชาชีพได้ สำหรับครั้งแรกเพิ่งจัดสอบไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และที่จะมีในงานครบรอบ 10 ปี Big trees คือเราได้จดทะเบียนมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานที่ปรึกษา และมีประธานคณะกรรมการ คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ซึ่งอาจารย์เป็นคนแรกที่ริเริ่มเรื่องรุกขกรรมในไทย
สิ่งที่ท้าทายในอนาคต คือเราควรจะเดินต่ออย่างไรในอนาคต และต้องการที่จะต่อยอดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ หน่วยงานของรัฐควรมีอาชีพรุกขกรโดยตรงหรือเป็นที่ปรึกษา
: เวลาเราพูดถึงต้นไม้ เรามักจะนึกถึงป่าหรืออุทยานแห่งชาติ อยากให้ขยายความว่าต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองอย่างไร
ลองนึกถึงความรู้สึกของเรา ถ้าเราต้องอยู่ท่ามกลางเมืองปัจจุบันที่เต็มไปด้วยรถ ถนน อาคาร ความแออัด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อจิตใจเราพอสมควร เช่น เราไปอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แน่นอนว่าเราก็อยากจะรีบไปรีบกลับ เนื่องจากมันอึดอัด ไม่สามารถอยู่นาน ๆ ได้ เมืองหลายๆ แห่งในโลกที่เป็นเมืองที่สวยงามมักประกอบไปด้วย พื้นที่ว่างสลับอาคาร หรือพื้นที่แออัด ผสมกับพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ดังนั้นเมืองควรมีพื้นที่ให้ผ่อนคลายบ้าง นั่นคือพื้นที่สีเขียว อย่างนิวยอร์ก โตเกียว ที่เขาแออัดกว่าเรา แต่เมืองเหล่านั้นมีพื้นที่สวนสาธารณะให้คนไปผ่อนคลายได้
: เมืองที่ดีตามมาตรฐานโลก ควรมีร้อยละของพื้นที่สีเขียวต่อเมืองเท่าไร
ตาม WHO (องค์การอนามัยโลก) คือ 9 ตร.ม/คน แต่หากดูตามมาตรฐานของไทยคือ 10-15 ตร.ม/คน ซึ่งในกรุงเทพไม่ถึงแน่นอน แต่หากเป็นต่างจังหวัดก็จะเข้าตามเกณฑ์ เนื่องจากพื้นที่ต่างจังหวัดคนไม่แออัดมาก และหลายๆ ที่มีการจัดทำเรื่องสวนสาธารณะ เราเองก็อยากให้หลาย ๆ เมืองได้นำงบประมาณของท้องถิ่นที่ลงทุนไปเสียกับการตัดถนนหรืองานด้านกายภาพ แบ่งมาส่วนของการสร้างพื้นที่สีเขียวด้วย เราอยากสนับสนุนภาครัฐให้ตระหนัก และเห็นความสำคัญส่วนนี้มากขึ้น
:ที่ว่าพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ที่มีไม่ถึงมาตรฐาน ไม่ทราบว่าตอนนี้มีเท่าไรแล้ว
ว่ากันว่าประมาณ 6 ตร.ม/คน หรืออาจจะน้อยกว่านั้น หากไม่นับพื้นที่รกร้าง
: แล้วพอทราบสาเหตุไหมว่าทำไมกรุงเทพฯ ถึงยังไม่ถึงเป้าหมายพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานโลก
เท่าที่ทราบคือ เจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ คือหน่วยงานรัฐ ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวได้ทันที แต่หลาย ๆ ที่ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว ถือเป็นข่าวดีของการเริ่มต้น ด้าน ฺBig Trees ก็พยายามรณรงค์ลดการตัดต้นไม้เพิ่มไปมากกว่านี้
: คิดว่ากทม. มีศักยภาพสร้างเมืองสีเขียวให้เทียบเท่าเมืองที่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์ ไต้หวันได้ไหม
อาจจะไม่เท่า เนื่องจากพื้นที่ของเรามันแน่นมาก แต่สามารถดีขึ้นกว่าเดิมได้ หากพื้นที่ของภาครัฐ หรือทหารปล่อยออกมาทำสวนสาธารณะได้มากขึ้น เราก็จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้มากขึ้นพอสมควร เมื่อเทียบกับสิงคโปร์เขามีแผน 50 ปี ซึ่งเป็นแผนการจัดการพื้นที่สีเขียวมาตั้งแต่ยุคของ ลี กวน ยู (ประธานาธิบดีคนแรกของสิงคโปร์) แล้ว และยังคงทำเรื่องนี้มาตลอด ถึงขนาดว่าหากมีการสร้างโครงการ หรืออาคาร ต้องมีการสำรวจพื้นที่ต้นไม้ และดูแลต้นไม้ที่มีอยู่จากมืออาชีพโดยตรง ซึ่งทางสิงคโปร์เข้มงวดเรื่องการดูแลต้นไม้มานานแล้ว เป็นโครงสร้างของกฎหมายมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ เมื่อเทียบกับไทยยังห่างไกลมาก
แม้ในปัจจุบันประชาชนมีความตระหนักขึ้นมาก และช่วยเป็นอีกแรงที่กระตุ้นทางภาครัฐ อย่างเช่นเวลามีข่าวการตัดไม้จนหัวกุด หรือผิดไปจากที่ควร ก็จะมีเสียงของประชาชนโหมกระหน่ำใส่ภาครัฐ จนหลังๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น และทางเราก็จัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่จากทุกเขตในกรุงเทพ ให้มีความเข้าใจมากขึ้นและสร้างมาตรฐานให้กับทุกเขต ปัจจุบันเรากำลังร่างข้อกำหนดการดูแลตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ของกทม. ซึ่งภาครัฐแต่ละหน่วยงานก็มีเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว แต่ยังขาดเรื่องของความรู้ เราจึงเข้าไปอุดรอยรั่วตรงนี้ สิ่งที่จะบอกคือการทำสิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย โดยวิธีคิดของเราคือเริ่มทำไปก่อน จากนั้นจึงระดมความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น เราต้องมีผลงานออกมา เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ เพื่อนำผลงานเหล่านั้นไปขอความสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น
: เราพูดถึง กทม.มาเยอะ แล้วในส่วนของเมืองในต่างจังหวัดมีปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียวบ้างไหม
เขาจะเจอน้อยกว่ากทม. เนื่องจากประชากรไม่แน่นมาก และมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า แต่เรื่องความรู้ ความตระหนักเรื่องการจัดการพื้นที่สีเขียวจะน้อยกว่ากทม. เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ หรือท้องถิ่นจะถูกครอบด้วยช่าง และวิศวกร หรือพูดง่าย ๆ คือบรรดานักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งก็ไม่ได้มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับต้นไม้มากนัก แต่ก็มีที่เป็นตัวอย่างที่ดีอยู่บ้าง เช่น อย่างอำเภอพนัสนิคม, อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) นครศรีธรรมราช, อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งหลักๆ เป็นต้นไม้ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มีความภูมิใจในต้นไม้ในพื้นที่อยู่แล้ว เช่นต้นยางนา ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ก็โดนแรงกดดันจากประชาชนในพื้นที่อีกที
การจัดการเมื่อก่อน อย่างเช่นจังหวัดเชียงใหม่คือไม่ตัดแต่งต้นไม้เลย ในตอนนั้น หากมีต้นไม้ล้มก็จะตัดทิ้งไปเลย เพราะกลัวว่าเกิดอันตราย แต่พอกรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาเยี่ยม และตรัสว่า ต้นยางนาเหล่านี้ตัดไม่ได้ เพราะมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ท่านทรงปลูกเพื่อประดับเส้นทาง และให้ร่มเงา เรื่องนั้นถึงขั้นขึ้นศาล จากนั้นจึงมีการเปิดรับรุกขกรมาที่เชียงใหม่ เพื่อดูแลต้นยางนาโดยผู้มีความรู้และประสบการณ์ และร่วมกับมหาลัยแม่โจ้ หรืออย่างทางนครศรีธรรมราช ก็มีต้นไม้เก่าแก่ และมีขนาดใหญ่เยอะมาก
เราก็พยายามเข้าไปพูดคุย จนทางอบจ. ทุ่มงบเรื่องนี้ทุกปี และคาดว่าอีกไม่นานก็จะมีการจ้างรุกขกรมารับหน้าที่ดูแลส่วนนี้ เพราะฉะนั้นการจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ต้องมีองค์กรไปติดตาม ไปโน้มน้าวให้เห็นถึงความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ หรือพื้นที่สีเขียว จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนั้น ๆ อย่างเช่นถ้าพูดถึงต้นยางที่อำเภอสารภี ก็จะรู้ทันที่ว่าอยู่ที่เชียงใหม่ และเราคิดว่าแนวโน้มการมองเมืองท่องเที่ยวจะไม่ได้มองเพียงตึก อาคาร อาหาร แต่จะพูดถึงต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย และถือเป็นที่ภูมิใจของคนในพื้นถิ่น
: หลักการสำคัญที่ ฺBig Trees ยึดถือในการรักษาต้นไม้ให้สวยงามคืออะไร
หลักการง่าย ๆ อย่างแรกคือ ต้นไม้ปลอดภัย กล่าวคือมันอยู่ได้อย่างแข็งแรง ซึ่งหากมันปลอดภัยมันก็จะไม่ล้ม จนสร้างความลำบาก หรืออันตรายแก่เรา นอกจากจะทำให้เราปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้เราได้รับความร่มรื่น และสุขภาพแข็งแรงได้อีกด้วย
การตัดแต่งต้นไม้ ต้องมีความประณีต เปรียบเสมือนการตัดผม หากช่างตัดผมไม่มีความประณีตในการตัด ทรงผมก็จะไม่เข้ากับรูปหน้าเรา ต้นไม้ก็เช่นกัน หากตัดผิดจุด หรือผิดวิธีต้นไม้ก็จะไม่แข็งแรง หรือเป็นอันตรายแก่ต้นไม้ได้ และการปลูกต้นไม้ชิดอาคารเกินไปก็ไม่ดี เพราะต้นไม้จะเอนเอียงออกจากตึก เนื่องจากต้องการหนีเงาจากตึก และรากไม้ก็จะมากระจุกอยู่ฝั่งเดียว ซึ่งเหล่านี้เราอาจจะดูเป็นเรื่องวุ่นวาย แต่เราต้องช่วยกันดูแล
เพราะหากต้นไม้จะไม่แข็งแรง ก็จะล้มสร้างและความเสียหายแก่เราได้ เมื่อสร้างความเสียหายแก่เรา เราก็จะมองว่าต้นไม้ในเมืองเป็นไปไม่ได้ และตัดมันทิ้งหมด ซึ่งเราต้องเปลี่ยนความคิดส่วนนี้
: คิดว่าอาชีพรุกขกรเพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบันหรือไม่
ไม่เลย ในช่วงสามปีที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสคุยกับรุกขกรในต่างประเทศอย่างออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เขามีเยอะมาก อย่างของเราที่มีทั้งประเทศประมาณ 100 คน ทั้งที่ประเทศอย่างสิงค์โปร์ที่มีพื้นที่น้อยกว่ามี 2,000-3,000 คน เพราะว่าระบบของเค้าคือเจ้าหน้าที่รัฐคือคนถือนโยบายและงบประมาณ ส่วนคนตัดแต่งคือจ้างบริษัทเอกชนที่มีรุกขกรมืออาชีพ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศเป็นแบบนี้ คือมีการเสนอแผนจัดจ้างบริษัทที่มีรุกขกรเพื่อมาจัดการส่วนนี้ เราเองก็หวังให้ไทยเราเป็นแบบนี้ในอนาคต
ในสิงคโปร์มีสัญญาที่กล่าวว่า หากรุกขกรบริษัทนี้ทำงานแล้วต้นไม้เสียหาย ตาย หรือตัดแต่งในแบบที่ไม่ควรจะเป็น มีการปรับเงินและปรับเยอะด้วย มาตรฐานงานของเขาจึงสูงมาก และรายได้ก็สูงตาม จะไม่เป็นแบบประเทศเราที่จ้างลูกจ้างรายวันมาตัด เอาขวาน ฟัน ๆ ไปให้เสร็จ แต่มืออาชีพจะมีการวางแผน การใช้อุปกรณ์ที่เฉพาะเจาะจง ละเอียดมาก ในเมืองไทยอาจจะยังเป็นศาสตร์ใหม่ แต่เราก็ต้องเดินหน้าทำต่อไป หากจะพึ่งแต่องค์กรรัฐก็เกรงว่าจะช้าต่อไป เราจึงต้องลงมาทำด้วยตัวเอง
: รุกขกรคนหนึ่งสร้างยากไหม ต้องผ่านอะไรบ้างถึงจะเป็นรุกขกรมืออาชีพ
จริง ๆ ก็ไม่ได้ยากมาก แต่ต้องสะสมประสบการณ์ หากพูดถึงหลาย ๆ คนที่เคยเข้าอบรมด้วยกัน เดิมเป็นคนรักต้นไม้ และธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ที่ต้องเพิ่มเติมคือความรู้ ความเข้าใจต้นไม้ การปีน การขึ้นไปยังจุดที่ต้องตัดแต่ง ซึ่งต้องฝึกอย่างจริงจัง เพราะอาจจะเสี่ยงถึงชีวิต ในการฝึกใช้เวลา 6 วัน และหลักจากนั้นอย่างน้อย 1-2 ปีต้องฝึกอบรมเป็นลูกทีมก่อน ฝึกปีนด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี ถึงจะพอเป็นมืออาชีพ และมีลูกทีมได้ คือต้องฝึกสะสมประสบการณ์เยอะ ๆ ถึงจะสามารถทำงานแบบนี้ได้ ซึ่งก็มีคนที่ยึดมาทำเป็นงานประจำ หรือบางคนก็ทำเป็นงานอดิเรก หรือวันหยุดเสาร์ อาทิตย์
: มีคำแนะนำการดูแลต้นไม้ภายในบ้านไหม
อย่างแรกควรศึกษาว่าต้นไม้ชนิดใดเหมาะสมกับพื้นที่ของเรา จากนั้นมาดูเรื่องพื้นที่ ขนาดของต้นไม้เหมาะกับขนาดพื้นที่ในบ้านเราหรือไม่ และเลือกจุดการปลูกต้นไม้ ให้เหมาะสมกับมุมของบ้าน ซึ่งในต่างประเทศ การเริ่มทำสิ่งเหล่านี้ หากบ้านไหนไม่แน่ใจ หรือไม่มีความรู้ก็จะจ้างรุกขกรมาช่วยวางแผน และให้คำปรึกษา เจ้าของบ้านเองต้องพยายามหาข้อมูลเยอะ ๆ เกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ในระยะยาว ตัวอย่างปัญหาในบ้านเรา เช่น ต้นพญาสัตบรรณ แม้จะไม่ค่อยพบเรื่องปัญหาใบร่วง ดูแลง่ายจึงปลูกกันเป็นแถวยาว แต่เมื่อถึงช่วงดอกบาน จะส่งกลิ่นแรงมาก สุดท้ายต้องตัดทิ้งทั้งหมด ต้นไม้ก็เหมือนลูกของเรา ต้องเตรียมการหลายอย่าง เพื่อให้ต้นไม้โตมาเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์ต่อเรากลายเป็นเหมือนผู้ใหญ่ในบ้านของเราในอนาคต เราควรเปลี่ยนมุมมองการมองต้นไม้มันคือความสัมพันธ์ที่หากเราดูแลมันดี มันก็จะย้อนกลับมาดูแลเรา
: อยากชวนย้อนดูภาพฝันของ Big Trees ตอนก่อตั้ง กับปัจจุบันว่าได้เป็นไป หรือใกล้เคียงตามที่ฝันไว้แล้วหรือยัง
จริง ๆ มันเลยไปกว่าที่เคยฝันไว้แล้ว แต่เดิมเราวางแค่วางแผนว่ามีเพจในเฟซบุ๊ก โพสต์รูปต้นไม้ใหญ่ไปวัน ๆ หรืออย่างมากคือหากมีปัญหา พบคนจะทำลายต้นไม้ ก็ช่วยประณามผ่านสื่อเพื่อหยุดการทำลายแบบนั้น เรื่องการทำสมาคม การตั้งบริษัท การตั้งมูลนิธิเข้าไปช่วยร่างข้อกำหนดการดูแลต้นไม้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้คิดไว้เลย มันเลยมาไกลมาก ตอนนั้นเราแค่คิดว่าหากเราโหมความสนใจไป สักพักจะมีประชาชน เอกชนมาร่วม แล้วภาครัฐก็จะตามมาเอง แต่ปรากฏว่ามาช้ามาก ต้องชวนบ่อย ๆ หาโครงการ การร่วมมือต่าง ๆ ไปเสนอเรื่อย ๆ และต้องอดทนกับความล่าช้าอีก เพิ่งมาได้ข้อสรุปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วว่า ความตระหนักที่เกิดขึ้นในกลุ่มคน เอกชน แล้วจะซึมไปยังภาครัฐเองจะไม่เกิด ถ้าไม่ได้หาช่องทาง หรือสร้างความร่วมมือในระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อใจ
ปัจจุบันเราไม่สามารถหันหลังได้แล้ว ต้องทำต่อเนื่องเป็นภารกิจหลักขององค์กร เราก็ต้องทำต่อไป แต่ก็ได้แนวร่วมมาเยอะขึ้น จากแต่ก่อนมีเพียงจุฬาฯ ปัจจุบันก็มีธรรมศาสตร์, แม่โจ้, ราชมงคลนครศรีฯ, ราชภัฏภูเก็ต, ราชภัฏมหาสารคาม, องค์กรของรัฐจากที่บอกว่าเอาที่กทม.ให้ได้ก่อน กลายเป็นว่าจังหวัดอื่น เช่น เชียงใหม่ นครศรีฯ ภูเก็ตก็เกิดความร่วมมือตามมาด้วย หลังจากนี้มันก็จะยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น แต่เราก็ต้องทำต่อ เราไม่ได้ต้องการให้การเปลี่ยนแปลงที่เป็นเพียงความรู้สึก หรือตระหนักอยู่ในใจ แต่ต้องการเข้าไปสู่ระบบบริหารการจัดการ
อย่างตอนที่เข้าไปแจ้ง คุณอานันท์ ปันยารชุน เรื่องมูลนิธิ ท่านก็ให้โจทย์มาคือ เรื่องการทำพรบ. คุ้มครองต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้หากเราต้องการทำเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกเมื่อ 10 ปีก่อน จนถึงตอนนี้อาจจะยังไม่สำเร็จ กฎหมายอย่างหนึ่งหากต้องการให้มันผ่าน แต่คนในสังคมไม่ได้ตระหนักเรื่องนั้นก่อน ก็คงเป็นไปไม่ได้ กฎหมายใหม่ ๆ ที่ผ่านมันต้องมีบริบทของสังคมมาช่วย คนในสังคมเรียกร้อง และเนื้อหาของพรบ.ของเราไม่ได้เพียงแต่พูดถึงต้นไม้เก่าแก่ หรือใกล้สูญพันธุ์ แต่ต้องรวมไปถึงต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ในเมืองด้วย ซึ่งถือเป็นงานช้างอีกงาน
: อยากให้ประชาสัมพันธ์งาน 10 ปี Big Trees ที่จะเกิดขึ้น
Big trees ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งเกิดขึ้นมาเพราะว่าต้องการเรียกร้องไม่ให้มีการโค่น หรือตัดทำลายต้นไม้บริเวณถนนสุขุมวิท ซึ่งหลังจากที่ล้มเหลว เราเกาะกลุ่มทำงานต่อมาเรื่อย ๆ ภายในงานจะเป็นการบอกเล่าว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง สรุปบทเรียน และประสบการณ์การทำงานของ Big Trees และองค์กรเครือข่าย รวมถึงหมุดหมายของการทำงาน ซึ่งจะทำผ่านการเสวนา เวิร์กช็อป นิทรรศการ และขอบคุณองค์กรเครือข่ายที่เคยทำงานกันมา และองค์กรที่ยังทำงานร่วมกันต่อ อย่างเช่นสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย ซึ่งทำงานค่อนข้างใกล้ชิด เพราะการสร้างเมืองสีเขียว จำเป็นต้องใช้สถาปนิกช่วยออกแบบ
เรามีความประสงค์ที่จะเชิญองค์กรเครือข่ายของเรามาร่วมงานกันทั้งหมด มาร่วมรีวิวผลงานพร้อมกันผ่านสื่อ และกิจกรรม และปกติเราจะจัดเทศกาลต้นไม้ใหญ่ทุกปี ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 เราก็จะมีเวิร์กช็อป มีนิทาน ดนตรี ตลาดนัด ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เหมือนมาร่วมทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกันก่อนปีใหม่ ในวันที่ 11 – 13 ธันวาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เราจะชวนกันระดมสมองเรื่องการเดินไปข้างหน้าของเรา เราจะทำอะไรกันต่อ และจะฝ่าอุปสรรคในอนาคตอย่างไร องค์กรเครือข่ายที่เราชวนมาคือต้องการมาร่วมกันประกาศว่าเราต้องไปกันต่อ เพื่อให้งานที่เราทำไปถึงผลสำเร็จที่เห็นเมืองเป็นสีเขียวด้วยต้นไม้ใหญ่ และแข็งแรง ซึ่งมีหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยดูแลต้นไม้อย่างเข้าใจ เพื่อเป็นผลประโยชน์ที่จะมาสู่เราได้ และงานครั้งนี้เป็นงานเปิดทั่วไปนอกเหนือจากโซนเวิร์คช็อปที่อาจมีค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์ นอกจากนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถเข้าร่วมได้ฟรี
ช่องทางติดต่อ กลุ่ม Big Trees
www.bigtreesthai.com
Facebook :https://www.facebook.com/BIGTreesProject
Line @bigtreesproject
เรื่อง/สัมภาษณ์ เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ ณัฏฐพล เพลิดโฉม