ในขณะที่มวลของสิ่งชีวิตบนโลกอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านเมตริกตัน และไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่เรียกว่ามวลที่เกิดจากมนุษย์ (anthropogenic mass) หรือ วัตถุที่มนุษย์สร้าง กำลังเติบโตอย่างพุ่งทะยาน มวลที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าคอนกรีต ตึกสูงที่เต็มไปด้วยเหล็กและกระจก รวมไปถึงขวดพลาสติก เสื้อผ้า คอมพิวเตอร์ ตอนนี้มีจำนวนเท่ากับน้ำหนักของสิ่งมีชีวิตบนโลก และอาจมีน้ำหนักมากกว่าในปีนี้ ตามงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature
ผลการสำรวจได้สนับสนุนข้อเสนอที่ว่า โลกได้เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Anthropocene หรือจุดช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่มนุษย์เป็นฝ่ายสร้างแรงที่ครอบงำการก่อตัวของโลก Ron Milo นักวิจัยอาวุโสผู้เขียนบทความ แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ Weizmann Institute of Science ประเทศอิสราเอล กล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านทางวัตถุ (material transition) ที่ “ไมเพียงแค่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา แต่เป็นในยุคสมัย (era) ของเราเลย”
การระเบิดของมวลที่มนุษย์สร้างขึ้น
Milo และทีมงานของเขาได้รวบรวมข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่เกี่ยวกับจำนวนของวัสดุสังเคราะห์และสิ่งมีชีวิตว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรนับตั้งแต่ปี 1900 มาจนถึงปัจจุบัน โดยข้อมูลในรอบ 120 ปีนี้มาจากส่วนของระบบนิเวศอุตสาหกรรม (industrial ecology) ข้อมูลดาวเทียม และแบบจำลองพืชพันธุ์บนโลก (global vegetation models) ซึ่งให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของชีวมวลในระดับโลก
โดยในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 จำนวนมวลของสิ่งที่มนุษย์สร้างมีน้ำหนัก 3.5 หมื่นล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจำนวนชีวมวล (biomass) ที่เกิดขึ้นบนโลก นับตั้งแต่นั้น มวลที่เกิดจากมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านเมตริกตันในทุกวันนี้ ในอัตราการเพิ่มขึ้นที่ 3 หมื่นล้านตันต่อปี
มวลส่วนใหญ่นั้นคือคอนกรีต ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในสิ่งก่อสร้าง ตามมาด้วยหินกรวด อิฐ ยางมะตอย และเหล็ก ซึ่งถ้าแนวโน้มเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป วัตถุที่มนุษย์สร้างเหล่านี้จะมีน้ำหนักมากกว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกถึง 2 เท่าภายในปี 2040 หรือราว 2.2 ล้านล้านตัน
สิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งประกอบไปด้วยพืช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นไม้หรือไม้พุ่มอาศัยอยู่บนโลกถึงร้อยละ 90 แต่ขณะอุตสาหกรรมของมนุษย์ได้ผลิตวัตถุต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี น้ำหนักของพืชบนโลกกลับค่อนข้างคงที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยอธิบายว่าเป็นปรากฏการณ์ Complex interplay เช่นการตัดไม้ทำลายป่า แต่ก็มีการปลูกป่าขึ้นมาใหม่ และการเติบโตของพืชที่มากขึ้นซึ่งถูกกระตุ้นจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นบนชั้นบรรยากาศ
และในขณะที่การเปรียบเทียบระหว่างมวลของวัตถุตามธรรมชาติและมวลที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นสามารถเป็นตัวชี้วัดผลกระทบที่ได้กล่าวมา ก็มีส่วนที่เราต้องพิจารณาด้วยเช่นกันว่าชีวมวลของโลกได้เปลี่ยนรูปแบบไปเนื่องจากมนุษยชาติด้วยเช่นกัน ตามที่งานศึกษาได้ระบุไว้ พืชในฐานะชีวภาพของโลกได้มีการเปลี่ยนสภาพมากถึงสองเท่าเมื่อเริ่มเปรียบเทียบจากยุคปฏิวัติทางการเกษตรเมื่อ 12,000 ปีที่แล้ว ก่อนที่มนุษย์จะมีวัฒนธรรมการปรับปรุงพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก ในขณะเดียวกัน มนุษย์และสิ่งมีชีวิตในกระบวนการปศุสัตว์กลับมีน้ำหนักมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่าและนก
นอกจากนี้ มวลของสรรพสัตว์โลกทุกตัวรวมกัน ซึ่งอยู่ที่ 4 พันล้านตัน กลับมีน้ำหนักเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนพลาสติกที่มนุษย์ได้ผลิตมาทั้งหมด (มากกว่า 8 พันล้านตัน)
โดย Milo กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงในมวลของโลกชีวมณฑล (biosphere) ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นนั้นเป็น “อีกแง่มุมของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ” ซึ่งแสดงให้เราได้เห็นถึง “ผลกระทบอันรุนแรง” ที่จะมีต่อพวกเรา
ผู้เขียนงานวิจัยได้ยอมรับเช่นกันว่า อาจจะมีความไม่แน่นอนของข้อมูลที่ทำให้ยากที่จะกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อใดที่โลกของเราจะมีจำนวนมวลของวัตถุสังเคราะห์มากกว่าชีวมวล โดย Emily Elhacham ผู้เขียนหลักงานวิจัย กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของข้อมูลผูกติดอยู่กับการคาดการณ์จำนวนของชีวมวลของพืชในขณะนี้ และงานศึกษานี้ได้สรุปเช่นกันว่าจำนวนที่น้อยลงของสัตว์และมวลชีวภาพจุลินทรีย์ (microbial biomass) จะยังคงดำเนินต่อไป ทว่าข้อสรุปนี้อาจถูกหักล้างได้โดยการค้นคว้าใหม่ๆ ในอนาคต